หนึ่งในปัญหาการปลูก“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ที่หลายคนคาดไม่ถึงคือเรื่องของ “วัชพืช” เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตลดลงเกินครึ่ง แต่เกษตรกรบางส่วนกลับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยตามธรรมชาติ สุดท้ายมักเจอปัญหาผลผลิตต่ำและไม่สม่ำเสมอ
แล้วการจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตสูงนั้นมีขั้นตอนอย่างไร? เราจะพาไปหาคำตอบกับเกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างคุณเสก-ศักดา สว่างศรี วัย 28 ปี ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 120 ไร่ ด้วยความใส่ใจ บำรุงดูแล จนทำให้ได้ผลผลิตมากกว่า 1 ตันต่อไร่”
คุณเสก เผยว่า ตนเองนั้นรับช่วงต่อการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากรุ่นพ่อแม่มาได้ 7-8 ปีแล้ว ซึ่งก็ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการทำเกษตรหลายอย่าง ทั้งการวางแผนปลูก การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และข้อสำคัญคือต้องมีความเข้าใจในจุดเปราะบางของพืชที่เราปลูก ซึ่งถ้าป้องกัน-ดูแลได้อย่างตรงจุด รับรองว่าผลลัพธ์คุ้มค่าการลงทุนแน่นอน
เทคนิคการดูแลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแบบของคุณเสก นั้นไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดแค่ใส่ใจใน3 เรื่องหลัก คือ
- การวางแผนการปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้ขายได้ราคา
- การกำจัดวัชพืชในแปลง สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตลดลงกว่าครึ่ง
- เทคนิคการบำรุงให้ข้าวโพดฝักใหญ่
**วางแผนการปลูกเหมาะสม ขายได้ราคา
ปลูกได้ 2 รอบต่อปี**
“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าทำนาถึง 2 เท่า หรือประมาณ 450-500 ลบ.ม./ไร่/ฤดูการผลิตเท่านั้น จึงนิยมปลูกในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะแบ่งการปลูกออกเป็น 2 ฤดู คือ
– ข้าวโพดฤดูฝน จะเริ่มปลูกประมาณช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน
– ข้าวโพดฤดูแล้ง จะเริ่มปลูกประมาณช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และเก็บเกี่ยวในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
คุณเสก เผยว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะปลูก “ข้าวโพดฤดูฝน” เพียงรอบเดียว เนื่องจากการดูแลง่ายกว่า“ข้าวโพดฤดูแล้ง” คือ ไม่ต้องจัดการเรื่องน้ำ อาศัยเพียงน้ำฝนตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีคนปลูกมาก ผลผลิตก็จะออกสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกันมากตามไปด้วย ทำให้ราคาข้าวโพดในช่วงฤดูฝนต่ำกว่าฤดูแล้งอยู่พอสมควร
ด้วยเหตุผลนี้ คุณเสก จึงเลือกที่จะวางแผนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้ 2 รอบ/ปี คือ แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จะแบ่งออกเป็นพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ (จากทั้งหมด 120 ไร่) สำหรับปลูกข้าวโพดฤดูแล้ง โดยใช้ “ระบบน้ำหยด” เข้าช่วย เพื่อให้ได้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงราคาที่ดีที่สุด ส่วนที่สอง เป็นข้าวโพดฤดูฝนจะปลูกบนพื้นที่ทั้งหมด 120 ไร่
