โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อนุสาวรีย์ พื้นที่สาธารณะ และท้องถิ่น: บนทางเดินของประติมากรรม ‘จรัล มโนเพ็ชร’

The101.world

เผยแพร่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 05.16 น. • The 101 World
อนุสาวรีย์ พื้นที่สาธารณะ และท้องถิ่น: บนทางเดินของประติมากรรม ‘จรัล มโนเพ็ชร’

เมื่อปลายปี 2562 ผมมีโอกาสไปแวะเที่ยวเมืองลิเวอร์พูล หลังดูหนังเรื่อง Yesterday (2019) แล้วเกิดความคิดอยากไปเที่ยวตามรอยฉากสำคัญในภาพยนตร์ เมื่อไปถึงหน้าโรงแรมที่พระเอกกับนางเอกนัดเจอกันจึงเห็นว่ามีรูปปั้นเหมือนของวงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ในฐานะจุดตั้งต้นของเรื่องราวทั้งหมด (ในหนังที่ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีใครรู้จักวงดนตรีนี้อยู่) ใกล้ๆ แถวนั้นด้วย จากผู้คนที่ห้อมล้อม และเสียงเพลงที่แว่วเข้าหู

อนุสาวรีย์ดังกล่าวประกอบด้วยสมาชิก 4 คนของวงในอิริยาบถกำลังเดินคุยกัน 3 ใน 4 สวมเสื้อโค้ต ขนาดใหญ่กว่าตัวจริง หันหน้ามุ่งไปทางฝั่งริมแม่น้ำเมอร์ซีย์ ฉากหลังเป็นตึกสูงเก่า ตั้งลึกเข้าไปจากริมถนนเล็กน้อย อยู่ด้านหน้าท่าเรือสำหรับล่องเรือชมวิวแม่น้ำ อนุสาวรีย์เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อปี 2015 นี่เอง ในวาระครบรอบ 50 ปีของการแสดงคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายที่เมืองลิเวอร์พูล ปั้นโดยแอนดี้ เอ็ดเวิร์ดส (Andy Edwards) อ้างอิงรูปภาพเก่าจากไอเดียของคริส บัตเลอร์ (Chris Butler) ที่อยากจะเห็นสมาชิกเดอะบีเทิลส์ได้กลับมาเดินเฉิดฉายบนท้องถนนเมืองลิเวอร์พูลอันเป็นถิ่นกำเนิดของวงนี้อีกครั้ง ซึ่งทาง Cavern Club ผับที่วงเดอะบีเทิลส์เคยเล่นประจำอยู่ด้วยกัน พอได้เห็นโมเดลย่อส่วนก็เอาด้วยทันที โดยให้ทุนสนับสนุนการสร้าง เมื่อแล้วเสร็จจึงมอบให้เป็นสมบัติแก่เมือง (Liverpool City Council) ในที่สุด[1]

ผมใช้เวลาอยู่ตรงนี้นานมาก คอยสังเกตดูอากัปกิริยาของผู้คนที่มาถ่ายรูปเล่นกับอนุสาวรีย์ มีทุกเพศทุกวัย และไม่น่าจะมีแต่นักท่องเที่ยวแค่นั้นด้วย ผมยืนฟังนักดนตรีเปิดหมวกเล่นกีตาร์ร้องเพลงเดอะบีเทิลส์เพลงแล้วเพลงเล่า แต่เพลงที่ถูกขอให้เล่นซ้ำๆ กลับเป็นของจอห์น เลนนอน (John Lennon) คือ Imagine เพลงที่มีท่อนฮุกว่า “You may say I'm a dreamer, but I'm not the only one. I hope someday you'll join us. And the world will live as one.”

