พรรณไม้ชนิดหนึ่งที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ชอบขึ้นกันหนาแน่นเป็นป่ารก ต้นแม่สูงใหญ่พอสมควร ใบกว้างแผ่เต็มพุ่มสวย ผลเป็นประเภทผลรวมเป็นช่อพวงสีแดงอมส้มน่ากิน แต่ไม่รู้กินได้หรือเปล่า น่าจะกินได้ เห็นมีร่องรอยนกหนูกิน เหลือเมล็ดในร่วงเต็มพื้น ฝนมาก็งอกเป็นต้นใหม่ กำลังนินทาถึงพรรณไม้ที่ชื่อ “ปอสา” คนทางเหนือรู้จักดี ก็ที่นำมาทำกระดาษสา ทำของใช้สิ่งประดิษฐ์ งานฝีมืออย่าง ร่มกระดาษ โคมไฟ และที่สำคัญส่วนของต้น ผล ใบ เป็นยาดีที่เราไม่ควรมองข้าม
“ปอสา” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Paper Mulberry ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Broussonetia papyrifera เป็นพืชในวงศ์ MORACEAE ชื่อเรียกชื่อทางภาคเหนือว่า ปอสา ทางอีสานว่า ปอกะสา หรือปอสา ภาคตะวันตกเรียก หมอพี หรือ หมกพี แถบนครสวรรค์เรียก ฉำฉา หรือ ชำสา ภาคใต้เรียก ปอฝ้าย คนประเทศลาวเรียก หมอมี หรือ หมูพี
ปอสามีถิ่นกำเนิดมาจากทางประเทศจีน หรือญี่ปุ่น เข้ามาทางตอนเหนือของพม่า ไทย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ชอบพื้นที่ที่ชุ่มชื้น ริมน้ำ ที่ชื้น ป่าโปร่ง เปลือกต้นผิวเรียบสีน้ำตาล เป็นเส้นใย ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบบางนิ่ม หลังใบเรียบสีเขียวแก่สากระคายมือเล็กน้อย ท้องใบสีเขียวอ่อน มีขนขึ้นปกคลุม ใบรูปทรงรีกว้าง หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเล็กน้อย หรือเว้ามากเป็นรูปหัวใจ ขอบใบจักเป็นซี่ฟัน แตกเป็น 3-5 แฉก กว้าง 5-15 เซนติเมตร ยาว 7-20 เซนติเมตร ใบมี 2 ชนิด คือใบหยัก กับใบมน ส่วนใหญ่จะแยกต้นกัน มีบ้างที่พบทั้ง 2 อย่างอยู่ต้นเดียวกัน แต่มักจะเจอใบมนมากกว่ากับปอสาต้นแก่อายุมากแล้ว ก้านใบยาว 3-10 เซนติเมตรมีขนอ่อนขึ้นคลุม
ดอกปอสา ดอกตัวผู้เป็นช่อสั้นๆ ประมาณ 6-8 เซนติเมตร ช่อห้อยลง มีดอกย่อยเรียงอัดกันแน่น สีขาวมีกลีบรองดอกเป็นกาบ ออกบริเวณปลายยอดหรือตามซอกใบ ดอกตัวเมียออกเป็นช่อกลมเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 1.2-1.8 เซนติเมตร ผลปอสา เป็นผลรวม ผลกลมสีส้มอมแดง ขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร ฉ่ำน้ำ เนื้อผลนิ่ม มีเมล็ดแบนๆอยู่ติดก้านหรือไส้ผล
ประโยชน์มากมายที่ได้จากปอสา โดยเฉพาะเปลือก ที่มีเส้นใย ทางภาคเหนือนำเปลือกต้นสามาทำกระดาษ ใช้ทำร่มกันแดดกันฝน ที่รู้จักกันดีคือ ร่มบ่อสร้าง เชียงใหม่ มีคำพูดติดหูว่า บ่อสร้างกางจ้อง(กางร่ม) เขานำเอาเปลือกสดทุบให้อ่อน แช่น้ำปูนขาว แล้วต้ม จะได้เส้นใยหยาบๆ แล้วล้างด่างออก ตากแดดให้แห้ง จะได้กระดาษที่หยาบ นำมารีดเรียบ จะได้กระดาษที่มีคุณสมบัติที่ต้องการ ทาน้ำมันให้กันน้ำ ประกอบเข้าโครงทำร่ม ระบายสีตกแต่งลวดลาย เป็น”ร่มบ่อสร้าง” สินค้าโอท็อประดับ 5 ดาวของเชียงใหม่
