โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

8 เรื่องที่เรา (อาจ) เข้าใจผิดเกี่ยวกับ “โรมันโบราณ”

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 18 มี.ค. เวลา 12.55 น. • เผยแพร่ 18 มี.ค. เวลา 03.24 น.
Cover photo
นักสู้ “กลาดิเอตอร์” ในโคลอสเซียม กีฬาติดอาวุธนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมโรมัน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เรารู้จักกรุงโรม และ “โรมันโบราณ” ดีแค่ไหน? เมื่อการดำรงอยู่และล่มสลายของมันผ่านมานับพันปีแล้ว

ตั้งแต่กาลอุบัติของจักรวรรดิโรมันเมื่อปีที่ 31 ก่อนคริสตกาล อิทธิพลของชาวโรมันแผ่ขยายไปทั่วทะเลเมดิเตอเรเนียน จนถึง ค.ศ. 476 ที่จักรพรรดิโรมันตะวันตกถูกกษัตริย์ชาวเยอรมันโค่นบัลลังก์ ดูเหมือนว่ากรุงโรมซึ่งเต็มไปด้วยสนามกีฬา ความเสื่อมทราม และประติมากรรมหินอ่อน จะยังมีอีกหลายเรื่องที่เราเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่

นี่คือ 8 เรื่องเข้าใจผิดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรมันโบราณ รวบรวมโดย Parissa DJangi ใน National Geographic[แปลและปรับเนื้อหาเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

1. กลาดิเอเตอร์มักสู้จนตัวตาย

นักสู้ หรือกลาดิเอเตอร์(Gladiators) คือทาสหรือนักโทษที่ต้องตะลุมบอนในสังเวียนเพื่อความบันเทิงของผู้ชนและชนชั้นสูงชาวโรมัน สื่อสมัยใหม่นำเสนอชะตากรรมอันโหดร้ายของผู้พ่ายแพ้ว่าต้องลงเอยด้วยความตาย แต่ การ์เร็ตต์ ไรอัน (Garrett Ryan) ผู้เชี่ยวชาญด้านอารยธรรมกรีก-โรมัน เผยว่า จริง ๆ แล้วมีนักสู้เสียชีวิตจากการต่อสู้เพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้น

ความตายไม่ใช่ปลายทางของผู้แพ้เสมอไป เพราะนายทาสซึ่งออกค่าดูแลและลงทุนหาครูฝึกกลาดิเอเตอร์คงไม่ยินดีกับความสูญเสียนั้น พวกเขาต้องการทำเงินจากการส่งนักสู้ลงสนามในรอบต่อไป และคนตายย่อมไม่สามารถสร้างรายได้

ถึงอย่างนั้น กีฬาเลือดของชาวโรมันยังพรากชีวิตนักสู้มากมายที่ทนพิษบาดแผลไม่ไหวแม้จะออกจากสนามต่อสู้ไปแล้วอยู่ดี

2. ห้องอาเจียน “เวอมิทอเรียม”

เวอมิทอเรียม(Vomitorium) ถูกเข้าใจว่าเป็นห้องที่ชาวโรมันผู้มั่งมีหรือแขกเหรื่อในงานเลี้ยงใช้เป็นสถานที่ “อ้วก” เอาอาหารที่เพิ่งกินออกมา เพื่อให้สามารถกลับไปกินต่อได้โดยที่ท้องยังว่างสำหรับอาหารชุดใหม่

แต่ความจริงคือ เวอมิทอเรียมไม่ใช่ห้องอาเจียน มันเป็นเพียงช่องเล็ก ๆ ของโรงละครกลางแจ้งหรือสนามกีฬา เป็นประตูสำหรับระบายคนให้เข้า-ออกอาคารได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ภายหลังชื่อเรียกดังกล่าวกลายเป็นคำแสลงจากการเปรียบเปรยฝูงชนที่เบียดเสียดกันผ่านช่องนี้ว่า เหมือนอาเจียนที่ทะลักออกมา

คนรุ่นหลังเลยพลอยลืมความหมายที่แท้จริงของเวอมิทอเรียม และคิดว่าเป็น “ห้องอาเจียน”

