โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ท่วมไม่ท่วม? คุยกันให้ถ่องแท้กับหนึ่งในผู้รู้เรื่องน้ำ ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า

a day BULLETIN

อัพเดต 21 ต.ค. 2564 เวลา 12.07 น. • เผยแพร่ 12 ต.ค. 2564 เวลา 10.55 น. • a day BULLETIN
ท่วมไม่ท่วม? คุยกันให้ถ่องแท้กับหนึ่งในผู้รู้เรื่องน้ำ ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า

ปีนี้น้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 หรือไม่? ตกลงน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ มั้ย เพราะจังหวัดใกล้เคียงเขาพายเรือกันแล้ว? ทำไมสถานการณ์รอบตัวดูอลหม่าน? 

        หลายคำถามผุดขึ้นมาในสภาวะที่โควิด-19 ก็ยังไม่คลาย ภัยจากน้ำท่วมก็ซ้ำเติมเข้ามาอีก ไม่แปลกที่พวกเราในฐานะคนเสพข่าวสาร จะรู้สึกตระหนกตกใจ จะเตรียมตัวรับมือก็ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมในขั้นไหน จะหันไปพึ่งข้อมูลข่าวสารจากสื่อ ก็เห็นแต่ภาพน้ำท่วมเนืองนอง ส่องเข้าไปในโซเชียลมีเดีย ก็หลากล้นไปด้วยภาพและข้อมูลที่ไม่รู้ควรจะเลือกตรงไหนมาตัดสินใจรับมือ 

        ไม่ต้องอะไรมาก เพื่อนของเราในเฟซบุ๊กเริ่มคิดซื้อเรือมาติดบ้าน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม ร้านขายของในชุมชน เริ่มลงกระสอบทรายรอบร้าน จนต้องปีนเข้า แม้ปริมาณน้ำฝนที่รายงานในแต่ละวัน ยังอยู่ในจุดที่ทางการบอกว่า ‘อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นห่วง’ 

        หลายคนบอกว่า ภาพน้ำท่วมในปี 2554 ยังตามมาหลอกหลอน และกลัวว่าปีนี้จะเป็นแบบนั้น เพราะใครๆ ก็บอกว่า น้ำจะท่วมทุกสิบปี (แต่ใครๆ ที่ว่าก็ไม่รู้ว่าใครกันแน่) แต่ขณะที่เรากำลังหวาดวิตกกับสิ่งที่รับรู้มา ยังมีอีกหลายสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เคยคิดว่ามีข้อมูลประเภทนี้อยู่อีกต่างหาก เช่น  ไม่รู้ว่าประเทศเรามีหน่วยงานปฏิบัติการ กว่า 30 หน่วยงาน ภายใต้ 10 กระทรวง ไม่รู้ว่าเรามี พ.ร.บ. น้ำ หรือ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่เป็นเครื่องมือในการเปิดทางให้มีการบริหารจัดการน้ำที่เข้าที่เข้าทาง ฯลฯ 

        สื่ออย่าง a day BULLETIN จึงคิดว่า เมื่อไม่รู้เราก็ควรไปถามผู้รู้ และผู้รู้คนนั้นก็ต้องเป็นคนที่พูดและวิพากษ์ได้ตรงไปตรงมา เพราะหลายเรื่องเราก็ควรใช้ความจริงมาคุยกัน ว่ากันให้ชัด แม้จะทำให้ช็อก

        “ถามว่าวันนี้ทุกคนงงไหมเวลาน้ำท่วม เรามักจะถามตลอดว่ามันท่วมตรงไหน แค่ไหน ตกลงกรุงเทพฯ จะท่วมหรือไม่ท่วม แล้วทุ่งเจ้าพระยาเป็นอย่างไร อีกกี่วันน้ำจะลด แล้วน้ำจะไปไหน? ประเด็นคือ แล้วทำไมเรายังต้องถามแบบนี้อีก” นี่คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้หญิงตัวเล็กบอบบาง แต่ตอบคำถามแต่ละที หนักระดับเฮฟวีเวต

Sitang Pilailar
Sitang Pilailar

อาจารย์ให้สัมภาษณ์เรื่องการบริหารจัดการน้ำบ่อยๆ มีคำถามไหนบ้างที่อาจารย์คิดว่าไม่ค่อยมีคนถาม แต่อยากจะบอก เพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่คนก็มาถามว่าน้ำจะท่วมไหม น้ำจะมาเท่าไหร่

        อาจจะเป็นด้วยช่วงนี้ คนก็จะสนใจเรื่องสถานการณ์ปัจจุบัน แต่คำถามมันก็จะมาเรื่อยๆ ว่าท่วม แล้ง ทำไมแก้ไม่ได้สักที ในอนาคตเราจะทำอย่างไร จะว่าไปสิ่งที่เราอยากพูด เราก็จะสื่อสารไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ค่อยมีประเด็นว่า อยากพูดแล้วไม่เคยได้พูดนะ เพราะเราก็เต็มที่ จะถามหรือไม่ถามเราก็จะพูดอยู่แล้ว (หัวเราะ) เอาจริงๆ ความสนใจของคนเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ก็ต้องยอมรับว่าเขาจะสนใจเรื่องเฉพาะหน้า เรื่องท่วม เรื่องแล้ง มีน้ำพอปลูกข้าว หรือมีน้ำกินน้ำใช้มั้ย อันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องที่มันเกี่ยวข้องเช่นกันอย่างประเด็นเชิงนโยบาย หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตรงนี้ถือเป็นเรื่องยาก ซึ่งก่อนหน้านี้เราเองก็อยู่ในคณะทำงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ทำงานตรงนี้มานานมาก และไม่ได้อยู่ในฝั่งการเมืองฝ่ายใดทั้งสิ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนเข้ามา ถ้าทำอะไรที่ไม่เหมาะสม ก็ถือว่าต้องวิพากษ์วิจารณ์

