โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สังคม

รู้จัก "โพรไบโอติกส์" ตัวช่วยสำคัญผู้ป่วยลองโควิด (Long COVID)

Thai PBS

อัพเดต 23 ม.ค. เวลา 04.26 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. เวลา 10.15 น. • Thai PBS
รู้จัก

"โพรไบโอติกส์" หรือ Probiotics หมายถึง จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อร่างกายได้รับไปในปริมาณที่เหมาะสม จะส่งผลดีต่อสุขภาพ จุลินทรีย์พบได้ ในนมหมัก อาหารหมัก ผัก ผลไม้ ไม่เพียงเท่านั้น โพรไบโอติกส์สามารถสร้างสารที่เกิดประโยชน์กับร่างกาย ได้แก่ กรดอะซิติก กรดแลคติก กาบา และแบคเทอริโอซิน เป็นต้น

อ่านข่าว : ขาขึ้น "โควิด" สัปดาห์เดียวตาย 11 คน ป่วย 718 คน

ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์มีหลายอย่าง ทั้งการปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ กระตุ้นการขับถ่าย ตลอดจนเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่เรื้อรัง รวมทั้งอาจช่วยป้องกันภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้โพรไบโอติกส์ยังถูกพัฒนาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

กิมจิมีโพรไบโอติกส์เป็นอาหารดูแลลำไส้

กิมจิมีโพรไบโอติกส์เป็นอาหารดูแลลำไส้

มีการนำจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ไปใช้ในด้านความงามด้วย เช่น ในกรณีที่ผิวมีปัญหาผิวแห้งเป็นขุย โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ผสมโพรไบโอติกจะช่วยฟื้นฟูกระบวนการของผิวให้กลับมามีสมดุลมากขึ้น เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้โพรไบโอติกส์ในร่างกายลดลง เช่น กินอาหารที่มีกากใยน้อย มีไขมันสูง หรือน้ำตาลสูง การรับประทานยาปฏิชีวนะ หรือ ยาแก้ปวดเป็นประจำ รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และความเครียด

อ่านข่าว : โควิด-19 JN.1 สายพันธุ์หลักระบาดในไทย พบ อาการคล้ายหวัด

ยังมีการศึกษาที่พบว่า การได้รับโพรไบโอติกส์เป็นประจำมีส่วนช่วยคงระดับอารมณ์ได้ เพราะแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้มีส่วนช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ถ้าได้รับในปริมาณที่เพียงพอ ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยลดอาการลองโควิดด้วย

มาถึงจุดนี้หลายคนคงได้รู้จัก "โพรไบโอติกส์" มากขึ้น โดยโพรไบโอติกจัดเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่น หรือ Normal flora ในทางเดินอาหาร หากร่างกายมีสุขภาพดีก็จะมีการรักษา สมดุลจุลินทรีย์ให้เป็นปกติ แต่ถ้าหากมีอะไรไปรบกวนสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย จุลินทรีย์ประจำถิ่นในลำไส้จะถูกรุกราน อาจเกิดผลกระทบตามมาได้ ดังนั้นการสร้างสภาวะความสมดุลระหว่าง Normal flora และร่างกายนั้นจึงมีความสำคัญ

การรับประทานโพรไบโอติกส์เป็นการเสริมจุลินทรีย์ชนิดดีและรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายให้มีภูมิต้านทานต่อเชื้อจุลินทรีย์ชนิดไม่ดีได้ด้วย อย่างไรก็ตาม อาการข้างคียงที่อาจพบได้หลังกินโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่สูงไป คือ เกิดภาวะลมในท้องเพิ่มขึ้น เกิดอาการท้องอืดหรือแน่นท้องได้

อ่านข่าว : ว่าที่ดาวเด่น Soft Power "กวาวเครือขาว" สมุนไพรไทย

มิโซะทำจากถั่วเหลืองหมักกับเกลือและเชื้อราชนิดที่ดี นำมาซึ่งจุลินทรีย์ชนิดที่ดีต่อลำไส้

มิโซะทำจากถั่วเหลืองหมักกับเกลือและเชื้อราชนิดที่ดี นำมาซึ่งจุลินทรีย์ชนิดที่ดีต่อลำไส้

"โพรไบโอติกส์" มีประโยชน์และจำเป็นอย่างไร?

สารในกลุ่มพรีไบโอติกส์ จัดเป็น functional food เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยจะกระตุ้นการทำงานและส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์โปรไบโอติก เช่น แบคทีเรียในกลุ่ม lactic acid bacteria ได้แก่ แล็กโทบาซิลลัส และไบฟิโดแบคทีเรีย

จุลินทรีย์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ร่างกายเกิดกลไกการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในลำไส้นั้นมีเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันกว่าร้อยละ 80 จึงถือว่าระบบทางเดินอาหารเป็นแหล่งที่มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพในการรักษาสมดุลระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

ทำให้สภาพแวดล้อมมีสภาพเป็นกรด ทำให้เชื้อก่อโรค ซึ่งมักไม่ทนกรด ไม่สามารถเจริญได้ ช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้สามารถควบคุม จุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารได้ ช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพในอื่น ๆ เช่น ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ ลดการเกิดมะเร็ง

