โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

LINE

อัปเดต! Home Isolation คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน พร้อมแนะวิธีลงทะเบียนติดตามดูแลอาการ

LINE ประเทศไทย

เผยแพร่ 12 ก.ค. 2564 เวลา 04.25 น.

Home Isolation เริ่มเป็นที่กล่าวถึงมาตั้งแต่ปี 2563 หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 วิธีนี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนช่วงแยกกักตัวสำหรับผู้ป่วยสีเขียว (อาการไม่รุนแรง) ในหลากหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่มิถุนายน 2564 เป็นต้นมาได้เริ่มมีการให้ความสนใจกับ Home Isolation มากขึ้น เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้สถานพยาบาลในหลายพื่นที่ทั่วประเทศประสบปัญหาในการจัดการผู้ป่วย ทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยล้นสถานพยาบาล และผู้ป่วยบางรายไม่ได้อาศัยอยู่ลำพัง แต่อาศัยร่วมกับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรหากติดเชื้อแล้ว

บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับวิธีการรักษาแบบ Home Isolation บอกเล่าถึงความหมาย และข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ป่วยนำไปปรับใช้ในการรักษาตนเอง รวมถึงอัปเดตหลักเกณฑ์และวิธีการลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบติดตามดูแลอาการตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

ผู้ป่วย COVID-19 กลุ่มสีแดง สีเหลือง และสีเขียว คืออะไร?

การประเมินเบื้องต้นถึงระดับอาการของผู้ป่วยเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สี ดังนี้

1. กลุ่มสีแดง คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้ออาการรุนแรง มีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก และเรียกไม่รู้สึกตัวหรือตอบสนองช้า
2. กลุ่มสีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง มีอ่อนเพลีย ปอดอักเสบ และถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน

3. กลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงเหมือนกับเป็นไข้หวัดธรรมดา

ระบบ Home Isolation คืออะไร?

Home Isolation คือ ระบบการแยกกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วย COVID-19 กลุ่มสีเขียวผ่านการติดตามดูแลอาการ โดยเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงหรือรักษาอยู่ในโรงพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย 7-10 วัน และสามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านโดยต้องผ่านความยินยอมจากแพทย์และความสมัครใจของผู้ป่วย การแยกกักตัวที่บ้านนี้จะช่วยลดความติดขัดของระบบการดูแลผู้ป่วยของสถานพยาบาลให้สามารถจัดการผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะหน้าได้มากขึ้น

ผู้ป่วย COVID-19 แบบไหนที่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้?

1. ผู้ป่วยที่เพิ่งพบเชื้อแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หรือเรียกว่า “ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว” ซึ่งจะมีอาการทั่วไปดังนี้`

- มีไข้ วัดอุณหภูมิได้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป

- ระดับออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 96%

- ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ

- ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่น

- ถ่ายเหลว

- ไม่มีอาการหายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก

- ไม่มีปอดอักเสบ

2. ผู้ป่วยที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย 7-10 วัน

- อาการดีขึ้น แพทย์ยินยอมให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน

ทั้งนี้ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มต้องมีคุณสมบัติดังนี้

- มีอายุน้อยกว่า 60 ปี

- อยู่คนเดียวหรือที่พักอาศัยสามารถมีห้องแยกเพื่ออยู่คนเดียวได้

- ไม่มีโรคร่วมดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD stage 3, 4) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

เปิด 4 ขั้นตอน การเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้าน

1. ใช้ชุดตรวจ COVID-19 (Antigen Test Kit) ที่ผ่านการรับรองจาก อย. ด้วยตนเองหรือตรวจจากหน่อยงานตรวจ COVID-19 เชิงรุก ผู้อ่านสามารถอ่านวิธีการใช้ชุดตรวจเพิ่มได้ผ่าน “รู้จักกับ Rapid Antigen Test ชุดตรวจโควิด ตรวจเร็ว รู้ไว รักษาได้ทัน!” คลิก

2. หากผลตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อ) และผู้ป่วยต้องการแยกกักตัวที่บ้านให้ติดต่อ 1330 ต่อ 14 หรือ กรอกข้อมูลลงทะเบียนผ่านลิงก์ https://uqr.to/kiaw หรือสแกน QR Code ผ่านรูปด้านบน 

3. รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ หลังจากจับคู่ผู้ป่วยกับคลินิกศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลที่จะรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระหว่างแยกกักตัวที่บ้าน

4. แพทย์จะทำการพิจารณาผู้ป่วยอีกครั้ง หากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (ผู้ป่วยสีเขียว) จะสามารถเริ่มต้นเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้านได้

ข้อสังเกต ชุดตรวจโควิดต้องใช้ชนิดตรวจได้ด้วยตนเอง (Home Use) เท่านั้น โดยจะเป็นการตรวจผ่านโพรงจมูก (Nasal Swab) หรือน้ำลาย

เตรียมความพร้อมก่อนแยกกักตัว

ผู้ป่วย COVID-19 ที่แยกกักตัวที่บ้านจะได้รับการสนับสนุนสิ่งของต่างๆ จากภาครัฐดังนี้

