สัมภาษณ์
กลุ่มน้ำตาลเกษตรไทย หรือ KTIS ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ จังหวัดนครสวรรค์เร่งปรับตัวเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก “ทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางธุรกิจที่กำลังก้าวไป
แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลยังเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม KTIS แต่ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนการทำอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี โดยนำผลพลอยได้จากทุกส่วนของน้ำตาล มาทำผลิตภัณฑ์ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ได้แก่ โรงงานเอทานอล โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ โรงไฟฟ้า โรงงานเยื่อกระดาษ โดยรายได้รวมต่อปีของกลุ่ม KTIS อยู่ที่ประมาณ 10,400 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาล 60% และที่ไม่ใช่น้ำตาลหรือ by-product 40%
ล่าสุดเร่งต่อยอดการผลิต by-product เพิ่มขึ้นอีก ด้วยการลงทุนโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ และหลอดจากเยื่อชานอ้อย ที่ใช้งบฯลงทุนกว่า 600 ล้านบาท
ผลิต “จาน-หลอดชานอ้อย”
โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์และหลอดจากชานอ้อยของกลุ่ม KTIS เริ่มปักหมุดก่อสร้างราวปี 2563-2564 ด้วยงบฯลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เหตุผลสำคัญที่แตกไลน์นี้ คือ มิติเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกปัจจุบันและอนาคต สอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัท ที่มุ่งให้ความสำคัญด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคม ประกอบกับมีวัตถุดิบชานอ้อยที่มีคุณภาพมากเพียงพอ
ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยยังมีไม่มากนักในตลาดเมืองไทย KTIS จะเป็นอีกทางเลือกของผู้เล่นในตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นไลน์ธุรกิจที่ตอบโจทย์นโยบาย BCG ของรัฐบาลที่กำลังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ
บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ผลิตภายใต้บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ แพ็คเกจจิ้ง จำกัด (EPAC) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง เกรดพรีเมี่ยม ผลิตจากชานอ้อย 100% โดยการสกัดไฟเบอร์ของชานอ้อย ซึ่งมีความแข็งแรง ไม่มีส่วนผสมของวัตถุดิบอื่นเจือปน ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน และย่อยสลายได้ภายใน 90 วัน หรือราว 3 เดือน ด้วยวิธีฝังกลบตามธรรมชาติ
ล่าสุด อยู่ระหว่างการทดสอบอีกราว 2 เดือน (กรกฎาคม-สิงหาคม) หลังจากนั้นจะเดินเครื่องการผลิตเต็มรูปแบบวันละ 3 ล้านชิ้น คาดทำรายได้ต่อปีกว่า 2,000 ล้านบาท เบื้องต้นมี 3 ไอเท็มหลัก คือ จาน ชาม และกล่องใส่อาหาร ภายใต้แบรนด์ “Charm” เป้าหมายวางสัดส่วนส่งออก 60% ไปจีนและยุโรป โดยเฉพาะตลาดจีนเป็นฐานลูwกค้าดั้งเดิมที่ซื้อเยื่อกระดาษของกลุ่ม KTIS และมีความต้องการสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยเพิ่มมากขึ้นด้วย
ส่วนตลาดในประเทศ 40% มุ่งเจาะตลาดภาคเหนือตอนล่างเป็นหลักก่อนในช่วงแรก เนื่องจากฐานการผลิตอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ สามารถกระจายสินค้าเข้าถึงและครอบคลุมพื้นที่แถบนี้ เบื้องต้นเน้นเจาะร้านรายย่อยที่ขายสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะต่าง ๆ โดยใช้กลยุทธ์การทำตลาดแบบป่าล้อมเมือง
