โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

‘ชิคาโน’ สัญชาติไทย : วิถีชีวิต แฟชั่น และความรุนแรง

VoiceTV

อัพเดต 17 ม.ค. 2565 เวลา 18.38 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2565 เวลา 02.09 น. • ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
‘ชิคาโน’ สัญชาติไทย : วิถีชีวิต แฟชั่น และความรุนแรง
ปฐมบทชิคาโน

จุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของแก๊ง ‘คนป่ามีปืน 13’ เนื่องจากรักในสไตล์ชิคาโนเหมือนกัน รวมถึงมีเป้าหมายเพื่อขยายวิถีชีวิต แฟชั่น วัฒนธรรมแบบชิคาโนไปสู่คนไทย

‘วอยซ์’ เปิดเรื่องราว ความคิด วิถีชีวิตแก๊ง ‘คนป่ามีปืน 13’ (The Barbarian has a gun13) กลุ่มผู้ชอบวิถีชีวิต ‘ชิคาโน’ ในไทย กลุ่มคนที่ชื่นชอบและคลั่งไคล้วิถีชีวิต ‘ชิคาโน’ (Chicano culture) ของชาวเม็กซิกัน-อเมริกัน ซึ่งรวมตัวกันที่บ้านหลังหนึ่งในย่านบางใหญ่ อำเภอหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี

พวกเขาไม่ใช่แค่คลั่งแฟชั่น แต่มีเรื่องราวชีวิตเชื่อมโยงกับวิถีชิคาโนในแผ่นดินสหรัฐฯ ที่แท้จริง

พร้อมคำถามเกี่ยวกับแฟชั่น ยาเสพติด อาชญากรรม ความรุนแรง และความฝันทางการเมืองในยุคที่ปัจจุบัน

“พวกกูเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน กลายเป็นชนชั้นแรงงาน ต้องดิ้นรนเอาชีวิตให้รอด โดยไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย” 

เหล้าเกือบสองช็อตในแก้วพลาสติกใสถูกส่งให้ ‘ต้น’ ธีระ ยิ่งสมบัติ หนึ่งในสมาชิกใหม่หลายสิบของแก๊ง ‘คนป่ามีปืน 13’

เหล้าแก้วนั้นเสมือนยาที่อาจจะทำให้ ‘ต้น’ บรรเทาความเจ็บปวดเนื้อตัวที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่นาทีข้างหน้าจากการถูก ‘รับ 13 วินาที’ ประเพณีรับน้องใหม่เข้าร่วมแก๊งของชาวชิคาโนประเทศไทย

“ห้า สี่ สาม สอง…” เสียงเลขถอยหลังอันพร้อมเพียงของผู้ร่วมชมหลายสิบชีวิตดังสนั่นผสานกับเสียงดนตรีแนวฮิปฮอปภายในห้องขนาดไม่ใหญ่เหมือนเป็นสัญญาณบอก ‘ต้น’ ว่าหลังจากนี้เขาจะเจอกับอะไร 

“หนึ่ง…” สิ้นเสียงนับเลขสุดท้ายผู้คนในห้องส่งเสียงเฮดังต่อเนื่อง ภาพต่อมาคือชายร่างใหญ่ 3 คน ระดมหมัด พร้อมทั้งเตะและถีบเขาใส่ ‘ต้น’ ชุดใหญ่ ภายใน 13 วินาที

แต่การรับน้อง 13 วินาที จะให้สมาชิกที่เข้ามาใหม่เลือกว่าจะให้รุ่นพี่คนไหนเป็นคนรับและจะไม่มีการชกต่อยหรือเตะบริเวณใบหน้าเด็ดขาด

“สุดๆ ครับ คนป่ามีปืน” ต้นกล่าวสั้นๆ 

“เฮ้ยเลือดออกว่ะ” ผู้ชมท่านหนึ่งกล่าวแทรกพร้อมยื่นกระดาษทิชชู่ให้ต้นสับเลือดที่กำลังไหลบนหัว คาดว่าเกิดจากแหวนของรุ่นพี่ในแก๊งคนหนึ่งระหว่างรับน้อง

