จากกรณีการขุดพบ "พระพุทธรูปองค์ใหญ่" บริเวณหาดทรายแม่น้ำโขง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้ามกับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ของประเทศไทย โดยองค์แรกมีหน้าตักกว้างประมาณประมาณ 1.7 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร และ อีกองค์กว้างประมาณ 1 เมตร โดยยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์งดงาม สร้างความฮือฮาให้ประชาชนทั้งฝั่ง สปป.ลาว และฝั่งประเทศไทย
ขณะเดียวกันมีนักวิชาการหลายท่านออกมาวิพากษ์วิจารณ์อายุของพระพุทธรูป ตั้งแต่หลักพันปี และอาจเพิ่งหล่อมาเมื่อ 2-3 เดือนก่อน จนกลายเป็นกระแสดราม่า"เนชั่นออนไลน์" ชวนอ่านสรุปประเด็นที่เกิดขึ้นทั้งหมด ดังนี้
16 พฤษภาคม ชาวบ้านเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ขุดพบพระพุทธรูปเก่าแก่ หลายองค์ และแท่งทองแดงอีกจำนวนหลายก้อน ริมฝั่งแม่น้ำแม่โขง ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประเทศไทย
ต่อมาเฟซบุ๊ก"ขัตติยะบารมี ขัตติยะ" ได้โพสต์ภาพการค้นพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่ พร้อมระบุว่า "กำลังกู้องค์พระเจ้าตนหลวงเพื่อนำขึ้นมาโปรดปวงชนมวลมนุษย์ให้อยู่เย็นเป็นสุข"
17 พฤษภาคม เพจ "ປະກາດ Pakaad" เพจชื่อดังของ สปป.ลาว ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 6 แสนคน โพสต์ข้อมูลระบุว่า "พบพระพุทธรูป อยู่ริมน้ำโขง ที่เมืองต้นผึ้ง คล้ายคลึงพระสุกที่หายไป สมัยอาณาจักรล้านช้าง แต่พระองค์ดังกล่าวเป็นศิลปะลาวล้านช้าง
ด้าน พระใบฎีกา กษิพัฑฒิ สิริภทฺโท (ครูบาอ๊อด) รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่ายาง-สบยาบ ม.2 ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สันนิษฐานว่าบริเวณที่ขุดพบพระพุทธรูปสมัยโบราณ เป็นเกาะดอนแท่น เคยเป็นที่ตั้งวัดต่างๆ กว่า 10 วัด ก่อนที่เกาะดังกล่าวจะจมอยู่ใต้แม่น้ำโขง และเชื่อว่าพระพุทธรูปดังกล่าวมีอายุกว่า 400 ปี
จุดเริ่มต้นดราม่า "อาจารย์ต๋อง" ท้าพิสูจน์ เชื่อเพิ่งหล่อ 2-3 เดือน
นายพยุงศักดิ์ อัครเกื้อกูล ออกมาให้ความเห็นกรณีดังกล่าวอย่างดุเดือด ว่า ผม "อาจารย์ต๋อง" หรือ ฉายา ครูบาทอง คนนี้
เรียนช่างกลโรงงาน เรียนจบวิศวอุตสาหการ เรียนวิชาโลหะวิทยา ผมเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์ ดร.ประกอบ บุญยงค์ เทพเจ้าแห่งวิชาโลหะวิทยาเมืองไทย ผู้แปลและแต่งตำราโลหะวิทยาคนแรกของประเทศไทย ชีวิตนี้ ผมงมอยู่กับโลหะแทบทุกชนิดมาตั้งแต่เด็ก ยันแก่
- โลหะผสม ที่มีทองแดงเป็นโลหะหลัก มีทองเหลือง มีอลูมีนั่ม มีตะกั่ว มีดีบุก มีเงิน เป็นโลหะรองผสมลงไป เราเรียกโลหะชนิดนี้ว่า บรอนซ์ แต่ถ้าทองแดง ผสม ทองคำ เราเรียกโลหะชนิดนี้ว่า นาก ฝรั่งเรียก พิ้งค์โกลด์
- บรอนซ์ จมดิน จมน้ำ นอนอยู่ใต้ดิน ไม่ถึง 100 ปี มันจะยุ่ย ผุ กร่อน ทะลุจนพรุนไปหมด ไม่มีเหลือเป็นองค์พระพุทธรูปสมบูรณ์แบบอย่างที่ขุดเจอนั่นหรอกครับ
แล้วนี่มันอะไรกันครับ พระโลหะ นอนแช่อยู่ใต้ดินที่ชุ่มน้ำใต้แม่น้ำ 500 ปี ขุดขึ้นมา สวยกริ๊บ รอยผุ รอยกัดกร่อน ซักรอยนึงก็ไม่มีให้เห็น!!! มึงจะบ้ารึไง????
