วันนี้ (30 ก.ย.2567) หน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยกันทำคันดินเสริมแนวตลิ่งริมแม่น้ำสาย บริเวณด้านหลังตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ให้สูงขึ้นอีกประมาณ 3-5 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แม่น้ำสายทะลักเข้าย่านชุมชน หลังกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนฝนตกหนักในช่วง 1-2 วันนี้
การสำรวจปริมาณน้ำแม่สายบริเวณชุมชนบ้านถ้ำผาจม ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจุดแรก พบว่ามีปริมาณไม่สูงนัก แต่กระแสน้ำยังไหลเชี่ยว ชาวบ้านหลายคนที่พื้นฟูบ้านเสร็จแล้วเริ่มทยอยกลับเข้าอยู่อาศัย แม้จะยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ โดยชาวบ้านบางส่วนกังวลว่าจะถูกน้ำท่วมซ้ำอีกหลังมีการแจ้งเตือนฝนตก
ขณะที่นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ระบุว่า เร่งเสริมแนวตลิ่งและวางบิ๊กแบ็คตลอดแนวแม่น้ำสาย รวมถึงจัดแผนร่วมกับทางอำเภอเรื่องการอพยพชาวบ้านจุดเสี่ยง และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังมวลน้ำ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังน้ำท่วมและน้ำหลาก
"ชัชชาติ" แนะใช้ระบบ "มดงาน" ชาวบ้าน-อาสาฯ เร่งระบายน้ำ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ อ.แม่สาย เมื่อวันที่ 29 ก.ย. และได้พบรถกระบะของอาสาฯ ที่กำลังขน "ท่อพญานาค" ชุดละกว่า 10,000 บาท ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมขังในซอย ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำได้ดี
เรื่องหนึ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เห็นด้วยระหว่างลงพื้นที่และร่วมถกเถียงวิธีแก้ปัญหากับกลุ่มอาสาฯ คือการใช้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างไดโว่ หรือท่อพญานาค ช่วยกันแก้ปัญหาแบบ “มดงาน” ผ่านระบบ “เส้นเลือดฝอย” ที่มีชาวบ้านและอาสาฯ ช่วยกันทำได้
ก่อนหน้านี้ กทม.ส่งรถดูดโคลนเลน รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักการระบายน้ำและกองโรงงานช่างกลรวมกว่า 20 ชีวิตไปช่วยฟื้นฟูแม่สาย โดยเฉพาะพื้นที่บ้านป่าแดง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผอ.มูลนิธิกระจกเงา ที่ร่วมลงพื้นที่ โพสต์ข้อความระบุว่า ทึ่งในความพยายามที่จะเอาชนะปัญหาและพลิกแพลงของคนทำงาน เพราะสิ่งนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในจุดที่ไม่ใหญ่นักได้ดี
"ท่อซิ่งพญานาค" ปักหลักช่วยชาวแม่สาย
ส่วนที่ชุมชนบ้านผาจม ติดลำน้ำสาย ซึ่งเป็นด่านแรกที่รับน้ำตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. แต่ยังมีทั้งโคลนและน้ำท่วมขัง ไม่สามารถอาศัยการระบายน้ำตามระบบปกติได้ ขณะนี้เข้าสู่วันที่ 5 ที่ทีมสูบน้ำซิ่งนำท่อซิ่งพญานาค ซึ่งเป็นเครื่องสูบน้ำยักษ์จาก จ.สมุทรสาคร มาปักหลักที่นี่ โดยเดินหน้าสูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มและพื้นที่น้ำท่วมขัง ผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำสาย
ทีมสูบน้ำซิ่ง กล่าวว่า หากน้ำถูกระบายลงแม่น้ำสายแล้ว ดินโคลนจะจับตัวง่ายต่อการเคลียร์พื้นที่ พร้อมยืนยันว่าจะปักหลักช่วยชาวบ้านอยู่ที่นี่ เตรียมพร้อมช่วยระบายน้ำหากเกิดฝนตกหรือน้ำล้นตลิ่งอีก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นฟูที่กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าว
หอการค้าชี้ เสียหาย 3 หมื่นล้าน “เชียงราย” กระทบหนักสุด
ความเห็น 0