“ผมแม่งใส่โหดก่อนเลย บอกรุ่นพี่ใส่โหดแม่งก่อนเลย ดูดิมันจะอยู่ได้เปล่า” เล้ง ชนากร อัธนาสิริ หัวหน้าแก๊งกล่าวสั้นๆ 

“บอกแล้ว ก่อนจะเข้ามา แก๊งนี้ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ มันอาจจะรุนแรง แต่แม่งคือการวัดใจกันเว้ย” เล้งตะโกน

เล้งเล่าว่า ‘คนป่ามีปืน 13’ ไม่เคยบังคับให้คนเข้ามาร่วมแก๊ง ใครอยากเข้ามาก็ต้องเข้ามาแบบสมัครใจ ยอมรับกฎและเงื่อนไขของแก๊งให้ได้

1 ปีจะมีการ ‘รับ 13 วินาที’ หนึ่งครั้ง ทุกวันที่ 14 มกราคมของทุกปี เล้งบอกว่าปีนี้เข้าปีที่ 5 แล้ว เหตุผลหลักๆ ของการ 'รับ 13 วินาที' คือ ‘กฎ’

แก๊งคาดหวังให้สมาชิกที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ต่างอายุ ต่างอาชีพได้รักกันและเป็นหนึ่งเดียวกันในวิถีครอบครัวชิคาโน ไม่ใช่เข้ามาเพราะว่า ‘แฟชั่น’

“การที่ผมรับ 13 วิฯ ผมไม่สั่งให้เตะตีถึงตาย ถ้าไม่มีกฎ พวกมันก็ไม่รักกัน” เขากล่าวเสริมสั้นๆ

นอกจากเหตุผลการรับน้องเพื่อให้รักกันภายในแก๊งแล้ว เล้งบอกอีกว่า คนที่ผ่านการรับน้องจะได้สิทธิในการสักลาย ‘คนป่ามีปืน’ บนเนื้อตัวร่างกาย เสมือนว่าคนนั้นคือสมาชิกแก๊งเต็มตัว เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะได้รับความช่วยเหลือจากคนในแก๊งอย่างไม่มีเงื่อนไข 

สมาชิกแก๊งคนป่ามีปืน 13 ในปัจจุบัน ทำงานหลากหลายอาชีพทั้ง พนังงานดับเพลิง, การไฟฟ้านครหลวง, กิจการส่วนตัว, พนักงานการรถไฟ, พนักงานขายรถยนต์ ฯลฯ

ก่อนต้นจะได้เข้า ‘รับ 13 วินาที’ เขาบอกว่าเขาต้องผ่านบททดสอบพิสูจน์ตัวเองกับสมาชิกในแก๊งนาน 1 ปี ทั้งต้องปรากฏตัวในงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ อย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อทำความรู้จัก พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด ทัศนคติต่างๆ เกี่ยวกับวิถีชิคาโน นอกจากนั้นก็อาสาช่วยเหลือเมื่อคนในแก๊งมีปัญหา

“หลักๆ แล้วให้คนในกลุ่มดูนิสัยใจคอว่าไปกับกลุ่มได้ไหม สร้างความเสียหาย สร้างปัญหาให้คนในกลุ่มไหม ทำให้แก๊งเสียชื่อไหม เขาดูตรงนี้” ต้นบอก

ยากจน ถูกกดขี่ ความรุนแรง

วัฒนธรรมของชิคาโนในสหรัฐอเมริกา เริ่มเรืองรองขึ้นในราวทศวรรษที่ 1960-1970 เป็นยุคของการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของการเป็นชาวเม็กซิกันที่เกิดในสหรัฐฯ ที่ถูกกดทับและเลือกปฏิบัติโดยคนผิวขาว 

‘ชิคาโน’ ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองแอซเท็กในทวีปอเมริกา เพื่อสะท้อนภาพออกมาถึงความเป็นหนึ่งเดียวของชนกลุ่มน้อย และการขับเคลื่อนอำนาจทางวัฒนธรรมในการแยกตัวเองออกจากความเป็นผิวขาวและยุโรป

‘ชิคาโน’ คือคำเรียกตัวเองของกลุ่มชนเม็กซิกัน-อเมริกัน ผ่านการสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีธรรมชาติของการผสมผสานกันในทวีปอเมริกา ทั้งการสืบเชื้อสายชนพื้นเมือง การเป็นชนชั้นแรงงาน 