3. รูปปั้นหินอ่อนจืดชืดไร้สีสัน

ไม่ผิดที่เรานึกถึงแต่รูปปั้นสีขาวโพลนหรือสีครีมเรียบ ๆ เมื่อพูดถึงประติมากรรมโรมันโบราณ เพราะหลักฐานทุกวันนี้เป็นแบบนั้นจริง ๆ แต่ความจืดชืดนั้นไม่ได้มีมาแต่แรก ทว่าเป็นเพราะ “เวลา” ที่ทำให้เป็นเช่นนั้น

อันที่จริงโลกของชาวโรมันเต็มไปด้วยสีสัน ความสดใส ประติมากรรมหินอ่อนของพวกเขามักถูกแต่งแต้มด้วยสีมากมาย แต่พวกมันซีดจางไปตามกาลเวลา

4. เนโรเล่นไวโอลินดูทะเลเพลิง

เนโรได้รับการจดจำว่าเป็นจักรพรรดิที่ฉาวโฉ่ที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์โรมัน ช่วงเวลาของการครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 54- 68 นั้น พระองค์เต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่มีแต่ความโหดร้ายและเกินขอบเขต ตำนานที่โด่งดังที่สุดคือ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เผาทำลายกรุงโรมเมื่อ ค.ศ. 64 จักรพรรดิเนโรทรงสีไวโอลินอย่างสำราญใจ ขณะที่อาคารบ้านเรือนถูกไฟไหม้

แต่เรื่องดังกล่าวถูกบันทึกหลังเหตุการณ์นานมาก นั่นแปลว่าไม่มีพยานรู้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นว่าคืออะไรกันแน่ และไวโอลินเพิ่งถูกคิดค้นขึ้นในยุคกลาง

จริง ๆ แล้วเนโรจริงจังกับเหตุไฟไหม้ครั้งนั้น พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ที่กรุงโรมด้วยซ้ำตอนที่เพลิงเริ่มลุกลาม เมื่อทราบข่าว จักรพรรดิรีบเสด็จกลับพร้อมบัญชาให้ดับไฟ และมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วย

5. สตรีชาวโรมันถูกจำกัดให้อยู่แต่บ้าน

สังคมโรมันคือสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงมีเสรีภาพค่อนข้างจำกัด และไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางราชการได้ นี่คือข้อเท็จจริง

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าพวกเธอจะถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แค่ในบ้าน หรือโดดเดี่ยวตนเองจากกิจการสาธารณะ ดูเหมือนส่วนหนึ่งจะสามารถค้นพบหนทางสู่ความมั่งคั่งได้ด้วย เช่น จูเลีย เฟลิกซ์(Julia Felix) เศรษฐินีชาวโรมัน ผู้เป็นเจ้าของอาคารและโรงอาบน้ำที่ปอมเปอี ก่อนเมืองแห่งนี้จะถูกพิโรธภูเขาไฟทำลายหายไปเมื่อ ค.ศ. 79

แม้จะไร้สิทธิทางกฎหมาย แต่สตรีโรมันยังมีอิทธิพลอยู่หลังม่านการเมือง โดยเฉพาะหากเธอเป็นมเหสี พระพันปี พระภคินี หรือธิดาของจักรพรรดิ พระราชวงศ์ และวุฒิสมาชิก

6. ทุกคนในจักรวรรดิมีรูปลักษณ์และพูดภาษาเดียวกัน

ในยุคเรืองอำนาจสูงสุดเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 2 จักรวรรดิโรมันทอดยาวจากเกาะอังกฤษไปถึงตุรกี ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ดินแดนเหล่านี้มีผู้คน วัฒนธรรม และภาษาที่หลากหลายขนาดไหน ตั้งแต่วัฒนธรรมอราเมอิก (อาหรับ) กรีก และกอล (ฝรั่งเศส) คนเหล่านี้ยังโยกย้ายถิ่นฐานอย่างขวักไขว่ภายในจักรวรรดิด้วย