คุณเสก เผยว่า ระบบน้ำหยดนั้นใช้การลงทุนไม่มาก ประหยัดน้ำ ทั้งยังให้ปริมาณน้ำที่สม่ำเสมอ เหมาะกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ชอบดินแฉะ ทำให้การปลูกข้าวโพดฤดูแล้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเราสามารถควบคุมการให้น้ำได้แล้ว ก็สามารถเพิ่มปริมาณต้นข้าวโพดให้มากขึ้นได้ด้วย เพราะไม่ต้องกังวลว่าข้าวโพดจะขาดน้ำ เช่น หากข้าวโพดฤดูฝน ใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ 2-3 กก./ไร่ ข้าวโพดฤดูแล้ง จะใช้เมล็ดพันธุ์ 3-3.5 กก./ไร่ ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
**“วัชพืช” ศัตรูสำคัญไม่ควรมองข้าม
สาเหตุทำผลผลิตลดลงกว่าครึ่ง!**
เกษตรกรบางส่วนคิดว่าการดูแลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้ผลผลิตคุณภาพ ฝักสวย น้ำหนักดีนั้นอยู่ที่การบำรุง แต่ความจริงแล้วปัจจัยที่สำคัญที่ไม่แพ้กัน คือ “การกำจัดวัชพืช” เพราะวัชพืชนั้นส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่าปัญหาแมลงและโรคพืชเสียอีก (ข้อมูล : วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร)
วัชพืชหลักของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.ประเภทใบแคบ เช่น หญ้าตีนนก หญ้าตีนติด และหญ้าปากควาย
2.ประเภทใบกว้าง เช่น ผักเบี้ย ผักโขม และหญ้าสาบม่วง
โดยวัชพืชเหล่านี้ จะเข้าไปแย่งอาหาร น้ำ แสงสว่าง และพื้นที่การเจริญเติบโต ทำให้ข้าวโพดลำต้นเล็ก ต้นเตี้ย ใบเหลือง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลงกว่าครึ่ง
คุณเสกเผยว่า ช่วงวิกฤตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่อ่อนแอต่อวัชพืชมากที่สุด คือระยะ 13-25 วันหลังงอก ระยะนี้ถ้ามีวัชพืชรบกวนจะทำให้ผลผลิตข้าวโพดเสียหายสูงสุด ดังนั้น การปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตสูง จำเป็นต้องมีการจัดการให้แปลงปลอดวัชพืชตลอดช่วง 1 เดือนแรกตั้งแต่ปลูก
โดยที่แปลงของตนนั้นจะใช้ชุด “คลีโอ-โปร” เป็นตัวช่วยสำคัญในการ “คุมและกำจัดวัชพืช” ในชุดจะประกอบด้วย 1.คลีโอ (โทพรามีโซน) 2.ทาซีแม็กซ์-โปร (อะทราซีน 90% ดับบลิวจี) 3.เบสมอร์ (สารเสริมประสิทธิภาพ) ใช้ร่วมกันทำให้การควบคุมวัชพืชมีประสิทธิภาพมาก
สำหรับช่วงเวลาการใช้ คุณเสกจะปรับตามความเหมาะสมของฤดูที่ปลูกข้าวโพด ดังนี้
– ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน จะใช้ชุด “คลีโอ-โปร” ร่วมกับสารกำจัดหนอน ช่วงหลังปลูก 10-20 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณวัชพืช หากวัชพืชขึ้นเร็ว ก็สามารถฉีดพ่นได้ทันที
– ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง หญ้าจะขึ้นช้า แต่หนอนจะมากและเข้าทำลายเร็วกว่าฤดูฝน ดังนั้น ช่วงหลังปลูกวัน 10 วันแรก จะเริ่มใช้สารกำจัดหนอนก่อน จากนั้นนับไปอีกประมาณ 5-10 วันจึงจะใช้ “คลีโอ-โปร” โดยการใช้ในฤดูแล้ง ต้องฉีดพ่นขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอ เพื่อให้สารเข้าทำลายเมล็ดวัชพืชที่กำลังจะงอกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
โดยคุณเสก เล่าว่า สมัยก่อนนั้นเกษตรกรจะต้องมีการกำจัดวัชพืช 2 ขั้นตอน เริ่มจาก“การฉีดยาคุม” ช่วงหลังหยอดเมล็ดข้าวโพดไม่เกิน 7 วัน (ก่อนวัชพืชงอก) เพื่อกำจัดเมล็ด ราก และยอดอ่อนใต้ดินของวัชพืชตามด้วย“การฉีดไล่ร่อง” หลังหยอดเมล็ด 20 วันขึ้นไป เพื่อกำจัดวัชพืชอีกครั้ง
