‘วอลเลย์บอล’ เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย เพราะมีฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมและทีมเวิร์คที่ดี นักกีฬาแต่ละคนผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อจะได้แสดงศักยภาพที่มีทั้งหมดกับการแข่งขันในแต่ละครั้ง
กฎและกติกา การเล่นวอลเลย์บอล
มีนักกีฬาวอลเล่ย์บอลทีมชาติหลายคนที่มีชื่อเสียงและชนะเลิศการแข่งขันต่างๆ มากมาย อาทิ ทัดดาว นึกแจ้ง, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, นุศรา ต้อมคำ, มลิกา กันทอง, อรอุมา สิทธิรักษ์ เป็นต้น นักกีฬาเหล่านี้จึงเป็นแรงบัลดาลใจให้กับเด็กๆ เยาวชน และนักกีฬารุ่นน้อง ในการเดินตามความฝันบนเส้นทางการเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอล
การชมกีฬาวอลเลย์บอล หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจมากนัก อาทิ การวนหน้าที่ของนักกีฬาในสนาม การเสิร์ฟ การเล่นจังหวะในแต่ละแดน เป็นต้น วันนี้แคมปัส-สตาร์จึงมีกฎกติกาการแข่งขันวอลเลย์บอลมาฝากกันค่ะ เพื่อการชมกีฬาวอลเลย์บอลให้สนุกและได้อรรถรสในการชมมากยิ่งขึ้น
กฎข้อที่ 1 พื้นที่เล่นลูกบอล
สนามมาตรฐานที่ใช้แข่งขันมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 18 x 9 เมตร ล้อมรอบด้วยเขตรอบสนาม กว้างอยางน้อย 3 เมตร ทุกด้าน ที่ว่างเหนือพื้นต้องไม่มีสิ่งใดกีดขวาง สูงขึ้นไปอย่างน้อย 7 เมตร จากพื้นสนาม แต่สําหรับการแข่งขันระดับโลกของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติและการแข่งขันที่เป็นทางการ เขตรอบสนามต้องกว้างอย่างน้อย 5 เมตร จากเส้นข้าง และ 6.5 เมตร จากเส้นหลัง ที่ว่างเหนือสนามต้องสูงจากพื้นขึ้นไปอย่างน้อย 12.50 เมตร
กฎข้อที่ 2 ตาข่าย
ตาข่ายจะถูกขึงเป็นแนวดิ่งเหนือเส้นแบ่งแดน สําหรับทีมชาย ขอบบนสุดต้องสูงจากพื้น 2.43 เมตร ทีมหญิงสูง 2.24 เมตร โดยความสูงของตาข่ายวัดที่บริเวณกึ่งกลางของสนาม ความสูงของตาข่าย (ที่เหนือเส้นข้างทั้งสองด้าน) ต้องสูงเท่ากัน
กฎข้อที่ 3 ลูกบอล
ลูกบอลจะต้องกลม ทําจากหนังฟอกหรือหนังสังเคราะห์ที่ยืดหยุนได้ ห่อหุ้มลูกทรงกลม ทําด้วยยาง หรือวัสดุที่คล้ายคลึงกัน สีของลูกบอลอาจเป็นสีอ่อนๆ เหมือนกันทั้งลูก หรืออาจเป็นหลายสีผสมกันก็ได้ ลูกบอลต้องมีเส้นรอบวงยาว 65 – 67 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 260 – 280 กรัม และมีแรงดันลม 0.30 – 0.325 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร
กฎข้อที่ 4 ทีม
