โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิดเมนูพิสดาร "น้ำยากิ้งกือ" อาหารโบราณที่ปรากฏอยู่ใน "นิราศพระบาท" ของสุนทรภู่

Amarin TV

เผยแพร่ 12 ก.ค. 2562 เวลา 03.52 น.
เปิดเมนูพิสดาร
อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่มาพร้อมกับความเปียกชื้นในหน้าฝน และหลายๆ คนเป็นต้องอดขนลุกเมื่อต้องเผชิญหน้ากับมันซะทุกครั้ง นั่นก็คือ กิ้งกือ สัตว์ไม

อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่มาพร้อมกับความเปียกชื้นในหน้าฝน และหลายๆ คนเป็นต้องอดขนลุกเมื่อต้องเผชิญหน้ากับมันซะทุกครั้ง นั่นก็คือ กิ้งกือ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีเปลือกตัวแข็ง ลำตัวยาวแบ่งเป็นปล้อง ไม่แบ่งอกหรือท้องให้เห็น ปล้องตามลำตัวจับกันเป็นคู่ตามยาวยืดหดเข้าหากันได้ ทำให้สามารถขดตัวเป็นวงกลมได้เมื่อถูกรบกวน มีจำนวนขามากได้ถึง 240 คู่ จึงเป็นที่มาของภาษาถิ่นทางภาคเหนือที่เรียกพวกมันว่า “แมงแสนตีน”

แม้จะมีรู้ร่างไม่น่าคบหามากนัก แต่กิ้งกือทุกชนิดล้วนแต่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ โดยพวกมันจะทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืช ใบไม้ ลูกไม้ ให้กลายเป็นแร่ธาตุอาหารกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยมีจุลินทรีย์คอยช่วยเหลือ และยังเป็นบทบาทที่พวกมันทำมาเป็นเวลาหลายล้านปีแล้ว ที่สำคัญ…พวกมันยังถูกนำมาทำเป็นอาหารของมนุษย์ด้วย!!

ถึงจะฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องแปลกๆ แบบนี้เคนปรากฏอยู่ใน “นิราศพระบาท” ของสุนทรภู่ ซึ่งมีเนื้อหาบรรยายการเดินทางขณะโดยเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี (ในจังหวัดสระบุรี ปัจจุบัน) เมื่อวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ พ.ศ. 2350 และในช่วงหนึ่งของนิราศคำกลอนที่มีความยาวถึง 462 คำกลอนนั้น สุนทรภู่ยังได้กล่าวถึง “น้ำยากิ้งกือ” เอาไว้อีกด้วย โดยมีความว่า…

ถึงบางโขมดมีธารตะพานช้าง     บรรลุทางครบร้อยห้าสิบเส้น
มีโพธิ์พุ่มชุ่มชื่นระรื่นเย็น     ไม่ว่างเว้นสัปปุรุษเขาหยุดเรียง
บ้างขายของสองข้างตามทางป่า     จำนรรจาจอแจออกแซ่เสียง
พี่แกล้งไสให้คชสารเคียง     เห็นของเรียงอยู่บนร้านทั้งหวานคาว
แต่น้ำยานั้นเขาว่ากิ้งกือกุ้ง     เห็นชาวกรุงกินกลุ้มทั้งหนุ่มสาว
พี่คลื่นไส้ไสช้างให้ย่างยาว     มาตามราวมรคาพนาวัน
ลมกระพือฮือหอบผงคลีหวน     ปักษาครวญเพรียกพฤกษ์ในไพรสัณฑ์
ดุเหว่าแว่วแจ้วจับน้ำใจครัน     ไก่เถื่อนขันขานเขาชวาคู ฯ

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดคำถามแล้วว่า “กิ้งกือมันกินได้จริงๆ เหรอ!?” งานนี้ถ้าโกหกกันก็เกรงจะบาป เพราะแม้ว่าขนมจีนน้ำยากุ้งบกจะหารับประทานได้ยากในปัจจุบัน แต่ครั้งหนึ่งเมนูนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งมีการนำกิ้งกือที่คนพื้นที่เรียกกันว่า “กุ้งบก” มาขังเพื่อให้คายกลิ่นเหม็นและของเสียออกมาจากร่างกายซะก่อน จากนั้นก็นำไปลวกน้ำร้อนแล้วหันเป็นท่อนๆ ใส่ลงไปทำอาหาร หากเป็นกิ้งกือตัวใหญ่ๆ ก็จะลอกเอาเปลือกออกเพื่อเอาเนื้อ ซึ่งเนื้อที่ได้นั้นว่ากันว่ามีสีขาวใสไม่ต่างจากเนื้อกุ้งเลย

อย่างไรก็ตาม ด้วยกรรมวิธีการทำน้ำยากิ้งกือแบบดั้งเดิมนั้นมียุ่งยากมาก บวกกับการหาซื้อวัตถุดิบต่างๆ ที่ทำได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน ทำให้เมนูโบราณนี้เสื่อมความนิยมลง เพราะมีของกินที่อร่อยกว่า และหน้าตาชวนให้ลิ้มลองกว่ามาแทนที่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0