โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ยานยนต์

dtac ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา - เนคเทค นำเทคโนโลยี 5G - IoT พัฒนาฟาร์มเห็ดหลินจือ

Manager Online

เผยแพร่ 19 พ.ค. 2565 เวลา 05.28 น. • MGR Online

ดีแทค ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา และเนคเทค สวทช. นำเทคโนโลยี5G พร้อมIoTและMachine Leaningใช้ในโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะกรณีศึกษาเห็ดหลินจือ นำความรู้การทำเกษตรแม่นยำ ลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค เตรียมเผยแพร่องค์ความรู้ต่อเกษตรกรในพื้นที่หนาวเย็น ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา ดีแทค-มูลนิธิชัยพัฒนา-เนคเทค ได้ร่วมมือทดลองเพาะเห็ดหลินจือในฤดูหนาว ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ด้วยเทคโนโลยี5GและการนำเทคโนโลยีMachine Learningมาใช้ร่วมกับIoTซึ่งจะมีการเก็บดาต้าภาพถ่าย ขนาด รูปร่าง สี ตลอดช่วงการเจริญเติบโตด้วยระบบกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูง

รวบรวมเป็นฐานข้อมูลและใช้โปรแกรมวิเคราะห์ภาพ ที่จะพัฒนาการเพาะเห็ดหลินจือได้แม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งคาดการณ์สภาพแวดล้อม ปรับสภาพความเหมาะสม อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น แสง และยังอัปเดตชุดข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถจัดการได้ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อพัฒนาการเกษตรที่จะมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

ดร.อนุตรา วรรณวิโรจน์ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า การพัฒนาการเกษตรในปัจจุบันจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง นำมาสู่แนวคิดแผนการพัฒนาโครงการฯ นำเทคโนโลยีเข้าในปรับใช้ในการเกษตรในหลากหลายมิติ เช่น การจัดการผลิตพืช การใช้พลังงาน และการตลาด เพื่อให้สอดรับกับความท้าทายทางการเกษตรในอนาคต

โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่งหรือIoTจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในโรงเรือนและนำมาซึ่งความต่อเนื่องของผลผลิต

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G สร้างความแตกต่างและมีความแม่นยำสูงใช้ในการศึกษาเชิงลึกการเติบโตสายพันธุ์เห็ดหลินจือ โดยดีแทคมีส่วนร่วมออกแบบและวางแผนติดตั้งระบบเซนเซอร์ รวมทั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงการติดตั้งและดูแลเสาสัญญาณเพื่อขยายพื้นที่การสัญญาณเครือข่าย 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนโครงสร้างระบบฐานข้อมูลบนคลาวด์ เพื่อเก็บข้อมูลปัจจัยเพาะปลูก ตลอดจนจัดทำแอปพลิเคชันแสดงผลภาพถ่ายหน้าจอมือถือ เพื่อให้สะดวกในการดูแลและบริหารจัดการ

“ดีแทคนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีความจำเป็นในการเพิ่มเติมองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภาพทางการผลิต นอกจากนี้ ยังคาดหวังในผลการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรที่ยากจน โดยนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืชผลในโรงเรือนที่มีมูลค่าสูงอย่างเห็ดหลินจือ ที่ตลาดมีความต้องการสูง เป็นการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์คุณภาพชีวิต สร้างรายได้และกำไรให้เกษตรกร”

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวได้ดำเนินมาสู่โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ระยะที่ 3 พร้อมการนำเทคโนโลยี 5G สู่การควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดหลินจือในช่วงเดือนธันวาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลให้เห็ดหลินจือออกดอก และสามารถดักสปอร์ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของตลาดได้สำเร็จ ถือเป็นการก้าวไปอีกขั้นของโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะในการพิชิตโจทย์ความท้าทายอันเกิดจากธรรมชาติ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ระบุว่า จากผลการศึกษาในระยะที่ 1 และ 2 พบข้อมูลสำคัญที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมตามความต้องการ และโรงเรือนขนาดเล็กขนาด 400-500 ก้อน เพื่อศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม และนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรือนเพาะเห็ดหลินจือขนาดใหญ่ ซึ่งจะขยายความรับผิดชอบนี้ให้แก่ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ National Biobank of Thailand ภายใต้กำกับดูแลของ สวทช.

สำหรับโครงการความร่วมมือทางด้านวิจัยที่เกิดขึ้น ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการเตรียมพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต ภายใต้ความท้าทายในยุคดิจิทัล ที่ข้อมูลถือเป็นหัวใจ AI เป็นสมองช่วยคิดวิเคราะห์ เครือข่าย (Network) เป็นเส้นเลือดใหญ่ในการส่งผ่านข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0