โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘คมกฤช-สมชาย’ ล้วงลึก ‘สายมู’ การเมืองไม่มั่นคง ยิ่งเฟื่องฟูในยุคไซเบอร์ ขนาด รปห.ยังดูฤกษ์

MATICHON ONLINE

อัพเดต 01 ก.ย 2566 เวลา 12.55 น. • เผยแพร่ 01 ก.ย 2566 เวลา 12.55 น.
76868

‘คมกฤช’ ฟันธง รัฐประหารดูฤกษ์ทุกครั้ง ล้วงลึก ‘สายมู’ เฟื่องฟูเพราะเทคโนโลยี ‘สมชาย’ ยัน มีความเชื่อคอยรับใช้อำนาจ

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ณ มติชน อคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชนร่วมกับศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) จัดงาน “มติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง” ครั้งแรก เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.- 3 ก.ย. 66 นี้ โดยภายในงานคับคั่งด้วยกองทัพหนังสือการเมืองเล่มสำคัญที่หายาก พร้อมด้วยผลงานของศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ รวมถึงกิจกรรมเสวนา ‘นิธิแห่งทัศนะและปัญญา’ นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นพิเศษและของพรีเมียมอีกมากมาย

บรรยากาศเวลา 16.00 น. มีกิจกรรม Book Talk: พระ-ผี-เทพ-เจ้า: อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบไทยๆ ร่วมพูดคุยโดย ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ นายสมชาย แซ่จิว นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีน

ในตอนหนึ่งของการเสวนา ผศ.คมกฤช กล่าวว่า ก่อน พ.ศ.1000 ยังไม่มีศาสนามาจากอินเดีย คนที่อยู่แถวนี้เขานับถือผีกัน พอพ.ศ.1000 มีคนเดินทางมาจากอินเดีย นำเอาศาสนาเข้ามา เพราะฉะนั้นหลัง พ.ศ.1000 เกิดการผสมกันระหว่างผี พุทธ พราหมณ์ แต่อาจารย์นิธิ มีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาจารย์นิธิเรียกว่าผี แล้วคนเลือกพุทธกับพราหมณ์ ที่ไม่ขัดกับผี ซึ่งอาจารย์นิธิ เรียกว่า ‘ศาสนาไทย’ ซึ่งเรียงเป็น ผี-พราหมณ์-พุทธ เพราะผีสำคัญสุด

ผศ.คมกฤชกล่าวอีกว่า ตนมีหลักฐานเก่าระบุว่าเรานับถือศาสนาแบบผสมมานานแล้ว ยกตัวอย่าง จารึกที่ฐานพระอิศวร เมืองกำแพงเพชร ระบุว่า

“จิงเจ้าพรญาศรีธรรมาโศก ราชปรดิสถานพระอีสวร เป็นเจานีไวใหครองสตัวสีตีน สองตีนในเมิองกํแพงเพชร แลซวยเลอก สาษณาพุท สาษณาไสย สาษณาแลพระเทพ กรรมมิใหหมนใหเปนอนํนิงอนัดยว“

ผศ.คมกฤชกล่าวอีกว่า เราพบคำว่าว่า สาษณาพุท คือ ศาสนาพุทธ แปลว่าตื่น ตรงข้ามกับ ไสย แต่เดิมแปลว่าพรามหณ์ ซึ่งมาเปลี่ยนทีหลัง ที่แปลว่า นอน รวมทั้งยังแปลว่า ประเสริฐ อีกด้วย ส่วนเทพกรรม มันคือศาสนาผี อย่าง พระปะกำ เกี่ยวกับการคล้องช้าง ชัดเจนว่า ‘ผี-พรามหณ์-พุทธ’ อยู่ในจารึกตั้งแต่ยุคอยุธยาตอนกลาง ไม่ต้องสันนิษฐาน

ผศ.คมกฤชกล่าวอีกว่า ศาสนาที่นำเข้ามา หรือกระจายไปพื้นที่อื่น ล้วนต้องมีการปรับตัวทั้งนั้น เช่น พุทธ ปรับตัวได้ง่ายมากที่สุด บางครั้งก็ไปรวมกับความเชื่อท้องถิ่น เช่น เจ้าแม่กวนอิม ที่ผสมการเรื่องราวของเมี่ยวซ่าน ที่เป็นความเชื่อแบบชาวบ้าน การมีศาสนาแบบผสมจึงเป็นเรื่องธรรมดา

ผศ.คมกฤช กล่าวว่า ผีพระเทพประกำ มีความเชื่อดัเงเดิมเกี่ยวกับการคล้องช้าง ที่จริงมาจากชาวบ้านแต่แพร่ไปยังราชสำนัก ร.5 เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่เรียนคล้องช้าง กรุงเทพก็มีหอเชือก อยู่ที่กรมศิลปากร

