นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในเดือน ธ.ค.นี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมออกประกาศเชิญชวนใหม่ สำหรับการขอรับสิทธิการใช้งานดาวเทียมวงโคจรประจำที่ 51 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก หลังจากเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอการขอใบอนุญาตดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ตำแหน่ง 50.5,51 และ 142 องศาตะวันออก แต่ ปรากฏกว่า ทางไทยคม ได้สิทธิใช้งานดาวเทียมประจำที่ ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก เพียง 1 วงโคจร เดียว เนื่องจาก บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือไทยคม ที่เป็นผู้ขอรับสิทธิฯ ไม่ได้ยื่นหลักประกันวงโคจร 51 และ 142 องศาตะวันออก และแจ้งว่าต้องการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาขอสิทธิ
“สำนักงานจะเร่งออกประกาศเชิญชวนอย่างเร็ว คือในเดือน พ.ย.และช้าสุดในเดือน ธ.ค. เพื่อให้เอกชนที่สนใจเข้ามายื่นขอรับสิทธิ และบอร์ด กสทช. ได้พิจารณาจัดสรรสิทธิให้เอกชนได้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 68 โดยหากไทยคม ต้องการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาขอสิทธิก็สามารถดำเนินการได้ โดยวงโคจร 51 องศาตะวันออก อยู่ในขั้นต้น จึงยังมีเวลาอีก 4-5 ปี ขณะที่วงโคจร 142 องศาตะวันออก เหลือเวลา 1 ปี”
นายสมภพ สำหรับสาระสำคัญของ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ยังคงใช้หลักเกณฑ์เดิม ประกอบด้วย การอนุญาตให้ใช้สิทธิ การเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม โดยจะไม่จัดชุดของข่ายงานดาวเทียมที่จะนำมาอนุญาตสิทธิ และไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ และใช้วิธีการอนุญาตโดยพิจารณาเปรียบเทียบจากข้อเสนอของผู้ขอรับอนุญาต ตามเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต ซึ่งต้องได้ไม่น้อยกว่า 50 % โดยประกอบ 1.ความพร้อมในการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดน้ำหนักเท่ากับ 40 % 2.ประสบการณ์ในการประกอบกิจการหรือดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง กำหนดน้ำหนัก 25 %
3.ความสามารถด้านการเงินและข้อเสนอการวางหลักประกันการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดน้ำหนัก 20% และ 4.ข้อเสนออัตราผลตอบแทนให้แก่รัฐ กำหนดน้ำหนักเท่ากับ 15% โดยจะต้องเสนออัตราผลตอบแทนให้แก่รัฐไม่น้อยกว่า 0.25% อย่างไรก็ตามสำหรับ บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ที่ได้รับสิทธิการใช้งานดาวเทียมประจำที่ ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก ไปแล้วนั้น และจะสิ้นสุดการรักษาสิทธิวงโคจรกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) วันที่ 27 พ.ย.67 นี้นั้น ทางบริษัทแจ้งว่า จะใช้ดาวเทียม 9เอ ซึ่งเป็นดาวเทียมต่างประเทศที่อยู่บนวงโคจรอยู่แล้ว และมีอายุทางวิศวกรรมอีก 3 ปี ลากมาเพื่อใช้สิทธิได้ทันกำหนดอย่างแน่นอน
ความเห็น 0