ในหัวตอนนั้นนึกเตลิดไปไกลว่าอยากเห็นแบบนี้ที่เชียงใหม่ อย่างน้อยในเชิงพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิตชีวา ช่วยให้ผู้คนได้ออกมามีกิจกรรมร่วมกันบ้าง แต่ยังไม่คิดถึงขั้นว่าต้องเป็นศิลปินผู้ใด ซึ่งอีกแง่หนึ่งก็คือการส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังที่แม้จะเกิดไม่ทันก็ตาม

จนกระทั่งราวเดือนพฤษภาคม 2563 อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมืองประกาศสานต่อความคิดที่จะจัดสร้าง 'อนุสาวรีย์' ของจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินล้านนาแห่งยุคสมัยให้สำเร็จ ถือเอาวาระครบรอบ 2 ทศวรรษแห่งการจากไปเป็นหมุดหมาย แม้นเคยพยายามผลักดันผ่านเทศบาลมาแล้วตั้งแต่ในช่วงปีแรกๆ ของการล่วงลับ แต่ยังไม่เห็นผลรูปธรรมใด อาจารย์ธเนศวร์เชื้อเชิญให้ผมเข้าเป็นคณะกรรมการจรัลรำลึกหรือ ค.จ.ร. (Jaran Memorial Project) ร่วมกับนักวิชาการ นักเขียน นักกิจกรรมที่ชื่นชอบผลงานอ้ายจรัลอีกจำนวนหนึ่ง ในฐานะบทบาทภาคประชาสังคมที่มีเป้าหมายเฉพาะกิจเพื่อระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชร ตั้งเป้าไว้ที่ 5 แสนบาท[2]

ผมทำหน้าที่ช่วยหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ตั้ง โดยดูจากประสบการณ์ทั้งในต่างประเทศและของไทย

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่ถือเป็นต้นแบบ อนุสาวรีย์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเมือง พบว่ามีทั้งที่ริเริ่มโดยรัฐเอง นักธุรกิจ บริษัท มูลนิธิ ภาคประชาชน บ้างเกิดจากคนเพียงคนเดียวเป็นตัวตั้งตัวตีในการระดมเงินบริจาค อนุสาวรีย์ก็มีความหลากหลาย ไม่ว่านักการเมือง ผู้ก่อตั้งองค์กรต่างๆ ศิลปิน นักกีฬา บุคคลในเพลงหรือตัวละครในภาพยนตร์ที่อาจไม่มีตัวตนอยู่จริง เช่นเดียวกับรูปแบบที่ก็มีทั้งอยู่บนแท่นยกสูงแนวดิ่ง และตั้งวางบนพื้นแนวราบ ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ตามพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย เช่น ในสวนสาธารณะ หน้าพิพิธภัณฑ์ จัตุรัสประจำเมือง ริมถนนบริเวณใกล้ๆ กับบ้านหรือสถานที่ที่ได้สร้างชื่อให้แก่บุคคลผู้นั้น เช่น มหาวิทยาลัย สนามกีฬา อาคารที่ทำการต่างๆ และที่สำคัญ มักเป็นพื้นที่ในความดูแลของหน่วยการปกครองระดับท้องถิ่น

ส่วนอนุสาวรีย์ในไทยมีข้อแตกต่างออกไปหลายประการ เป็นต้นว่าอนุสาวรีย์ส่วนใหญ่เป็นรูปของกษัตริย์ ถ้าเป็นสามัญชนก็ไม่พ้นต้องมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ หรือศึกสงคราม ผู้ริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์โดยมากคือส่วนราชการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับอนุสาวรีย์นั้น มีขนาดใหญ่โตอยู่บนแท่นฐานสูง และผนวกเรื่องความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาด้วย[3]

ข้อสังเกตคือ บริเวณที่ตั้งอนุสาวรีย์โดยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นของท้องถิ่น (รวมถึงตัวอนุสาวรีย์) กล่าวโดยเจาะจง แม้ในกรุงเทพฯ มีอนุสาวรีย์จำนวนมากตั้งอยู่ แต่ กทม. ที่ถือเป็นองค์การปกครองท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ก็ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบอนุสาวรีย์เหล่านั้นแต่อย่างใด จากอนุสาวรีย์ที่มีทั้งหมด 16 แห่ง พบว่าอยู่ในความดูแลของ กทม. เพียง 3 แห่งเท่านั้น เหตุที่ระบุได้ชัดเจนเนื่องจากมี 2 แห่งที่กรมศิลปากรโอนภารกิจบำรุงรักษาและดูแลให้ กทม. ไปแล้ว ส่วนอีก 1 แห่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ กทม. เป็นหน่วยงานจัดสร้าง[4]