        ซึ่งอยากย้อนกลับไปหลังจากที่มีเหตุการณ์น้ำท่วม ปี 2554 และในปี 2557 หลังจากมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล บ้านเรามีสภาปฏิรูปฯ แล้ว ตอนนั้นก็มีการระดมสมองคิดกันว่า แล้วจะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนระบบการจัดการน้ำของประเทศได้ เราก็เลยพูดกันถึงการมี พ.ร.บ. น้ำ (พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561) เป็นฉบับแรกของประเทศ ทำให้เราต้องมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ หรือ regulator ด้วย เพราะหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ประเทศเรามีหน่วยงานปฏิบัติการ กว่า 30 หน่วยงาน ภายใต้ 10 กระทรวงเลยนะคะ แต่ก่อนหน้านี้มันไม่เคยมีหน่วยงานเจ้าภาพ ย้อนไปตอนน้ำท่วมปี 2554 จำได้มั้ยว่าเราไม่รู้เลยว่าใครเป็นเจ้าภาพ ทุกครั้งที่ท่วม เราก็จะนึกถึงกรมชลประทาน แม้แต่ทุกวันนี้ก็เป็นแบบนั้นด้วยซ้ำ แต่ถามว่าใครคือเจ้าภาพในทุกๆ ครั้งที่น้ำท่วม หรือน้ำแล้ง มันตอบไม่ได้ เราจะมัวไปนึกถึง Single Command ก็คือนายกรัฐมนตรี แล้วคำถามคือ ทีนี้ใครคือคนที่จะไปสนับสนุนการทำงานของนายกฯ ตอนสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ท่านเรียกทุกหน่วยงานเอาข้อมูลมาเทรวมกัน ก็เลยเห็นปัญหาหลายๆ อย่าง พอมีการเปลี่ยนรัฐบาล ตั้งสภาปฏิรูปฯ อย่างที่บอก ก็มีการจัดตั้งหนึ่งหน่วยงาน ภายใต้สำนักนายกฯ ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพเรื่องน้ำ ทั้งในภาวะปกติ หรือภาวะวิกฤต เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง หน่วยงานนั้นเรียกว่า สทนช. หรือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งตั้งเมื่อปี 2560 และจากนั้นในปี 2561 ถึงมี พ.ร.บ. น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะทำงานตั้งใจให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งการส่งเสริมให้พื้นที่ลุ่มน้ำมีบทบาทมากขึ้น มีกองทุนด้านน้ำ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ถึงขั้นที่เราต้องการทั้งหมด แต่หลักการที่ดีของมันคือ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำทำให้เกิดรายได้ มีมูลค่า เขาควรจะจ่ายเงินสมทบค่าน้ำที่ใช้ประโยชน์ ไปสร้างมูลค่า เพราะน้ำนั้นเป็นทรัพยากรของทุกคน แล้วเงินส่วนนี้ก็ควรจะนำกลับไปพัฒนาลุ่มน้ำ เพื่อให้ลุ่มน้ำต่างๆ หรือภาคประชาชนแข็งแกร่งขึ้น เพราะตอนนี้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจปัญหาของเขา แต่เขาลุกมาแก้ไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณ และการจะไปของบหลวงมาก็ยากมากๆ เมื่อไม่มีงบ มันก็ขับเคลื่อนอะไรไม่ได้เลย เราเลยมองกันว่าตอนหน้าแล้ง ลุ่มเจ้าพระยา ชาวนางดปลูกข้าว แต่เรายังต้องเอาน้ำมาให้การประปานครหลวงซึ่งกินพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี แล้วจริงๆ น้ำที่เราได้ใช้จากการที่ชาวนายอมไม่ปลูกข้าว ชาวนาได้รับเงินชดเชยนะ แต่เป็นเงินของรัฐ ถ้าหากเราทำงานในลักษณะของลุ่มน้ำจริงๆ มันจะเป็นโมเดลที่เก็บเงินในลุ่มน้ำกันเอง ซึ่งประเทศไทยเรามี 22 ลุ่มน้ำ เชื่อมหลายจังหวัด แล้วเอาเงินส่วนหนึ่งส่งเข้าคลัง อีกส่วนเก็บกลับไปที่ลุ่มน้ำ ให้ชดเชยกับชาวนา รัฐไม่ต้องมาสนับสนุนให้ยุ่งยาก นี่คือสิ่งที่เขียนไว้ใน พ.ร.บ. น้ำ นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของการจัดสรร การทำแผนรับมือในภาวะวิกฤต เขาเขียนไว้เลยว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำต้องทำแผนรับมือภาวะวิกฤตของตัวเอง เพราะเขาเข้าใจพื้นที่ตัวเอง เขาต้องเขียนออกมาได้

แล้วทั้งหมดที่อาจารย์กล่าวมา ปัญหาคืออะไร

        มันยังไม่ได้ทำค่ะ ยังไม่มีกรรมการลุ่มน้ำที่จะเขียนแผนการจัดการของตัวเองออกมา แต่คิดว่ากำลังจะมี นี่คือสิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้ เราจึงต้องทำให้ สทนช. แข็งแกร่งตามเจตนารมณ์ ที่ตั้งหน่วยงานนี้มาตั้งแต่ต้น นั่นคือ ใช้ พ.ร.บ. น้ำ เป็นเครื่องมือในการจัดการน้ำ ทั้งในภาวะปกติที่ต้องดูแลทุกหน่วยงานด้านน้ำทั้งหมด และในภาวะวิกฤตที่จะไปสนับสนุนให้นายกฯ ออกคำสั่งแบบ Single Command ได้ การจัดการน้ำจะได้มีระบบ และไม่วิกฤต ดังนั้น สิ่งที่เราคาดหวังเหลือเกินก็คือ คนลุ่มน้ำต้องลุกขึ้นมาช่วยกันเป็นปากเป็นเสียง แล้วไปให้ถึงจุดที่ทำอย่างไรให้ลุ่มน้ำแข็งแกร่ง เป็นการแก้ปัญหาจากข้างล่างขึ้นไปได้ นี่แหละคือประเด็นที่อยากสื่อสารให้สังคมรู้ ว่ามันไปไกลจากจุดที่เราเห็นเฉพาะหน้ามาก ถ้าเราจะช่วยกันในระดับแก้ปัญหากลไกด้านน้ำให้มันไปข้างหน้าได้ ทุกอย่างก็จะดีกว่านี้ มันจึงต้องใช้กลไกกฎหมาย กลไกระดับบริหารมาช่วย นี่คือสิ่งที่สังคมต้องรู้ แต่ไม่มีใครพูด เพราะมันเป็นเรื่องยาก

"ถามว่าวันนี้ทุกคนงงไหมเวลาน้ำท่วม เรามักจะถามตลอดว่ามันท่วมตรงไหน แค่ไหน ตกลงกรุงเทพฯ จะท่วมหรือไม่ท่วม แล้วทุ่งเจ้าพระยาเป็นอย่างไร อีกกี่วันน้ำจะลด แล้วน้ำจะไปไหน? ประเด็นคือ แล้วทำไมเรายังต้องถามแบบนี้อีก"

