โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

แปรรูปกระดาษใยสับปะรด เติมไอเดีย-ตอบโจทย์คนยุค 4.0

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 29 พ.ย. 2561 เวลา 21.00 น.
ใยสับปะรด 30พย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่เป็นที่น่ายินดีว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาเอาใจใส่ดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือการนำเอาวัสดุหรือวัตถุดิบที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเหล่านั้นแล้ว ยังได้สิ่งของมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

เพิ่มมูลค่ากระดาษใยสับปะรด

คุณพลพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ หรือ น้องมัช นักเรียนเกรด 12 จากโรงเรียนนานาชาติ NIST กรุงเทพฯ เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงได้นำใบสับปะรดมาแปรรูปเป็นกระดาษจากใยสับปะรด ในโครงการ Ever leaves โดยนำมาใส่ไอเดียเก๋ไก๋ ผลิตเป็นกระเป๋าอเนกประสงค์ กระเป๋าใส่บัตร และที่พันหูฟัง ของใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิตอลได้อย่างดี

สินค้าที่แปรรูปมาจากใยสับปะรดนี้ นอกจากจะมีความทนทานแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าของเกษตรกรให้มีราคาสูงมากกว่า 20 เท่า

คุณสมใจ บุญใส สมาชิกกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เดิมทางกลุ่มนำกระดาษจากใยสับปะรดมาผลิตเป็นที่ใส่ไม้จิ้มฟัน กล่องกระดาษทิชชู และสินค้าอื่นๆ แต่ขายได้ในราคาไม่แพง ถ้าไม่แปรรูปแล้วกระดาษใยสับปะรดจะขายได้น้อย ไม่ได้ราคาดี ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ราคาสับปะรดเองก็ถูกมาก ยิ่งปี 2561 นี้ ราคาตกต่ำสุดในรอบ 11 ปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อยลง พอมีโครงการ Ever leaves ของน้องมัช มาช่วยให้คำแนะนำ เสนอเสริมไอเดียว่าควรจะนำกระดาษจากใยสับปะรดไปทำเป็นผลิตภัณฑ์แบบไหนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ได้ราคาสูงมากขึ้น และได้ขยายฐานกลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่มอื่น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

น้องมัชเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโครงการ Ever leaves ว่ามีความสนใจและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และเห็นว่าในแต่ละปีหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตของสับปะรด มีส่วนอื่นๆ ที่เหลือใช้ ซึ่งเกษตรกรนำไปขายเป็นปุ๋ยหรือเชื้อเพลิงในโรงงานปั่นไฟ ได้ราคาเพียง 50 บาท ต่อใบสับปะรด 100 กิโลกรัม ถือว่าเป็นเงินจำนวนที่น้อยมาก

อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มที่นำใบสับปะรดมาแปรรูปเป็นกระดาษ ซึ่งใบสับปะรด 30 กิโลกรัม จะได้ใยสับปะรด 15 กิโลกรัม ผลิตกระดาษจากใยสับปะรดได้ 60 แผ่น ขายได้ในราคาแผ่นละ 10 บาท นอกจากนี้ เกษตรกรยังนำกระดาษจากใยสับปะรดมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก

ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

ด้วยความคิดที่ว่านี้ น้องมัชจึงได้ริเริ่มก่อตั้งโครงการ Ever leaves ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือแนะนำพี่ๆ ป้าๆ ลุงๆ เกษตรกรไร่สับปะรด ในการปรับปรุงพัฒนาการผลิตกระดาษจากใยสับปะรดให้มีคุณภาพที่ดี มีความคงทนสวยงามมากขึ้น และที่สำคัญคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย มีรูปแบบการใช้งานที่ตอบโจทย์ Lifestyle ของคนยุคดิจิตอลมากยิ่งขึ้น เช่น ทำเป็นกระเป๋าอเนกประสงค์ ใส่มือถือ เงิน หรือเครื่องเขียน กระเป๋าใส่บัตร และที่พันหูฟัง ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยขายได้มากกว่า 20 เท่าจากราคากระดาษจากใยสับปะรด

