โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พบ ‘บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน’ ชนิดใหม่ของโลกในรอบ 104 ปี

เดลินิวส์

อัพเดต 31 ม.ค. 2565 เวลา 15.09 น. • เผยแพร่ 31 ม.ค. 2565 เวลา 07.44 น. • เดลินิวส์
พบ ‘บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน’ ชนิดใหม่ของโลกในรอบ 104 ปี
สะเทือนวงการวิทยาศาสตร์ ทีมวิจัยค้นพบ

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. มีการค้นพบบึ้งชนิดใหม่ของโลก โดยทีมผู้วิจัย ประกอบด้วย ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายวุฒิไกร ใข่แก้ว นักวิชาการอิสระ และนายทรงธรรม สิปปวัฒน์ หรือ โจโฉ ยูทูบเบอร์ชื่อดังซึ่งเป็นผู้ค้นพบบึ้งชนิดนี้ในขณะเดินป่าที่จังหวัดตาก หลังจากนั้นได้ทำการสำรวจ เก็บตัวอย่างและศึกษาเพิ่มเติม นำมาสู่การบรรยายลักษณะและและตีพิมพ์การค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของโลกในครั้งนี้

สำหรับบึ้งต้นไม้สกุลใหม่ของโลก Taksinus bambus หรือบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ถูกค้นพบและตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ทั้งนี้ในประเทศไทยมีบึ้งอยู่หลายชนิดครอบคลุมทุกภูมิภาค จากการศึกษานิเวศวิทยาได้แบ่งบึ้งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะการดำรงชีวิตคือ “บึ้งดิน” ซึ่งอาศัยบนพื้นดินโดยการขุดรูลึกลงไปในโพรงดินและ “บึ้งต้นไม้” โดยจะอาศัยภายในรูหรือโพรงของต้นไม้

บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน จัดจำแนกในวงศ์ย่อย Ornithoctoninae เป็นกลุ่มบึ้งในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบึ้งต้นไม้อยู่เพียง 4 สกุลคือ Omothymus, Lampropelma, Phormingochilus และ Melognathus โดยกระจายตัวอยู่ในแถบมาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา บอเนียว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เท่านั้น สำหรับ บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” ถูกค้นพบห่างไกลออกไปในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ทั้งหมดที่เคยถูกค้นพบมา โดยค้นพบในป่าไผ่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร ในจังหวัดตาก ของประเทศไทย

“บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มบึ้งต้นไม้ แต่เป็นบึ้งชนิดแรกของโลกที่มีความจำเพาะกับต้นไม้โดยบึ้งชนิดนี้อาศัยดำรงชีวิตอยู่ภายในปล้องของต้นไผ่เท่านั้นมีนิเวศวิทยาเกี่ยวข้องกับต้นไผ่เอเชีย (Gigantochloa sp.) ขนาดของรูทางเข้าของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินมีขนาดตั้งแต่ประมาณ 2/3 เซนติเมตรไปจนถึงขนาดใหญ่ บึ้งเป็นสัตว์ไม่สามารถเจาะรูไม้ไผ่ได้เอง จากการศึกษาสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากสัตว์ฟันแทะเจาะเข้ามาใช้ประโยชน์ในการหาอาหารจากไผ่เพื่อกินหนอนที่อยู่ภายใน รวมถึงอาจเกิดจากสัตว์อื่น ๆ เช่น แมลงที่เจาะเข้าไป หรือเกิดปริแตกตามธรรมชาติของต้นไผ่เอง รวมทั้งยังเกิดจากการกระทำของคนได้อีกด้วย บึ้งชนิดนี้จะอาศัยอยู่ภายในปล้องไผ่โดยสร้างใยปกคลุมล้อมรอบภายในปล้องและมักออกมาหาอาหารเป็นสัตว์ขนาดเล็กหรือแมลงในช่วงกลางคืน จากลักษณะนิเวศวิทยาของบึ้งชนิดนี้มีความพิเศษเนื่องจากเป็นบึ้งชนิดแรกในโลกที่มีการดำรงชีวิตแบบเลือกต้นไม้อยู่เฉพาะต้นไผ่เท่านั้น สร้างความน่าประหลาดใจแก่วงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก

จากการสำรวจพื้นที่โดยรอบไม่พบว่าบึ้งชนิดนี้อาศัยบนต้นไม้อื่นยกเว้นต้นไผ่ จึงถือได้ว่าเป็นบึ้งที่หายากที่สุดในประเทศไทย และการค้นพบนี้เป็นการค้นพบบึ้งสกุลแรกของเอเชียในรอบ 104 ปี หลังจากการค้นพบครั้งหลังสุดเมื่อปี ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) และนับได้ว่าเป็นบึ้งสกุลแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกค้นพบและวิจัยโดยคนไทย อีกทั้งยังได้รับเกียรติในการนำรูปของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินขึ้นปกวารสารทางวิทยาศาสตร์ Zookeys ฉบับที่ 1080 ในปี 2022 วารสารทางด้านสัตววิทยาที่มีชื่อเสียง สำหรับการตั้งสกุลนี้ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นอกจากนี้ ลักษณะนิเวศวิทยาของบึ้งชนิดนี้มีความพิเศษ เนื่องจากเป็นบึ้งชนิดแรกในโลกที่มีการดำรงชีวิตอยู่เฉพาะต้นไผ่เท่านั้น สร้างความน่าประหลาดใจแก่วงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ทีมผู้วิจัยเตรียมแถลงข่าวการค้นพบบึ้งดังกล่าวในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ที่ห้องสมุด คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยของแก่น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น