เตือน! 62 จังหวัด และกรุงเทพ ระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก 29 มี.ค.–1 เม.ย.
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (63/2568) ลงวันที่ 26 มีนาคม 2568 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบนและทะเลจีนใต้
ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าในบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวัง ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2568
เช็ก 62 จังหวัด ระวังฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก
ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และจังหวัดอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี
ภาคกลาง จำนวน 25 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร
แจ้งจังหวัดเตรียมรับมือ
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง โดยได้กำชับให้จังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและแนวโน้มสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในเรื่องแนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัย ทั้งการระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง การหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่มั่นคงแข็งแรง และการป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ขอให้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่ ขอให้รายงานสถานการณ์ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ทราบ เพื่อสนับสนุนทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลสถานการณ์ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- จุดความร้อน พุ่งพรวด! ทำนิวไฮ 2,595 จุด ดันภาคเหนือ-อีสาน ฝุ่นแดง 17 จังหวัด
- คนกรุงเทพยังต้องระวัง ‘PM2.5’ เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ เช็ก 12 เขตค่าฝุ่นสูงสุดที่นี่!
- เหนือ-อีสาน สาหัสมาก ‘PM 2.5’ แดงแปร๊ด 26 จังหวัด
ติดตามเราได้ที่