สินค้าที่ผลิตจากกระดาษใยสับปะรดของโครงการ Ever leaves ตอนนี้มีอยู่ 3 ชนิด คือ 1. กระเป๋าอเนกประสงค์ ใส่มือถือ เงิน หรือเครื่องเขียน ราคา 359 บาท 2. กระเป๋าใส่บัตร ราคา 259 บาท และ 3. ที่พันหูฟัง ราคา 159 บาท สินค้าทั้ง 3 ชนิด ได้เสริมวัสดุด้านใน ตัดเย็บอย่างดี มีความทนทาน กันน้ำ และผลิตจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้สนใจสามารถชมสินค้าเพิ่มเติมและสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ https://www.everleaves.org

น้องมัชแจกแจงว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รูปแบบทันสมัยและตอบโจทย์การใช้งานกับเครื่องมืออุปกรณ์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป็นวัยรุ่นที่นิยมสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานอุปกรณ์ที่ทันสมัย และกลุ่มนักท่องเที่ยว

สินค้าทั้ง 3 ชนิด มีจุดเด่นและได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งหมด เนื่องจากมีการทำวิจัยด้านการตลาดถึงลักษณะการใช้งานของกลุ่มลูกค้า ซึ่งถือว่าสามารถตอบโจทย์ได้อย่างน่าพอใจ

กับคำถามที่ว่าในท้องตลาดมีคู่แข่งหรือไม่ น้องมัชอธิบายว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบทันสมัยที่ทำจากกระดาษใยสับปะรด ยังไม่มีคู่แข่งรายอื่นทำ แต่จะมีสินค้าที่มีอรรถประโยชน์ในการใส่อุปกรณ์ต่างๆ เหมือนกันที่ทำจากวัสดุอื่น ซึ่งมีราคาแตกต่างกันไป

ในการแปรรูปใบสับปะรดเพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้ น้องมัชบอกว่า ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 500,000 บาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการโปรโมตและขายสินค้า คาดว่าจะได้เงินทุนคืนใน 1-2 ปี แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคบ้าง ในช่วงเริ่มการผลิต เนื่องจากจำนวนผลิตน้อย ทำให้ต้นทุนสูง และต้องทำการโปรโมตเพื่อให้เป็นที่รู้จัก

เตรียมขยายตลาดออนไลน์

สำหรับแผนธุรกิจในอนาคต หนุ่มน้อยรายนี้แจกแจงว่า จะพยายามเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์หลากหลายมากขึ้น พร้อมทั้งโปรโมตผ่านช่องทางอื่น เช่น เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคมากขึ้น

“ผมหวังว่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับผลิตภัณฑ์จากวัสดุพื้นบ้าน และสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน โดยปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือและร่วมงานกับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของสับปะรด เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกมากที่สุดในประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ผมยังคาดหวังว่า Ever leaves จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพสินค้าแปรรูปจากวัสดุธรรมชาติให้มีมูลค่าเพิ่มและมีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และสามารถต่อยอดถ่ายทอดความรู้ไปสู่การพัฒนาส่วนอื่นๆ ต่อไป” น้องมัช กล่าว

ผู้ประกอบการหน้าใหม่รายนี้ยังให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวว่า การแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ควรมองหาวัสดุเหลือใช้ที่สามารถเปลี่ยนให้เป็นวัสดุที่มีความโดดเด่น อาจจะเป็นเรื่องความสวยงามของ texture หรือคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ความคงทน และที่สำคัญ ควรทำการทดลองผลิตว่าสามารถทำผลิตภัณฑ์ได้จริง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 1

  • Michael.anan
    จะติดต่อซื้อหากระดาษใยสัปรดได้อย่างไร ไม่มีข้อมูลให้ติดต่อกลับได้ครับ
    23 ก.ย 2562 เวลา 11.19 น.
ดูทั้งหมด