กทม. สั่งทุกเขต เฝ้าระวังซุ้มยาดองในพื้นที่ พร้อมเตรียม 4 มาตรการควบคุมแอลกอฮอล์ ช่วงปีใหม่ 2568 ลั่นตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกคน กรณีเกิดอุบัติเหตุ
นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2567 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การรณรงค์ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่งเสริมให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. ร้านค้าผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2. เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 3. ผู้ขับขี่ยานพาหนะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เปิด 4 มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีใหม่ 2568
1. มาตรการขับเคลื่อนแบบบูรณาการและร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยบูรณาการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรุงเทพมหานคร กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดให้การจัดงานหรือกิจกรรมปีใหม่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่รับและไม่สนับสนุนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมประสานภาคีเครือข่ายจัดทีมหน่วยแพทย์กู้ชีพประจำที่ตั้งพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุตลอด 24 ชั่วโมง
2. มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าผู้ประกอบการและประชาชนปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รณรงค์ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กับผู้ขับขี่ยานพาหนะ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี กระเช้าของขวัญปีใหม่ปลอดเหล้า และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เด็กและเยาวชนไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นการ
ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่
3. มาตรการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน โดยสนับสนุนให้ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ร่วมเฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อป้องกันการเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาทและการสูญเสียอื่น ๆ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้มีการนำวิธีสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้นไปใช้ในการประเมินผู้ขับขี่ที่สงสัยว่ามีอาการมึนเมาสุรา
4. มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย มอบหมายสำนักงานเขตเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ รวมทั้งตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเน้นจุดใกล้บริเวณสถานบริการ สถานประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดำเนินการมาตรการ “ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์” ในผู้ขับขี่ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตทางถนน
นอกจากนี้ ได้หารือแนวทางมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการดื่มแอลกอฮอล์เถื่อน (ซุ้มยาดอง) โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้โทษพิษภัยของการดื่มแอลกอฮอล์เถื่อน หรือเหล้าที่มีส่วนผสมของเมทานอล หรือสารไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol : IPA) ทางสื่อประชาสัมพันธ์ช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงานโดย สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักงานเขต 50 เขต สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร และกรมประชาสัมพันธ์
พร้อมกันนี้ ได้สั่งการใหเค้นหาจุดเสี่ยงซุ้มยาดองที่ขายแอลกอฮอล์เถื่อนในพื้นที่ และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยมอบหมายสำนักงานเขต 50 เขต ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง กรณีพบผู้ป่วยหรือผู้สงสัยดื่มเหล้าเถื่อนในพื้นที่ ให้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ แนะนำการคัดกรองอาการผ่าน QR Code และส่งต่อศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ของกรุงเทพมหานคร และแนวทางมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการดื่มแอลกอฮอล์เถื่อน (ซุ้มยาดอง) โดยให้เพิ่มเติมในบางประเด็นตามข้อสังเกต ทั้ง 2 แนวทางฯ เพื่อจะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กำหนด 4 มาตรการคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอุบัติเหตุปีใหม่ 2568 ไฟเขียวขายในห้องพักโรงแรมได้ 24 ชม.
- ราชกิจจาฯ ประกาศ เกณฑ์การตรวจปัสสาวะ-ตรวจเลือด เมาแล้วขับ จากเดิมใช้วิธีเป่าวัดแอลกอฮอล์เท่านั้น
- สั่งด่วน!! ห้ามข้าราชการ ดื่มแอลกอฮอล์ขณะปฏิบัติหน้าที่
ติดตามเราได้ที่
ความเห็น 1
เจษฎาพล ฉิมพลี
มือปืนมีซุ้มมือปืน ยาดองก็มีซุ้มยาดอง มีขายเกลื่อนทั่วไทย ไปไหนๆก็มีซุ่มยาดองแกล้มด้วยมะม่วงจิ้มพริก
7 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ดูทั้งหมด