ขณะที่โรงงานผลิตหลอดจากชานอ้อยซึ่งผลิตภายใต้บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ สตรอว์ จำกัด (EPAS) วางกำลังการผลิตไว้วันละ 1 แสนหลอด ภายใต้แบรนด์ “cherr” จะเริ่มเดินเครื่องการผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 พร้อม ๆ กับบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย โดยเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก วางกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด คือ ร้านขายเครื่องดื่มที่ใช้หลอดโดยตรง ได้แก่ ร้านชานมไข่มุกและร้านกาแฟแบรนด์ดังในกรุงเทพฯ ที่มีการดีลทางธุรกิจและมีการเจรจาซื้อขายกันแล้ว รวมถึงการขายทางออนไลน์ผ่าน Shopee ควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ต่อปีของผลิตภัณฑ์หลอดจากชานอ้อย จะอยู่ที่ราว 40-50 ล้านบาท
ชูแบรนด์ “น้ำตาลหวานละมุน”
ผลผลิตอ้อยของโรงงานน้ำตาล 3 แห่งของกลุ่ม KTIS คือ โรงงานน้ำตาลที่จังหวัดนครสวรรค์ 2 โรง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย อ.ตาคลี และ ต.บ้านมะเกลือ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และโรงงานที่ 3 คือ โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ ผลผลิตอ้อยต่อปีของ 3 โรงงาน อยู่ที่ราว 8 ล้านตันอ้อย
แบ่งเป็นน้ำตาลทรายดิบ ส่งออกผ่านโบรกเกอร์ไปหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่น้ำตาลทรายขาวสัดส่วนราว 30% ทำตลาดในประเทศ เน้นขายเป็นกระสอบมีลูกค้าหลัก อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลม ของกลุ่มไทยน้ำทิพย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ น้ำตาลทรายขาวที่เดิมเน้นขายเป็นกระสอบ ในปีนี้กลุ่ม KTIS จะเพิ่มไลน์การผลิตน้ำตาลทรายขาวแบบถุง ขนาดบรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม ภายใต้แบรนด์ “น้ำตาลหวานละมุน” เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากน้ำอ้อยธรรมชาติ 100% ไม่ใส่สารฟอกขาว ซึ่งการที่กลุ่ม KTIS หันมาทำน้ำตาลทรายขาวบรรจุถุง เนื่องจากต้องการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในประเทศได้มีโอกาสรู้จักแบรนด์น้ำตาลหวานละมุน ซึ่งเป็นผลผลิตของคนไทยที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ประกอบกับผลผลิตน้ำตาลของกลุ่ม KTIS มีคุณภาพและมีมากเพียงพอที่สามารถเพิ่มไลน์การผลิตใหม่ ๆ ได้
โดยแผนการตลาดจะเน้นตลาดค้าปลีกเป็นหลัก เช่น การวางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 นี้ ตั้งเป้าทดลองตลาดในช่วงระยะ 1-2 ปี
กลุ่ม KTIS มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่อยู่ในโครงการ Contract Farming ซึ่งเป็นคู่สัญญากว่า 2 หมื่นราย ในพื้นที่แถบภาคเหนือตอนล่างและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และสุพรรณบุรี มีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 7 แสนไร่ ที่จะนำผลผลิตอ้อยมาขายให้กับกลุ่ม KTIS โดยปัจจุบัน volume ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 3 โรง รับอ้อยเฉลี่ยต่อปีราว 8 ล้านตันอ้อย ทั้งนี้ การผลิตเต็มกําลัง ของทั้ง 3 โรงงาน สามารถรับอ้อยได้สูงสุดถึง 10 ล้านตันอ้อยต่อปี
ทั้งหมดเป็น by-product ที่ได้ waste หลังจากนำอ้อยมาทำน้ำตาล เป็นก้าวรุกที่มีทิศทางชัดเจนของกลุ่ม KTIS ที่มุ่งสู่ธุรกิจ “BCG economy model” อย่างเต็มตัว ที่จะผลักดันรายได้จาก 10,400 ล้านบาทในปัจจุบัน ให้เติบโตเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวในอนาคต
ความเห็น 0