เป็นความพยายามในการปลดแอกตนเองออกจากวัฒนธรรมของคนผิวขาว ผ่านวิถีชีวิตและงานศิลปะในรูปแบบของกราฟิตี้ เพลง การแต่งรถโหลดต่ำ รอยสัก เพลงฮิปฮอป ภาพยนตร์ ฯลฯ 

เยาวชนในกลุ่มชิคาโนหลายคนตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มแก๊งอันธพาล เนื่องจากความรู้สึกแตกแยกจากสังคมที่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมคนขาว 

ประกอบกับภาวะความยากจนและการถูกกดขี่ เยาวชนชิคาโนหลายคนตัดสินใจหันหน้าเข้าสู่การก่ออาชญากรรม เพื่อหาทางรอดในการใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมที่ไม่มีความเท่าเทียมจนกลายเป็นภาพจำของสังคมอเมริกัน

“เราไม่ได้ข้ามพรมแดนมา พรมแดนต่างหากที่ข้ามเรา” คือคำกล่าวของกลุ่มชิคาโนอยู่อาศัยในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ มาแต่เดิม 

ก่อนถูกสหรัฐฯ เข้าครอบครองดินแดนอดีตอาณานิคมสเปนในภายหลัง มีชาวเม็กซิกันอเมริกันหลายคนประสบปัญหากับนโยบายสหรัฐฯ ทั้งที่เป็นบ้านเกิดกลับผลักดันให้พวกเขาต้องเดินทางข้ามพรมแดนไปยังเม็กซิโก

วัฒนธรรมชิคาโนที่เป็นความพยายามปลดแอกตนเองออกจากวัฒนธรรมคนขาวที่กดขี่คนเม็กซิกันอเมริกัน ไม่ได้ทรงอิทธิพลแค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น 

แต่ยังส่งอิทธิพลข้ามไปอีกมุมโลก ด้วยอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานแต่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ชิคาโนกลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้นิยมวัฒนธรรมแบบชิคาโน ทั้งการแต่งรถ สักลาย ตลอดจนแนวเพลงที่เป็นเอกลักษณ์

เล้ง ชนากร อัธนาสิริ

“แต่เราไม่ได้รับวัฒนธรรมเขามาทั้งหมด” เล้ง ชนากร อัธนาสิริ หัวหน้าแก๊ง ‘คนป่ามีปืน 13’ กล่าวก่อนอธิบายความเข้าใจของตัวเองเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบชิคาโน เขากล่าวต่อว่า “พวกเขาโหดกว่านี้ นี่พวกเรารับมาแค่แฟชั่นและความคิดการดูแลกันแบบครอบครัว” 

เล้งบอกว่า ‘คนป่ามีปืน 13’ และกลุ่มชิคาโนในไทย ชอบในแฟชั่นแบบชิคาโนสไตล์ ชอบในเอกลักษณ์ วัฒนธรรมการกิน การอยู่กันแบบครอบครัว

“พวกเราคือแก๊งแฟมิลี่ ไม่ใช่แก๊งสเตอร์ที่มีการตั้งแก๊งรบราฆ่าฟัน” เล้งกล่าวต่อว่า เราจะไปตีกับกลุ่มอื่นไม่ได้ เพราะเราต้องห่วงครอบครัว

"ผมพยายามบอกพวกน้องๆ ที่มาใหม่ๆ ว่า ตีกันไม่ได้ช่วยอะไร ให้แข่งกันทำมาหาแดกดีกว่า ถ้ามึงตีกัน มึงเหี้ยอะไรได้ ซื้อได้แค่ผ้าสามผืนก่อนเดินเข้าคุก” 

ชิคาโนไลฟ์สไตล์

“เห้ย… ตอนรับพี่ๆ หน่อย ดูแลด้วยๆ” เล้งตะโกนบอกเพื่อนแก๊งให้ต้อนรับทีมงาน ‘วอยซ์’ เข้างานปาร์ตี้ใหญ่ของแก๊งคนป่ามีปืน 13 ที่บ้านหลังหนึ่งย่านบางใหญ่ จ.นนทบุรี 

