“ถนน – ทางเท้า - รถเมล์” ประเทศญี่ปุ่น ความสะดวกที่ “ไทยแลนด์ 4.0” ควรมีได้แล้ว!
เมื่อคุณก้าวเท้าเดินออกจากบ้านตอนเช้ารู้สึกบ้างไหมว่ามีความลำบากอะไรบ้าง เท่าที่ผมพอนึกได้ และเห็นภาพชัดสุด คงจะเป็นเรื่องทางเดินเท้าที่ไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่นัก ต้องระวังมอเตอร์ไซค์วิ่งสวนมา บางทีก็เผลอสะดุดทางเดินที่ขรุขระ บางทีต้องระวังฝาท่อที่อาจจะเปิดโหว่เอาไว้ นี่เป็นความเสี่ยงที่ผมพอจะนึกออกได้ในตอนนี้
แล้วเราลองนึกดูสิครับว่า ผู้พิการจะลำบากแค่ไหน? เมื่อต้องเจอความไม่สะดวกในการเดินทางลักษณะต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมด
ทีนี้ผมขอเชิญเพื่อนๆ บินลัดข้ามฟ้ามาดูฟากฝั่งญี่ปุ่น สิ่งที่ผมชอบใจ เห็นแล้วว้าวคือ
ความใส่ใจที่มีให้กับผู้ใช้ทางเดินเท้า
สำหรับคนทั่วไปทางเดินเท้าที่นั่นนั้นเรียบดี ราบรื่นในการเดินเท้า และทางเดินเท้าในญี่ปุ่นยังถูกออกแบบไว้เป็นอย่างดีสำหรับผู้มีความบกพร่องทางสายตาอีกด้วยนะครับ
ซึ่งสิ่งนี้เรียกกันว่า ..
ชิคะขุโชไกฉะ ยูโด บุรกขุ
.視覚障害者誘導用ブロック
(しかくしょうがいしゃゆうどうぶろっく)
เครดิตภาพจาก: https://ja.m.wikipedia.org/wiki/視覚障害者誘導用ブロック#/media/ファイル%3ATenji-block.JPG
หรือบล็อคทางเดินนำทางสำหรับผู้มีความบกพร่องทางสายตา ซึ่งมันมีอีกชื่อเรียกนึงคือ Tenji BLOCK 点字ブロック(แปลตรงตัวคือบล็อคอักษรเบลล์ในภาษาญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ใช้อักษรเบลล์บนบล็อคนำทางนี้นะครับ)
เพียงผู้บกพร่องทางสายตาเหยียบบนบล็อคทางเดินสีเหลืองๆ นี้ก็จะทราบข้อมูลที่บล็อคกำลังสื่อสาร เช่น บล็อคประเภทนำทาง จะมีลักษณะเป็นเส้นลากต่อเนื่องช่วยบอกทิศทางในการเดิน
ส่วนบล็อคเตือนจะมีลักษณะเป็นจุดๆ ใช้เตือนให้ระมัดระวัง เช่น ก่อนขึ้นบันได, ก่อนทางม้าลายข้ามถนน, จุดเชื่อมต่อต่างๆ, ก่อนจะถึงบริเวณที่มีสิ่งกีดขวาง เป็นต้น
ซึ่งนวัตกรรมเพื่อผู้มีความบกพร่องทางสายตานี้ เกิดขึ้นจากการคิดค้นพัฒนาของคุณ Miyake Seiichi ตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 (หลังจากที่เพื่อนของเขาสูญเสียการมองเห็น)โดยหวังว่าจะช่วยให้ใครก็ตามที่มีความบกพร่องทางสายตาเดินทางออกไปไหนมาไหนได้ ไม่เป็นอันตราย คุณ Miyake เองก็ยังเป็นห่วงกับผู้มีความบกพร่องทางสายตาที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟด้วย (เป็นวิธีการเดินทางหลักของคนญี่ปุ่น) จึงได้ผลักดันการใช้งานบล็อคทางเดินชนิดนี้