แล้วจะทำอย่างไรต่อไป เรามี สทนช. ปี 2560 มี พ.ร.บ. น้ำ ปี 2561 แปลว่าต่อไปใครต้องทำอะไร? หรือเขาทำอะไรกันไปแล้ว

        คือถ้า สทนช. แข็งแกร่ง ต่อไปเราจะมีกรรมการลุ่มน้ำอย่างที่บอก พอมีกรรมการลุ่มน้ำ ก็จะมีการขับเคลื่อนแบบเน้นการมีส่วนร่วมในชุมชน ทำแผนการรับมือขึ้นมา คือระบบราชการเขาจะรู้ว่า ภาวะปกติเขาจะมีวิธีบริหารการจัดการน้ำอยู่แล้ว แต่ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้ แปลว่าในภาวะวิกฤตเราก็จะรู้ด้วยว่าต้องทำอย่างไร แบบนี้มันก็จะเป็นการขับเคลื่อนกันได้ด้วยวิธีการทำงานจริงๆ ไม่มีความอลหม่านแบบทุกวันนี้ เพราะถามว่าวันนี้ทุกคนงงไหมเวลาน้ำท่วม เรามักจะถามตลอดว่ามันท่วมตรงไหน แค่ไหน ตกลงกรุงเทพฯ จะท่วมหรือไม่ท่วม แล้วทุ่งเจ้าพระยาเป็นอย่างไร อีกกี่วันน้ำจะลด แล้วน้ำจะไปไหน? ประเด็นคือ แล้วทำไมเรายังต้องถามแบบนี้อีก ทำไมกลไกการเฝ้าระวัง กลไกการสื่อสารจากภาครัฐมันยังไม่เต็มประสิทธิภาพอยู่เลย ทั้งๆ ที่เราก็มีประสบการณ์ปี 2554 มาแล้ว แต่นี่มันปี 2564 แล้วนะ สิบปีแล้ว นี่ยังไม่นับว่าบางพื้นที่เป็นพื้นที่ตามธรรมชาติ ที่ราบลุ่มที่ยังไงก็ท่วมนะ โครงสร้างที่เราทุ่มทำไปตั้งเยอะก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องกลไกการบริหารมันยังเหมือนเดิม มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า

Sitang Pilailar
Sitang Pilailar

        ทีนี้ถามว่า แล้ว สทนช. ทำอะไร จริงๆ 4 ปีที่ผ่านมาเขาก็ทำนะ ก่อนหน้านี้มี ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เป็นเลขาธิการฯ ที่เพิ่งหมดวาระไป ต้องบอกว่า ช่วงที่ตั้ง สทนช. มา ดร. สมเกียรติท่านมีความเชี่ยวชาญและรอบรู้เรื่องน้ำอย่างมาก เพราะท่านมาจากการเป็นอธิบดีกรมชลประทาน พวกเราเชื่อมือท่านมาก แล้วในสองปีแรกท่านและทีมงานก็ทำหน้าที่ได้ดี พิสูจน์ได้จากตอนเกิดพายุปลาบึกที่ภาคใต้ต้นปี 2562 สทนช. ไปตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ใกล้ๆ จังหวัดที่เกิดเหตุ แล้วก็มีบทบาทในการแก้ปัญหาได้ดีเลยด้วย พิสูจน์ได้ว่ากลไกที่พวกเราสร้างกันไว้ มันทำได้ ขอแค่ทำตามนั้นเท่านั้นเอง แล้วอย่าลืมว่าในปีนั้นมีน้ำท่วมที่เพชรบุรีอีก สถานการณ์ไม่ได้ต่างกับตอนนี้เลยนะ นั่นคือน้ำเยอะ น้ำมาจากภูเขา มาท่วมในเมือง แต่การกำกับ ติดตาม สั่งการ มันไม่อลหม่าน เพราะมันรู้ว่าจะท่วมตรงไหน จะเตือนตรงไหน จะท่วมกี่วัน ความช่วยเหลือที่เข้าไปก็ไม่ได้มานั่งกองกันงงๆ นี่คือสองเหตุการณ์หลักๆ ที่ขับเคลื่อนภายใต้ สทนช. ประกอบกับรองนายกฯ ตอนนั้นคือ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ท่านสั่งงานแบบจริงจัง ลงไปดูรายละเอียดด้วย

        ต่อมา มันเกิดการเปลี่ยนแปลงคณะทำงาน ตอนปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลขึ้นมา เป็นท่านรองนายกฯ ประวิตร (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ซึ่งมีสไตล์การทำงานที่ต่างกัน คือให้อิสระหน่วยงานต่างๆ ในการทำงาน ทีนี้ สทนช. ก็เลยเหมือนไปไม่ถูก ผิดทิศไป แล้วกลายเป็นว่า ไม่ได้ทำงาน regulator มากเท่าที่ควร หน้าที่กำกับดูแลมันจึงแผ่วไป แต่ไปทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่หลัก หรือซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่ทำอยู่แล้ว

ขอตัดกลับมาปีนี้ ที่พวกเรายังรู้สึกว่าอลหม่าน จากที่เมื่อสักครู่อาจารย์บอกว่า มันเคยมีรูปแบบการทำงานที่ดีมาแล้ว อยากเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น?

        คือในภาวะวิกฤต พ.ร.บ. น้ำเขาเขียนไว้เลยว่า ในระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด จะประกาศภาวะวิกฤต โดยจะมี พ.ร.บ. ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รองรับอยู่ แต่ถ้าเป็นภัยที่ต่อเนื่องหลายจังหวัด อย่างที่เกิดตอนนี้ มันจะไม่ใช่หน้าที่ผู้ว่าฯ แล้ว จะยกระดับขึ้นมา เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย มท. 1 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) จะเป็นผู้ประกาศ แปลว่าเมื่อมีวิกฤต เราจะใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือถ้ามีวิกฤตหลายๆ จังหวัด มท. 1 ประกาศ กับกฏหมายอีกฉบับคือของ ปภ. ที่จะสั่งอพยพโยกย้ายเวลาเกิดภัย และต้อง ปภ. ประกาศเท่านั้น คนอื่นทำไม่ได้ โดย สทนช. เขาจะวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อเห็นว่ามีภัยแน่ๆ แล้ว ก็จะส่งข้อมูลให้ ปภ. ประกาศ และเมื่อสถานการณ์เห็นท่าไม่ดี ถ้าเป็นระดับจังหวัด สทนช. โดยท่านเลขาฯ สทนช. จะเป็นผู้บัญชาการ ของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ภายใต้ภาวะวิกฤต อันนี้จบไปหนึ่งเรื่อง