“รูปผีปะกำ ที่ถือเชือก บางรูปแบบก็จะมีหน้าตาคล้ายพระพิฆเนศ ซึ่งพระพิฆเนศถูกรับรู้เกี่ยวกับงานศิลปะในรัชการที่ 6 มานี้เอง แต่ก่อนเกี่ยวกับช้างอย่างเดียว แต่ ร.6 ท่านไปเรียนเมืองนอก เรื่องภารตวิทยา หลังจากนั้นก็ถูกเปลี่ยนความหมายมาเกี่ยวกับงานศิลปะ” ผศ.คมกฤชกล่าว

ผศ.คมกฤชกล่าวว่า ทุกวันนี้สายมูเตลู ไปไกลแล้วด้วยเทคโนโลยี สายมูเป็นความเชื่อที่ไม่เกี่ยวกับแพคเกจภายนอก เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ เราไม่ได้ทำให้เทคโนโลยีไปพร้อมกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งในแง่หนึ่งวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องวิธีคิด แต่เทคโนโลยีเป็นการเอาความคิดทางวิทยาศาสตร์มาใช้ โดยมีความเชื่อได้หลากหลายอย่างที่นำมาใช้ประโยชน์เฉพาะอย่าง เช่น เทคโนโลยีสายมู

ผศ.คมกฤชกล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีหลากหลาย ทุกอย่างอยู่ในดิจิทัลหมด ทำบุญออนไลน์ แก้บนแค่โอนเงินไปเขาก็จุดประทัดแล้วถ่ายรูปมาให้เราแล้ว จะเห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงแค่แพลตฟอร์ม แต่ความเชื่อยังอยู่เหมือนเดิม

ผศ.คมกฤชกล่าวว่า มูเตลู มาจากหนังประมาณปี 2524 ชื่อภาษาอินโดนีเซีย ‘เปอนังกัล อิลมู เตลู’ แปลว่าความรู้ เตลู แปลว่า ไสย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ของผู้หญิง 2 คนที่แย่งผู้ชายกัน ปัจจุบันคำว่า ‘มู’ เขารวมทุกเรื่องทั้งเครื่องรางของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันรวมทุกอย่างเลย คนรุ่นใหม่น่าจะชอบกัน

ผศ.คมกฤชกล่าวว่า อาจารย์ปีเตอร์ เอ แจ็คสัน บอกว่ามีจุดเปลี่ยนความสนใจ จากพุทธศาสนาในสังคมไทย วันหนึ่งไปจตุจักรเจอธนบัตรหลวงปู่คูณ ‘ชอบ เงิน สด’ หลวงพ่อชอบ หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อสด อาจารย์จึงตั้งข้อสงสัยว่า สิ่งของที่ศักสิทธิ์ มันไปได้กับทุนนิยม หรือยุคที่วิทยาศาสตร์เติบโตขึ้น ไม่ได้แปลว่าความเชื่อมันจะหาย แต่กลับยิ่งไปด้วยดีในทุนนิยม

“Gender and sexual แต่ก่อนกลุ่มที่สนใจในสายมู คือผู้ชาย เรื่องความคงกระพัน ค่านิยมลูกผู้ชายที่เข้าสำนักสักยันต์เยอะมาก ปัจจุบันมันเปลี่ยนแล้ว ตอนนี้ผมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผู้หญิง แต่เน้นเป็นเรื่องเมตตามหานิยม ร่ำรวยเงินทอง

ทุกวันนี้เปลี่ยนแพคเกจจิ้งแบบกำไล มาใส่หินห้อยสวย บางทีให้ความเป็นพาสเทล อันนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกินขึ้นผ่านทุนนิยมและเพศสภาพ ทุนนิยมมากำกับชักนำสิ่งที่เป็นสินค้าทางความเชื่อ และมันจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด” ผศ.คมกฤช ชี้

ผศ.คมกฤช กล่าวเสริมว่า tiktok เป็นแพลตฟอร์มที่คนมาพูดเนื้อหาสั้นๆ รีบรวบใจความ เพราะคนสมัยนี้ไม่ฟังอะไรยาวๆ ดังนั้น มันจึงเป็นการสื่อสารรวดเร็วขนาดใหญ่เกี่ยวกับความเชื่อ ตนอยากเสนอเบื้องต้นว่า โลกปัจจุบันสายมูไม่ได้ขัดแย้งกับเทคโนโลยี และไปด้วยกันได้ดีกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งขับเคลื่อนโดยทุนนิยม

