เมรุเผาศพ แรกมีราวหลัง พ.ศ. 2100 เริ่มสร้างเมรุ (อ่านว่า เมน) เป็นสัญลักษณ์เขาพระสุเมรุ เผาศพเจ้านายชั้นสูงในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ส่วนคนทั่วไปเผาศพบนเชิงตะกอนอย่างง่ายๆ ถ้าเป็นยาจกก็โยนให้แร้งกากิน
เมรุ หรือ พระเมรุ เมื่อแรกมียุคกรุงศรีอยุธยา สร้างเลียนแบบปราสาทนครวัด “วิษณุโลก” ที่จำลองเขาพระสุเมรุ ปราสาทนครวัดเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ถูกแปลงให้เกี่ยวข้องกับงานศพ โดยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ
ทั้งนี้ ก่อนมีพระเมรุมาศ สมัยพระเจ้าปราสาททอง มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาบนกองฟอน หรือเชิงตะกอน ที่ประดับตกแต่งเป็นพิเศษ เช่น จักหยวกลวดลายต่างๆ หุ้มห่อโครงสร้างที่เป็นไม้
และอาจถวายพระเพลิงด้วยวิธีอื่นได้อีก เช่น ในเรือนาคกลางแม่น้ำ ฯลฯ เพราะพบบันทึกในเอกสารชาวยุโรป แต่เอกสารที่แต่งสมัยหลังมักเขียนเหมารวมว่าถวายพระเพลิงบนเมรุทั้งหมดตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา (สมัยที่ยังไม่มีพระเมรุมาศ) โดยเรียกตามประเพณีสมัยหลังมีพระเมรุมาศแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจคลาดเคลื่อน
อ่านเพิ่มเติม :
- “จำลองนครธม-รื้อนครวัด” ความพยายามของสยาม ?!?
- บันทึก “โจวต้ากวาน” ใช้เป็นหลักฐานอ้างว่า “คนสยามสร้างนครวัด” ไม่ได้
ข้อมูลจาก :
หนังสือ “งานศพยุคแรกอุษาคเนย์” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ.สำนักพิมพ์นาตาแฮก 2560.
สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระเมรุมาศ แรกมียุคอยุธยา สมัยพระเจ้าปราสาททอง, จาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_362343
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2560
ความเห็น 0