โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เปิดแผน“คลัง”รีดภาษี VAT คนรวย-คนจน อัตราเดียวกัน

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 14 ธ.ค. 2567 เวลา 04.37 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2567 เวลา 00.30 น.

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** วันนี้มาว่ากันต่อถึงแผนการ “ปรับโครงสร้างภาษี” ของรัฐบาล หลังจาก พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง ได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ กรมสรรพากร ศึกษาและพิจารณาในรายละเอียดเรื่องนี้ โดยเฉพาะการขึ้น“ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือที่เรียกว่า VAT จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้จัดเก็บในอัตรา 10% แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ได้มีมติให้จัดเก็บใน 7% มาทุกยุคทุกสมัย เพื่อบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

*** ล่าสุดลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกมาอธิบายเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ว่า ไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้จีดีพีไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ไม่เติบโตสูงเหมือนกับหลายประเทศ จากหนี้สินภาคครัว หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ประสิทธิภาพการผลิตภาคเอกชน กระทบกำลังซื้อประชาชน ส่งผลมายังรายได้ภาษีของรัฐบาล

แม้ว่าปัญหาโควิด-19 ผ่อนคลาย หายไปแล้วจีดีพีของประเทศอื่นเติบโตกว่าร้อยละ 5 แต่จีดีพีของไทยโตขยายตัวเพียงร้อยละ 2 กระทรวงคลังจึงต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผลักดันจีดีพีโตร้อยละ 5 ควบคู่ไปกับมาตรการระยะสั้นอื่น และต้องกู้เงินมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่าที่จำเป็น ไม่ให้กระทบต่อ Credit Rating ของประเทศ เพื่อดูแลฐานะการคลังของประเทศจะยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในอนาคต

ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังหารือกับสำนักงบประมาณ ประมาณการณ์รายได้ และจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ยอมรับต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยต้องทยอยกู้เงินลดลง เมื่อจีดีพีไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ต้องใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วย ผ่านนโยบาย “ปรับโครงสร้างภาษี” การขับเคลื่อน Digital Transformations ผ่านคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งเป็นหัวใจในการปฏิรูปเศรษฐกิจ กระทรวงคลัง จึงเตรียมแผน “Quick Win” ผ่าน โมเดล “อารีย์สกอร์” นำข้อมูลทุกมิติ มาวิเคราะห์ผ่าน AI ทำให้เข้าใจพฤติกรรมคนไทยให้ถูกทาง

“กระทรวงการคลัง จึงเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษี หวังทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งโดยต้องประเมินหลายมิติ ไม่ใช่เพียงการปรับเพิ่มภาษีเพียงอย่างเดียว เพราะอาจทำให้เศรษฐกิจ shock ได้ นับว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยยื่นแบบภาษีเงินได้พึงประเมิน 11 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น นับว่าขยายฐานภาษีได้น้อยมาก

รัฐบาลได้ออกมาตรการยกเว้นภาษี และลดหย่อนภาษีจำนวนมาก สำหรับประชาชนมีรายได้ไม่เกิน 150,000 บาทแรกต่อปี ยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเทียบกับ เงินได้รายนเดือนไม่ถึง 28,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อนำมาหักลดหย่อนผ่านหลายมาตรการ ทั้งเงินกู้ซื้อบ้าน กองทุนรวม เงินทำบุญ คลัง จึงศึกษาแนวทาง การปรับลดภาษีเงินนิติบุคคล”

ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้ว่า ตามบริบทของสังคมโลกในปัจจุบัน ไทยควรปรับเพิ่ม “ภาษีเพื่อการบริโภค” กับ “ภาษีทรัพย์สิน” โดยจัดเก็บจากความมั่งคั่งของแต่ละคน จากการใช้จ่าย และการเก็บทรัพย์สินสะสมความมั่งคั่งเอาไว้ ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษี สำหรับการบริโภค และ ภาษีทรัพย์สิน จึงต้องนำมาจัดเก็บภาษีเงินได้แบบขั้นบันได