เอางี้ ถ้าพระพุทธรูป โลหะ องค์ที่คนลาวขุดเจอเมื่อวานมีอายุถึง 50 ปีนะ ไม่ต้อง ถึง 500 ปีหรอกนะ เอาแค่ 50 ปีพอ ถ้าอายุถึง 50 ปีนะ กระผม อาจารย์ต๋องคนนี้ ยอมเอาใบปริญญาไปติดอวัยวะเพศหญิงของสุนัข ให้คุณสุนัขเขาวิ่งโชว์ใบปริญญาของกระผมรอบประเทศลาวเลยเอ๊า
กระผมขอท้าพิสูจน์เลยม่ะ ใครหน้าไหนก็ได้ กระผมท้านักวิชาการและวิศวกร นักโลหะวิทยา หมดทั้งประเทศลาวเลยเอ๊า !!!!
สรุป พระจริงไม๊ คบท. ขอตอบว่า ใช่ครับ พระจริงพระแท้แน่นอนครับ
แล้วอายุพระองค์นี้ถึง 500 ปีมั้ย คบท. คนนี้ ขอตอบว่า ไม่ถึงครับ พระใหม่เอี่ยม พึ่งทำการหล่อมาได้ไม่ถึง 2-3 เดือน มานี่เอง แล้วมีคนมือดี เอามาฝัง สดๆ ใหม่ๆ เลย ครับผม คบท. ฟันธงครับ งานนี้สร้างเรื่อง สร้างกระแส หวังหากินกับความโง่งมงายของผู้ไม่รู้ ผู้มืดบอด ครับผม
อ.ไชยณรงค์ ม.มหาสารคาม เชื่อไม่มีใครทำแล้วมาแอบฝัง
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ว่า อย่าหาทำ
ผมว่าเรื่องนี้คนไทยบางคนควรสงบปากสงบคำไว้บ้างนะ ยิ่งการใช้ภาษาที่ท้าทายแถมหยาบคายยิ่งไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ยิ่งอ่านเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ ผมนี่รู้สึกอายแทนคนไทย และอยากขอโทษเพื่อนคนลาวที่มีคนไทยแบบนี้
สำหรับสื่อไทยไม่ว่าสื่อหลักหรือสื่อโซเชียลก็อย่านำเรื่องแบบนี้มาเสนอเป็นข่าวเลยครับ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สำหรับผม ผมค่อนข้างเชื่อนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่ระบุว่าเป็นประติมากรรมพระพุทธรูป ศิลปะล้านนา สกุลช่างเชียงราย-เทิง ผสมศิลปะล้านช้าง ดูจากพระพักตร์เสี้ยม เม็ดพระศกเล็ก มีไรพระศก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ซึ่งช่างปัจจุบันลอกเลียนแบบยากครับ
เมื่อบวกกับพระที่พบก่อนหน้านี้ที่มีทั้งศิลปะล้านนาและล้านช้างจำนวนมากที่ศิลปะชัดเจน และซากโบราณสถาน (เสา) ที่ประดับลวดลายแบบล้านนาและจีนที่กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครทำแล้วมาแอบฝังเพื่อสร้างกระแสอย่างที่ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าว
ป.ล. คนไทยควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับประเทศเพื่อนบ้านแบบสันติให้มากกว่านี้