อีกหลายแหล่ง ที่ทำกระดาษสา ทอเป็นผ้า ฟั่นเป็นเชือก กระดาษห่อของขวัญ กระดาษห่อรองกันของแตก พัด ดอกไม้ โคมไฟ ตุ๊กตา การ์ดหรือบัตรอวยพร ฯลฯ ปอสาเป็นพืชเส้นใยที่ปลูกง่ายโตไวมาก แต่ส่วนใหญ่แพร่ขยายพันธุ์เองไปทั่ว จนกลายเป็นพืชรกที่ แหล่งน้ำต่างๆมักจะขึ้นเต็ม จนเสียดายที่เห็นถางฟันทิ้ง
ประโยชน์อีกมากมายที่ ต้นปอสาให้กับเราได้ แกนต้นที่ลอกเปลือกแล้ว ยังใช้ทำเยื่อกระดาษ ไม้ใช้ทำตะเกียบ ทำไม้จิ้มฟัน ใบยอดอ่อน เป็นผักหั่นต้มผสมรำปลายข้าวให้เป็นอาหารหมู สกัดสีจากใบได้สีเหลือง ผลสุกเป็นอาหารนก กระรอก น้ำมันจากเมล็ดใช้ทำสีเครื่องเขินชั้นสูง
สรรพคุณเป็นยาดีมีมากมายกว่า 20 ชนิด เช่น ผลแห้งปอสาต้มน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงชงน้ำดื่ม เป็นยาชูกำลังแก้อ่อนเพลีย ผลสุกเป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม ไต บำรุงสายตา ตำพอกฝีหนอง บำรุงเส้นเอ็น กระดูก ผลแห้งรากเปลือกต้ม หรือผสมเหล้า ทำเป็นเม็ด เป็นยาบำรุงตับ ไต รากเปลือกเป็นยาขับลมในร่างกาย แก้บิด แก้บวมน้ำ ยาแก้อาเจียน
เปลือกต้นเผาเอาเถ้าบดแต้มตาแก้ตาต้อ ใบบดทำเป็นเม็ดกินแก้หูอื้อ ตามัว ใบเป็นยาแก้ร้อนในตับ ในกระเพาะ ใบสดยังแก้ เลือดกำเดาไหลไม่หยุด แก้อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด ตกเลือด ขับปัสสาวะเป็นหนอง ตำคั้นน้ำพอกแผลห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลฟกช้ำ
ตำพอกรักษาแผลจากตะขาบ แมงป่อง แมลงมีพิษกัดต่อย รักษากลากเกลื้อน ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน รากต้นใบต้มกินรักษาริดสีดวง รากเปลือก ต้มกินแก้ไอ แก้ไข้ได้ เขาว่าผลแห้งของปอสา ออกฤทธิ์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะได้ดี รวมถึงพวกที่ชอบมีอาการฝันเปียก หรือ น้ำอสุจิออกตอนนอนหลับ ปากขม ท้องผูก กระหายน้ำ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ ใช้ส่วนผสมปรุงยา ถั่วดำต้มเอาน้ำ แช่ผลปอสาแห้ง ตากแดดให้น้ำแห้งสนิท ใส่เมล็ดเก๋ากี่แล้วคั่วให้เกรียม บดเป็นผงรับประทาน และอีกหลายๆ สูตรยา รักษาอีกหลายโรค สรรพคุณมากมายเกินคาดจริงๆ
ต้นปอสา มีขึ้นอยู่ทั่วไป จากการเฝ้ามองดูลักษณะของต้น ใบ ดอก ผล และค้นคว้าดูคุณสมบัติต่างๆแล้ว มีความเชื่อว่า สามารถใช้เป็นผัก มาปรุงแต่งเป็นอาหารได้ มีแต่ข้อมูลเล็กน้อยว่า ยางของปอสา ที่มีอยู่ทั่วทั้งราก ใบ เปลือกต้น มีพิษกับคนที่แพ้ กินแล้วท้องร่วง ซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อไปว่า ถ้านำเอาใบ หรือยอดอ่อน มาเป็นผักทำกิน ไม่ว่าเป็นผักต้มจิ้มน้ำพริก ผักชุบแป้งทอด ผัดฉาบน้ำมันราดกะทิ ผัดน้ำมันหอย หรือนำมาแกงใส่ปลาย่าง หรือปรับจากการทำยา เป็นใบตากแห้งทำเป็น “ชาปอสา” คงจะดีไม่น้อย
ความเห็น 1
ISSAREE
กาญมีแยะคะ
04 มี.ค. 2563 เวลา 07.06 น.
ดูทั้งหมด