“แต่ปัจจุบันนั้นมี “คลีโอ-โปร” เกษตรกรใช้แค่รอบเดียวจบเลยครับ โดยฉีดพ่นได้ตั้งแต่ข้าวโพดอายุ 14-21 วัน ออกฤทธิ์ทั้ง “คุม” และ “กำจัด” วัชพืชในขั้นตอนเดียว ทำให้ไม่ต้องฉีดพ่นซ้ำ ประหยัดเวลาได้มาก สำหรับเกษตรกรที่จ้างแรงงานก็ช่วยให้ประหยัดค่าจ้างได้ เพราะคลีโอ-โปรใช้แค่ครั้งเดียว ก็จ้างแรงงานแค่รอบเดียว นอกจากนี้ยังใช้งานสะดวกด้วย สามารถพ่นทับต้นข้าวโพดได้เลยครับ ใช้ได้กับทั้งข้าวโพดหวาน และข้าวโพดพ่อแม่พันธุ์ก็ได้ วัชพืชตายแต่ข้าวโพดไม่เป็นไรครับ” คุณเสก เล่าถึงจุดเด่นของ “คลีโอ-โปร”
**เคล็ดลับบำรุงข้าวโพดฝักใหญ่
เมล็ดเต็มฝัก น้ำหนักดีขึ้นชัดเจน**
นอกจากการดูแลเรื่องวัชพืชแล้ว การดูแลเรื่องธาตุอาหารก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ควรมีการบำรุงทางดินอย่างน้อย 2 รอบ เพื่อให้มีธาตุอาหารเพียงพอกับการสร้างผลผลิตได้เต็มที่ ดังนี้
– รอบที่1 คือ “ช่วงรองพื้น” จะใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 รองพื้น หยอดไปพร้อมเมล็ดพันธุ์
– รอบที่ 2 คือ “ช่วงทำรุ่น” จะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 หลังปลูก 25-30 วัน เพื่อเตรียมพร้อมเตรียมออกดอก และติดฝัก
แต่สำหรับคุณเสก จะเพิ่มการบำรุงด้วย “อโทนิค” ในอัตรา 100 ซีซี ต่อพื้นที่ 3 ไร่ ทุกครั้งที่ฉีดพ่นสารกำจัดหนอน เพื่อให้ต้นข้าวโพดเขียว ลำต้นพุ่ง ได้ฝักสมบูรณ์ เมล็ดใหญ่ เต็มฝัก
โดยหากเป็น “ข้าวโพดหน้าแล้ง” จะใช้ “อโทนิค” ฉีดพ่นทุก 10-15 วันครั้ง ต่อเนื่อง 4 รอบ
หากเป็น “ข้าวโพดหน้าฝน” จะใช้ “อโทนิค” ฉีดพ่นทุก 10-15 วันครั้ง ต่อเนื่อง 3 รอบ
คุณเสก เผยว่า ในช่วงแรกที่ทดลองใช้ “อโทนิค” นั้น ตนเองได้แบ่งใช้กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แค่เพียงไม่กี่แถวเท่านั้น แล้วทำสัญลักษณ์ไว้เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ พอลองถามคนอื่นว่าข้าวโพดแถวไหนสมบูรณ์ ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นแถวที่ใช้ “อโทนิค” จากนั้นตนเองจึงตัดสินใจใช้อโทนิคกับข้าวโพดแปลงที่เหลือทั้งหมด ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ บางช่วงที่ปุ๋ยขาดตลาด จึงมีความจำเป็นต้องลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงบ้าง เพื่อให้เพียงพอสำหรับพื้นที่แปลงทั้งหมด แต่การใช้อโทนิคนั้นก็ช่วยได้มาก เพราะช่วยเสริมให้ต้นข้าวโพดสมบูรณ์ สามารถให้ผลผลิตได้ดีเช่นเดิม
โดยปกติ “ข้าวโพดฤดูฝน” ที่ปลูกแบบปล่อยตามธรรมชาติจะได้ผลผลิตไม่เกิน 1 ตัน/ไร่ แต่แปลงที่คุณเสกบำรุงจะได้ผลผลิตมากกว่า 1.2-1.5 ตัน/ไร่ ส่วน “ข้าวโพดฤดูแล้ง” หากไม่ได้รับการดูแล จะให้ผลผลิตประมาณ 1 ตัน/ไร่ แต่แปลงที่คุณเสกบำรุงจะได้ผลผลิตอยู่ที่ 1.8-2 ตัน/ไร่
“บางคนคิดว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นปลูกง่าย ก็เลยปลูกแบบตามมีตามเกิด ทำให้ได้ผลผลิตต่ำจนขาดทุน หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน แต่สำหรับผมนั้นถ้าเราบำรุงให้ดีจะได้ผลผลัพธ์ที่ต่างกันมากครับ เพราะข้อดีของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือราคาจะไม่ค่อยผันผวน ไม่เน่าเสีย มีตลาดรองรับตลอด แต่หากเป็นพืชผักชนิดอื่นบางครั้งที่ราคาตก ผลผลิตอาจจะเน่าเสียหายจนขายไม่ได้เลย ดังนั้น ถ้าเรามองข้อดีนี้ แล้วหันมาบำรุงผลผลิตให้ได้คุณภาพ น้ำหนักดี ก็ถือว่าคุ้มนะครับ เพราะเราเห็นผลจริง ได้เงินเพิ่มขึ้นจริง” คุณเสก กล่าวถึงความสำคัญการบำรุงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