        มากไปกว่านั้น หากมีภาวะวิกฤตสูงสุดระดับประเทศ และนายกฯ เป็นผู้ประกาศภาวะวิกฤตแล้ว เราจะมีการตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ตั้งโดยนายกฯ เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาในภาวะวิกฤตเท่านั้น เพื่อจะได้ลงมือทำงานได้ทันท่วงที การสั่งงานจะเร็วขึ้น แบบนี้ก็จะจัดการภาวะวิกฤตได้ แต่ปัญหาของปีนี้คือ…

        เรามีการจัดตั้ง กอนช. มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนที่เรามีน้ำแล้งในหน้าฝน จำได้มั้ยคะ เขาเลยตั้ง กอนช. มาแก้ปัญหานี้ พอฝนมาปุ๊บ ทีนี้มันเสี่ยงน้ำท่วมตามมา กอนช. ก็เลยอยู่ต่อ เพื่อจะบัญชาการกรณีน้ำท่วมในหน้าฝนอีก แปลว่าหน่วยงานนี้ยังอยู่คาบเกี่ยว ไม่สลายไปเมื่อสิ้นภาวะวิกฤต กลายเป็นคณะทำงานถาวร ที่ท่านรองนายกฯ นั่งควบคุม แล้วมาครอบการทำงานของ สทนช. อีกที ก็เลยกลายเป็นว่าปีนี้เลยไม่มีการประกาศภาวะวิกฤต และที่นายกฯ ไม่ประกาศ เพราะถือว่าเรามี กอนช. อยู่แล้ว ทีนี้เมื่อไม่ประกาศภาวะวิกฤต ราชการก็ไม่รู้ว่าตกลงเขาจะทำอะไร อย่างไร จะผันน้ำไปอย่างไรก็ต้องรออีก คือรอให้มีคนสั่ง คนสั่งก็ต้องรอไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร เจ้าของพื้นที่ เพราะเราต้องเก็บน้ำไว้ในทุ่ง 12 ทุ่ง ทั่วภาคกลาง ถ้าไม่มีการประกาศภาวะวิกฤต อยู่ดีๆ ผันน้ำไปไว้ในทุ่งไม่ได้นะ โดนฟ้อง นี่คือปัญหาของปีนี้ (ทุกคนถอนหายใจ)

ก็เลยเกิดคำถามว่า ทำไมมันยังท่วมอีก หรือเราต้องเข้าใจว่า สรุปแล้วมันจะไม่มีทางไม่ท่วม

        ถึงอย่างไรก็ท่วม แต่จะจัดการมันอย่างไรมากกว่า ถึงตอนนี้ระดับน้ำจะยังไม่เท่าปี 2554 แต่มันก็ท่วม เพราะมันเป็นไปโดยสภาพภูมิประเทศของเรา ภาคกลางเป็นที่ลุ่มต่ำ ถึงอย่างไรก็ต้องท่วม แล้วมันก็ท่วมมาตั้งแต่อดีต โบราณกาล สมัยพม่ายกทัพมาเลย แต่เราก็สงสัยใช่มั้ยว่า แต่ที่ผ่านมาเราก็สร้างอะไรต่อมิอะไรป้องกันไปเยอะแล้ว ทำไมยังท่วม คือต้องบอกเลยว่า ความเป็นธรรมชาติน่ะ เราสู้ไม่ได้จริงๆ มันมีรายละเอียดหลายอย่างที่เกิดขึ้น อย่างดูค่าเฉลี่ยน้ำปีนี้ทั้งประเทศ ยังถือว่าเกาะค่าเฉลี่ยนะ ไม่ได้น่าตกใจมาก แต่ว่าพฤติกรรมของน้ำตามธรรมชาติมันเปลี่ยน แทนที่ปริมาณน้ำฝนที่เกิดจากฝนตกเฉลี่ยสองอาทิตย์จะค่อยๆ เกิดขึ้น มันตกมาโครมเดียวภายในสองวัน เท่ากับปริมาณน้ำฝนสองอาทิตย์ มันเลยกลายเป็นฝนที่หนักมาก แล้วยังไม่พอ มาตกท้ายอ่างเก็บน้ำ คือมันเปลี่ยนทั้งเวลาและสถานที่ด้วย

        มีอยู่ปีหนึ่งที่สกลนครน้ำท่วม ทั้งที่ในอดีตไม่เคยท่วม เหตุการณ์ก็คืออยู่ดีๆ ฝนก็ไปตกแช่อยู่ตรงนั้น แล้วสกลนครก็มีอ่างเก็บน้ำเล็กนิดเดียว เพราะไม่เคยวางแผนว่าจะมีน้ำท่วม ก็เลยกักน้ำไม่ได้ ดังนั้น ปีนี้ถ้าจะบอกว่าตัวที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้น้ำท่วมเลย คือปริมาณน้ำที่มากในช่วงวันที่ 23-25 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอิทธิพลของพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ โดยเริ่มจากสุโขทัย ที่น้ำไม่ได้มาเป็นปกติ เพราะฝนไม่ได้ตกในบริเวณเดิม แต่มาจากอีกฝั่งที่ไม่คาดคิด ทำให้เขื่อนเต็ม น้ำล้นออกมา แล้วปรากฏตรงนั้นมีพนังกั้น น้ำเลยไม่ลงแม่น้ำยม ก็เลยท่วมเมือง แล้วก็ไหลมาพิษณุโลก ไหลมาพิจิตร ประกอบกับฝนตกท้ายอ่างที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีก คราวนี้เลยพินาศ แล้วเราไม่ได้มี facility มารองรับเหตุการณ์ที่ฝนตกท้ายอ่างด้วย เพราะไม่ได้ทำไว้ คือแน่นอนว่ามันอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ฝนจะตก แต่นโยบายประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยหน่วยงานระดับปฏิบัติการเขายังทำแบบเดิมแบบที่เคยทำแบบ 20 ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่เราก็รู้ด้วยว่ามันเป็นผลมาจาก Climate Change ใครๆ ก็พูด แต่เราไม่ขยับ