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีคำภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงอยู่ 4 คำด้วยกัน

1. Monument (อนุสาวรีย์) สถานที่ รวมถึงสิ่งที่สร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญ หรือให้เป็นสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น Washington Monument (ที่เป็นแท่งสูงๆ)

2. Memorial (อนุสรณ์สถาน) สถานที่ รวมถึงสิ่งซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น เช่น Lincoln Memorial (อาคารสมัยกรีก)

3. Statue (รูปปั้น) งานศิลปะสามมิติที่สร้างเป็นคนหรือสัตว์ให้มีลักษณะสมจริงหรือมีขนาดใหญ่กว่า เช่น Statue of Liberty (เทพีเสรีภาพ)

และ 4. Sculpture (ประติมากรรม) ผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการสร้างรูปทรงสองหรือสามมิติ ซึ่งอาจมีรูปลักษณ์นามธรรมก็ได้ เช่น Mount Rushmore (ภูเขาแกะสลักรูปหน้าประธานาธิบดี) Cloud Gate (ถั่วยักษ์แห่งชิคาโก้)

ข้อ 1 และ 2 มีนัยเชิงพื้นที่ ส่วนข้อ 3 กับ 4 เน้นตัวผลงาน แน่ละ ข้อ 3 ข้อ 4 มักเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถานที่ตามข้อ 1 ข้อ 2 เฉกเช่นรูปปั้นประธานาธิบดีลิงคอล์นขนาดมหึมาที่ตั้งอยู่ในอนุสรณ์สถานลิงคอล์นนั่นเอง

แต่ยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่น้อยในหมู่คนที่คณะเรามีโอกาสพบปะบอกเล่าถึงโครงการ ด้วยเชื่อว่าเมื่อเอ่ยถึงอนุสาวรีย์ต้องสร้างขึ้นเพื่อกษัตริย์หรือไม่ก็พระเท่านั้น ถ้าเป็นสามัญชนไม่สมควรใช้คำนี้เรียก เช่นที่เชียงใหม่มีอนุสาวรีย์สามกษัตริย์กับอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย (เชิงดอยสุเทพ) ใครได้มาเชียงใหม่มักต้องแวะสักการะ[5] ทั้งที่เอาเข้าจริงก็มีอนุสาวรีย์ในลักษณะอื่นอยู่เหมือนกัน เช่น อนุสาวรีย์พญาพรหมโวหาร (หน้าวัดสวนดอก) รูปปั้นอาจารย์สุขุม อัศเวศน์ (ภายในคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก

อย่างไรก็ดี ถ้ายึดตามนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2555 คำว่า 'อนุสาวรีย์' มีความหมายกว้างขวาง หมายถึง 'สิ่งที่สร้างไว้เป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญเป็นต้น เช่น อาคาร หลุมฝังศพ รูปปั้น' ครอบคลุมทั้งบุคคลและเหตุการณ์ เช่น พระบรมรูปทรงม้า อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยส่วนที่เป็นบุคคลนั้นไม่ได้หมายความถึงเจ้าฟ้าข้าแผ่นดินหรือพระสงฆ์องค์เจ้าเท่านั้น เช่น อนุสาวรีย์โผน กิ่งเพชร อนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร อนุสาวรีย์จ่าแซม (ซึ่งมีถึง 2 แห่ง ทั้งที่บ้านเกิด จ.ร้อยเอ็ด และที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย) อนุสาวรีย์อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ อนุสาวรีย์จึงสามารถนำมาใช้กับบุคคลสำคัญอื่นได้เช่นกัน

