โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ขน 'ประตูแดง' วางหน้าหอประชุม มธ. เตรียมงาน 6 ตุลา

MATICHON ONLINE

อัพเดต 01 ต.ค. 2563 เวลา 04.39 น. • เผยแพร่ 30 ก.ย 2563 เวลา 15.16 น.
ประตูแดง

ขน ‘ประตูแดง’ วางหน้าหอประชุม มธ. เตรียมงาน 6 ตุลา

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเตรียมนิทรรศการ ‘แขวน 6 ตุลา on site museum หลักฐาน+ข้อเท็จจริง พื้นที่ + เทคโนโลยี’ โดยมีการขนย้าย‘ประตูแดง’ ซึ่งเป็นประตูที่พนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 ราย ถูกแขวนคอจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาจัดแสดงบริเวณประตูหอประชุมใหญ่ โดยในวันนี้มีการทยอยติดตั้งนิทรรศการเป็นวันที่ 2

สำหรับช่างไฟฟ้าทั้ง 2 ราย ได้แก่ นายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย ถูกซ้อมระหว่างติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม (กิตติขจร) แล้วนำศพไปแขวนบนประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่ง นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เจรจากับเจ้าของที่ดินขอเคลื่อนย้ายประตูแดงไปจัดเก็บ ซึ่งเจ้าของยินดี โดยมีการนำประตูเลื่อนบานใหม่สีเทาไปติดตั้งให้แทน เนื่องจากเป็นสีดั้งเดิมก่อนสนิมกัดกิน

ต่อมามีการเปิดเผยว่า ประตูแดงถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่โกดังของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ รอโอกาสจัดแสดงในอนาคต คาดว่าจะมีการจัดนิทรรศการเป็นระยะๆ ร่วมกับวัตถุอื่นๆ ต่อมา ได้นำไปจัดแสดงในงาน ‘ประจักษ์พยาน’ รำลึก 6 ตุลา 2562  กระทั่งมีการเคลื่อนย้ายมาจัดแสงในนิทรรศการ ‘แขวน’ 6 ตุลาปีนี้

สำหรับเนื้อหา มีการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยระบุถึงจำนวนผู้ถูกแขวนคอ 5 รายจากจำนวนผู้เสียชีวิต 46 ราย ตามข้อมูลจากการชันสูตรพลิกศพ, ไทม์ไลน์เหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519, หนังสือพิมพ์รายวันที่รายงานข่าวในช่วงเกิดเหตุ, แบบพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา 2519 จากนักศึกษากลุ่มโครงการสถาปัตยกรรมการเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และภาพถ่ายเก่าพร้อมข้อมูลน่าสนใจเป็นจำนวนมาก รวมถึงวัตถุจัดแสดง อาทิ ลำโพงที่ใช้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา, กางเกงยีนส์ของนายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง ชาวนครศรีธรรมราช นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมด้วยไดอารี่ของบิดา, เสื้อนักเรียนของนายจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สูญหาย เป็นต้น

สำหรับไฮไลต์ คือใช้เทคโนโลยี‘เออาร์’ ฉายภาพเสมือนจริง ตั้งแต่บริเวณบันไดทางขึ้นหอประชุม ซึ่งเป็นจุดที่นายกมล แก้วไทรไทย ชายวัย 19 ปี ถูกยิงเสียชีวิต กระสุนทะลุปอด ก่อนถูกนำร่างไปแขวนบนต้นไม้ที่สนามหลวง และถูกทำร้ายอีกหลายครั้งหลังการเสียชีวิต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ย้าย ‘ประตูแดง’ หลักฐานเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาฯ 19

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น