Sitang Pilailar
Sitang Pilailar

       บ้านเราไม่มีคนระดับสูงสุดที่จะลุกขึ้นมาเตือนเรื่องนี้จริงจัง ส่วนตัวเราคิดว่าอย่างน้อยเรื่องนี้ สทนช. ต้องเอาข้อมูลในมือไปขยับนะ เพราะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลทิศทางนโยบายการจัดการน้ำของประเทศ ดังนั้น เขาจะมากำกับแบบเดิมที่กรมชลประทานทำหน้าที่พัฒนาแหล่งน้ำไม่ได้ นั่นก็คือหาที่เก็บน้ำ สร้างอ่าง ซึ่งยังทำแบบเดิม แต่ฝนมันไม่ได้ตกแบบเดิม มันไม่ได้ตกลงอ่างด้วยซ้ำ มันไปตกตรงไหนก็ไม่รู้ คาดการณ์ยาก ดังนั้น วิธีการเก็บน้ำก็ต้องเปลี่ยน เป็นบ่อ สระขนาดเล็ก เหมือนที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยบอก แล้วราชการก็บอกว่าดี แต่ไม่ค่อยได้ทำ แค่ใช้มาพีอาร์ บ่อสระ ขนาดเล็ก ทฤษฎีใหม่ อะไรนั่น พูดมาตั้งแต่แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฉบับที่ 8 จนถึงตอนนี้ฉบับที่ 13 แล้ว ก็ยังพูดเรื่องเดิม แต่ไม่ได้ทำ แผนหนึ่งใช้ 4 ปี คูณเข้าไปว่าเราใช้เวลากี่สิบปีแล้ว ที่ไม่ได้ทำ

จากปี 2554 เทคโนโลยีเรื่องการเฝ้าระวังติดตามน้ำท่วมก็พัฒนามากขึ้น มีดาวเทียมตรวจดูสถานการณ์แล้วด้วย

        ประเทศชาติเรามีทุกอย่างเป็นท่อนๆ ค่ะ เรามีทุกอย่างที่พูดมานั่นแหละ แต่ทำงานกันแบบต่างคนต่างทำ นี่ก็เบื่อพูดคำว่า ‘บูรณาการ’ แต่มันก็ต้องพูดว่า เป็นเพราะเราไม่มีการบูรณาการจริงๆ เรามีภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)) เรามีสถานีวัดระดับน้ำโดยใช้เซนเซอร์ในแม่น้ำสายหลัก ส่งข้อมูลเรียลไทม์ มีสถานีเฝ้าระวังดินโคลนถล่มต่างๆ แต่เราขาดการเอาข้อมูลมารวมกัน คือมันเหมือนเป็นสิ่งที่ต่างคนต่างมีตามฟังก์ชันของหน่วยงานที่จำเป็นต้องมี แต่มันไม่ได้มีในสเกลระดับประเทศ และขาดการเอามาเชื่อมกันอย่างที่ควรจะเป็น อย่างกรมชลประทานมีศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ก็เฝ้าระวังน้ำในเขตชลประทานหรือท้ายเขื่อนเป็นหลัก แต่เวลาน้ำท่วม มันไม่ได้ท่วมแค่เขตชลประทาน มันท่วมไปทั่ว แต่ทุกวันนี้มันไม่มีระบบ dicision support system ที่รันเป็น scenario ของลุ่มน้ำทั้งผืน เรานึกออกแค่ว่า ถ้าฝนตก มันจะลงไปในแม่น้ำเท่าไหร่ แล้วน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งเท่าไหร่ แต่เรามองไม่ออกถึงขึ้นว่า น้ำล้นตลิ่ง มันจะไปตามคลอง ซอย ไปท่วมในทุ่งอย่างไร แล้วมันไปตามคลองธรรมชาติ เส้นเล็กๆ อีก สุดท้าย น้ำฝั่งสุพรรณ จากทุ่งสองพี่น้องไปโผล่ที่กำแพงแสนได้อย่างไร มันไม่มีการวิเคราะห์แบบนี้ไง เรารู้แค่เป็นส่วนๆ

"ต้องบอกเลยว่า ความเป็นธรรมชาติน่ะ เราสู้ไม่ได้จริงๆ มันมีรายละเอียดหลายอย่างที่เกิดขึ้น อย่างดูค่าเฉลี่ยน้ำปีนี้ทั้งประเทศ ยังถือว่าเกาะค่าเฉลี่ยนะ ไม่ได้น่าตกใจมาก แต่ว่าพฤติกรรมของน้ำตามธรรมชาติมันเปลี่ยน"

คนทั่วไป หรือคนในเมืองควรจะติดตามข่าวสารอย่างไร มันดูสับสนไปหมด อย่างน้อยถ้ารู้ว่ามันจะท่วม ก็ควรรู้ว่าท่วมเพราะอะไร จะได้ไม่ต้องตื่นตระหนกมาก

        พื้นที่ที่มันเคยท่วม ทำใจไปเลยว่ามันจะท่วมทุกปี หรือมีโอกาสท่วมสูง เพราะเป็นที่ราบลุ่ม แล้วมันก็ควรจะเป็นแบบนั้นด้วย เพราะพื้นที่ราบลุ่มมันคือที่ทำนา การที่มันมีตะกอนจากน้ำหลากมาทับถม มันทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำนาได้ดี ธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น แต่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันได้กับปัญหานี้ เอาจริงๆ คนกรุงเทพฯ ตื่นตระหนกกว่าคนในพื้นที่อีก เพราะเราไม่ชิน ยิ่งเรารับสื่อมาก เราก็ตกใจ จริงๆ ประเด็นนี้รัฐเองก็ต้องแก้ไข ปรับปรุงในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ ตอนนี้ข้อมูลจากฝั่งรัฐก็ไม่เป็นเอกเทศ เพราะรัฐไม่มีช่องทางที่ชัดเจนว่าจะสื่อสารอย่างไรให้เข้าถึงประชาชน เหมือนสื่อสารกับประชาชนไม่ได้ คือเอาง่ายๆ ตอนนี้ พอมีภาวะวิกฤต หน่วยงานจะพยายามหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลด้วยตัวเอง เพราะถือว่ามีคณะทำงานเฉพาะกิจอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าเวลาเกิดภาวะวิกฤต ข้อมูลควรจะออกมาจากแหล่งเดียว ประชาชนเองก็ไม่สับสน แล้วคนทำงานเองก็ไม่ต้องเหนื่อยกับการให้ข่าว ไปทำงานได้เต็มที่ ทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไร แต่ที่มันมีปัญหาคือข้อมูลมันไม่ออกมาให้ชัดเจน ทุกคนเลยไปถามตามหน่วยงานต่างๆ ตามความเคยชิน เช่น น้ำท่วมไปถามกรมชลประทาน ซึ่งเขาก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ควรจะให้ข่าว คนที่ควรจะให้ข่าวคือ สทนช. เพราะตัวเองทำหน้าที่เป็นทุกอย่างให้ กอนช. อยู่แล้ว ทั้งมีข้อมูล ทั้งมีการวิเคราะห์ สทนช. คือเป็นฝ่ายที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำที่สุดแล้ว สทนช. ก็ควรให้ข่าวผ่านสื่อของรัฐก็ได้ เพื่อกันความสับสน ตรงนี้มันต้องปรับปรุงเหมือนกันนะ ถ้าแก้ได้ข้อมูลจะไปถึงประชาชน แล้วคนก็จะไม่งง สื่อก็จะวิ่งไปที่เดียว แต่ก็อีกนั่นแหละ สื่อบางทีก็ต้องการความหลากหลายของข้อมูล สื่อก็จะฉีกไปอีก ไปหาความเห็นจากนักวิชาการนี่นั่นโน่น (หัวเราะ)

