มีผักและสมุนไพรหลายอย่างที่ญี่ปุ่นมีเหมือนเมืองไทย ดังเช่นต้นพลูคาวหรือผักคาวตองที่คนไทยนำมารับประทานสดแกล้มกับลาบและก้อย คนญี่ปุ่นมีวิธีการนำพลูคาวมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง มารู้จักพลูคาวและการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพและความงามของคนญี่ปุ่นกันนะคะ
พลูคาวคืออะไร
พลูคาว หรือญี่ปุ่นเรียกว่า โดะคุดะมิ (どくだみ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Houttuynia cordata เป็นไม้เลื้อยที่มีใบเป็นรูปหัวใจสีเขียวสด และมีดอกสีขาวน่ารักอยู่ตรงปลายยอด พลูคาวเป็นพืชที่มีกลิ่นคาวและเป็นวัชพืชที่เจริญอย่างรวดเร็วคนญี่ปุ่นนำพลูคาวมาใช้เป็นพืชสมุนไพรให้เกิดประโยชน์ดังนี้คือ
นำมาทำชาพลูคาว
ชาพลูคาว เป็นชาที่ได้จากการนำใบพลูคาวมาตากให้แห้งและใช้ดื่มแทนน้ำ การตากแห้งทำให้กลิ่นคาวสลายตัวไป
ชาพลูคาวอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญได้แก่ เควอซิทิน โพแทสเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก วิตามิน และเส้นใยอาหาร ซึ่งมีบทบาทในการเสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด และช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มีฤทธิ์ช่วยขับของเสียออกจากร่างกายและส่งเสริมอัตราการเผาผลาญ ทำให้เลือดไหลเวียนดี อีกทั้งยังช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูกได้
วิธีการดื่ม
- นำใบพลูคาวตากแห้ง 5-10 กรัม มาต้มในน้ำ 1 ลิตร ด้วยไฟแรงจนเดือด จากนั้นต้มด้วยไฟอ่อนอีก 1-2 นาที แล้วจึงปิดไฟ
- นำมากรองผ่านตะแกรงสำหรับกรองชา ใช้ดื่มได้ทั้งวัน
ข้อควรระวังในการดื่ม
- ไม่ควรดื่มในปริมาณที่มากเกินไป
- หากรู้สึกว่า วิงเวียน คลื่นไส้ หรือท้องเสีย ให้หยุดดื่ม
นำมาใช้เพื่อผิวพรรณที่สวยงาม
ใบพลูคาวสดอุดมไปด้วยสารดีคาโนอิลอะซีทัลดีไฮด์ (Decanoylacetaldehyde) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และมีเควอซิทิน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงผิว จึงส่งผลดีในด้านความงามดังนี้คือ ช่วยลดรอยหยาบกร้านและริ้วรอยบนผิวหนัง ช่วยรักษาสิวและการอักเสบบนใบหน้า เพิ่มความชุ่มชื้นบนผิวหน้า ป้องกันรอยด่างดำ ช่วยให้ผิวพรรณเรียบสวยและรักษาอาการโรคผิวหนังอักเสบจากจากแสงแดดและโรคภูมิแพ้ เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีการนำสารสกัดจากต้นพลูคาวมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางและโลชั่นบำรุงผิวที่หาซื้อได้ง่ายในญี่ปุ่น
นำมาผสมน้ำอาบ
เพียงนำใบพลูคาวแห้งมาต้มในน้ำร้อนและผสมน้ำอาบก็จะช่วยรักษาอาการอักเสบของผิวหนังได้ดี
ได้เห็นประโยชน์มากมายและวิธีการนำใบพลูคาวมาใช้ประโยชน์แล้ว อย่าลืมลองเอามาใช้ดูบ้างนะคะ จริง ๆ ก็ชื่นชมภูมิปัญญาของคนไทยที่นำพลูคาวมารับประทานกับลาบและก้อย เพราะนอกจากจะเพิ่มความแซบแล้วก็ยังช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหารด้วย หากสนใจใช้เป็นชาหรือเครื่องสำอางก็ลองทำดูนะคะ แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังไว้ข้อหนึ่งว่าควรรับประทานหรือดื่มในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากจนเกินไปค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: kawashima-ya