โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“ตั๋ว P/N” คืออะไร เป็นเครื่องมือการเงิน เลี่ยงภาษีจริงหรือ?

Thairath Money

อัพเดต 24 มี.ค. เวลา 11.04 น. • เผยแพร่ 24 มี.ค. เวลา 10.56 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การใช้ “ตั๋ว P/N” (Promissory Note) หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นเครื่องมือเลี่ยงภาษี กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้การจับตามอง หลังวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาชน หยิบยกมาเป็นประเด็นซักฟอก แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ วันแรก (24 มี.ค.)

โดยวิโรจน์อ้างว่า นายกรัฐมนตรีจงใจทำนิติกรรมอำพรางเลี่ยงภาษีการรับให้มูลค่ารวม 218 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2559 โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) 9 ใบ มูลค่า 4,434.5 ล้านบาท จากการซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แทนการจ่ายเงิน โดยไม่มีการระบุวันครบกำหนดชำระหนี้ และดอกเบี้ย แต่ระบุว่าจะต้องชำระหนี้เมื่อมีการทวงถามเท่านั้น ทำให้ในทางพฤตินัย “แพทองธาร” ได้รับโอนหุ้นจากครอบครัวมาแล้ว โดยไม่ต้องจ่ายเงินและเสียภาษีการรับให้

Thairath Money พาทำความรู้จัก “ตั๋ว P/N” คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ทำไมฝ่ายค้านถึงมองว่าเป็นเครื่องมือเลี่ยงภาษีการซื้อหุ้นของนายกฯ แพทองธาร

ตั๋ว P/N คืออะไร

ความหมายของตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ P/N (Promissory Note) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 3 ตั๋วสัญญาใช้เงิน มาตรา 982 คือ หนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้ออกตั๋ว” ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับเงิน”

โดยส่วนใหญ่ “ตั๋ว P/N” จะใช้ในสัญญาการเงินที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะในการทำธุรกิจ มักมีระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 1 ปี

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ตั๋ว P/N เปรียบเหมือนสัญญาเงินกู้ระยะสั้นระหว่าง 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ออกตั๋ว (ลูกหนี้) และผู้รับเงิน (เจ้าหนี้) โดยลูกหนี้จะเป็นผู้ออกตั๋ว ซึ่งระบุองค์ประกอบตามกฎหมายเป็นลายลักษณ์อย่างชัดเจน เช่น จำนวนเงินที่กู้ยืม ระยะเวลาการชำระคืน

ตั๋ว P/N ตามความต้องการ ไม่ต้องกำหนดวันจ่ายหนี้ ก็กู้ได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้มีตั๋วสัญญาใช้เงินอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินตามความต้องการ ซึ่งในตั๋วจะไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดการชำระเงิน แต่จะขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ว่าจะเรียกเก็บเอาเงินเมื่อไร

ตั๋ว P/N มีผลตามกฎหมาย ต้องมีองค์ประกอบดังนี้

“ตั๋วสัญญาการใช้เงิน” จะมีผลตามกฎหมายสามารถนำไปใช้ในธุรกิจใดๆ หรือฟ้องร้องเป็นคดีความได้ จะต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ในเอกสาร คือ

  • คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
  • คำมั่นสัญญาโดยปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
  • วันถึงกำหนดใช้เงิน
  • สถานที่ใช้เงิน
  • ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
  • วันและสถานที่ที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
  • ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว

การใช้ตั๋ว P/N ในปัจจุบัน

การใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน ในปัจจุบันมักอยู่ในรูปแบบของสินเชื่อเงินกู้ระยะสั้นของธนาคาร ซึ่งมีไว้สำหรับเป็นตัวช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบในการกู้ยืม ภายใต้วงเงินที่ธนาคารกำหนด ซึ่งในตั๋วสัญญาจะต้องมีการกำหนดเวลาชำระหนี้ พร้อมดอกเบี้ยให้ชัดเจน โดยไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งนี้ธนาคารสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาได้ แต่ผู้ออกตั๋ว หรือผู้ขอกู้สินเชื่อไม่สามารถเปลี่ยนมือให้ผู้อื่นชำระหนี้แทนตัวเองได้

นอกจากรูปแบบสินเชื่อจากธนาคารที่อธิบายไปข้างต้นแล้ว ตั๋วสัญญาการใช้เงินยังถูกนำไปใช้ในวงธุรกิจอื่นๆ เช่น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • การกู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนของบริษัทเงินทุนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เช่น ประชาชนกู้ยืมเงินของบริษัทเงินทุน โดยมีหลักทรัพย์จำนองค้ำประกันเงินกู้ และผู้กู้ยืมจะเขียนตั๋วสัญญาใช้เงินให้บริษัทยึดถือไว้
  • การกู้ยืมเงินในหมู่พ่อค้าหรือนักธุรกิจทั่วไปหรือธนาคาร โดยที่ผู้กู้เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามจำนวนเงินที่กู้ทั้งอัตราดอกเบี้ยมอบให้ผู้ให้ได้ยึดถือไว้แทนสัญญากู้
  • การเช่าซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อ โดยเฉพาะผู้ให้เช่าซื้อจะเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารและขอสินเชื่อจากธนาคารนั้นโดยขอกู้เงินจำนวนหนึ่งจากธนาคารโดยมีสัญญาเช่าซื้อของลูกค้าเช่าซื้อมาแสดง พร้อมทั้งออกตั๋วสัญญาใช้เงินขายลดให้แก่ธนาคารยึดถือไว้
  • การขายสินค้าเชื่อ โดยที่ผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามมูลค่าของสินค้าเชื่อนั้นให้แก่ผู้ขายสินค้า
  • การชำระพรีเมี่ยมในการขออนุญาตส่งข้าวออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยผู้ขออนุญาตฯ ได้สินเชื่อจากธนาคารและขอให้ธนาคารออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนดชำระเงินภายในระยะเวลาหนึ่งให้แก่กระทรวงเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • การรับช่วงซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดจากการส่งสินค้าออกหรือเนื่องจากการซื้อวัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรม

โดยสรุปคือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) เป็นตราสารทางการเงินที่มีกฎหมายรองรับ เพื่อใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่มีผลบังคับทางกฎหมาย และสามารถโอนเปลี่ยนมือได้

ที่มา

https://www.station-account.com/promissory-note/

https://www.sanpakornsarn.com/magazine-file/file159557017715955701771921.pdf

https://www.drthawip.com/civilandcommercialcode/147

อ่านข่าวการเงินส่วนบุคคล และการวางแผนการเงิน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดีได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/personal_finance

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : Thairath Money
- LINE Official : Thairath