ส่วนตัวก็ไม่ติดถ้าไปถามความเห็นจากนักวิชาการบ้าง แต่เป็นความจริงหรือเปล่าก็อีกเรื่อง

        ก็อีกนั่นแหละ สื่อก็ต้องไปให้ถูกว่าควรจะไปหาใคร เอาจริงๆ สื่อก็ต้องเลือกถามนะ ไม่ใช่ถามใครก็ได้ คือเลือกคนที่ให้ข้อมูลด้านนั้นได้จริงๆ เกี่ยวข้องกับงานเขาจริงๆ แล้วสื่อจะไปหานักวิชาการก็เลือกให้ถูกคน ต้องดูแบ็กกราวนด์ของเขาด้วย

อยากรู้ว่าในประเทศไทยมีนักวิชาการเฉพาะด้านเรื่องน้ำหรือการบริหารจัดการน้ำมากแค่ไหน

        มีพอสมควร แต่ว่าต้องเข้าใจว่าจะมีกลุ่มหนึ่งที่ไปเป็นที่ปรึกษา หมายความว่ามีทั้งนักวิชาการที่ไปรับงานให้ภาคเอกชนโดยทำงานเป็นบริษัทที่ปรึกษา และก็ไปรับงานราชการโดยรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษา รับเงินค่าจ้าง ซึ่งผิดไหมก็ไม่ผิด เพียงแต่ว่ากลไกเหล่านี้บ้านเรามีปัญหานิดหนึ่งตรงที่ทำให้ไม่มีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตรงๆ เขาพูดไม่ได้เพราะไปทำงานให้หน่วยงานนี้ การไปเป็นที่ปรึกษาเป็นสิ่งที่ดี แต่มันต้องมีอิสระในการที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ให้ข้อมูลที่เป็นจริงแต่ส่วนใหญ่ก็เกรงใจกัน เพราะคนไทยรู้สึกว่าการวิพากษ์คือด่า การเสียหน้า ก็เลยทำให้ออกมาพูดกันไม่ค่อยได้

Sitang Pilailar
Sitang Pilailar

 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อาจารย์เลือกที่จะทำงานด้านวิชาการเท่านั้นใช่ไหม

        ก่อนหน้านี้มีทีมรัฐมนตรีเคยเชิญไปทำงานได้พักหนึ่ง ทีมเราก็ลาออกกันยกแผง เพราะทำงานแล้วต้องวิพากษ์วิจารณ์กัน เลยคิดว่า ถ้าจะทำงานกันแบบตรงไปตรงมาได้จริงๆ ก็ไม่ต้องรับเงินค่าจ้างกันดีกว่า อีกอย่างเราก็ต้องดูแลลูก ดูแลครอบครัวด้วย ทำให้ไม่มีเวลารับงาน แล้วพอเราเข้าไปอยู่ในส่วนของการทำงานด้านสังคม เริ่มมีผลงาน เริ่มมีการวิพากษ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานราชการไม่อยากมาจ้างเรา และเราเองก็ไม่อยากทำ ไปๆ มาๆ เราก็คิดว่าบทบาทตรงนี้มันเป็นอิสระ และเราสามารถวิพากษ์อะไรได้ตรงๆ มากขึ้น ถ้าไม่ได้พูดแบบเข้าข้างตัวเอง เราคิดว่าสิ่งที่ตัวเองวิพากษ์ออกไปหลายๆ ครั้งมีประโยชน์ต่อการทำงานของภาครัฐ เราได้สะท้อนเขา และเขาก็จะค่อนข้างเกรงใจเรานิดหนึ่ง เพราะเราไม่มีส่วนได้เสีย เราพูดบนหลักการ ไม่ได้มีใครจ้าง และเราก็ไม่ได้มีเจตนาจะไปขวางรัฐบาลหรือพรรคการเมืองไหนก็ตาม แต่เราสะท้อนความเป็นจริงออกมาซึ่งบางครั้งมันไม่น่าฟัง แต่เราคิดว่ามันมีผลกระทบอยู่พอสมควร พอเราไปอยู่ในจุดนั้นก็เลยกลายเป็นว่าทางหน่วยงานรัฐก็ไม่ได้อยากจ้าง

        เลยมาทำงานเป็นอาจารย์ ดูแลนิสิตนักศึกษา และเข้าไปงานในส่วนต่างๆ ไปเป็นกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ ในเรื่องน้ำ ซึ่งในนั้นมีสองคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และเราไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง แต่ไปช่วยในนามของพรรค เพียงแต่เรามีอิสระในการที่จะให้ความเห็น วิพากษ์ วิจารณ์ ไม่ต้องไปอิงความเป็นพรรคการเมือง ไม่ต้องไปอิงนโยบายของพรรค และไปเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงฯ หรือตอนที่พิจารณางบประมาณ เราก็เข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการฯ งบประมาณ แต่เข้าไปในโควตาพรรค เพียงแต่ไปอย่างมีอิสระเสรีในการทำงานและการให้ข้อมูล

"ประเทศชาติเรามีทุกอย่างเป็นท่อนๆ ค่ะ เรามีทุกอย่างที่พูดมานั่นแหละ แต่ทำงานกันแบบต่างคนต่างทำ นี่ก็เบื่อพูดคำว่า ‘บูรณาการ’ แต่มันก็ต้องพูดว่า เป็นเพราะเราไม่มีการบูรณาการจริงๆ"

อาจารย์คิดว่าความเสียหายจากน้ำท่วมในปีนี้เทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในปี 2554 ได้แค่ไหน