ถึงกระนั้น หลังเคลื่อนไหวรณรงค์ไปได้สักพัก เราตัดสินใจใช้คำว่า 'รูปปั้น' แทน เพื่อให้หลายฝ่ายคลายความกังวล และสามารถหาแนวร่วมวงกว้างได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเพราะมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520 ที่ใช้มานานมากแล้ว ก่อให้เกิดความคลุมเครือเป็นอย่างยิ่งว่าจนถึงปัจจุบันนี้ ผู้ก่อสร้างยังคงต้องไปขออนุญาตจากกรมศิลปากรอยู่อีกหรือไม่ หรือเฉพาะพระบรมราชานุสาวรีย์เท่านั้นที่ต้องยึดระเบียบนี้โดยเคร่งครัด ท้ายที่สุดทางเราสามารถระดมทุนได้ครบตามเป้าหมาย และทันกำหนดเวลาภายในสิ้นปี 2563 ก่อนเปลี่ยนเป็นเรียกรูปปั้นนี้ใหม่ว่า 'ประติมากรรม' เมื่อตอนที่เสร็จเรียบร้อยพร้อมจัดวางในสถานที่จริง

ณ ที่นี้ไม่ขออรรถาธิบายถึงรูปลักษณะ ตลอดจนแนวคิดการออกแบบที่ให้น้ำหนักเรื่องความสมจริง เรียบง่าย และให้ความรู้สึกเป็นกันเองอยู่เบื้องหลัง ตลอดจนกระบวนการสร้าง ผู้อ่านสามารถหาอ่านรายละเอียดส่วนนี้ได้จากที่สื่อหลายแหล่งเคยนำเสนอ[6]

ขั้นต้นทางคณะทำงานได้มีข้อพิจารณาร่วมกันในการกำหนดสถานที่ตั้งคร่าวๆ คือ

1. ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่า (ภายในเขตกำแพงเมือง)

2. ตั้งอยู่ในจุดที่โดดเด่น คนผ่านไปผ่านมาเห็นได้

3. ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ต้องเป็นพื้นที่เปิด ไม่มีเวลาปิดทำการ

4. มีนัยความหมายเชื่อมโยงกับชีวิตหรือผลงานของจรัล

5. บริเวณนั้นอยู่ในความดูแลของหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับส่วนราชการอื่น

ตัวอย่างสถานที่ที่เป็นไปได้จากการรับฟังความคิดเห็นของหลายฝ่าย อาทิ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ วัดฟ่อนสร้อย (วัดประจำครอบครัว) ข่วงประตูเชียงใหม่ (ย่านบ้านเกิด) วัดเจ็ดลิน (หนองน้ำในเพลงอุ๊ยคำ) โรงเรียนเมตตาศึกษา (โรงเรียนในชั้นประถม) โรงเรียนพุทธิโสภณ (โรงเรียนในชั้นมัธยม) สวนสาธารณะหนองบวกหาด ข่วงประตูท่าแพ สวนรุกขชาติห้วยแก้ว (ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สถาบันการศึกษาระดับอาชีวะของเขา) สถานที่ทั้งหมดแทบไม่มีแห่งใดเข้าข่ายมีครบถ้วนทั้ง 5 ข้อ

ข้อสังเกตคือ มีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เป็นขององค์กรปกครองท้องถิ่น กรณีนี้อาจใช้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ใหญ่โตกว่า ซึ่งมิใช่เป็นปัญหาเฉพาะของที่เชียงใหม่ แต่เป็นปัญหาร่วมของแทบทุกเมืองทั่วประเทศ ท้องถิ่นไทยหาได้มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการพื้นที่แต่อย่างใด ที่ดินในเขตเมืองจำนวนมากอยู่ในความครอบครองของส่วนราชการต่างๆ หรือที่เรียกกันว่าที่ดินราชพัสดุ ยังมิพักเอ่ยถึงการประกาศเขตต่างๆ ของหน่วยงานราชการอื่นที่อยู่เหนืออำนาจตัดสินใจของท้องถิ่นอีก เช่น เขตเมืองเก่า เขตผังเมืองรวมเมือง (แบ่งพื้นที่บริเวณต่างๆ ออกเป็นสีตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดิน) เขตโบราณสถาน เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เขตทางหลวง เขตทหาร ฯลฯ

สถานที่ที่ทางเราเห็นว่าเหมาะสมที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่วางไว้ข้างต้นจึงเป็นด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา หรือศาลแขวงเก่า บริเวณเดียวกับที่ถูกใช้จัดกิจกรรมสารพัดในช่วงที่มีถนนคนเดินวันอาทิตย์ ถือเป็นจุดที่ค่อนข้างคึกคัก แฝงความหมายเชิงประวัติศาสตร์ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการท่องเที่ยว ในชั้นนี้มีประชาชนที่เห็นด้วยเข้าชื่อสนับสนุนนับพันกว่ารายชื่อ