ค.ศ. 1901 มีการพบร่างของสตรีชั้นสูงชาวโรมันเชื้อสายจากแอฟริกาเหนือที่ยอร์ก เมืองเก่าในประเทศอังกฤษ เธอไม่ได้มาที่เกาะอังกฤษคนเดียวแน่ เพราะที่นั่นมีกำแพงเฮเดรียนเป็นพรมแดนของโรมัน และอาจเคยมีทหารแอฟริกันในสังกัดกองทัพโรมันมาประจำการอยู่ที่นี่

แม้แต่จักรพรรดิบางพระองค์ยังไม่ใช่คนพื้นเพบนคาบสมุทรอิตาลี เพราะจักรพรรดิทราจันเกิดในสเปน ส่วนจักรพรรดิเซปติมิอุส เซเวอรัส ก็มาจากดินแดนที่ปัจจุบันคือลิเบีย

7. ชาวคริสต์ยุคแรกถูกส่งไปตายในโคลอสเซียม

เรื่องเล่าคริสต์ศาสนายุคแรกที่โด่งดังมากคือ บรรดาชาวคริสต์ยุคแรกเริ่มต้องถูกทรมาน และส่งไปตายอย่างโหดร้ายในสนามกีฬาโคลอสเซียม

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดยืนยันว่าเคยมีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นที่โคลอสเซียม กลับกัน สถานที่อื่น ๆ ในกรุงโรม เช่น เซอร์คัส แม็กซิมัส(Circus Maximus – สนามแข่งรถม้า) หรือตามต่างจังหวัดยังพบร่องรอยของการเป็นลานประหารคนนอกรีตอยู่บ้าง

เรื่องเล่าการพลีชีพของชาวคริสต์ที่โคลอสเซียมเพิ่งแพร่หลายในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาหลักของโรมไปแล้ว กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 16 คริสตจักรโรมันคาทอลิกจึงยกให้โคลอสเซียมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อยกย่องเหล่ามรณสักขียุคแรกของคริสต์ศาสนา

8. ค.ศ. 476 กาลวินาศแห่งโรม

เรามักคุ้นเคยกันว่า จักรวรรดิโรมันล่มสลายในคริสต์ศตวรรษที่ 5 เมื่อ โอโดอาเซอร์(Odoacer) กษัตริย์เยอรมัน โค่นจักรพรรดิโรมูลุส ออกุสตุสลงจากอำนาจ

ในทางปฏิบัติ นั่นไม่ใช่จุดจบของจักรวรรดิโรมัน เพราะตั้งแต่ ค.ศ. 330 แล้วที่จักรวรรดิแตกออกเป็น 2 ส่วน คือ จักรวรรดิตะวันตก มีศูนย์กลางที่กรุงโรม และจักรวรรดิตะวันออก มีกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่

แม้โรมูลุส ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิตะวันตกจะถูกยึดอำนาจเมื่อ ค.ศ. 476 แต่จักรวรรดิตะวันออกยังดำรงอยู่มากว่าสหัสวรรษในชื่อ “จักรวรรดิไบแซนไทน์”(Byzantine Empire)

ทั้งนี้ บางคนโต้ว่าการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกถูกบรรยายไว้ค่อนข้างเกินจริง ดังเช่น เอ็ดเวิร์ด เจ. วัตต์ (Edward J. Watts) นักประวัติศาสตร์ อ้างอิงข้อความจากหนังสือ The Eternal Decline and Fall of Rome: The History of a Dangerous Ideaว่า

“ไม่มีใครในอิตาลีคิดว่าชีวิตของชาวโรมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงหลังการมาถึง (ของโอโดอาเซอร์) …ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงโรมในฐานะความเป็นโรมันยังดำเนินต่อไป”

Parissa DJangi ส่งท้ายว่า ความเป็นโรมยังอยู่มาถึงปัจจุบัน มันอยู่ในระบบสาธารณูปโภค ความคลั่งไคล้กีฬาของพวกเรา และภาษาตระกูลโรมานซ์ที่หลายร้อยล้านคนทั่วโลกใช้กันอยู่ แม้โรมจะอยู่รอดมาได้ในรูปแบบพิลึกพิลั่นนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าตำนานผิด ๆ ที่เข้าใจกันมานานจะถูกปล่อยให้เชื่อกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 8 เรื่องที่เรา (อาจ) เข้าใจผิดเกี่ยวกับ “โรมันโบราณ”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com