นักเขียนด้านประวัติศาสตร์ ระบุ ฐานพระพิสดารเกินฝีมือช่างปัจจุบัน
ด้าน กรกิจ ดิษฐาน นักเขียนด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันออก ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มองกรณีดังกล่าว ว่า
ไม่ได้เขียนซะนานเลย กะว่าจะเขียนตั้งแต่เขาเจอพระที่เมืองต้นผึ้งใหม่ๆ ก็ยังไม่มีเวลา ตอนนี้เจอ "พระเจ้าตนหลวง" ขนาดใหญ่โตขุดได้จากริมโขง ใบหน้าทรวดทรงงามเสียจนผมว้าวในใจ แต่เกิดวิวาทะเรื่อง "พระเก่าพระใหม่" ขึ้นมา บางคนก็ว่า "หน้าจีน" (เพราะคิดว่าจีนมีส่วนเนื่องจากแถวนั้นมี "นิคมจีน" อยู่ไม่ไกล)
ก่อนอื่นพระองค์ล่าสุดที่เจอนั้นหน้าไม่จีนหรอกครับ ถ้าคุ้นพุทธศิลป์ลาวก็จะรู้ว่าคล้ายไปทางพระลาว แต่บางท่านก็ว่าผสมเชียงแสน ซึ่งแม้ว่าผมไม่ถนัดจะฟันธงเรื่องนี้ แต่โดย "ความรู้สึกส่วนตัว" คิดว่าออกไปทางพุทธศิลป์ลาว
ส่วนพระเก่าพระใหม่ ตอนแรกผมก็เอะใจ เพราะกะด้วยสายตาตอนแรกสงสัยว่าทำไมองค์ใหญ่ขนาดนี้ถึงได้หล่อได้ตลอดองค์ ซึ่งต่างไปจากพระโบราณที่จะหล่อแยกเป็นชิ้นๆ แล้วต่อเป็นองค์ด้วยลิ่มบ้างหรือด้วยหมุดบ้าง
แต่ต่อมาได้เห็นชัดๆ ว่าพระที่เพิ่งขุดเจอนั้นเต็มไปด้วยรอยต่อและลิ่ม ผมจึงเชื่อว่า "นี่ทำใหม่ยากแล้ว" อีกทั้งพุทธศิลป์ขององค์นี้งามหมดจดมาก ทั้งฐานพระก็พิสดารเกินฝีมือช่างปัจจุบัน ผมจึงเชื่อว่า "ไม่ควรจะเป็นของใหม่"
เห็นแล้วผมนึกถึงพระโบราณที่ผมไปไหว้อยู่บ่อยๆ คือ "หลวงพ่อพระร่วงทองคำ" พระสมัยสุโขทัย ที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ เดิมท่านอยู่ศรีสัชนาลัย แต่ชลอมาไว้เมืองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3
หลวงพ่อท่านขนาดน่าจะเท่ากับหลวงพ่อที่เจอที่ต้นผึ้ง ใหญ่เล็กกว่ากันไม่เกินศอก แต่ท่านหล่อจากทองคำเปล่งปลั่ง 60% หลังจากที่ทางวัดเคลียร์พระวิหารอยู่หลายปีก่อน ผมค่อยเข้าไปดูหลังองค์ได้ จึงเห็นกับตาว่า องค์พระมีรอยต่อทั้งองค์ ที่ไหล่นั้นมีหมุดตอกไว้ รวมแล้ว 9 จุดรอยต่อ
ผมถ่ายภาพแล้วอธิบายไว้อย่างที่เห็นแหละครับ แต่นี่แค่ครึ่งองค์ รอยต่อกลางบั้นเอวนั้นยาวรอบเหมือนองค์ที่พบที่ต้นผึ้ง เพียงแต่ที่ต้นผึ้งต่อด้วยลิ่ม ที่กรุงเทพฯ ต่อด้วยหมุด
ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมหลวงพ่อที่เจอที่ต้นผึ้งพระไม่ผุ อันนี้ตอบยากเพราะไม่ถนัดโลหะวิทยา แต่ในโลกเรามีการพบประติมากรรมโลหะที่จมน้ำแล้วยังอยู่ดีไม่บุบสลายอยู่มากมาย แม้แต่ในไทยก็มีไม่น้อยเหมือนกัน
ผมว่าผมจะไม่กล้าฟันธงอะไร เพราะยังไม่เห็นกับตา และยังไม่ได้ไปที่เกิดเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การค้นพบนี้มีน้ำหนักคือการพบ "เสาวิหาร" ที่มีลายปูนปั้นแบบล้านนาโบราณ
ก่อนที่จะพบเสานั้น มีการพบพระล็อตแรกๆ ที่พบริมโขง ตอนแรกผมก็สงสัยว่า "คนในวงการปลอมพระเล่นตลกอะไรอีกหรือเปล่า?" แต่พอเห็นเสาต้นนั้นกับพระธาตุเจดีย์ที่มีแผ่นจังโก (ทองแดงหุ้มพระธาตุ) ผมก็หมดสงสัย
อีกเรื่องที่น่าวิเคราะห์ก็คือ จุดที่พบนั้นคือจุดไหนในประวัติศาสตร์? บางคนบอกว่า "นั่นคือดอนแท่น" สถานที่ตั้งวัดวาอารามสำคัญสมัยเชียงแสน รวมถึงที่ตั้งของพระล้านตื้อ (ที่พบแต่พระเมาลีอันใหญ่โต และบางคนเริ่มโยงว่าพระใหญ่ที่ต้นผึ้งจะเป็นพระเจ้าล้านตื้อหรือเปล่า?)
แต่ที่ตั้งของดอนแท่นนั้นเป็นปริศนา แม้แต่คนท้องถิ่นก็ยังตกลงกันไม่ได้ นักวิชาการที่เขียนเรื่องพระเจ้าล้านตื้อ ยังได้แค่สันนิษฐาน
ผมคนนอกพื้นที่จึงได้แต่ฟังเขาวิเคราะห์ ไม่สามารถสู่รู้เกินผู้รู้ได้ แต่ก็ได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งเรื่อง "ดอนแท่น ปริศนาที่เชียงแสน" โดย ฉัตรลดา สินธสอน ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน (วารสารศิลปากร ปีที่ 57 ฉบับที่ 5)
งานวิจัยนี้ไล่เรียงประวัติศาสตร์และการสันนิษฐานที่ตั้งของเกาะดอนแท่นได้รัดกุมดีมาก ที่ดีมากอีกอย่างคือมีภาพแผนที่เก่าประกอบให้เห็นด้วยว่า เกาะดอนแท่นนั้นเคยอยู่กลางแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับ สภอ.เชียงแสน แต่ตอนนี้หายไปแล้ว บางครั้งเรียกว่า "เกาะดอนแห้ง"
ส่วนจุดที่พบพระพุทธรูปที่ฝั่งต้นผึ้ง ผมกะดูแล้วควรจะเป็น "หาดเกาะหลวง" ในแผนที่นี้เป็นแค่หาดทราย ตอนนี้กลายเป็นเกาะจริงๆ ไปแล้ว
บางทีพระต่างๆ และพระวิหารเจดีย์ที่ขุดเจออาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเกาะดอนแท่นก็ได้ แล้วกระแสน้ำพัดไปตกที่ฝั่งหาดเกาะหลวงที่แต่ก่อนอยู่ประชิดกัน ช่วยกันวิเคราะห์ครับ เพราะผมก็ไม่รู้
ความเห็น 0