ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เตือนประชาชนอย่าลงเชื่อโฆษณาลวงจากมิจฉาชีพ รับทำ "บัตรประชาชนออนไลน์" ชี้ต้องแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่กรมการปกครองเท่านั้น
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผย บัตรประชาชน ถือเป็นบัตรประจำตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งในบัตรมีข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วันเดือนปีเกิด ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงเลขบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้ มิจฉาชีพก็ได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการลงโฆษณาชวนเชื่อว่า รับทำบัตรประชาชนออนไลน์ หากใครพบเจอขออย่าหลงเชื่อเด็ดขาด
ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกลวงให้ทำบัตรประจำตัวประชาชน และเอกสารปลอมผ่านเพจเฟซบุ๊ก ทำให้สูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากเมื่อทำการตรวจสอบแล้วปรากฎข้อเท็จจริงว่า การโฆษณา และรับทำเอกสารทางราชการปลอมดังกล่าว มีลักษณะเป็นการหลอกลวงให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินไปให้และตัดการติดต่อหลังมิจฉาชีพได้เงินไป
ทั้งนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชน ชี้แจงว่า การดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะกรณีบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างรัดกุม ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่รัฐทุกกรณี
โดยดำเนินการได้ ณ สำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือสำนักทะเบียนอำเภอเท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รัฐบาลได้กำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายป้องกันและปราบปรามและสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยให้เน้นย้ำในเรื่องสำคัญ ดังนี้
1.ผู้ที่จ้างหรือสั่งทำเอกสารปลอมข้างต้น ถือเป็นตัวการสำคัญในการกระทำความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารสิทธิและเอกสารราชการ สำหรับผู้ที่จ้างต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้รับจ้างที่ทำเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 265 หรือ 266 แล้วแต่กรณี ซึ่งระวางโทษสูง ต้องจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ผู้ที่จ้างหรือสั่งทำเอกสารปลอมข้างต้น หรือผู้ใดนำเอกสารปลอมไปใช้หรืออ้างให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารจริงโดยทุจริตและปกปิดข้อเท็จจริง มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ระวางโทษเช่นเดียวกับข้อ 1. ข้างต้น ซึ่งมีระวางโทษสูง ต้องจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แฟ้มภาพ TNN Online / กทม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "หมายเรียกปลอม" ดูอย่างไร? ตำรวจแนะวิธีเช็ก การันตีไม่โดนหลอก
- ทำบัตรประชาชน-คัดสำเนาทะเบียนบ้าน! กทม.เปิดจุดบริการด่วน เริ่ม 1 ตุลาคมนี้
- จริงหรือ? นั่งทำงานนานๆ นอนดึก ผมร่วงเป็นกระจุกได้ กรมการแพทย์ ชี้แจงแล้ว
- Google ปรับฟีเจอร์ Call Screen ใช้ AI คุยสายมิจฉาชีพ กรองได้ 50%
- แบงก์ชาติเตือนภัยออนไลน์สารพัดรูปแบบ ระวังสูญเงินตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
ความเห็น 0