ภาพวัยรุ่นผู้ชายสวมเสื้อโอเวอร์ไซต์ขนาดใหญ่ ใส่กางเกงขาสามส่วน สวมถุงเท้าขาว ใส่ผ้าโพกหัว บ้างยืนสูบบุหรี่ บ้างถือแก้วดื่มเหล้าเบียร์มีให้เห็นตลอดทั้งงาน

“บอกเลยแต่งตัวสไตล์ชิคาโนนี้แม่งรีดเรียบหมด รีดยันถุงเท้า” เล้งเล่า

นอกจากนั้น ‘รอยสัก’ เกือบทั่วร่างกายของเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของคนที่ชอบในวิถีชีวิตแบบชิคาโน

‘รอยสัก’ เหล่านั้น เล้งเล่าว่าชาวชิคาโนได้มาจากในคุก เพราะระหว่างถูกคุมขังในคุก พวกเขาก็มักจะสักลายเพื่อบอกเล่าและบันทึกเรื่องราวในชีวิตของตัวเองลงบนเนื้อตัวร่างกายด้วยตัวอักษรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  

“รอยสักมันก็เหมือนเรื่องเล่า เช่น รอยสักชื่อพ่อแม่ รูปลูกสาวก็สักลงไปในเนื้อตัว” เล้งเล่า 

นอกจากรอยสัก การโกนผมก็ถือเป็นอีกหนึ่งที่พบเห็นได้ในหมู่ชาวชิคาโน 

“ถ้าตอบง่ายๆ เพราะเวลาเราตีกันกับแก๊งอื่น ผมจะไม่ได้เป็นอุปสรรคในการชกต่อยกัน และถือเป็นหนึ่งในกฎด้วยว่าต้องโกนหัว” เล้งเล่า

“กฎของบาบาเรี่ยนมีไม่กี่ข้อ ข้อแรก รักในสไตล์เดียวกัน สอง ต้องโกนหัวให้เหมือนกัน” เล้งย้ำเสียงแข็ง

เขาบอกว่าอยากให้เหมือนกัน มันคือการฝึกจิตใจ ถ้ารักในสไตล์เดียวกันพวกเขาต้องทำเพื่อพี่น้องได้

นอกจากนี้ "ความเป็นครอบครัวแบบชิคาโน" ถือเป็นวิถีที่ชาวแก๊งชิคาโนให้ความสำคัญอย่างมาก 

เล้งเล่าว่า งานปาร์ตี้แบบชิคาโนที่ดั้งเดิมมาจากอเมริกา คือการช่วยเหลือ แบ่งปันกัน เช่น บ้านกูมีไก่งวง บ้านมึงมีผัก บ้านมึงมีหมู ก็ถือมากินร่วมกันในวันสำคัญ มันก็คือวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในครอบครัวชิคาโน

“พูดง่ายๆ เป็นการกินเลี้ยงกันแบบที่ไม่ต้องจ่ายเงินกัน เพราะเหล่าชิคาโนยากจน” เล้งเล่า

ดิ้นรนเอาตัวรอด

แต่สิ่งที่ ‘เล้ง’ และ ‘ต้น’ คิดว่าพวกเขาเชื่อมโยงกับวิถีชิคาโนในอเมริกาที่แท้จริงคือ พวกเขาเป็นคนชนชั้นล่าง คนชายขอบ ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดให้ได้โดยไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย 

“ผมก็เกิดมาจากบ้านคนจนเลย บ้านไม่มีอะไร ยังเคยเจอนายทุนเผาบ้านไล่ที่ด้วย” เล้งเล่าย้อนอดีตช่วงวัยเด็กที่เผชิญความยากจน จนเขาต้องไปอาศัยอยู่กินในมูลินิธิช่วยเหลือรับเลี้ยงเด็ก ‘แสงเทียน’ เป็นความทรงจำที่แย่มากสำหรับเขา

เหตุผลที่เล้งเอาธงชาติแม็กซิโกไว้หัวเตียงนอน เพราะเคารพและศรัทธาในพระแม่มารี เอาไว้ขอพรเพื่อความโชคดีในชีวิต