        เราว่าสูสี เพราะเวลาเราพูดถึงความรุนแรงจากน้ำท่วม ถึงแม้ดูแล้วปริมาณน้ำไม่สูงเท่าปี 2554 แต่จริงๆ เวลาน้ำท่วมจะท่วมสามเมตรหรือท่วมห้าเมตรก็คือท่วม ถ้าบ้านจมน้ำก็คือจมเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การเยียวยาก็จะเหมือนๆ กัน ตอนนี้ถ้าในภาพรวม ความเสียหายอาจจะน้อยกว่าเพราะว่าน้ำท่วมยังไม่กระทบพื้นที่อุตสาหกรรม ปี 2554 คือท่วมทุกนิคมอุตสาหกรรม แต่ถ้าดูความเสียหายแค่ในระดับชุมชนหรือบ้านเรือน เราคิดว่าไม่ต่างกัน เช่น พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ปีนี้ดีกว่าตอนปี 2554 อย่างหนึ่งตรงที่เมื่อสิบปีก่อนน้ำไหลไปแบบท่วมทุ่ง ไปทุกทิศทุกทางแบบคุมอะไรไม่ได้เลย แต่ปีนี้เราว่าน้ำที่ไหลไปตามจังหวัดต่างๆ ยังพอคุมได้ อย่างที่ท่าจีนก็ยังพอคุมปริมาณน้ำได้นะ

        ถามว่าต่อไปเราจะเฝ้าระวังกันได้มั้ย ต้องบอกก่อนว่า น้ำท่วมมีสองส่วน ในความเป็นเมือง ตอนนี้ฝนตกตอนไหน ตกเมื่อไหร่น้ำก็ท่วม ฝนตกที่เชียงใหม่ก็ท่วมที่เชียงใหม่ ฝนตกที่กรุงเทพฯ ก็ท่วมกรุงเทพฯ ฝนตกที่ขอนแก่นก็ท่วมขอนแก่น เพราะว่าน้ำขังและมันระบายไม่ได้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทุกอย่างเป็นคอนกรีตไปหมด ดังนั้น ฝนตกในเมืองหนักๆ เมื่อไหร่ น้ำก็ท่วมทุกที่ น้ำท่วมในเมืองส่วนมากก็จะท่วมประมาณหนึ่งหรือสองวัน ฝนตกลงมาที่กรุงเทพฯ บริเวณรามคำแหงถึงอย่างไรก็เป็นทะเล เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดต่ำที่สุดของกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารออกไปคือ ระบบระบายน้ำกรุงเทพฯ นั้นมีประสิทธิภาพใช้ได้ไม่เกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของระบบที่ออกแบบไว้ สมมติว่าเราออกแบบระบบระบายน้ำไว้ที่ความสูงประมาณ 76 มิลลิเมตร ฝนตกลงมาแค่ 50 มิลลิเมตร ไม่ต้องเยอะน้ำก็ท่วมแล้ว เพราะระบบระบายน้ำของเราไม่สามารถทำได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะระบบมันเก่า มีตะกอน ทำให้ท่อตัน ต่อให้คุณลอกท่อกี่ครั้งก็ยังตัน ยิ่งตอนน้ำท่วมเราขนทรายเข้ามาทำที่กั้นน้ำ พอน้ำหายท่วมทรายไปไหน ทรายก็ลงไปในท่อระบายน้ำ การจัดการดูแลรักษาก็ยังทำกันได้ไม่ดีพออีก ดังนั้น การจัดการก็คือสูบน้ำออกแล้วรอระบายเป็นอย่างแรก

ว่ากันว่าการปรับผังเมืองจะช่วยเรื่องน้ำท่วม คิดว่าเป็นไปได้ไหม

        การปรับผังเมืองแปลว่าเราอาจต้องไปหาที่เก็บน้ำเพิ่ม ปรับให้เป็นพื้นที่สีเขียว ลดพื้นที่คอนกรีต ตรงไหนที่จะต้องท่วม ตรงไหนที่เป็นคอนกรีตมากก็ต้องปรับเปลี่ยน และต้องเปลี่ยนโยบายด้วย เช่น ให้อาคารทำที่เก็บน้ำใต้ดินเหมือนที่ประเทศสิงคโปร์ พูดง่ายๆ คือต้องมีที่ให้น้ำอยู่ นี่คือการปรับผังเมือง เราไม่สามารถเปลี่ยนโซนอยู่อาศัยได้แล้วในเงื่อนไขปัจจุบัน มันไม่มีคำว่า ‘รู้งี้’ มันรู้งี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นอย่างนี้ไปแล้ว

Sitang Pilailar
Sitang Pilailar

โมเดลที่เคยพูดกันเช่น ของประเทศเนเธอร์แลนด์ สามารถเอามาใช้กับบ้านเราได้จริงๆไหม เมื่อเทียบกับวิธีจัดการแบบต่างๆ ของประเทศอื่นๆ

        โมเดล Delta Work ของประเทศเนเธอร์แลนด์ก็พูดกันมาหลายปี แต่ยังไม่มีใครที่รับเป็นเจ้าภาพจริงจัง ในเชิงวิชาการ ทาง สทนช. ก็พยายามคุยกับทางเนเธอร์แลนด์อยู่ แต่นอกจากนั้น เราก็ดูตัวอย่างหลายๆ ประเทศ แล้วเอามาปรับใช้ในอนาคตได้ เช่น ญี่ปุ่นเขาทำอุโมงค์ใต้ดินที่ใหญ่ระดับตึกสูงสามสิบเมตร ก็น่าสนใจลองศึกษาดู จริงๆ แล้วจะบอกว่าการจัดการน้ำนั้นมีสองฝั่ง มีด้านซัพพลาย กับด้านดีมานด์ ด้านซัพพลายคือหาน้ำมาเติมหรือเอาน้ำที่เยอะออก หาที่เก็บน้ำให้มัน ส่วนด้านดีมานด์คือลดการใช้น้ำ ลดการสูญเสียน้ำ ลดน้ำระเหยในระบบชลประทาน ลดน้ำที่เสียไปจากการเกิดท่อแตก ท่อรั่ว ในท่อประปาซึ่งน้ำที่เราเสียไปจากปัจจัยเหล่านี้ในหนึ่งปีเทียบเท่ากับเขื่อนป่าสักหนึ่งเขื่อนเลย

น้ำที่สูญเสียไปนี่หมายถึงปริมาณรวมทั้งประเทศ?