แน่นอนที่สุด เรื่องนี้เราไม่สามารถกำหนดได้เองลำพัง จำเป็นต้องปรึกษาหารือและได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่คือ เทศบาลนครเชียงใหม่

นำไปสู่การหารือร่วมกันของหลายฝ่าย กลางเดือนกรกฎาคม 2564 ประกอบด้วยทั้งภาครัฐ (เทศบาล) นักวิชาการ (ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง) ตัวแทนภาคธุรกิจ ผู้แทนชุมชน และฝ่ายปฏิบัติ (กองช่าง, งานสวน) เข้าร่วมหาข้อสรุปเรื่องสถานที่ แนวทางของที่ประชุมต่างไปจาก ค.จ.ร. อยู่บ้าง นั่นคือ

1. ประชาชนเข้าถึงง่าย เป็นพื้นที่กี่งเปิด มองเห็นได้จากภายนอก

2. มีความปลอดภัย สามารถควบคุมดูแลได้

3. สอดคล้องกลมกลืนกับย่านนั้นๆ ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของย่านนั้นๆ พร้อมสร้างการเรียนรู้

ข้อห่วงใยหลักๆ เป็นเรื่องการดูแลรูปปั้น ซึ่งได้ถูกสะท้อนจากความเห็นของคนในครอบครัวคุณจรัลเองด้วย เพราะหากตั้งริมถนน ไม่อยู่ในสถานที่ที่มีรั้วรอบขอบชิดจะทำให้ยากแก่การป้องกัน อาจถูกกลุ่มคนมือบอนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ง่าย กับอีกประเด็นคือ เกรงว่ารูปปั้นอาจกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้ศรัทธาพากันมากราบไหว้บูชา บนบานศาลกล่าว (และขอหวย) กลัวจะมีคนเอาผ้าแพรเจ็ดสีไปผูก เอาน้ำแดงไปถวาย ฯลฯ ด้วยติดภาพจากศิลปินยิ่งใหญ่ของไทยที่ล่วงลับไปแล้วหลายคนที่มีรูปปั้นอยู่ที่วัดหรือตั้งเป็นศาล อาทิ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (วัดทับกระดาน) มิตร ชัยบัญชา (หาดจอมเทียน) เป็นต้น

สถานที่ตั้งที่พอเป็นไปได้จึงมีเพียง 2 แห่ง ได้แก่ สวนสาธารณะตลาดต้นลำใย (ตรงข้ามศาลเจ้าปุงเถ่ากง-กาดดอกไม้) ซึ่งยังต้องใช้เวลาพัฒนาปรับปรุงอีกนานแรมปี กับสวนสาธารณะหนองบวกหาด (หรือที่คนเรียกจนติดปากว่าสวนบวกหาด) โดยที่ประชุมอยากให้ช่วยตอบโจทย์ปัญหาเมืองเรื่องพื้นที่สีเขียวด้วย

จากตัวเลือกดังกล่าว สวนบวกหาดจึงมีจุดร่วม และตรงกับแนวทางของ ค.จ.ร. มากกว่า แม้สวนบวกหาดจะไม่ใช่พื้นที่เปิด และมีเวลาเปิด-ปิด แต่ก็ถือว่าอยู่ในเขตกำแพงเมืองชั้นใน และไม่ไกลจากย่านประตูเชียงใหม่ ตอนหลังเราถึงได้รู้จากกิจจา มโนเพ็ชร น้องชายของจรัลว่า จรัลในวัยรุ่นเคยพาน้องชาย 3 คนมาเที่ยวชมงานดนตรีเพื่อประชาชนซึ่งเทศบาลจัดขึ้นที่นี่ในปี 2509 มีวงดนตรีคณะศรีสมเพชรที่โด่งดังมากของยุคนั้นร่วมแสดง ที่แห่งนี้จึงพอจะมีความหมายเชื่อมโยงกับเรื่องราวชีวิตของจรัลอยู่เหมือนกัน