“ผมสังเกตกระแสใหม่ๆ ตั้งแต่จตุคามรามเทพ ลูกเทพ ไอไข่ ท้าวเวสสุวรรณ พญานาค ผมเขียนทำนายว่า ปีนี้พระแม่ลักษมีมาแน่ ท่านเป็นเทพน่าสนใจที่คนแขกรู้จักกันมานาน แปลว่าโชคดี ร่ำรวยก็ได้ เปรียบเหมือนผู้หญิงที่มีสามี และสามีต้องยังอยู่ ไม่ตาย เขามีคติให้ผู้หญิงนับถือพระแม่ลักษมี เพื่อให้สามีอายุยืนยาว แต่เราจะรู้จักแค่ว่าท่านจะเป็นเทพแห่งความร่ำรวยของแขก และความรักด้วย ตอนนี้คนไปขอเต็ม ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ คนไหว้อะไรก็สิทธิของเขา

เราจะเห็นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งมงคลในสังคมไทย มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มันมีวงการสร้างวัตถุมงคล ที่กระแสอยู่ได้ช่วงหนึ่ง เขาก็ต้องพยายามจะหาสิ่งใหม่มาเรื่อย” ผศ.คมกฤชชี้

ผศ.คมกฤชกล่าวอีกว่า การเมืองส่งผลต่อเรื่องอื่นหมด ทั้งเศรษฐกิจ สวัสดิการ คุณเป็นใครมันเกี่ยวหมดเลย เพราะฉะนั้นถ้าการเมืองมันไม่มั่งคง จะทำให้เกิดความไม่แน่ใจในด้านอื่น

“ถ้าผมเป็นคนทั่วไปไม่ใด้เป็นราชการ ผมไม่มีสิ่งที่เรียกว่าบำเหน็จบำนาญ ผมจะต้องทำอย่างไรหลังเกษียณ ถ้าไม่มีนโยบายออกมาช่วยเลย ผมจะอยู่อย่างไร โอ้โห การเมืองไทยรันไปด้วยไสยศาสตร์ อันนี้มีคนวิจัย ผมไม่ได้พูดเอง รัฐประหารเขาดูฤกษ์ทุกครั้ง ไม่มีครั้งไหนที่แรนด้อมนะ ผู้นำทางการเมืองไทยหลายยุค หลายสมัย ต้องมีที่ปรึกษาทางการเมือง โหรทางการเมือง เปิดเผยหรือไม่เปิดเผยเรื่องของเขา ในแง่หนึ่งอาจจะเชื่อจริง อีกแง่คือเรื่องของจิตวิทยาด้วย” ผศ.คมกฤช เผย

ผศ.คมกฤชกล่าวว่า เราชอบพูดว่าศาสนาเป็นเรื่องของทางธรรม การเมืองเป็นเรื่องของทางโลก ที่พยายามแยกออกจากกัน Secular ยกตัวอย่างญี่ปุ่น เราเห็นศาลเจ้าเต็มไปหมด ศาสนาในญี่ปุ่นมันเป็นของประวัติศาสตร์ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่2 ตอนนั้นลัทธิชินโตจะมีความแข็งแรง ซึ่งเป็นการปลุกกระแสชาตินิยม

“ให้เชื่อท่านจักรพรรดิ ว่าเป็นเทพองค์หนึ่ง ให้ทุกคนเชื่อองค์จักรพรรดิ สงครามมันเกิดจากความปั่นโดยลัทธิชินโตแห่งชาติ พอระเบิดลง คนญี่ปุ่นเลยกลัวความเชื่อชาตินิยมอะไรแบบนี้”

ผศ.คมกฤช กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เราพูดกันมาทั้งหมด ปรากฏการณ์ทางศาสนาจะเป็นอย่างไร

“ผมอยากทิ้งท้ายไว้ว่า เราเป็น Secular State แยกศาสนาออกจากรัฐไหม หรือจะเอาสายมูมาเป็นซอฟต์เพาเวอร์ไหม เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ใต้ดิน เราไม่รู้เลยว่า มันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน จะดีกว่าไหม ถ้าเรายกขึ้นมาชัดๆ เลย ถ้ายกขึ้นมามันจะเป็นโจทย์อย่างไรกับสังคม” ผศ.คมกฤชกล่าว

ด้าน นายสมชาย แซ่จิว กล่าวเสริมว่า ความเชื่อจีน ก็มีความเชื่อเรื่องผีมาก่อน อย่างราชวงศ์โจว เมื่อก่อนก็นับถือผี แต่คือผีธรรมชาติ ผีไฟ ผีต้นไม้ ผีภูเขาต่างๆ นานา ซึ่งในบันทึกเทพเจ้าแรกๆ จะเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เช่น เทพเจ้าแห่งเตาไฟ เทพเจ้าประตู ต่อมามีการนำเข้าพุทธเข้ามาผสมกับศาสนาผี จริงๆ ก็ผสมลัทธิเต๋าด้วย