ใน 1 ทีม ประกอบด้วย ผู้เล่นสูงสุด 12 คน รวมกับ คณะผู้ฝึกสอน ได้แก่ ผู้ฝึกสอน 1 คน ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนไม่เกิน 2 คน คณะแพทย์ได้แก่ นักกายภาพบําบัด 1 คน และแพทย์ 1 คน
การแข่งขันในสนาม มีผู้เล่นตัวจริงทีมละ 6 คน โดยตำแหน่งของผู้เล่นจะยืนด้านหน้า 3 คน ประกอบด้วยผู้เล่นตำแหน่งที่ 4 (หน้าซ้าย), 3 (หน้ากลาง), 2 (หน้าขวา) ยืนด้านหลัง 3 คน ประกอบด้วยผู้เล่นตำแหน่งที่ 5 (หลังซ้าย), 6 (หลังกลาง), 1 (หลังขวา) ซึ่งตำแหน่งที่ 1 คือ ตำแหน่งผู้เล่นเสิร์ฟ ส่วนผู้เล่นในสนามที่เหลือจะมีหน้าที่ของแต่ละคนดังนี้
- ตัวตั้ง หรือ ตัวเซ็ต ทำหน้าที่ต่อบอลในจังหวะที่สอง โดยตั้งบอลให้กับตัวรุกเพื่อทำคะแนน ตัวเซ็ตต้องปราดเปรียวและว่องไว มีไหวพริบที่ดีในการเลือกตัวรุกเพื่อทำคะแนน
- ตัวบล็อกกลาง หรือ ตัวตีกลาง คือผู้เล่นที่สามารถรุกได้อย่างรวดเร็ว มักจะอยู่ใกล้ตัวเซ็ต รวมไปถึงมีการบล็อกที่ดี สามารถขึ้นบล็อกคู่ด้านข้างของสนามได้ แต่ละทีมมักจะมีผู้เล่นตำแหน่งนี้ 2 คน
- ตัวตีด้านนอก หรือ ตัวตีด้านซ้าย หรือ ตัวตีหัวเสา ทำหน้าที่ตบลูกหรือบุก จากบริเวณหัวเสา ตัวตีจะต้องตบลูกได้แบบคงเส้นคงวาที่สุดในทีม เพราะมักจะได้บอลจากตัวเซ็ตมากที่สุด แต่ละทีมมักจะมีผู้เล่นตำแหน่งนี้ 2 คน
- ตัวตีตรงข้าม หรือ ตัวตีด้านขวา ทำหน้าที่เป็นแนวหน้าปกป้องเกมรุกของคู่แข่งเป็นหลัก อยู่บริเวณเสาอากาศด้านขวา คอยบล็อกตัวตีด้านซ้ายของคู่แข่ง และบางครั้งทำหน้าที่เป็นตัวเซ็ตสำรองด้วย
- ตัวรับอิสระ หรือ ลิเบโร คือผู้เล่นที่ชำนาญเกมรับเป็นพิเศษ เป็นตัวที่ต่อบอลได้ดีที่สุดของทีม และจะต้องสวมชุดที่ต่างจากผู้เล่นคนอื่นในทีม ลิเบโรไม่มีสิทธิ์บล็อกหรือตีบอลขณะบอลอยู่เหนือตาข่ายและไม่มีสิทธิ์เสิร์ฟบอล (ยกเว้นในบางองค์กร) เมื่อเกมหยุดสามารถเปลี่ยนตัวกับผู้เล่นแดนหลังได้โดยไม่ต้องแจ้งผู้ตัดสิน ลิเบโรสามารถเซ็ตบอลเหนือศีรษะคล้ายตัวเซ็ตได้ เมื่อยืนอยู่หลังเส้นรุกเท่านั้น
กฎข้อที่ 5 หัวหน้าทีม
ทั้งหัวหน้าทีมและผู้ฝึกสอน จะเป็นผู้รับผิดชอบความประพฤติและระเบียบวินัยของผู้ร่วมทีม แต่มีข้อแม้ว่าตัวรับอิสระจะเป็นหัวหน้าทีมไม่ได้ ตลอดการแข่งขัน ผู้ฝึกสอนจะเป็นผู้ควบคุมการเล่นของทีมภายนอกสนาม เลือกผู้เล่น 6 คนแรก เปลี่ยนตัวผู้เล่นและขอเวลานอก ส่วนผู้ช่วยผู้ฝึกสอนจะทําหน้าที่แทนผู้ฝึกสอน เมื่อผู้ฝึกสอนต้องออกจากการทําหน้าที่
กฎข้อที่ 6 การได้คะแนน
