รัฐบาล-ราชการ ‘คันเร่ง’ กับ ‘เบรก’
หลังวันที่ 11 กันยายน ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ นำรัฐบาล“เศรษฐา 1” แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ก็ได้ฤกษ์ประชุม ครม.ชุดใหม่นัดแรกวันที่ 12 กันยายน เพื่อลุยงานอย่างเป็นทางการทันที โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน การช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการภาคส่วนต่างๆ
ก่อนหน้านี้ นายกฯเศรษฐา ตระเวนอุ่นเครื่องไว้แล้ว โดยนำว่าที่รัฐมนตรีไปรับฟังปัญหาต่างๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ไม่ว่าจะบินไปหารือกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ภูเก็ต การนั่งรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีไปพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขายที่ตลาดเมืองไทยภัทร
การไปรับฟังปัญหาชาวประมงที่แม่กลอง และการหารือกับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง
สำหรับ ครม.นัดแรก มีประกาศไว้คร่าวๆ ว่า จะมีเรื่องการทำประชามติเพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) การลดค่าไฟฟ้า และหั่นราคาน้ำมันดีเซลลง
รวมถึงอาจมีเรื่องฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน เพื่อดึงเข้ามาไทยช่วงหยุดยาววันชาติจีนต้นเดือนตุลาคมนี้ และรองรับช่วงไฮซีซั่นในปลายปี
รวมทั้งแนวทางการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” พร้อมจะเหยียบคันเร่งเต็มที่ ด้วยเพราะประชาชนคาดหวังไว้สูงมากกับรัฐบาลพิเศษชุดนี้
ขณะที่รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาล ประชาชนบางส่วนอาจยังแคลงคลางใจกับความรู้ความสามารถในงานที่กำกับดูแลรับผิดชอบแต่ละกระทรวง ที่ดูเหมือนจะผิดฝาผิดตัว ไม่เข้ากับหลักการเลือกคนให้เหมาะกับงาน หรือ put the right man on the right job
ด้วยเพราะข้อจำกัดและเงื่อนไขทางการเมือง รวมทั้งด้วยความที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงมิอาจจะทำเช่นนั้นได้อย่างเต็มที่นัก
ดังนั้น “เศรษฐา” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะต้องคุมเกมให้รัฐมนตรีแต่ละคน แต่ละกระทรวงยึดธงนำ นั่นคือนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก และต้องดูแลไม่ให้เลยแนวทาง ออกนอกแถวไป
รัฐบาลต้องยึดการสร้างผลงานออกมาโชว์ให้ประชาชนรับรู้ สัมผัสได้โดยเร็ว เพื่อลบภาพความข้องใจ สงสัยในฝีมือของรัฐมนตรีบางคน
แต่กระนั้น ความเร็วในการแสดงผลงาน ก็ไม่ง่ายดายนัก เพราะมีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เป็นด่านคอยสกัดขัดขวางอยู่
หนึ่ง…ความเป็นรัฐบาลผสม ที่แต่ละพรรคส่งคนของตัวเองไปเป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลแต่ละกระทรวงนั้น มีนโยบายหลายเรื่องเกี่ยวพันทับซ้อนกับหลายหน่วยงาน
หากไม่ใช่รัฐมนตรีที่อยู่ในพรรคเดียวกันคุมกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้น การประสานงานกันย่อมยุ่งยากกว่าปกติ หากไม่ประสานงานกันให้ดีก็อาจทำให้งานสะดุดได้
อีกทั้งการเสนอเรื่องเข้า ครม.เพื่อขอมติอนุมัติ หรือขอความเห็นชอบโดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ต้องมีความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ มาประกอบด้วย
หลายครั้งที่ผ่านมา มีหลายโครงการแม้จะจำเป็นเร่งด่วนก็มักสะดุดลง ด้วยเพราะบางหน่วยงานคัดค้าน
หนึ่ง…พรรคราชการ ที่มีการเปรียบเปรยกันว่าเป็นพรรคเข้มแข็งที่สุดในประเทศไทย เพราะเป็นกลไกหลักในการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผล
หลายรัฐบาลที่ผ่านมาเจอพรรคราชการยังต้องยอมถอย
ไม่ใช่เฉพาะตัวข้าราชการ แต่รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่ยิบย่อย ยุบยับ มีขั้นตอนต่างๆ มากมาย
สำหรับตัวข้าราชการเองนั้นในแต่ละหน่วยงานก็มีหลายหลากประเภท
มีทั้งพร้อมสนองนโยบายรัฐมนตรีเต็มที่ แม้บางเรื่องราวส่อว่าจะผิดกฎระเบียบก็ตาม
มีทั้งข้าราชการที่เป็นไม้บรรทัด ยึดกฎระเบียบเป็นสรณะ ไม่ยอมโอนอ่อนให้แม้สักนิดเดียว
มีทั้งข้าราชการที่พร้อมนำนโยบายของรัฐบาล-รัฐมนตรีเป็นหลัก แม้มีกฎระเบียบขัดขวาง ก็จะหาวิธีแก้ไขให้นโยบายและกฎระเบียบไปด้วยกันได้
นอกจากนี้ ข้าราชการในหลายหน่วยงานก็แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น มีไม่น้อยที่พร้อมเข้าหานักการเมืองเพื่อหวังผลกับความก้าวหน้าในตำแหน่งแห่งหนที่สูงขึ้น โดยไม่สนว่าจะผิดหรือขัดกฎระเบียบอย่างไร
แม้ที่ผ่านมา ข้าราชการบางคนที่สนองการเมืองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูแล้วได้ดีจะมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็มีไม่น้อยที่ข้าราชการหลายคนต้องถูกร้องเรียน ถูกสอบวินัยและฟ้องอาญา บางคนถึงกับต้องเข้าไปนอนในคุก จบชีวิตข้าราชการไปอย่างอนาถ
ข้าราชการหลายคนจึงมักป้องกันตัวไว้ก่อน หากนโยบายหรือคำสั่งอะไรที่ส่อว่าจะทำให้ตัวเองเดือดร้อนก็มักเลี่ยง ไม่สนองตอบ อย่างมากสุดก็แค่ถูกย้ายไปสังกัดที่อื่น แต่ยังดีกว่าต้องเสี่ยงไปนอนในตะราง
ดังนั้น แม้รัฐบาลและรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงจะพยายามเหยียบคันเร่ง ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ แต่เมื่อเจอระบบราชการ แตะเบรกด้วยขั้นตอนและกฎระเบียบต่างๆ ทำให้การทำงานไม่ราบรื่นนัก ผลงานที่
ตั้งใจโชว์ให้ประชาชนเห็นเร่งด่วน ก็ไม่อาจออกมารวดเร็ว อย่างที่วาดหวังไว้
อย่างไรก็ตาม หากเร่งนโยบายด้วยความเร็วเกินพิกัดมากไป โดยไม่แตะเบรกเลย อาจหลุดโค้งลงเหวได้
หากมัวแต่จะแตะเบรก ทำให้นโยบายขับเคลื่อนไม่ได้ สุดท้ายเบรกไหม้ เสียหายกันไปหมด
ดังนั้น รัฐบาลและข้าราชการ ต้องเร่งเครื่องและเหยียบเบรกในจังหวะที่สอดคล้องกัน เพื่อให้นโยบายออกมาไม่ช้าไปนัก และไม่เสี่ยงที่จะมีความเสียหายตามมา
ความเห็น 0