“ความเชื่อมันมีการผสมปนเปกันตลอดเวลา ไม่มีใครเป็นเจ้าของความจริงแท้หนึ่งเดียว” นายสมชายชี้
นายสมชายกล่าวว่า จีนแต้จิ๋วที่รุ่งเรื่องถึงทุกวันนี้ ต้องขอบคุณขงจื้อ เพราะเกิดมาจากราชวงศ์ฮั่น มีขุนนางไม่พอใจที่ฮ่องเต้เอาพระธาตุของพระพุทธเจ้าเข้ามาในวัง คนนี้จึงถวายฎีกา ว่าจะเอากระดูกคนตายเข้ามาในวังมันเป็นอัปมงคล จึงโดนฮ่องเต้สั่งเนรเทศ ถ้าไปแต้จิ๋วของทุกวันนี้ จากบ้านป่าเมืองเถื่อน เขาเป็นเจ้าเมืองที่นั่นเพียงแค่ 8 เดือน แต่นำวัฒนธรรมต่างๆ ของฮั่นไปด้วย ซึ่งเป็นการผสมพุทธกับขงจื้อตอนนั้น

ส่วนเรื่องความเชื่อจีน นายสมชายชี้ว่า ช่วงเชงเม้งยุคโควิด-19 คนไม่สามารถไปทำความสะอาดที่สุสานได้ รัฐบาลจึงสร้างแพลตฟอร์มให้คนโอนเงินแล้วจะมีคนไปทำความสะอาดให้”

นายสมชายยังตั้งข้อสังเกตว่า ‘มู’ คือเรื่องรางของของขลัง พอถึงจุดหนึ่งตอบสนองความต้องการไม่พอ จึงขยับไปสายเกินทางมูทัวร์ อย่างหนังสือบอกว่า อย่างน้อยการมู มันเป็นการตอบสนองเรื่องความมั่งคั่ง เช่น ไอ้ไข่ขอเรื่องถูกหวย ขอให้รวย ยิ่งเป็นยุคของโพสโมเดิร์นชีวิตมีความไม่แน่นอนในชีวิตเรื่อยๆ อย่างช่วงโควิดเกิดขึ้น มันจึงทำให้การมูเตลูเฟื่องฟู

นายสมชายกล่าวอีกว่า ตราบใดที่โลกมีความเปลี่ยนแปลง มีความไม่แน่นอน ความเชื่อก็จะยังคงอยู่ เราจะเห็นภาพแล้วว่า การมู มีอิทธิพลต่อสังคมไทยยิ่งโดยเฉพาะสื่อออนไลน์

นายสมชายกล่าวว่า ทุกวันนี้ถ้าไปวัดเล่งเน่ยยี่ เราจะไม่ได้เห็นทำการไปนั่งเขย่าเซียมซีแล้ว แต่ตอนนี้มีการสแกนคิวอาร์โค้ด เขย่ามือถือพอเป็นพิธีก็ได้คำทำนายแล้ว

“คนจีนสมัยเด็กถ้าเรารู้ว่าปีชง เราจะไม่ไปงานศพ เพราะธาตุเราจะอ่อน หยินเราจะเป็นอย่างนั้น เขาจะแก้ชงอย่างนั้น ทุกวันนี้คนไทยก็นิยมแก้ชงด้วยวิธิมากมายก่ายกอง บางครั้งก็มีการแก้ชงออนไลน์ ซึ่งมันสะท้อนว่ามีพัฒนาการความเชื่อ ที่ไม่เดือดร้อนตัวเอง ไม่เดือดร้อนสังคมก็เชื่อไปเถอะ” นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า ความเชื่อคนจีนตั้งแต่ราชวงศ์ชิงลงมา เรื่องความเชื่อถูกใช้ในทางการเมืองตลอด ตอนชิงเรื่องราวสมัยฮ่องเต้ตอนปลาย เขาเขียนไว้เลย ถ้าจะเกิดการโค่นฮ่องเต้ ต้องมีการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของฮ่องเต้ก่อน เลยอ้างว่ามีอุกกาบาตตกลงมา ซึ่งเป็นคำสั่งมาจากสวรรค์ อันนี้มันจะเป็นความเชื่อที่เอามารับใช้อำนาจตลอดเวลา

“ทุกวันนี้เราจะเห็นคนญุี่ปุ่นไปศาลเจ้า มีคนเขียนในบัตรประชาชนว่าเป็นชินโต แค่ 3 เปอร์เซ็ต์ ผมเคยพูดกับเพื่อนคนญี่ปุ่น ว่าเกิดมาเป็นชินโต แต่งงานแบบคริสต์ และตายแบบพุทธ ก็คือเผา” นายสมชายกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น