เฟลอร์-เดอ-ลิส ตัวแทนของกษัตริย์ที่นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์กิจการลูกเสือ
เฟลอร์-เดอ-ลิส(Fleur-de-lis) เป็นสัญลักษณ์ที่มาจาก “ดอกลิลลี่” ตัวแทนแห่งความบริสุทธิ์ และราชวงศ์ฝรั่งเศส ได้ริเริ่มนำสัญลักษณ์นี้มาใช้ประดับไว้บนมงกุฎหรือตราประจำตระกูลต่าง ๆ มาอย่างช้านาน
ราชวงศ์ฝรั่งเศสใช้สัญลักษณ์นี้เพื่อเป็นตัวแทนของกษัตริย์ แสดงถึงอำนาจ ความบริสุทธิ์ และความเป็นใหญ่ของราชวงศ์ ที่เห็นได้ชัดคือรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 (ค.ศ. 1137-1180/พ.ศ. 1680-1723) มีการสลักสัญลักษณ์นี้บนแหวนของพระองค์ และเชื่อว่าทรงเป็นผู้ริเริ่มใช้ดอกลิลลี่บนธงสีน้ำเงิน หรือดอกลิลลี่โบราณบนโล่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นสายเลือดแห่งขัตติยะ
ต่อมาช่วงศตวรรษที่ 15 มีการนำสัญลักษณ์นี้มาใช้เป็นเครื่องหมายประจำตระกูลที่เย็บไว้บนเสื้อคลุมทับด้วยชุดเกราะอัศวิน เดิมมีจุดประสงค์เพื่อระบุตัวตนในสนามรบ แต่ภายหลังได้พัฒนามาเป็นตราประจำตระกูลเพื่อบ่งบอกสถานะทางสังคม
นอกจากนี้ นครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ก็ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นตราประจำเมือง เพราะเคยเป็นส่วนหนึ่งบนตราประจำตระกูลเมดิชี (Medici) ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์กับราชวงศ์ฝรั่งเศส และเป็นตระกูลทรงอิทธิพลของเมือง
แล้วทุกคนสงสัยไหมว่า นอกจากราชวงศ์ฝรั่งเศส ทำไมกิจการลูกเสือโลก และกิจการลูกเสือไทยถึงใช้สัญลักษณ์นี้ด้วย?
พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ปีที่กำเนิดกิจการลูกเสือโลกอย่างเป็นทางการโดย บารอน เบเดน-พาวเวลล์(Baron Baden-Powell) สัญลักษณ์ที่เขานำมาใช้เป็นเครื่องหมายลูกเสือคือ ดอกเฟลอร์-เดอ-ลิส หรือดอกลิลลี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และสันติภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่ตราประจำราชวงศ์ของกษัตริย์ และถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก
หนังสือ Scouting for Boysของเบเดน-พาวเวลล์ ได้กล่าวถึงเครื่องหมายนี้ไว้ว่า “เครื่องหมายลูกเสือดัดแปลงมาจากทิศเหนือของเข็มทิศในภาษาอิตาลีคือ ตรามอนตานา (Tramontana) ซึ่งบ่งบอกว่าลูกเสือสามารถชี้ทางได้อย่างแท้จริงเช่นเดียวกับเข็มทิศ”
ปลายทั้งสามของสัญลักษณ์เป็นตัวแทนของ 3 จุดแห่งคำมั่นสัญญาของลูกเสือ แต่ในบางประเทศ มีการประดับดาวห้าแฉก 2 ดวงทั้ง 2 ข้าง ซึ่งหมายถึงความจริงและความรู้
หลังจากกำเนิดกิจการลูกเสือโลกแล้ว 4 ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6ทรงก่อตั้งกองเสือป่าและกิจการลูกเสือไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังให้พสกนิกรมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมายชาติบ้านเมือง ส่งเสริมความกล้าหาญ เข้มแข็ง สามัคคีและเสียสละ พร้อมพระราชทานคำขวัญว่า“เสียชีพ อย่าเสียสัตย์”
แรกทีเดียวกองเสือป่ามีสัญลักษณ์เป็นธงมหาศารทูลธวัช (เสือป่าใหญ่) เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดำ มีรูปเสือลายพาดกลอนปักเต็มตัวยืนหันไปทางเสา ด้านล่างปักด้วยคำขวัญสีแดง รอบธง 4 ด้านปักพระคาถาพาหุงบทแรก
ภายหลัง นาวาโท หลวงศุภชลาศัยอธิบดีกรมพลศึกษาและอุปนายกสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งสยามในขณะนั้น มีหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8ขอรับพระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำคณะลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้เข้ากับหลักสากลที่ลูกเสือทั่วโลกต่างก็มีตราสัญลักษณ์ของตนเองทั้งสิ้น
เป็นที่มาของการใช้สัญลักษณ์แบบลูกเสือโลก คือรูป เฟลอร์-เดอ-ลิส ตามคตินิยมของสมาคมลูกเสือนานาชาติ ประกอบกับหน้าเสืออยู่ตรงกลาง ตามพระราชนิยมแห่งองค์พระผู้พระราชทานกำเนิดคณะลูกเสือสยาม ปลายแฉกด้านซ้ายและด้านขวามีดาวประดับข้างละหนึ่งดวง พร้อมทั้งมีคำขวัญอยู่ด้านล่าง
สัญลักษณ์ประจำคณะลูกเสือแห่งชาตินี้เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ได้มีการเพิ่มรูปเชือกร้อยเป็นปมเงื่อนเชือก และได้ใช้สัญลักษณ์นี้มาจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- บทบาท “ลูกเสือ” กับการพิทักษ์ประชาธิปไตย ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช
- 1 พฤษภาคม 2454 กำเนิดกองเสือป่า รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นสมาชิกหมายเลข 1
- “ดอกป๊อปปี้” สัญลักษณ์ที่ผูกพันกับ “การเมือง” และการส่งเสริม “การทำสงคราม”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2024, August 22). fleur-de-lis. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/topic/fleur-de-lis
https://www.fleurdelis.com/fleur.htm
https://www.scoutthailand.org/pages/thaiscout-view.php?id=2
https://www.scoutthailand.org/pages/thaiscout-view.php?id=4
https://www.thansettakij.com/news/general-news/600539
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เฟลอร์-เดอ-ลิส : สัญลักษณ์เชื่อมโยงลูกเสือโลกและลูกเสือไทย
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com