การแข่งขันวอลเลย์บอลจะแข่งกันเป็นเซตทั้งหมด 5 เซต โดยทีมที่ทำได้ 3 เซตก่อนจะเป็นทีมที่ชนะในการแข่งขันนั้น ซึ่งแต่ละเซตจะแข่งกันเมื่อทีมใดทีมหนึ่งทำคะแนนได้ 25 คะแนนก่อน (ยกเว้นเซตสุดท้ายจะแข่ง 15 คะแนน) หากทําคะแนนได้ 24 -24 คะแนนเท่ากัน จะต้องแข่งขันกันต่อไปจนกว่าทีมใดทีมหนึ่งจะทําคะแนนนําห่าง 2 คะแนน (26 -24, 27–25,……) โดยในการแข่งขันแต่ละทีมจะได้คะแนนเมื่อ
- ลูกบอลตกลงบนพื้นสนามในแดนของทีมตรงข้าม
- ฝ่่ายตรงข้ามทําผิดกติกา
- ฝ่ายตรงข้ามถูกทําโทษ
กฎข้อที่ 7 โครงสร้างการแข่งขัน
ก่อนการแข่งขันผู้ตัดสินที่ 1 จะทําการเสี่ยงเพื่อตัดสินว่า ทีมใดจะเสิร์ฟก่อน หรืออยู่แดนใดในเซตแรก และถ้าต้องแข่งขันเซตตัดสิน จะต้องทําการเสี่ยงใหม่อีกครั้ง หลังจากนั้นจะทำการอบอุ่นร่างกายเป็นเวลาประมาณ 10 นาที จากนั้นผู้เล่นจะต้องยืนประจำตำแหน่งของตน จนกว่าจะมีการเสิร์ฟลูกบอล ผู้เล่นจึงจะสามารถเคลื่อนที่ไปอยูตําแหน่งต่างๆ ได้ภายในแดนและเขตรอบสนามของตน
การหมุนตำแหน่ง
เมื่อทีมที่รับลูกเสิร์ฟได้สิทธิทําการเสิร์ฟ ผู้เล่นจะต้องหมุนตําแหน่งตามเข็มนาฬิกาไป 1 ตําแหน่ง ตัวอย่าง ผู้เล่นตําแหน่งที่ 2 จะหมุนไปตําแหน่งที่ 1 เพื่อทําการเสิร์ฟ และผู้เล่นตําแหน่งที่ 1 จะหมุนไปตําแหน่งที่ 6 เป็นต้น หากหมุนตําแหน่งผิดฝ่ายตรงข้ามจะได้คะแนนและได้เป็นฝ่ายเสิร์ฟแทน
กฎข้อที่ 8 รูปแบบการเล่น
ลูกจะอยูในการเล่นตั้งแต่ขณะที่ทําการเสิร์ฟ โดยผู้ตัดสินที่ 1 เป็นผู้อนุญาต โดยลูกบอลที่เป็น ‘ลูกดี’ คือการที่ลูกบอลถูกพื้นสนาม โดยส่วนใดส่วนหนึ่งของลูกได้สัมผัสพื้นสนาม รวมทั้งเส้นเขตสนาม ส่วน ‘ลูกตาย’ คือลูกไม่อยูในการเล่น ตั้งแต่ขณะที่มีการทำผิดกติกา โดยผู้ตัดสินคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ให้สัญญาณนกหวีด ซึ่งการทําผิดกติกาจะสิ้นสุดลงพร้อมกับสัญญาณนกหวีด
กฎข้อที่ 9 การเล่นลูกบอล
การถูกลูกบอล คือการกระทําใดๆ โดยผู้เล่นที่อยูในการเล่นทุกลักษณะ ซึ่งแต่ละทีมสามารถถูกลูกได้มากที่สุด 3 ครั้ง (นอกจากทําการบล็อก) เพื่อส่งลูกกลับไปยังทีมตรงข้าม ถ้าถูกลูกมากกว่านี้ถือว่าทําผิดกติกา และผู้เล่นคนหนึ่งจะไม่สามารถถูกลูกบอล 2 ครั้งติดต่อกันได้
กฎข้อที่ 10 ลูกบอลที่บริเวณตาข่าย
ลูกบอลที่ส่งไปยังแดนของทีมตรงข้าม ต้องข้ามเหนือตาข่ายไปยังพื้นที่ ภายในแดนของฝ่ายตรงข้าม โดยลูกบอลอาจถูกตาข่ายได้ในขณะที่กำลังข้ามตาข่าย
กฎข้อที่ 11 ผู้เล่นที่บริเวณตาข่าย
ในการบล็อก ผู้บล็อกอาจล้ำตาข่ายเข้าไปถูกลูกบอลได้ ถ้าไม่กีดขวางการเล่นลูกของทีมตรงข้าม หรือมือของผู้เล่นอาจล้ำตาข่ายได้ ถ้าขณะถูกลูกเป็นการถูกลูกบอลในแดนของทีมตนเอง แต่ผู้เล่นไม่สามารถถูกตาข่ายระหว่างเสาอากาศ ในขณะที่กําลังเล่นลูกได้ จะถือว่าผิดกติกาทันที