จนสุดท้ายก็เป็นที่น่าภาคภูมิใจมาก เพราะบล็อคทางเดินชนิดนี้นอกจากจะมีการนำไปใช้ตามทางเดินเท้าทั่วประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงชานชาลารถไฟในปัจจุบันแล้ว ยังได้แพร่หลายถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ มากกว่า 150 ประเทศทั่วโลกแล้ว (ข้อมูลเมื่อต้นปี 2018)
ภาพข่าวหนังสือพิมพ์เมื่อปีค.ศ.1967 เมื่อมีการปูTenji Block สีเหลืองลงบนทางเท้าเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้ผู้มีความบกพร่องทางสายตาเป็นครั้งแรกของโลกที่จังหวัดโอกายาม่า(50 ปีที่แล้ว)
นอกจากเรื่องนี้ ยังมีเรื่องราวอีกหลายๆ เรื่องเป็นความพยายามของญี่ปุ่นเพื่อผู้พิการ เช่น ระบบขนส่งมวลชนที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางของผู้พิการ
อย่าง Non-Step Bus รถประจำทางที่มีทางลาดขึ้นลงให้ผู้ใช้รถเข็นสามารถใช้บริการร่วมกันได้
ไม่เพียงเท่านั้น ทางบริษัทรถประจำทางยังออกคู่มือการใช้งานรถประจำทางประเภทนี้แบบเห็นภาพ เข้าใจง่ายเพียง 7 ขั้นตอนดังนี้ (เอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ จริงๆ)
1. ตรวจสอบตารางเวลาว่ารถประจำทางแบบ Non-Step Bus จะมากี่โมง โดยสามารถดูจากตารางเวลาที่แปะเอาไว้ที่ป้ายรถประจำทาง หรือจะเช็คจากทางอินเทอร์เน็ตก็ได้
2. รอรถประจำทางที่บริเวณใกล้ๆ ป้ายรถประจำทาง
เมื่อรถประจำทางเข้าจอดที่ป้าย ให้ทำสัญญาณ เช่น การโบกมือ เพื่อให้พนักงานขับรถทราบความประสงค์ว่าจะขึ้นรถ
3. ขึ้นรถประจำทาง
-ให้เช็คจุดหมายปลายทางของรถประจำทางนั้นๆ ให้แน่ใจก่อนว่าใช่สายที่ต้องการจะไปหรือไม่
-ถ้าไม่ทราบจุดหมายปลายทางของรถประจำทางคันนั้นๆ ให้สอบถามพนักงานขับรถผ่านระบบ interphone ใกล้ๆ ประตูทางขึ้น
-เมื่อแสดงความประสงค์ว่าจะขึ้น พนักงานขับรถประจำทางจะลงมาอำนวยความสะดวก ให้เราแจ้งรายละเอียดที่ต้องการ และจุดหมายปลายทางที่ต้องการจะลง
-หลังจากนั้นคนขับจะติดตั้งทางลาดเพื่อให้รถเข็นสามารถขึ้นไปบนรถประจำทางได้
-เมื่อขึ้นไปบนรถประจำทางแล้วให้รับตั๋วจากตู้อัตโนมัติ (ถ้าไม่สะดวกรับตั๋วด้วยตัวเองให้แจ้งคนขับ)
-เพื่อไม่ให้รถเข็นเลื่อนได้ขณะโดยสารรถ ให้ทำการล็อกรถเข็น โดยให้คนขับรถช่วยได้
ถ้าขั้นตอนนี้อยากให้คนขับรถระวังสิ่งใด ไม่ให้โดนร่างกายส่วนใด สามารถแจ้งได้
4. กดกริ่งแจ้งความประสงค์เมื่อต้องการจะลงรถประจำทาง
5. เตรียมค่าโดยสาร
โดยเช็คค่าโดยสารจากตั๋วที่ได้รับตอนแรกว่าเป็นเบอร์อะไร และดูค่าโดยสารที่ต้องจ่ายแสดงอยู่ที่ป้ายดิจิตอลข้างคนขับ (ถ้าแสดงสมุดพกผู้พิการชำระค่าโดยสารเพียงครึ่งราคา)
6. เมื่อลงรถประจำทาง คนขับรถจะอำนวยความสะดวกเหมือนกับตอนขึ้นรถประจำทาง
ตอนลงทางลาด รถเข็นจะลงในลักษณะถอยหลัง ไม่ต้องกังวลเพราะคนขับรถจะดูแลความปลอดภัยเป็นอย่างดี
7.ชำระค่าโดยสารและกล่าวขอบคุณพนักงานขับรถ
นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีอีกหลายเรื่องหลายประเด็นที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับผู้พิการ
อาทิ เช่น
(Barrier-Free ของเครื่องเล่น Jusmine’s Flying Carpets ในสวนสนุกดิสนีย์ซีที่ออกแบบให้ผู้ใช้รถเข็นสามารถขึ้นไปเล่นเครื่องเล่นได้)
ทั้งนี้ที่ยกตัวอย่างมาเล่าเรื่องราวให้ได้อ่านกัน ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดูแลและให้บริการในประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่เพียงเฉพาะคนปกติทั่วไป ยังดูแลถึงผู้พิการเพื่อให้เข้าถึงและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียม เพราะผู้พิการไม่ใช่ผู้ด้อยสมรรถภาพ แต่เป็นบุคคลที่มีความสามารถคนหนึ่งของสังคม เช่นกัน.
Boom JapanSalaryman
(ผู้เขียนหนังสือ ‘JapanDarkSide’ ถึงร้ายก็รัก,
หนังสือ JapanSalaryman :เป็นได้มากกว่ามนุษย์เงินเดือน และ หนังสือวิ่งตามฝันยังไงก็ชนะ : 8 วิธีวิ่งคว้าฝันสไตล์คนญี่ปุ่น)
www.twitter.com/JapanSalaryboom
Credit ข้อมูลในบทความ
https://mainichi.jp/articles/20170524/ddf/012/040/010000c
http://nichimou.org/impaired-vision/barrier-free/induction-block/
https://matome.naver.jp/m/odai/2150683550126381401
https://matome.naver.jp/m/odai/2149478465379836301
http://www.bus.saga.saga.jp/pdf/nonstepbus-norikataguide.pdf
https://thisable.me/content/2017/07/198
http://www.arch.chula.ac.th/journal/files/article/mIzzpF86k8Sun103403.pdf
http://www.dinf.ne.jp/doc/japanese/law/6laws/kihon_easy_no.html
http://www8.cao.go.jp/shougai/mark/mark.html
http://www8.cao.go.jp/shougai/kou-kei/toujisha/siryo08.html
ความเห็น 126
Piti
BEST
ฝันไปเถอะ พัฒนาการทางสมองและจิตสำนึกของคนในชาติมันต่างกันเยอะ
16 ส.ค. 2561 เวลา 11.21 น.
พ่อใบหม่อนกะใยไหม
BEST
สิ่งที่ควรมีก่อนของพวกนี้คือ จิตสำนึกของคนในชาติครับ
16 ส.ค. 2561 เวลา 12.12 น.
S.
BEST
ประเทศเค้าเก็บภาษีเยอะหลายอย่างมาก
ถ้าไม่จ่ายโดนทั้งโทษทางกฏหมาย
และโทษทางสังคมที่คนจะเหยียดหยามและประจาน
ประเทศไทยจ่ายกันอยู่ 5 ล้านคน
แต่โดนคนที่ไม่จ่ายภาษีอีก 62ล้านคน
มองเป็นเรื่องปกติ และเรียกร้องทุกอย่าง
สวัสดิการรัฐในไทยไม่ได้มีไว้ให้คนที่เสียภาษี
แต่มีไว้เลี้ยงขอทาน
16 ส.ค. 2561 เวลา 11.45 น.
Boy
ทุจริตทุกเรื่องที่มีโอกาสแล้วจะมีสิ่งดีๆแบบเขาได้อย่างไร
16 ส.ค. 2561 เวลา 11.43 น.
Narong
เอาให้ได้เศษขี้ตีนร่วงๆของเขาให้ได้ก่อนเถอะ
16 ส.ค. 2561 เวลา 11.36 น.
ดูทั้งหมด