- อาหาร 3 มื้อ

- ปรอทวัดไข้

- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

- การวิดีโอคอลติดตามอาการจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

- โรงพยาบาลพร้อมกลับมารักษา หากมีอาการแย่ลง

สิ่งของที่ผู้ป่วยควรเตรียมไว้ที่บ้าน

- อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ถุงสำหรับขยะติดเชื้อ เป็นต้น

- ยารักษาโรคประจำตัว

สิ่งที่ต้องปฏิบัติเมื่อต้องแยกกักตัวที่บ้าน

1. การใช้เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว

- สอดเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วและรอจนเครื่องแสดงผล โดยค่าปกติของระดับออกซิเจนที่วัดได้อยู่ที่ 96-100% หากต่ำกว่าเกณฑ์นี้ให้รีบติดต่อแพทย์ทันที

2. การใช้ปรอทวัดไข้

- สอดปรอทวัดไข้เข้าไปใต้รักแร้ หรือใต้ลิ้น (ไม่ควรดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็นก่อนวัด 10-15 นาที) เป็นเวลา 3 นาที หากมีไข้ให้ทานยาลดไข้ ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบติดต่อแพทย์

*ควรจดบันทึกค่าต่างๆ ไว้เพื่อรายงานประกอบการวินิจฉัยของแพทย์

ตัวอย่างตารางสำหรับการจดบันทึกค่าต่างๆ ที่วัดได้ในแต่ละวันขณะแยกกักตัว
ตัวอย่างตารางสำหรับการจดบันทึกค่าต่างๆ ที่วัดได้ในแต่ละวันขณะแยกกักตัว

ข้อปฏิบัติของผู้ป่วย COVID-19 เมื่อแยกกักตัวที่บ้าน

1. แยกข้าวแยกสำรับ ไม่กินข้าวร่วมกัน เพราะช่วงเวลากินข้าว ต้องถอดหน้ากากมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ

2. งดให้คนมาเยี่ยม อยู่ในห้องห้องส่วนตัวตลอดโดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ

3.ของส่วนตัวไม่แบ่งใคร ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับใคร เช่น โทรศัพท์มือถือ จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ ผ้าขนหนู เป็นต้น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

4. แม่ให้นมลูกได้ แม่ให้นมลูกได้ เพราะไ่ม่มีรายงานพบเชื้อ COVID-19 ในน้ำนม แต่แม่ต้องสวมหน้ากากและล้างมือก่อนสัมผัสลูกหรือให้นม

5. ดื่มน้ำ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

6. ห้องน้ำแยกเดี่ยว ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ หลังใช้ให้ทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ทันทีด้วยน้ำยาฟอกขาว

7. หมั่นเปิดประตู หน้าต่าง อย่างน้อย 2 ด้านของห้อง เพื่อให้มีช่องว่างทางลมเข้าออกเพื่อลดการสะสมเชื้อ

8. รักษาความสะอาดเสมอ หมั่นล้างมือเป็นประจำอย่างถูกวิธีอย่างน้อย 30 วินาที โดยเฉพาะหลังการไอจามและขับถ่าย

9. ระวังการไอจาม หากรู้สึกอยากไอจาม ต้องออกให้ห่างคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร และหันหน้าไปทางตรงข้ามกับคนอื่น หากไอจามขณะสวมหน้ากาก ไม่ต้องเอามือปิด และไม่ต้องถอดหน้ากาก เพราะเชื้ออาจติดมากับมือ แต่ถ้าไอจามตอนไม่สวมหน้ากากให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก

10. ฆ่าเชื้อเมื่อสัมผัส ผู้ป่วยควรคอยทำความสะอาดของที่มีการสัมผัสร่วมกันหลังมีการหยิบจับ เช่น ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ เพื่อไม่ให้คนอื่นที่มาใช้ต่อเสี่ยงรับเชื้อ

11. สวมหน้ากากเมื่อเจอผู้อื่น หากจำเป็นต้องเจอผู้อื่นให้สวมหน้ากากไว้ตลอด ให้ทิ้งหน้ากากอนามัย หรือชักทำความสะอาดหน้ากากผ้า หลังใช้ครบ 8 ชั่วโมง หรือเมื่อพบว่าหน้ากากเปียกชื้น มีรอยสกปรก คนดูแลผู้ป่วยหากจำเป็นต้องเข้าหาผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย

12. เสื้อผ้าเครื่องนอนต้องสะอาด ซักผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอก หากใช้เครื่องซักผ้าให้ซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้าในน้ำอุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส

แนวทางการดูแลเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน

ถ้าเด็กที่ป่วยมีภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ให้รีบพาไปโรงพยาบาลโดยเร็ว

1. หายใจหอบ หมายถึง หายใจเร็วกว่าอัตราหายใจปกติตามอายุ

2. ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส

3. ใช้แรงในการหายใจ เช่น หายใจอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน

4. ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม กินอาหารไม่ได้

ข้อสังเกต ไม่ควรแยกเด็กติดเชื้อจากครอบครัว เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจทำให้เกิดความเตรียดได้ ให้ครอบครัวดูแลโดยปฏิบัติตามกฎการดูแลผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด

ข้อปฏิบัติของ “ผู้ดูแลผู้ป่วย” ที่แยกกักตัวที่บ้าน

1. สวมหน้ากากอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่ออยู่ใกล้ อยู่ห้องเดียวกัน หรือเวลานำอาหารไปให้ผู้ป่วย

2. อย่าจับส่วนด้านหน้าของหน้ากากโดยเด็ดขาดเพราะอาจมีเชื้อโรคติดอยู่

3. หากหน้ากากเปื้อนหรือมีเปียกชื้นให้รีบเปลี่ยนทันที

4. ทิ้งหน้ากากในถุงขยะติดเชื้อ

5. ระวังการสัมผัสใบหน้าตัวเองและสารคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก

6. ล้างมืออย่างถูกวิธี โดยเฉพาะหลังจากใกล้ชิดผู้ป่วย

7. แยกใช้ห้องน้ำ หากทำไม่ได้ ให้ผู้ป่วยใช้เป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังใช้ทุกครั้ง

8. สวมถุงมือเมื่อต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วย และล้างมือถุงครั้งหลังถอดถุงมือ

9. ไม่ใช่สิ่งของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าขนหนูหรือ และเครื่องนอน

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วย COVID-19 เพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตอาการตนเอง

1. แนะนำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องแยกกักตัวที่บ้านควรจะมีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและเครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือด และใช้อุปกรณ์วัดค่าทุกวันโดยผู้ป่วยฯ ต้องมีอุณหภูมิไม่ควรเกิน 38 องศาเซลเซียส และวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้วได้ไม่ต่ำ 95%

2. หากผู้ป่วยฯ มีอาการผิดปกติ อาทิ ไข้ขึ้นสูงเกิด 38 องศาเซลเซียส เหนื่อย หอบ หายใจไม่สะดวก ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ทันที

3. หากจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล แนะนำให้ใช้รถส่วนตัว หากไม่สะดวก แนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในช่วงที่เดินทางอย่างน้อย 2 ชั้นตลอดเวลา หากมีผู้ร่วมเดินทางให้เปิดหน้าต่างเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

การจำกัดขยะติดเชื้อในช่วงแยกกักตัวที่บ้าน

ขยะติดเชื้อในที่นี้ ได้แก่ ขยะปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะใส่อาหาร ชุดตรวจ COVID-19 เป็นต้น

วิธีจัดการขยะติดเชื้อเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

1. เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อทุกวัน ใส่ถุงขยะ 2 ชั้น (ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้ทุกขยะสีแดงสำหรับขยะติดเชื้อ)

2. ถุงขยะชั้นแรกเมื่อใส่ขยะติดเชื้อแล้วให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% น้ำยาฟอกขาว เพื่อทำลายเชื้อ

3. มัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดฆ่าเชื้อบริเวณปากถุง

4. ซ้อนด้วยถุงอีกชั้น รัดให้แน่น ฉีดฆ่าเชื้อบริเวณปากถุง

5. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

แยกกักตัวที่บ้านสิ้นสุดเมื่อไหร่? และข้อปฏิบัติหลังจากหายป่วย

การสิ้นสุดการแยกกักตัวที่บ้านจะขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ผู้ดูแล และหากได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าหายป่วยจาก COVID-19 แล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตัวดังนี้

1. ยังต้องระวังตัวอย่างเคร่งครัดด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

2. พยายามแยกตัวจากผู้อื่น เลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จนครบ 1 เดือนนับจากวันที่กักตัว

3. หากยังไม่ฉีดวัคซีน แนะนำให้ฉีดโดยเว้น 3-6 เดือน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ

สำหรับผู้อ่านที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดาวน์โหลดเพื่ออ่าน “คู่มือแยกกักตัวที่บ้าน เรื่องควรรู้ที่คุณหมอรวบรวมมาให้” จัดทำโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการคลิกที่รูปภาพด้านบนได้เลย หรือคลิกลิงก์  http://ssss.network/rnzwu

นอกจากนี้ ผู้ป่วย COVID-19 ที่จำเป็นต้องแยกกักตัว หรือผู้ที่ต้องอาศัยร่วมกับผู้ป่วยฯ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 ได้จากบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ COVID-19คลิกเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตนเองในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน 

และผู้ที่ต้องการตรวจเช็กอาการเบื้องต้นของตนเอง แต่ไม่สะดวกในการเข้ารับการวินิจฉัยที่สถานพยาบาลได้เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน สามารถเข้าไปอ่านบทความรวม 5 แอปหาหมออนไลน์ คลิก ที่ทำให้คุณปรึกษาหมอได้แม้ไม่ได้ไปโรงพยาบาล เพื่อให้คุณได้รับการวินิจฉัยโรคและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย

อ้างอิง:

คำแนะนำผู้ป่วย และให้คำแนะนำการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation โดยกรมการแพทย์ (ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564)

https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/333782/WHO-2019-nCoV-IPC-HomeCare-2020.4-eng.pdf?sequence=5&isAllowed=y

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0