อ่านข่าว : 5 สมุนไพรผักพื้นบ้าน 1 ตำรับยาไทย พิชิตเบาหวาน

นอกจากช่วยเรื่องลำไส้ ยังมีประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ป้องกันฟันผุหรือรักษาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ปรับการทำงานของสมอง ป้องกันโรคภูมิแพ้ ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ข้อมูว่า จุลินทรีย์โพรไบโอติก มีบทบาทในการป้องกันและรักษาภาวะท้องเสีย ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุการติดเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ ไวรัส ซึ่งมักเกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือในผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

จากการวิจัยทางคลินิกจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์ จุลินทรีย์โพรไบโอติกบางชนิดสามารถลดอาการท้องร่วง ท้องเสีย และความถี่ของการถ่ายอุจจาระได้ โดยพบว่าโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ Lactobacillus acidophilus, L. delbruckii subsp. bulgaricus, L. rhamnosus GG และ L. fermentum สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องร่วงระหว่างการเดินทาง

การป้องกันโรคลำไส้แปรปรวน หรือไอบีเอส (Irritable Bowel Syndrome ; IBS) อาการลำไส้แปรปรวน (IBS) เป็นความผิดปกติของ ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีสาเหตุุมาจากลำไส้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้เร็วกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยหรือใต้สะดือ โดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สามารถกำจัดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค และช่วยปรับสมดุลของ จุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งได้นำมาใช้รักษาผู้ป่วย IBS แล้วพบว่ามีอาการดีขึ้น

อ่านข่าว : อาหารพักเบรกเสี่ยงโรค "ปฏิวัติ" ตัวเองสุขภาพยั่งยืน

โพรไบโอติกส์ ช่วยลดเสี่ยงโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ ?

นอกจากนี้ โพรไบโอติกส์ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันตั้งแต่ภายในลำไส้โดยช่วยเพิ่มจำนวน NK cell (เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่กำจัดเซลล์ที่่ติดเชื้้อไวรัสและเซลล์มะเร็ง เพิ่มกิจกรรม NK cell และการฆ่าเชื้อแบคทีเรียของเซลล์นิวโทรฟิลให้มีประสิทธิภาพขึ้น

โพรไบโอติกส์ จึงทำหน้าที่ช่วยให้ร่างกายได้สารต้านการอักเสบหรือวิตามินและสารสื่อประสาทที่เป็นเกราะป้องกันโรคจากลำไส้ เชื้อโควิดที่ชอบลงไปติดที่เซลล์เยื่อบุเอพิธีเลียมของลำไส้ก็จะไม่อาจเข้าไปในร่างกายเราได้ง่าย ๆ ด้วยกลไกของเชื้อโพรไบโอติกส์ช่วยสกัดกั้นเอาไว้อยู่

สอดคล้องกับข้อมูลของ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ที่ข้อแนะนำ ให้ผู้ป่วย ลองโควิด (Long COVID) หรือ หรือ Post COVID-19 Syndrome คือ ภาวะของคนที่หายจากโควิด แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ ให้เลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงเลือกกินอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน จุลินทรีย์สุขภาพ หรือ โพรไบโอติกส์ และวิตามินต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง และสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน

อาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ร้อยละ 30-50 จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่รักษาหายแล้ว

ช่วยฟื้นฟูร่างกาย จากภาวะลองโควิด?

สำหรับผู้ป่วยลองโควิด-19 จึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด เน้นอาหารย่อยง่าย เนื่องจากอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร

นอกจากนี้ ควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งบริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพวก โยเกิร์ต นมเปรี้ยว และจะให้ได้ประโยชน์จริง ๆ ควรเลือกที่มีนํ้าตาลน้อย

จะยิ่งดีหากกินร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพ และยังช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

หลีกเลี่ยงได้ควรเลี่ยง คือ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด ย่อยยาก รวมทั้งควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง

ฟื้นฟูร่างกาย-สร้างภูมิคุ้มกัน จากวิตามิน-แร่ธาตุ

นอกจากนี้ วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู แข็งแรง และสร้างภูมิคุ้มกัน

1.วิตามินซี พบมากในผักและผลไม้สด เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง มะนาว มะเขือเทศ พริกหวาน เป็นต้น ควรกินแบบสด หากนึ่งหรือผัด ควรใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษาคุณค่าจากวิตามินซีไว้ได้ดียิ่งขึ้น

2. วิตามินเอ เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและสีส้ม เช่น ตําลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง มะละกอสุก เป็นต้น

3.วิตามินดี ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม เห็ด ไข่แดง เป็นต้น

4.วิตามินอี ได้แก่ ไข่ ผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น ถั่วต่าง ๆ นํ้ามันถั่วเหลือง นํ้ามันมะกอก นํ้ามันดอกทานตะวัน อะโวคาโด เป็นต้น

และ 5.แร่ธาตุสังกะสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องใน ตับ หอยนางรม ข้าวกล้อง เป็นต้น

อ้างอิงข้อมูล : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, กระทรวงสาธารณะสุข, มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านข่าวอื่น ๆ

DSI รับตัว "เฮียเก้า" ดำเนินคดี "สวมสิทธิส่งตีนไก่" ขายจีน

วงจรปิดมัด 2 ชาวอินเดียเอี่ยวฆ่าหั่นศพเมียนมา

"คัลแลน" ชวนไทยแยกขยะแบบเกาหลี-คพ.เล็งลดขยะอาหาร 28%

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0