โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เด้งรับสังคมสูงวัย ‘กรีน แอนด์ ออแกนิค’ แตกไลน์สินค้า รับผู้ป่วยโรค NCDs

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 06 เม.ย. เวลา 02.22 น. • เผยแพร่ 06 เม.ย. เวลา 09.15 น.

นางชลกานต์ วิสุทธิพิทักษ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีน แอนด์ ออแกนิค จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราว 6% มาจากการขยายตัวของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเป็นหลัก

สำหรับอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มีสัดส่วนในตลาดราว 8% แต่มีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4.1 แสนคนในปี 2564 เป็นเท่าตัวหรือราว 8.3 แสนคนภายในปี 2580 ซึ่งผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับโรค

ส่วนปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนให้ตลาดอาหารทางการแพทย์เติบโตคือ โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เพิ่มสูงขึ้น โรคเหล่านี้มักต้องการการรักษาด้วยอาหารทางการแพทย์ ซึ่งช่วยตอบโจทย์ผู้ป่วยเนื่องจากสามารถปรับปริมาณสารอาหารให้เหมาะสมกับวัยของโรค

นางชลกานต์ วิสุทธิพิทักษ์กุล
นางชลกานต์ วิสุทธิพิทักษ์กุล

ควบคุมระดับไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน เหมาะสมกับโรค นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเวลาในการทำอาหาร เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเวลาจำกัด หรือผู้ป่วยที่ไม่สะดวกทำอาหาร ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้ผลิตอาหารทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้ธุรกิจอาหารทางการแพทย์จะเติบโต แต่ก็ยังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญบางประการ อุปสรรคหลักประการหนึ่งคือค่าครองชีพและราคาวัตถุดิบอาหารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับอาหารทางการแพทย์ ซึ่งอาจสูงกว่าอาหารทั่วไป

นอกจากนี้เงินเดือนของผู้คนไม่ได้เพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลง อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ ช่องทางการจัดจำหน่ายที่จำกัด อาหารทางการแพทย์มักหาซื้อได้เฉพาะร้านขายยาทั่วไป ร้านขายยาเฉพาะทาง และโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น สิ่งนี้ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย เข้าถึงอาหารทางการแพทย์ได้ยากขึ้น

ปัจจุบัน กรีน แอนด์ ออแกนิค มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 5 ประเทศได้แก่ 1.อาหารเฉพาะโรค เฉพาะรายบุคคล พร้อมทาน (นักโภชนาการประเมิน สภาวะผู้ป่วย ออกแบบโปรแกรมแผนมื้ออาหารให้รายบุคคล และติดตาม ประเมินผล) 2. อาหารเพื่อสุขภาพพร้อมทานมากกว่า 200 เมนู 3. เครื่องปรุงรสโซเดียมต่ำกว่าทั่วไป 60-90% มีทั้งหมด 12 ประเภท อาทิ น้ำปลา, ซีอิ๊วขาว, ซอสหอย, น้ำจิ้มสุกี้, น้ำจิ้มซีฟู้ด ฯลฯ 4. อาหารแห้งโซเดียมต่ำ อาทิ น้ำพริก และโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 5. ขนมสูตรพิเศษ สำหรับผู้ป่วยไต เบาหวาน อาทิ ปั้นสิบปลา และพายสับปะรด เป็นต้น

นางชลกานต์ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมีแผนขยายกิจการ และส่งออกสินค้าประเภทเครื่องปรุงรสโซเดียมต่ำไปยังประเทศตะวันออกกลาง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น จึงต้องการลดการบริโภคโซเดียมเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ประกอบกับรูปแบบผู้บริโภคในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ต้องการความสะดวกสบายจึงทำให้เครื่องปรุงตอบโจทย์ในการทำอาหารเองและได้ดูแลสุขภาพด้วย โดยสินค้าที่ได้รับการตอบรับดีที่สุดคือซอสกะเพรา เนื่องด้วยรสชาติเผ็ดร้อนที่แสดงถึงความเป็นไทย

นอกจากนี้ มีแผนขยายกลุ่มอาหารพร้อมทานที่เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases : NCDs) เข้าสู่กลุ่มภาครัฐ โดยตั้งเป้าทำราคาให้อยู่ในระดับที่จับต้องได้ และวางจำหน่ายในโรงพยาบาลของภาครัฐทั่วประเทศ ตอนนี้อยู่ในช่วงเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

สำหรับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันนิยมอาหารเนื้อละเอียดหรืออาหารเหลว เนื่องจากรับประทานง่าย ช่วยให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม ผลไม้บด และเนื้อสัตว์บด นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้ความสนใจกับอาหารออร์แกนิก อาหารปลอดสารพิษ และปลอดภัยต่อร่างกาย

แม้ว่ากรีน แอนด์ ออแกนิคจะเปิดดำเนินการมาไม่นาน และยังอยู่ในช่วงลงทุนขยายกิจการ แต่บริษัทมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายเติบโตถึง 100% สำหรับปีนี้ บริษัทตั้งเป้าที่จะมียอดขาย 40 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 100% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจอาหารเฉพาะโรคยังมีผู้เล่นไม่มากนัก ทำให้กรีน แอนด์ ออแกนิคมีโอกาสได้เปรียบในตลาด

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,981 วันที่ 7 - 10 เมษายน พ.ศ. 2567

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น