**ผลผลิตได้ราคา สร้างรายได้เพิ่มขึ้น
ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีการเกษตร**
สำหรับรูปแบบการขายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรสามารถเลือกได้หลายรูปแบบตามความสะดวก หรือความต้องการของลานรับซื้อในท้องถิ่น เช่น แบบฝักความชื้นไม่เกิน 30%, แบบเมล็ดความชื้นไม่เกิน 30% และแบบเมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% ซึ่งยิ่งความชื้นต่ำก็จะยิ่งมีราคาสูง
ในกรณีของคุณเสก จะเก็บผลผลิตโดยใช้ “เครื่องเกี่ยวนวดข้าวโพด” ที่สามารถหักข้าวโพดพร้อมนวดข้าวโพดออกมาเป็นเมล็ดข้าวโพดได้ทันที จากนั้นจะขายในรูปแบบ “เมล็ดความชื้นไม่เกิน 30%” ซึ่งในช่วงปี 2564-2565 นั้นถือเป็นปีทองของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยราคาของเมล็ดความชื้นไม่เกิน 30% อยู่ที่ประมาณ 7.8-9 บาท/กก. ส่วนความเมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 10-12 บาท/กก.
คุณเสก เผยว่า ปกติแล้วลานรับซื้อจะชอบข้าวโพดที่เมล็ดใหญ่ ไม่มีรอยแตกหัก เนื่องจากทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย หากมีเมล็ดลีบ ฝ่อ ไม่ได้คุณภาพ ส่วนใหญ่จะถูกเครื่องเกี่ยวเป่าออกตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวแล้ว ดังนั้น หากเกษตรกรดูแลข้าวโพดไม่สมบูรณ์ ก็จะทำให้ได้น้ำหนักน้อยตามไปด้วย
ปัจจุบัน คุณเสก ได้ต่อยอดการทำเกษตรด้วยการลงทุนซื้อ “โดรน” เพื่อใช้ฉีดพ่นฮอร์โมนและสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆ ทำให้การจัดการพื้นที่กว่า 120 ไร่นั้นสะดวก รวดเร็ว และช่วยตัดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ ทั้งยังสามารถนำไปใช้สร้างรายได้จากการรับจ้างทางการเกษตรได้อีกด้วย
หลายคนอาจมองว่า “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เป็นพืชที่มีราคาไม่น่าดึงดูดนัก แต่สำหรับคุณเสกนั้นเชื่อมั่นเสมอว่า หากมีการดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการวางแผนการปลูกที่ดีจะช่วยให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้ไม่แพ้พืชชนิดอื่น เพียงแต่เกษตรกรต้อง ใส่ใจและเข้าใจว่า “ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผลผลิตลดลง” เช่น เรื่องวัชพืช ก็ต้องดูแลให้เหมาะสม ส่วน “ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มผลผลิต” เช่น เรื่องการบำรุง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะรายได้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เลี้ยงนั้นวัดกันที่น้ำหนักต่อไร่เป็นหลัก ถ้าผลผลิตต่ำก็จะรายได้ต่ำตามไปด้วย แต่หากมีการจัดการอย่างสมดุลทั้ง 2 องค์ปะกอบก็จะทำให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก
ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากอารักขาพืชเจียไต๋ เพิ่มเติมได้ที่
Facebook: www.facebook.com/ChiataiPlantprotection/
YouTube: www.youtube.com/c/ChiaTaiPlantprotection
ข้อมูลสินค้าอารักขาพืชเจียไต๋ : www.chiataigroup.com/business/plant-protection/chiataiplantprotection
ความเห็น 0