โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การตลาดสองข้างทาง - ศุ บุญเลี้ยง

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 29 ก.ค. 2563 เวลา 07.05 น. • ศุ บุญเลี้ยง
ขอบคุณภาพจาก <a href=
เปรี้ยวปาก ">
ขอบคุณภาพจาก เปรี้ยวปาก

วันนั้นเรากำลังมุ่งหน้าไปโรงเรียนเพื่อช่วยครูภาษาไทยทำกิจกรรมกลุ่ม

ขณะขับรถผ่านเส้นทางสายรังสิต-นครนายก  พวกเราต่างช่วยกันสอดส่องมองหาร้านขายของริมทาง

เพราะหนึ่งในกิจกรรมซึ่งได้ออกแบบไว้นั้น  จำเป็นต้องใช้สินค้าท้องถิ่นเพื่อฝึกให้นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยกันทำ  คือการแบ่งกลุ่มกัน ผลิตถ้อยคำโฆษณาให้กับสินค้าของชุมชม ให้ใช้ความสามารถทางภาษาที่มีอยู่นั้นช่วยกันคิดคำโฆษณา สร้างสโลแกน และร่วมกันเขียนสรรพคุณสินค้า  รวมถึงการออกแบบโลโก้ และลองตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกความคิดและการใช้ภาษา

อย่างเช่น ถ้าไปทำกิจกรรมกับนักเรียนจังหวัดเพชรบุรี  เราอาจจะซื้อน้ำตาลสดของยายที่หาบขายอยู่ตรงทางขึ้นเขาวัง  หรือหากไปถึงประจวบฯ ก็อาจเลือกใช้กะปิจากร้านชาวบ้านริมทะเล 

ครั้นพอไปทำการอบรมให้นักเรียนแถวจังหวัดนครนายก เราจึงช่วยกันสอดส่องมองหาขณะขับรถ จนได้เห็นว่าเส้นทางสายนั้นมีคนขายข้าวหลามอยู่เป็นระยะ

ใครคนหนึ่งเสนอความคิดว่า งั้นเอาข้าวหลามเผานี่แหละ  ซื้อไปสักสิบกระบอก ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันทำงาน

คนขับตัดสินใจเหยียบเบรคชะลอรถ  เพราะเห็นควันขาวลอยโขมงชัดเจน  โชเฟอร์จอดรถเทียบหน้าแผงข้าวหลาม ต่อรองราคาแล้วงงนิดหน่อย เพราะคนขายบอกว่า มัดรวมกันห้าสิบบาทมีอยู่มัดละตั้งสี่กระบอก  เราเห็นว่าราคาก็ไม่แพง อาจจะเพราะเป็นข้าวหลามกระบอกน้อยๆ จึงอุดหนุนไปสี่มัดได้กระมัง

 

เราซักถามว่า ลุงกับป้ามาเผาข้าวหลามขายข้างทางนี่ บ้านอยู่ตรงนี้หรือ 

แกตอบว่าบ้านอยู่ลึกเข้าไปในซอย ข้าวหลามก็เผามาเสร็จแล้วจากบ้าน 

อ้าวแล้วที่ควันขึ้นลอยเป็นทางขาวเห็นอยู่นั่น…ไม่ได้เผาข้าวหลามหรอกหรือ

ลุงจึงเฉลยว่า  อ๋อเผากากมะพร้าวเฉยๆ ให้ควันมันลอย พอให้คนเห็นเป็นสัญญาณเตือน 

เตือนให้เห็นชัด

เหมือนเราตัดสินใจแวะนั่นแหละ

สรุปว่า ข้าวหลามเผาเสร็จมาจากบ้านแล้ว

แต่จุดควันให้สัญญาณว่าร้านอยู่ตรงนี้

เทคนิคนี้ของลุงทำให้เราแวะซื้อ ทั้งๆ มีร้านอื่นๆ อีกมากมายที่เราได้ขับผ่านเลยมา

ก่อนจากกันลองถามต่ออีกนิดว่า ที่มัดขายรวมนี่ คงขายได้ดีกว่าขายทีละกระบอก “ใช่แล้ว” ป้าว่าบ้าง “หยิบง่าย คิดราคาก็ง่าย”

แล้วถ้าคนเขาอยากซื้อทีละกระบอกละ

ก็ขาย…เหมือนกัน แต่ขายเป็นมัดรวมๆ แบบนี้ง่ายกว่า 

แล้วป้าขายกระบอกละเท่าไหร่

ป้าตอบว่า สิบบาท

อ้าว!!!  4 กระบอกมัดรวมกันขาย 50 บาท กระบอกเดียว 10 บาทก็ถูกกว่าสิ

“ก็มันง่ายดี… ขี้เกียจทอน” 

…………..

อีกคราขับรถจะไปสุพรรณบุรี วันนั้นนึกอยากกินข้าวแกง เห็นป้ายร้านเขียนว่า  แกงป่า สาขาสาม ก็จอดแวะทันที

เจอลุงเจ้าของ ขึ้นรูปตัวเองในป้ายกับอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ตอกย้ำแบรนด์แกงป่าเมืองกาญฯ เราจึงซักถามตามประสาคนอยากรู้ว่า

ร้านนี้เป็นสาขาสามแล้วร้านดั้งเดิมเปิดมานานหรือยัง ตั้งอยู่แถวไหน?

ลุงว่า เพิ่งเปิดร้านแรกนี่แหละ 

อ้าว แล้วไหนว่า สาขาสาม

อ๋อ ลุงเปิดสาขาสามก่อน ถ้าขายดี ก็ค่อยขยับขยายไปเปิดสาขาสอง แล้วก็หนึ่ง ทีหลังจ้า

……….

หมูสะเต๊ะเจ้าหนึ่ง มีโอกาสไปเปิดร้านในงานอีเว้นต์ ปรากฏว่าขายดีกว่าเกินคาดจนปิ้งแทบไม่ทัน  เจ้าของร้านต้องแก้สถานการณ์เพราะคิดแล้วว่า ถ้าต้องเอาหมูมาเสียบไม้ คงจะไม่สามารถขายให้ลูกค้าที่มารอคิวได้ทัน จึงตัดสินใจว่า จะยอมปิ้งหมูสะเต๊ะโดยไม่ต้องเสียบไม้ก็แล้วกัน ลูกค้าที่รออยู่ก็ยินดีเพราะจะได้ไม่เสียเวลารอนาน

 หลังจากขายวันนั้นแล้ว ทางร้านก็เลยไม่เอาไม้เสียบหมูสะเต๊ะอีกต่อไป เพราะการเสียบไม้กับหมูนั้นเป็นงานละเอียดทำยาก เป็นงานซึ่งต้องใช้เวลาและเสียค่าแรง

ครั้นไม่เสียบไม้  การจัดการใส่ถุงใส่ห่อ รวมถึงการจัดส่งก็สะดวกดายง่ายขึ้น 

เขาเพียงแต่เปลี่ยนชื่อจากการขาย หมูสะเต๊ะ(ธรรมดา) เป็น ‘ หมูสะเต๊ะถอดไม้ ’

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากศุ บุญเลี้ยง ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่นได้ที่เพจศุ บุญเลี้ยง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0