การจัดเก็บภาษีจากฐานการบริโภค ไม่ว่าคนจน คนรวย ต้องเสีย “ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราเดียวกัน” คนจนใช้จ่ายน้อยตามรายได้ ขณะที่คนรวยใช้จ่ายตามกำลังซื้อสูง รูปแบบการใช้จ่ายเงินจึงไม่เหมือนกัน เมื่อปรับเพิ่มภาษีเพื่อการบริโภค จึงต้องหาทางเยียวยาช่วยเหลือตัวเล็ก หรือ กลุ่มเปราะบาง เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีเงินใช้จ่ายบริโภคได้มากขึ้น เช่น รัฐบาลปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 100 บาท ต้องแบ่งไปช่วยคนจน 30 บาท ส่วนที่เหลือ เก็บเข้าคลังนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ

ลวรณ แสงสนิท แจงด้วยว่า แนวทางเก็บภาษีทรัพย์สินกระทรวงการคลังต้องศึกษารายละเอียดรอบคอบ ปัจจุบันภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บจากร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ ลดลงเหลือร้อยละ 15 รองรับข้อตกลงกับ OECD ตามต้องตกลงของกรมสรรพากรทั่วโลก นับว่าอยู่ในระนาบเดียวกับประเทศสิงคโปร์

ขณะที่แนวทางการปรับโครงสร้างภาษี“NegativeIncome Tax” หรือ “NIT” จึงถูกนำมาปัดฝุ่นผลันดันนโยบายให้สำเร็จ และมองว่าจะตอบโจทย์เรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ รองรับการจัดทำฐานข้อมูล Big Data เพื่อให้รับรู้รายได้ของประชาชนทุกคนในประเทศ

คนไทยไม่จำเป็นต้องมานั่งลงทะเบียน เพื่อขอรับ “สวัสดิการจากรัฐ” ในทุก 2 ปีอีกต่อไป เพราะรัฐบาลสามารถอัพเดทข้อมูลได้ทุกๆ 3 เดือน หากใครมีเงินได้ระหว่างทางเกิดขึ้น จนทำให้มีรายได้รวมถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี กลุ่มดังกล่าวจะหลุดออกจากระบบสวัสดิการ เข้าสู่ระบบภาษีโดยอัตโนมัติ จึงเรียกว่า Negative Income Tax เพื่อดูแลระบบการเบิกจ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการ ลดความซ้ำซ้อน ช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า และไม่จำเป็นต้องได้รับสวัสดิการเหมือนกันทุกคน

ปัจจุบันผู้รับสวัสดิการจากรัฐ 14.5 ล้านคน เมื่อรวมกับประชาชน ผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี 11 ล้านคน ทำให้ประชาชนเข้ามาในระบบภาษีทั้งหมด 25 ล้านคน การใช้ระบบ AI ในปัจจุบัน จึงทำให้การใช้ประโยชน์จาก Big Data มาใช้ตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างแม่นยำ

*** อย่างไรก็ตาม นักวิชาการอย่างอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ได้ออกมาเสนอแนะถึงแนวทางการปรับเพิ่มภาษี VAT ว่า อาจจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 1% ตั้งแต่ปี 2569 จากระดับ 7% เป็น 10% ในปี 2571 และควรปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และอาจพิจารณาปรับลด หรือเพิ่มภาษีเงินได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และกระตุ้นให้ผลิตภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

อนุสรณ์ ชี้ว่า จากงานวิจัยของธนาคารโลก และมีข้อเสนอทางนโยบายทางการคลังต่อรัฐบาลที่ผ่านมา เสนอว่าให้ปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนทางการคลัง การเพิ่มอัตราการขยายตัวจีดีพีเฉลี่ยให้สูงกว่า 3% จะสามารถรักษาความยั่งยืนในระยะยาวได้ การทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น ต้องอาศัยการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้เป็นเรื่องที่จำเป็น