กฎข้อที่ 12 การเสิร์ฟ
ผู้เสิร์ฟจะต้องเสิร์ฟจากด้านหลังของสนาม โดยยืนไม่เลยแนวเส้นข้างและห้ามเหยียบเส้นหลัง โยนบอลและตีกลางอากาศให้บอลข้ามตาข่ายไปยังแดนของคู่แข่งภายใน 8 วินาทีหลังกรรมการให้สัญญาณ และเมื่อฝ่ายเสิร์ฟชนะการเล่นลูกนั้น ผู้ที่ทําการเสิร์ฟอยูแล้วจะทําการเสิร์ฟต่อ แต่หากฝ่ายรับลูกเสิร์ฟชนะในการเล่นลูกนั้น จะได้สิทธิทําการเสิร์ฟและต้องหมุนตําแหน่งก่อนทําการเสิร์ฟ ผู้เล่นที่หมุนจากตําแหน่งหน้าขวาไปยังตําแหน่งหลังขวาจะเป็นผู้เสิร์ฟ
ภาพจาก : fordfocus1998.blogspot.com
กฎข้อที่ 13 การหยุดการเล่น
การหยุดการเล่น มีเพียงการขอเวลานอกและการเปลี่ยนตัวเท่านั้น โดยแต่ละทีมสามารถขอเวลานอกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง และเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ไม่เกิน 6 คน/เซต การขอเวลานอกแต่ละครั้งใช้เวลา 30 วินาที
กฎข้อที่ 14 การหยุดพักและเปลี่ยนแดน
การหยุดพักในช่วงเวลาระหว่างเซต จะพักเซตละ 3 นาที ระหว่างการหยุดพักจะทําการเปลี่ยนแดนด้วย ส่วนในเซตตัดสินจะเปลี่ยนแดนเมื่อทีมใดทีมหนึ่งทําได้ 8 คะแนน
กฎข้อที่ 15 ผู้เล่นตัวรับอิสระ (LIBERO)
แต่ละทีมจะมีสิทธิแต่งตั้งผู้เล่นที่รับได้ดีเป็นพิเศษเป็นตัวรับอิสระได้ถึง 2 คน แต่ในการแข่งขันจะมีผู้เล่นตัวรับอิสระในสนามได้เพียงคนเดียว ตัวรับอิสระจะต้องสวมชุดแข่งขันเฉพาะ ซึ่งมีสีที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมทีมอยางชัดเจน และมีลักษณะการเล่นดังนี้
- ตัวรับอิสระสามารถเปลี่ยนเข้าแทนผู้เล่นแดนหลังคนใดก็ได้
- ตัวรับอิสระไม่สามารถทำการรุกได้โดยสมบูรณ์จากทุกพื้นที่ของสนาม
- ไม่อนุญาตให้ตัวรับอิสระทําการเสิร์ฟ บล็อก หรือพยายามบล็อก
- ไม่อนุญาตให้เพื่อนร่วมทีมทําการรุกโดยสมบูรณ์ ขณะที่ลูกบอลอยูสูงกว่าขอบบนของตาข่าย ถ้าลูกนั้นมาจากการส่งด้วยนิ้วมือของตัวรับอิสระที่อยูในแดนหน้าของทีมตนเอง
สามารถติดตามกฎกติกาอย่างละเอียดได้ที่ referee.volleyball.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย
บทความแนะนำ
- น่ารักไม่เบา แนน ทัดดาว มือตบวอลเลย์บอลหญิงดาวรุ่งไทย
- หล่อ เก่ง อิมซองจิน นักกีฬาวอลเลย์บอลชาวเกาหลี | นักศึกษา มหาวิทยาลัยซุงคยุนกวาน
- เปิดประวัติ หนุ่มหล่อหน้าใส “โอ๊ต ภาสกร” ดีกรีนักกีฬาวอลเลย์บอล ม.ธรรมศาสตร์
- เรียนดี กีฬาเก่ง เตย หัตถยา นักวอลเลย์ทีมชาติไทย ในมุมน่ารักๆ
- รู้จัก! นักกีฬาวอลเลย์บอลดาวรุ่ง น้องแบม จิดาภา ที่มาพร้อมความน่ารัก ความสามารถเพียบ
ความเห็น 0