        แค่ครึ่งภาคกลางเท่านั้นเลยค่ะ ตีแค่ว่าจากชัยนาทมาจนถึงกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี น้ำที่เสียไปเฉยๆ ในหนึ่งปีเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักหนึ่งเขื่อน หรือประมาณเก้าร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ทุกวันนี้ทางการประปาฯ ผลิตน้ำวันละห้าล้านห้าแสนลูกบาศก์เมตร คูณสามสิบเปอร์เซ็นต์ที่เป็นน้ำที่สูญหายไป ก็ตกวันละหนึ่งล้านลูกบาศก์เมตร น้ำประปาหายตลอดเวลาที่เราคุยกัน ทุกนาที ทุกวินาที ที่เรานั่งคุยกันอยู่ ท่อแตกท่อรั่วมันซึมอยู่ใต้ดินซึ่งเรามองไม่เห็น น้ำใต้ดินมันหยดตลอดเวลา ต่อให้เราไม่ต้องเก็บน้ำให้ได้ทุกหยด แค่เก็บเพิ่มให้ได้ห้าเปอร์เซ็นต์เราก็ได้น้ำกลับมาแล้ว ซึ่งน้ำประปาเป็นน้ำที่มีต้นทุนด้วย น้ำประปาจะมีค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าสารเคมี ถ้าเรามีน้ำเพิ่มขึ้นมาในปริมาณของน้ำในเขื่อนเพิ่มอีกหนึ่งเขื่อน คุณคิดว่ามันโอเคไหม นอกจากนั้น น้ำที่เหลือกระจัดกระจายและเร่งระบายลงทะเล เราก็เก็บไม่ได้ และพอหมดหน้าฝนปุ๊บเราก็ประกาศแล้งเลย ดูจากทางอีสานที่เขื่อนพัง ตอนนี้ก็ไม่มีน้ำแล้ว ที่เขื่อนลําเชียงไกร ตอนนี้ก็เหลือน้ำแค่หกล้านลูกบาศก์เมตร แม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้มีน้ำอยู่ประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ คือหลายที่น่ะ พอน้ำแห้งปุ๊บก็เตรียมประกาศหน้าแล้งต่อได้เลย

"น้ำที่เสียไปเฉยๆ ในหนึ่งปีเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักหนึ่งเขื่อน หรือประมาณเก้าร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ทุกวันนี้ทางการประปาฯ ผลิตน้ำวันละห้าล้านห้าแสนลูกบาศก์เมตร คูณสามสิบเปอร์เซ็นต์ที่เป็นน้ำที่สูญหายไป ก็ตกวันละหนึ่งล้านลูกบาศก์เมตร น้ำประปาหายตลอดเวลาที่เราคุยกัน"

ที่ว่าน้ำท่วมใหญ่จะเกิดแบบนี้ทุกๆ สิบปี คุณเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ไหม

        ถ้าโดยเฉลี่ยก็ไม่ได้ตรงเป๊ะว่าต้องทุกสิบปีก็จะเป็นแบบนี้ แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นแบบนี้ในทุกๆ สิบปี เพราะมันเป็นเหมือนวงจรของวัฏจักรน้ำ มีปีน้ำท่วม มีปีน้ำแล้ง ก็วนไปจนครบรอบสิบปี สำหรับเรา มันเป็นธรรมชาติของน้ำ เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น ในแต่ละสิบปีมันก็ไม่นาน แต่คำว่าไม่นานนี้ ก็อย่างที่เราคิดกันว่าควรจะมีการเรียนรู้อะไรบ้าง แต่มันยังเหมือนเดิมอยู่เลย การจัดการยังอลหม่านอยู่แบบนี้ แต่ในภาคประชาชนก็เรียนรู้ในระดับหนึ่ง ภาคประชาชน ภาคอาสาสมัครก็ขยับไปเยอะแล้วเหมือนกัน

        แต่การขับเคลื่อนของภาครัฐมันยังติดอยู่กับความคิดเดิมๆ กรอบความคิดเดิม หนึ่ง สอง สาม สี่ เอาแค่เรื่องจดหมายราชการต้องชิดซ้ายชิดขวา กี่เคาะ กี่บรรทัด เรายังติดอยู่ในกรอบแบบนั้นอยู่เลย เรื่องน้ำท่วมก็เหมือนกัน เรายังติดอยู่ในกรอบเดิม เราว่าถ้าจะเปลี่ยนได้ต้องเปลี่ยนที่ความคิดก่อน ถ้าจะต้องเปลี่ยนความคิดของใคร ตอนนี้เราคิดว่าต้องเป็นของ สทนช. ก่อน เพราะเขาเก่งเรื่องน้ำที่สุดแล้ว ควรจะไปให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ การเป็น regulator นั่นเอง

อะไรคือสิ่งที่ทำให้อาจารย์ยังกระตือรือร้นในการทำงานทุกวันนี้

        เราคิดว่าในฐานะนักวิชาการ เราควรจะทำบางอย่างให้สังคม เช่น ควรจะสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้สังคม ถ้าประชาชน สังคม รู้เรื่องพวกนี้แล้ว อย่างน้อยเอาแค่ภายใต้วิกฤตเขาจะไม่ตื่นตระหนกมาก เพราะในความคิดของเรา ถ้าคนเขารู้ เขาจะจัดการตัวเองได้ แต่ทุกวันนี้เขายังไม่รู้ เพราะฉะนั้น อะไรที่เราช่วยสื่อสารออกไปได้ เราถือว่าได้ช่วยในระดับประชาชน และโดยสถานะที่เรามีตอนนี้ ซึ่งเราบังเอิญได้เข้าไปช่วยงานหลายๆ อย่างในภาคประชาชนกับหลายๆ ฝ่าย เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสที่เราจะได้ช่วยคนอื่นเราก็ทำ

        ส่วนทางฝั่งรัฐบาลเองจะคิดว่าเขาต้องการความคิดเห็นจากเราก็ไม่เชิง แต่เราก็พยายามจะสื่อออกไป บางครั้งเราก็ได้อยู่ในจุดที่เราพูดอะไรแล้วเขาฟัง อย่างท่านรองนายกรัฐมนตรี เราไปประชุมด้วยเขาก็ฟัง ถ้าพูดเขาฟัง และสั่งการต่อด้วย เราก็เข้าใจว่าบางทีที่เขาไม่สั่งการ เพราะเขาไม่รู้ ข้าราชการที่แวดล้อมก็ไม่ได้ให้ข้อมูลกับรองนายกรัฐมนตรีแบบที่เราให้ พอเราให้ข้อมูลโดยไม่มีอคติอะไร เขาก็รับรู้และรับฟัง แล้วสั่งงานต่อ การที่ได้ทำงานตรงนี้ ได้ประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ นักการเมือง และประชาชนได้ เราคิดว่าคนที่ทำได้แบบนี้มีไม่เยอะ ตอนที่เราเป็นเลขาให้กับทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ สิ่งที่ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด บอกเราคือ อะไรที่ทางเราทำได้เราทำ ไม่เคยคิดว่าจะต้องได้อะไร

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0