เมื่อได้ข้อสรุปดังนี้ เทศบาลจึงขอเวลาปรับปรุงบริเวณที่จัดวางให้เหมาะสมกับรูปปั้น หรือที่ในเวลาต่อมาถูกเรียกว่า 'ข่วงอ้ายจรัล' ลานกว้างที่อยู่ตรงประตูทางเข้าใหญ่ของสวนพอดี โดยใช้งบประมาณอีกร่วมแสนกว่าบาท ส่งผลให้แผนเดิมที่กำหนดเปิดประติกรรมในวันที่ 3 กันยายน 2564 (จรัลเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544) ต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของเขาในปีที่ 71 แทน (จรัลเกิดวันที่ 1 มกราคม 2494)

เส้นทางเดินที่ผ่านมาของโครงการ #จรัลรำลึก ไม่ง่ายเลย เหมือนเนื้อเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันท่อนต้น “อย่ากลับคืนคำเมื่อเธอย้ำสัญญา อย่าเปลี่ยนวาจาเมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป ให้เธอหมายมั่นคงแล้วอย่าหลงไปเชื่อใคร เดินทางไปอย่าหวั่นไหวใครกางกั้น” ในวันที่มีพิธีเปิดนั้น ศิลปินหลายคนหลายวงเลือกที่จะร้องเพลงนี้เบื้องหน้ารูปปั้น ประติมากรรม อนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถานของจรัล มโนเพ็ชร สุดแท้แต่เราท่านจะเรียก แต่ก็ล้วนมีความหมายเดียวกัน ซึ่งบัดนี้มันได้มีชีวิตของมันเองแล้ว

[1] “The Story Behind the Sculpture,” Visit Liverpool (6 October 2017), from https://www.visitliverpool.com/blog/read/2017/10/the-story-behind-the-sculpture-b240?fbclid=IwAR0q7E6jU3BBDjViqIXnmGKa57_eQmSSxDSH0q3V56AAC849i-eKXI10Rmw

[2] ธเนศวร์ เจริญเมือง, “ก่อนจะถึงวาระ 19 ปีจรัลลา,” มติชนสุดสัปดาห์ (7 สิงหาคม 2563), จาก https://www.matichonweekly.com/special-report/article_333618?fbclid=IwAR1vbiZ__Hcoinskqx2l7RJs-uLQxQ21SdzjGk1ViWoJZM97AYTfRAd6c0E

[3] บทความระยะหลังที่พยายามตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ ได้แก่ ธงทอง จันทรางศุ, “อนุสาวรีย์ ‘สามัญชน’,” มติชนสุดสัปดาห์ (30 มิถุนายน 2564), จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_435301?fbclid=IwAR29r3gNXs7yycQe1BA1gbQyLiPgEExaZO8UKxkMoJ4eau0AsFOI7NFIrm8; นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ภาษาของอนุสาวรีย์,” มติชนสุดสัปดาห์ (6 พฤษภาคม 2563), จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_302115?fbclid=IwAR2wKEjnXKdInJAmVnjX8hDh-Yk_aQqNe3_KrQQKgkIxXjytJSKG3SFpxQ0

[4] ดู “อนุสาวรีย์ทั่วกรุง ใครเป็นคนดูแล?,” workpointTODAY (13 กันยายน 2561), จาก https://workpointtoday.com/อนุสาวรีย์ทั่วกรุง-ใครเ/

[5] อ่านการเมืองเบื้องหลังการสร้างอนุสาวรีย์สองแห่งนี้ได้จาก Taylor M. Easum, “Sculpting and Casting Memory and History in a Northern Thai City,” Kyoto Review of Southeast Asia, Issue 20 (September 2016), from https://kyotoreview.org/issue-20/casting-memory-northern-thai-city/

[6] เช่น “ประติมากรรม จรัล มโนเพ็ชร,” เทศบาลนครเชียงใหม่ (ม.ป.ป.), จาก http://www.cmcity.go.th/list/page/509/ประติมากรรม%20จรัล%20มโนเพ็ชร/; อนิรุทร์ เอื้อวิทยา, “The King of Lanna Folk Song,” The Cloud (23 มิถุนายน 2564), จาก https://readthecloud.co/jaran-memorial

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0