โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘ARUN PLUS’ ประกาศตัวพร้อมเป็น ‘ผู้นำการผลิตรถอีวี’ ในไทย

The Bangkok Insight

อัพเดต 03 เม.ย. 2565 เวลา 13.22 น. • เผยแพร่ 03 เม.ย. 2565 เวลา 23.00 น. • The Bangkok Insight
‘ARUN PLUS’ ประกาศตัวพร้อมเป็น ‘ผู้นำการผลิตรถอีวี’ ในไทย

'ARUN PLUS' พร้อมเป็น 'ผู้นำการผลิตรถอีวี' ในไทย พลิกโฉมประเทศ สร้างคุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานสะอาด

รถที่ใช้เชื้อเพลิงในการสันดาป มักก่อให้เกิดมลพิษอย่าง PM 2.5 อย่างที่ประเทศไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ โลกตระหนักถึงปัญหานี้ และเริ่มผลักดันนโยบายให้ใช้ "รถยนต์ไฟฟ้า" หรือEV (Electric Vehicle) นอกจากจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

แต่การจะเปลี่ยนให้คนยอมรับ และหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากปัจจัยเรื่องราคาที่จับต้องยาก เพราะราคาสูงกว่ารถน้ำมันแล้ว เห็นจะเป็นเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่ทำให้หลายคนยังลังเล

ARUN PLUS
ARUN PLUS

"The Bangkok Insight" ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) บริษัทลูกของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจด้าน EV Value Chain รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า  ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ได้ขนทัพ ผลิตภัณฑ์และบริการ ของบริษัทในเครือมาแสดงในงาน ในคอนเซ็ปต์ EV-verse หรือจักรวาลแห่งอีวี สะท้อนถึงความพร้อมอย่างเต็มที่ในการลงสนามแข่งธุรกิจอีวี

เอกชัย ยิ้มสกุล
เอกชัย ยิ้มสกุล

ปตท.ไม่ได้มองแค่เป็นการลงทุน ด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่มองว่าเป็นโอกาสในการยกระดับ สร้างคุณภาพชีวิตของสังคมให้ดีขึ้น สร้างพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเทรนด์โลกในขณะนี้ หากจะพัฒนาระบบอีโค่ซิสเต็ม (Ecosystem) ให้กับประเทศอย่างครบวงจร ไม่สามารถจับเพียงจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องรวมทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ อะไหล่ แบตเตอรี่ ในการผลิตรถอีวี จุดนี้เป็นหน้าที่ของ ARUN PLUS

ARUN PLUS
ARUN PLUS

คุณเอกชัย บอกว่า บริษัทลูกของปตท. ทำธุรกิจออโต้อยู่ในหลายธุรกิจอยู่แล้ว เช่น IRPC ทำเรื่องสมาร์ทแมดทีเรียล (Smart Material)  ผลิตเม็ดพลาสติกที่พัฒนาเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทันสมัย เอาไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ GPSC ทำเรื่องแบตเตอรี่มาระยะหนึ่งแล้ว  “เรามองว่ามันสร้างอีโค่ซิสเตมครบวงจร และยกทั้งระบบขึ้นมา เหมือนจิ๊กซอว์ ถ้าต่อไม่ครบ ก็ไม่ได้ภาพทั้งหมด”

คุณเอกชัย ยอมรับว่า ปตท. ไม่สามารถทำทั้งหมดได้เพียงลำพัง คีย์สำคัญที่ทำให้สำเร็จได้ก็คือ ต้องมี "พาร์ทเนอร์" โชคดีที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อยู่แล้ว โครงสร้างที่แข็งแรงตรงนี้ จะช่วยซัพพอร์ต  (support) ให้พัฒนาอีโค่ซิสเต็มได้เร็วขึ้น แต่ก็มีหลาย ๆ ส่วนที่จะต้องมีพาร์ทเนอร์ ที่เป็นมืออาชีพในระดับโกลบอล จึงได้จับมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากประเทศใต้หวัน ในการผลิตและประกอบรถยนต์อีวี

ภายใต้แนวคิด เช่นเดียวกันการผลิตคอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน ที่ถูกทำให้ เป็นแพลตฟอร์ม และสามารถแชร์ริ่งกันระหว่างหลาย ๆ แบรนด์ได้ ใครอยากเอายี่ห้อมาติด หรือเอาเคสมาแปะก็ได้ ฉะนั้นการผลิตรถอีวี จะเป็นเสมือน"คอมพิวเตอร์ติดล้อ"

 

ฮอริษอน พลัส (Horizon+) Towards EVery Possibility ผู้ผลิต “คอมพิวเตอร์ติดล้อ” ครบวงจร

จากแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ ฮอริษอน พลัส (Horizon+) Towards EVery Possibility บริษัทผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับความต้องการของไลฟ์สไตล์การขับขี่ของโลกอนาคต ด้วยเทคโนโลยีMIH platform หรือOpen EV Platform เป็นโครงช่วงล่างของตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นสูง และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สามารถปรับแต่งให้เข้ากับรถยนต์ได้หลายประเภท สามารถช่วยแบรนด์รถยนต์ลดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการพัฒนาและผลิตรถยนต์แต่ละรุ่นได้ และทำให้ผู้ใช้รถได้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ในราคาที่จับต้องได้ โดยมีแผนก่อสร้างโรงงานภายในปีนี้ และโรงงานจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า คือปี 2567 ก็จะเริ่มผลิตรถอีวี ซึ่งจะมีกำลังการผลิต 50,000 คัน ต่อปี

การพัฒนาแพลตฟอร์ม MIH ซึ่งเป็นโครงช่วงล่าง มีมอเตอร์และแบตเตอรี่แล้วเสร็จ คือ"คีย์เวิร์ด" เพราะทำให้ราคาต้นทุนถูกลง ไม่ต้องเสียเวลาพัฒนาขึ้นใหม่ แบรนด์ที่อยากทำรถ ก็สามารถมาคุยกับเรา โดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ มาดีไซน์ได้เลยว่า ต้องการบอดี้รถแบบไหน จะประกอบเป็นรถเอสยูวี ซีดาน คอมแพค ก็สามารถทำได้

"เหมือนเราอยากกินก๋วยเตี๋ยว เราก็สั่งร้านได้ตามต้องการ เช่น เส้นเล็ก ลูกชิ้น ไม่งอก เพราะเราทำเป็นมาตรฐานไว้แล้ว อยากได้รถแบบไหนก็เลือกตามโมเดล ต้นทุนก็ลดลงด้วย"

 

ยิ่งภาครัฐออกนโยบายสนับสนุน การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ฉะนั้นแบรนด์ที่อยากเข้าร่วมโครงการภาครัฐ เพื่อรับการสนับสนุน ก็ให้ความสนใจ ARUN PLUS เพราะภาครัฐมีเงื่อนไข ว่าต้องผลิตรถคืนในปี 2024 เท่ากับจำนวนที่ได้รับการสนับนนุนจากรัฐ โดยจะต้องมาจับมือกับบริษัทภายในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการจ้างงานและเกิดการผลิตภายในประเทศ

คุณเอกชัย บอกว่าวันนี้มีหลายแบรนด์ที่ให้ความสนใจ และกำลังเจรจากัน อย่างแบรนด์จีน โฮซอน บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล (Hozon) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน อาจจะเป็นลูกค้ารายแรกๆ ของ ARUN PLUS หากถามว่า ARUN PLUS จะตอบโจทย์บริษัทรถอย่างไร? คำตอบคือ 1. คนที่อยากมาเปิดตลาดบ้านเรา มองว่าเป็นโอกาสที่ดี  และ 2. มองว่าเราที่รับจ้างผลิต มีเทคโนโลยี สามารถทำราคาที่เขาสามารถลงทุนได้

อย่างที่บอกว่า รถจะเหมือนคอมพิวเตอร์ติดล้อ ฉะนั้นทุกคนจะแข่งกันเรื่องเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย ความสะดวกสบายที่ดีขึ้น บริษัทผู้ผลิตยิ่งแข่งขัน ประชาชนจะยิ่งได้ประโยชน์ เมื่อควบคุมการผลิตให้ถูกลง สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คือผู้บริโภค

 

ออน-ไอออน (on-ion) Towards Everywhere สถานีชาร์จเจอร์

ออน-ไอออน (on-ion) Towards Everywhere อีกหนึ่งธุรกิจของ ARUN PLUS ที่ให้บริการสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ที่กำลังขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ นอกสถานีบริการน้ำมัน อาทิ ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร เป็นต้น ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ

โดยมีแผนติดตั้ง EV Charger ให้ได้ 1,300 จุด ในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีบริการติดตั้งเครื่อง EV Charger ตามที่พักอาศัย เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ

ARUN PLUS
ARUN PLUS

สวอพ แอนด์ โก (Swap & Go) Towards EVery Ride สลับแบตเตอรี่ ขวัญใจไรเดอร์

สวอพ แอนด์ โก (Swap & Go) Towards EVery Ride เป็นแพลตฟอร์มธุรกิจผู้ให้บริการสลับแบตเตอรี่ สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ต้นแบบทางธุรกิจที่พัฒนาขึ้น เพื่อทุกไลฟ์สไตล์การใช้งาน โดยเฉพาะบริการไรเดอร์ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่