โดยทีมงานของธนาคารโลกเสนอให้ ไทยเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้ได้ 3.5% ของจีดีพี แต่ต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้เวลา 5-6 ปี ซึ่งการปฏิรูปภาษี ประกอบไปด้วย การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% และยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด มาตรการนี้จะทำให้รัฐมีรายได้ภาษีเพิ่ม 2.5% ของจีดีพี (อยู่บนสมมติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมาย) , ขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและปรับปรุงค่าลดหย่อน มาตรการนี้จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 0.8% ของจีดีพี

การขยายการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) การปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาษีตามข้อเสนอของธนาคารโลก จะทำให้สัดส่วนการจัดเก็บรายได้เทียบกับจีดีพีมาอยู่ที่ 24.3% ในปี 2573 รัฐบาลก็จะมีเงินงบประมาณเพื่อการลงทุนโดยลดการก่อหนี้สาธารณะลง และทำให้ไทยเดินหน้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วในระยะต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 7

  • Nutchimaru
    รัฐบาลก่อน พยายามเก็บภาษีคนรวย เก็บภาษีที่ดิน เก็บภาษีมรดก เพื่อเอามาใช้บริการประเทศ กระจายการบริหารให้คนรายได้น้อย รัฐบาลนี้ พยายามลดภาษีคนรวย รีดภาษีคนรายได้น้อย คนหารายได้ 30,000 บาทต่อเดือน หากต้องเสีย vat เพิ่มจากเดิม 3-8% (vat 10-15%) แทบจะทั้งหมดของ 30,000 บาทนั้น ต้องเอาไปใช้จ่ายและเสียภาษี ในขณะที่คนรวย ลดภาษีจาก 35 เหลือ 15 ส่วนที่ได้กลับมาเก็บ ลงทุน ไม่เสียภาษี เพราะไม่ได้ บริโภค หรือหากจะบริโภค มันก็เอาไปเที่ยวต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ บอกเลยครับ ยิ่งทำแบบนี้ ประเทศยิ่งขาดเงิน
    15 ธ.ค. 2567 เวลา 06.33 น.
  • ooy013
    คนรวยควรจ่ายภาษีสูงกว่าคนจน ภาษีเงินได้จึงไม่ควรFIXไว้ที่15% เพราะมันเหลื่อมล้ำชัดเจน คนรายได้น้อยเสียภาษีสูงขึ้นแต่รายได้เกินสามแสนเสียน้อยลง
    15 ธ.ค. 2567 เวลา 06.15 น.
  • Tee 20
    คนจน ไม่เคยเสียภาษี..รอแบมือขอเงินรัฐบาล...คนชั้นกลาง เหนื่อยๆ ภาษีก็เสีย..
    15 ธ.ค. 2567 เวลา 08.50 น.
  • P. PPP.
    หน้าที่คนพวกนี้ มีอย่างเดียว สนองการใช้จ่ายเงินของนักการเมือง จ่ายสะบัด แจกสะบั้น จึงต้องเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่มขึ้นๆ ในคำพูดที่สวยหรูว่า ปฏิรูปภาษีเพื่อความเท่าเทียมกัน พวกนี้ไม่เคยได้ยินคำว่า tax is theft เพราะมันเล่าเรียนและได้รับการสอนมาแบบนั้น และคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ ถูกต้องแล้ว ดีแล้ว เป็นแบบนี้ทุกประเทศ ประชาชนในภาคผลิตที่แท้จริง เลยถูกขโมยการผลิตส่วนหนึ่งไปในรูปภาษี
    15 ธ.ค. 2567 เวลา 06.48 น.
  • สาหร่าย ศรีนวล
    นี่แหละ เลือกน่ยทุนเข้ามาครองประเทศ
    15 ธ.ค. 2567 เวลา 11.45 น.
ดูทั้งหมด