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เล้งเติบโตอยู่ในชุมชนสลัมแถววงเวียนเล็ก เขตธนบุรี ทำให้เขาเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด

“แถวนั้นมีหมด ผงขาว โคเคน ยาม้า กัญชา คนที่นั่นเดินขายกันเกลื่อน พวกลุง น้า แม้แต่พ่อเขาก็ขายและเสพยาให้เห็น ลุงผมก็ตายเพราะฉีดผงขาว” เล้งเล่า

เล้งเล่าว่า จุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งสำคัญคือพ่อแม่แยกทางกันเมื่อตอนอายุเขา 15 ปี ซึ่งต้องย้ายไปอยู่แถวตลิ่งชัน จากนั้นเขาเข้าเรียนระดับอาชีวะศึกษาที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านนั้น ทำให้เขาได้เจอเพื่อน แล้วก็เข้าสู่วงการยาเสพติดเต็มตัว จนการเรียนต้องหยุดไป

“แม่งเหมือนกรรมว่ะ เข้ามาวงการนี้ก็ปล้น จี้ชิงทรัพย์เพื่อนำเงินไปซื้อยามาเสพ” 

เล้งบอกต่อว่า่สิ่งที่สะเทือนใจที่สุดคือ เขาเคยนั่งเสพยากับพ่อในบ้าน จนแม่และพี่สาวรู้ต้องหลอกล่อให้เขาไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์ หวังให้กลับตัวกลับใจ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะข้างในค่่ายก็ยังมีการนำยาเสพติดเข้าไปขาย เข้าไปเสพกัน 

เมื่อปลดจากการเป็นทหาร เล้งกลับมีเพื่อนที่ขายและเสพยาจำนวนมาก กลายเป็นว่าการเข้าไปเป็นทหารทำให้เล้งมีเครือข่ายคนขายยาเพิ่มมากขึ้น จนถูกตำรวจจับติดคุก แต่ก็ติดเพียงไม่กี่วัน

“ผมเป็นคนซื่อสัตย์ ออกหน้ารับผิดตลอดเมื่อถูกจับ ผู้ใหญ่เลยช่วยเหลือผม เพราะรู้ว่าจะช่วยเหลือเขาได้เมื่อมีปัญหา” เล้งเล่าว่ามีคนช่วยประกันตัวออกมาสู้คดีเสมอเป็นผู้ใหญ่ในวงการ

เล้งยอมรับว่า การขายยาเสพติดทำให้ชีวิตสุขสบาย มีเงินเยอะ มีเพื่อนเยอะ อยากได้อะไรก็เอาเงินซื้อเขาเลยทำ 

ไม่นานหลังจากนั้นจุดเปลี่ยนในชีวิตเล้งก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะพ่อล้มป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตก่อนสิ้นใจในอีก 3 ปีต่อมา ทำให้เขาคิดจะเปลี่ยนตัวเองอย่างจริงจัง เพราะช่วงนั้นเขากำลังจะมีลูก

“กูจะทำยังไงให้ชีวิตกูดีกว่านี้วะ”

เล้งยอมรับชีวิตเขาเปลี่ยนเพราะเขาอยากสร้างครอบครัวที่มีภรรยา มีลูกที่มีความสุข ปัจจุบันเขาใช้ชีวิตร่วมกับคนรัก และคำว่า "ลูก" ก็ได้เปลี่ยนชีวิตเขา

“จะทำยังไงเพื่อเลี้ยงดูลูกให้มีชีวิตที่ดีกว่าผม ผมต้องหาเงินให้ได้เยอะๆ ลูกต้องได้เรียนดีกว่าผม และไม่เป็นแบบผม” 

นอกจากนี้เล้งและครอบครัวยังทำธุรกิจนำเข้าและขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ ตกแต่งในสไตล์ชิคาโนออนไลน์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘คนป่ามีปืน 13’ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวเขา

‘ต้น’ ธีระ ยิ่งสมบัติ

ปัจจุบันต้นทำอาชีพพนักงานขับรถส่งของและอาหารภายในกรุงเทพฯ เขาเล่าว่่าบางช่วงชีวิตก็คล้ายกับเล้ง เพราะเขาเกิดในครอบครัวที่เขาให้คำนิยามว่า ‘ชนชั้นแรงงาน’ ในครอบครัวที่ยากจน หาเช้ากินค่ำในชุมชนคลองเตย กรุงเทพฯ แต่ต้องย้ายไปใช้ชีวิตที่จังหวัดปราจีนบุรีจนเกือบอายุ 20 ปี

“ช่วงชีวิตวัยรุ่นก็เคยเข้ายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดบ้าง พออายุ 19 ปี เขากลับตัวทัน โดยตั้งใจเข้ามาในกรุงเทพฯ ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว” 

ต้นบอกว่า พอเข้าศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชิคาโนจริงๆ พบว่า ชีวิตพวกเขาเหมือนชีวิตตัวเองที่เป็นชนชั้นแรงงานเข้าเมืองหลวงมาดิ้นรนเอาตัวรอด ซึ่งต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอดให้ได้

ปัจจุบันต้นทำอาชีพพนังงานขับรถส่งของและส่งอาหารของบริษัท ‘Grab’ ภายในกรุงเทพฯ 

“แม้ช่วงทำงานจะต้องแต่งตัวปิดรอยสักให้มิดชิด แต่ช่วงเลิกงานก็จะแต่งงานในสไตล์ชิคาโนอย่างภาคภูมิใจ” ต้นกล่าว 

โอกาสที่ไม่เคยได้รับ

“หลังจากออกจากคุก ผมอยากจะเปลี่ยนตัวเองนะ ผมพยายามหาสมัครงาน ไม่มีที่ไหนรับ เขาเป็นคนมีคดีความ มีรอยสัก” เล้ง เล่าย้อนอดีตช่วงพยายามจะออกจากวงการยาเสพติด 

“กูอยากจะเปลี่ยนตัวนะเว้ย ไม่มีใครอยากเลวทั้งชีวิตหรอก แม่งไม่รับกูทำงาน ทำไงต่อ กูก็ต้องกลับไปสู่วงการยาเสพติด จี้ ปล้นแบบเดิมเพราะเขาไม่เปิดโอกาสให้ทำงาน”

เขาบอกว่า สังคมไทยน่าจะเปิดโอกาสให้คนที่เคยกระทำผิดได้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างคนปกติ เพราะการที่ตรวจสอบคดีที่เคยทำผิดในอดีต ไม่สามารถการันตีว่าคนนั้นจะทำผิดอีก 

“ผมยอมรับ ผมมีคดีเยอะ แต่มันผ่านมาแล้ว ผมคิดว่าหลายคนอยากจะกลับตัว อยากให้สังคมให้โอกาสเขา ให้เขาได้ทดลองทำงานว่าเขาทำได้หรือไม่ ถ้าไปบอกว่าทำไม่ได้เพราะมีรอยสัก มีคดีเกี่ยวกับยาเสพติดหรือเคยทำอาชญากรรมมา” เล้งกล่าว 

เขาบอกว่า การที่ดูบุคคลที่ภายนอก ดูไม่ได้ ทุกวันนี้คนที่ไม่มีรอยสัก ไม่เคยมีประวัติทำอาชญากรรมก็สามารถกระทำผิดได้ มันมีให้เห็นทุกวัน 

“ไม่ว่าข้าราชการยันรัฐมนตรี แม่งก็เป็นอาชญากรได้หมด” เล้งกล่าว

เล้งอยากให้สังคมเปิดรับวิถีชีวิต แฟชั่น การแต่งตัวที่หลากหลาย เหมือนอย่างแฟชั่นชิคาโนสไตล์ อีกทั้งการมีรอยสักเต็มตัวแบบนี้ก็ถือว่าเป็นความชอบส่วนบุคคล

“การแต่งตัวแบบนี้ หัวโล้น มีรอยสักแบบนี้ไม่เป็นอันตราย คนที่ไม่เข้าใจอาจมองว่าพวกผมน่ากลัว แต่ผมอยากให้เปิดใจ จะรู้ว่าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด” เล้งกล่าว 