สามารถใช้งานง่ายผ่าน แอปพลิเคชั่น "Swap & Go" ที่เชื่อมต่อกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อสลับแบตเตอรี่เดิมที่หมด กับแบตเตอรี่ใหม่ ที่พร้อมใช้งานในตู้ชาร์จ ด้วยตัวเอง ในเวลาอันรวดเร็วไม่ถึง 3 นาที

 

อีวี มี (EVme) Towards EVery Lifestyleเปิดประสบการณ์ขับรถอีวีแค่ปลายนิ้ว

อีวี มี (EVme) Towards EVery Lifestyle แพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์ การเป็นเจ้าของรถอีวี แบบครบวงจร ให้บริการในรูปแบบ Subscription รายแรกและรายเดียวในประเทศไทยผ่านแอปพลิเคชั่น ที่จะทำให้การใช้งานรถอีวีเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส

โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้บริการรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์ชั้นนำ ที่มีให้เลือกหลากหลายรุ่น นานเท่าที่พอใจ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เลือกรุ่นรถ และกดจอง เพียงเท่านี้ก็สามารถรอรับรถได้ที่หน้าบ้าน

สาเหตุที่ตัดสินใจทำ อีวี มี คุณเอกชัย บอกว่า เพราะอยากจะกระตุ้น ให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมี 2 ส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกคือ คนที่ลังเล จะซื้อรถคันใหม่ ควรซื้อรถแบบไหนดี รถไฟฟ้าจะดีไหม? ซึ่ง อีวี มี จะตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ เพราะเราเปิดโอกาสให้ทดลองใช้ก่อน

 

อีกส่วนคือ เด็กรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มองว่ารถเป็น "สินทรัพย์ที่ต้องเป็นเจ้าของ" แต่มองว่าเป็น"การให้บริการ" อย่างเช่น สถานการณ์โควิดระบาด หลายคนซื้อรถมาจอดทิ้งไว้ โดยไม่ได้นำออกมาใช้ รถก็จะเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ มองว่าเป็นการสิ้นเปลือง หากไม่ใช้บริการก็ไม่ควรจ่าย

อีวี มี ตอนนี้มีรถอีวีให้บริการเช่าประมาณ 200 คัน หลากหลายแบรนด์ หลากหลายเซ็กเมนต์ ตามความต้องการ และกำลังทรัพย์ของผู้บริโภค จากการเปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก โดยมีอัตราการใช้ คือ รถถูกเช่าไปใช้ 70-80% และมีเป้าหมายว่าปีนี้จะเพิ่มจำนวนรถอีก 2-3 เท่า หรือ ประมาณ 500 คัน

"อีวี มี จะช่วยให้คนที่ลังเลสามารถตัดสินใจได้ว่า เมื่อใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ตอบโจทย์การใช้ชีวิตไหม เราต้องการให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค บางคนอยากลอง เทสล่า โรลส์-รอยซ์ บางคนอยากลอง เอ็มจี สามารถเลือกไปใช้ได้ตามความต้องการ ระยะเวลาในการใช้ก็มีตั้งแต่ 1 สัปดาห์ 1 เดือน บางคนก็เช่าต่อเนื่อง เปลี่ยนแบรนด์ไปทุกสัปดาห์"

 

G-Box for Residentialเก็บพลังงานแสงอาทิตย์กลางวัน ชาร์จรถกลางคืน

ผลิตภัณฑ์ G-Box for Residential ระบบกักเก็บพลังงานสำหรับที่พักอาศัย ภายใต้แบรนด์ G-Cell พัฒนาโดย NUOVO PLUS ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ARUN PLUS และ GPSC โดยสามารถนำมาใช้ร่วมกับระบบ Solar Cell เป็นการกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในตอนกลางวันไว้ในแบตเตอรี่ และนำมาชาร์จรถไฟฟ้าในตอนกลางคืน โดยผู้ใช้งานสามารถควบคุม สั่งการการทำงานต่าง ๆ ผ่านระบบสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในที่พักอาศัยอย่างสมบูรณ์แบบ

จากนี้เป็นต้นไป มั่นใจว่ารถอีวีจะค่อย ๆ เข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดแทนที่รถน้ำมัน  คุณเอกชัย มั่นใจว่า ARUN PLUS มีความพร้อมจะเข้ามาเป็นผู้นำในการผลิตรถอีวีในประเทศไทย ช่วยพลิกโฉมประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวี พวงมาลัยขวาในภูมิภาค

และในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของประเทศที่สำคัญนี้ กลุ่มปตท. และ ARUN PLUS ได้ลงทุนวิจัย ค้นคว้าร่วมกับพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย สร้างระบบนิเวศรถอีวีครบวงจร เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความสะดวก สบาย และง่ายที่สุดสำหรับผู้เดินทาง สู่ทุกเป้าหมายและทุกเส้นทาง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น