สำหรับต้น การที่เขาแต่งตัว มีรอยสักลักษณะนี้ เขาบอกว่า่เคยถูกคนรอบข้างนินทาและหัวเราะเยาะว่า “เหมือนเณร” “เหมือนพระ” “ใส่ถุงเท้ายาวขาวไปเตะบอลที่ไหน” แต่เขาไม่สนใจ เพราะเขารู้ว่าตัวเองชอบอะไร

ต้นบอกว่าอยากให้สังคมเปิดใจ ยอมรับในสิ่งที่คนแต่ละคนชอบ ก็เหมือนคนที่ชอบแฟชั่นเกาหลี แฟชั่นญี่ปุ่น แฟชั่นร็อกเกอร์ ฯลฯ พวกเราก็ไม่ได้ไปต่อว่า นินทาหรือหัวเราะเยาะ

"ลึกๆ แล้วเป็นคนมั่นใจในตัวเอง ผมเลยไม่แคร์ใคร และการแต่งตัวแบบนี้ มีรอยสักแบบนี้สำหรับผมมันโชว์ถึงความดุดัน แข็งแกร่ง ผมชอบ” ต้นบอก 

ขอการเมืองดี เพื่อลูกและครอบครัว

ช่วงการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันฯ ปลายเดือนสิงหาคมปี 2564 แก๊ง ‘คนป่ามีปืน 13’ เข้าร่วมชูสามนิ้วและสนับสนุนขอเรียกร้องของ ‘กลุ่มราษฎร’ อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยและมีการเมืองที่ทำให้ทุกคนในประเทศเท่าเทียม อยู่ดีกินดี 

“ผมไปเพราะผมทนไม่ไหว มีคนห้ามหลายรอบ เขาบอกว่ามึงไป มึงก็สู้เขาไม่ได้ มึงดูด้วยใครอยู่ข้างหลัง ผมบอกก็รู้ว่าสู้เขาไม่ได้ แต่ผมมีจุดยืนของผมคือ ลูกผมไม่ได้ไปเรียนหนังสือสักที”

เล้งบอกว่า ช่วงนั้นลูกต้องเรียนออนไลน์ เพราะรัฐบาลบอกว่าโรคโควิดกำลังระบาด และตัวเขาไม่สามารถสอนหนังสือลูกได้ เพราะเรียนมาน้อย ซึ่งเขากังวลว่าลูกเขาจะไม่ได้ความรู้เต็มที่จากการเรียน 

“หลายครอบครัวเป็นเหมือนผม ลูกต้องเรียนออนไลน์แบบไม่มีประสิทธิภาพ บางครอบครัวไม่มีไอแพด โทรศัพท์เพื่อให้ลูกเรียน นี่คือจุดที่ทำให้ผมไปร่วมม็อบเลย แม่งเหี้ยมาก การศึกษาออนไลน์ทำให้ลูกผมและลูกหลายๆ คนโง่” เล้งปล่อยน้ำเสียงโมโห

อีกเหตุผลที่เล้งและสมาชิกในกลุ่มออกไปชูสามนิ้วคือ ขาดรายได้จากการขายของตามตลาดนัด เพราะช่วงนั้นโควิดกำลังระบาด ตลาดนัดถูกสั่งปิดจากรัฐบาล

“ตลาดปิด รัฐบาลไม่มีที่สำรองให้เปิดขาย พวกเราขาดรายได้ ไม่มีเงินจ่ายหนี้สิน รัฐบาลให้เงินมาแค่ก้อนเดียว บางคนใช้ไม่ได้ถึงเดือน บางคนผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บาบาเรี่ยนเลยออกมาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนที่ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน พวกเราออกไปเพื่อปากท้องและครอบครัว” เล้งกล่าว

เล้งกล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลนี้บริหารประเทศไม่ได้ นายกรัฐมนตรีสมควรลาออก เปิดโอกาสให้คนอื่น อาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ พูดภาษาอังกฤษได้ เข้ามาบริหารประเทศ

“หรือว่ามีคนหนุนหลังไม่ให้คุณออก คุณก็ต้องลงจากอำนาจให้เป็นนะครับ ถ้าเป็นผม ผมฆ่าตัวตายแม่งดีกว่า เหมือนฮิตเลอร์” เล้งทิ้งท้าย

เรื่อง : ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์, วงศธร เลิศจรัส

ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0