โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

แบงก์สุดอั้นจ่อขึ้นดอกเบี้ย ลุ้น กนง.ขยับอีก 0.25% สู้บาทอ่อน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 23 ก.ย 2565 เวลา 14.36 น. • เผยแพร่ 24 ก.ย 2565 เวลา 00.30 น.
แบงก์ชาติ ธปท

แบงก์เล็ก-ใหญ่จ่อชักแถวขึ้นดอกเบี้ย 2 ขา “ฝาก-กู้” หลังประชุม กนง. 28 กันยาฯนี้ คาดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู้บาทอ่อน-เงินเฟ้อ ขณะที่เฟดรัวขึ้นดอกเบี้ยทิ้งห่างไทย กดดันเงินไหลออก-บาทอ่อนทะลุ 37 บาท KKP ห่วง 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยเตือนมรสุมใหญ่ปีหน้าเงินเฟ้อสูงค้าง กสิกรไทยชี้บาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบ 38 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อ 21 กันยายนที่ผ่านมาได้มีมติขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นไปอยู่ในช่วง 3-3.25% สูงสุดนับจากปี 2008 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ทะยานสูง ขณะเดียวกันคาดการณ์รายบุคคลหรือ dot plot บ่งชี้ว่า ภายในสิ้นปีนี้มีเป้าหมายจะขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 4.40% จึงมีโอกาสที่จะเห็นเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูง 0.75% อีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป และมีแนวโน้มว่าปีนี้ดอกเบี้ยสหรัฐจะขึ้นไปอยู่ที่ 4.6%

กดดันเงินไหลออก

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% รอบล่าสุดทำให้มีความห่างจากดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนว่าเฟดวิ่งขึ้นบันไดทีละ 2-3 ขั้น รวมถึงประชุมปีละ 8 ครั้ง ขณะที่การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของไทยเป็นไปอย่างช้า ๆ มีประชุมแค่ปีละ 6 ครั้ง แถมยังเดินขึ้นทีละขั้น ทำให้ดอกเบี้ยยิ่งห่างออกไป แรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนก็ยิ่งมากขึ้น

“ตอนนี้ดอกเบี้ยห่างกันมาก ไม่เคยห่างแบบนี้เลย ส่งผลอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ของสหรัฐ อายุ 2 ปี ขึ้นไป 4% ขณะที่ของไทยแค่ 1% กว่า ซึ่งทำให้โอกาสที่เงินจะไหลออกมีมากขึ้น และทางเดียวที่เงินจะไม่ออกไปก็คือ ต้องเชื่อว่าบาทจะแข็งค่าขึ้น หากดอกเบี้ยเราไม่ขยับตาม ค่าเงินก็จะอ่อนลง”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า บางคนอาจจะมองว่า เมื่อนักท่องเที่ยวกลับมา สถานการณ์ค่าเงินบาทจะดีขึ้น เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะเป็นบวกได้ อย่างไรก็ดีหากดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้เป็นบวกมาก ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยห่างกันมาก ๆ ก็อาจจะเอาไม่อยู่

“ต้องถามว่า เราทนเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปได้ขนาดไหน ตอนนี้ก็เริ่มมีแรงกดดันจากทางการเมืองเรื่องค่าเงินแล้วด้วย แต่การจะให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น คงไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซง เพราะจะทำให้ทุนสำรองลดลง”

กนง.เสียงแตกขึ้น ดบ. 0.25%

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐอย่างน้อยคงปรับขึ้นไปตามที่เฟดส่งสัญญาณ คือ 4.6% ส่วนดอกเบี้ยไทยก็มีโอกาสที่ ธปท.จะกลับลำว่าสุดท้ายอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิมที่คาดไว้ขึ้นครั้งละ 0.25% อย่างไรก็ดีจาก ธปท.สื่อสารก็คือ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่การประชุม กนง.รอบนี้ก็น่าจะเห็นเสียงแตก

“ถ้าแรงกดดันจากค่าเงินเยอะขึ้น แรงกดดันจากเงินเฟ้อเยอะ ก็มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% แต่คงไม่ใช่ในการประชุมรอบนี้ เพราะจะทำให้ตลาดตกใจ รวมถึงตอนนี้เงินบาทที่อ่อนค่า ยังเป็นการอ่อนค่าสอดคล้องไปกับภูมิภาค” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ประเด็นคือเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ามาก และจะขึ้นอีกอย่างน้อย 1.25% ในช่วงที่เหลือปีนี้ ก็ทิ้งเราห่างมากขึ้นอีก ขณะที่วันนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.75% เหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง ก็จะขึ้นอีก 0.50% สิ้นปีก็ 1.25% ขณะที่ดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ 4.40% ส่วนต่างก็มากขึ้นก็จะเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินมากขึ้นไปอีก ซึ่งก็กำลังดูว่า ปีนี้เงินบาทอาจจะอยู่อย่างนี้ ไม่กลับมาแข็งค่าขึ้นก็ได้

ดร.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า เงินเฟ้อของไทยน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ประเด็นคือจะลดลงยาก เพราะมีการตรึงราคาพลังงานไว้มาก ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ค่าไฟฟ้า รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย-สหรัฐที่ทำให้ค่าเงินอ่อน และแรงกดดันจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน

รอบนี้แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน

ส่วนการปรับดอกเบี้ยของสถาบันการเงินนั้น ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.รอบนี้ สถาบันการเงินต้องมีการส่งผ่านดอกเบี้ยไปยังตลาดแน่นอน หลังจากรอบที่แล้วธนาคารมีการตรึงดอกเบี้ยไว้ ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยคงปรับ 2 ขา ทั้งเงินฝากและเงินกู้ และน่าจะขึ้นไม่เกิน 0.25%

“คือแบงก์ก็ทำธุรกิจ ไม่ได้ทำการกุศล ถ้าต้นทุนขยับขึ้นเขาก็ต้องส่งผ่าน แต่ส่งไปถึงตรงไหน ลูกหนี้รับได้ไหม เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ส่วนประเด็นที่ให้แบงก์เพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ต้นปีหน้า เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาคงมีการต่อรองกัน เพื่อชะลอการปรับขึ้นอัตราเงินนำส่ง”

เตือนมรสุมใหญ่ปีหน้า

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในช่วงที่เหลือของปีนี้ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย แต่หากปลายปียังมีสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ค่าตั๋วเครื่องบินแพง แล้วนักท่องเที่ยวไม่มา หรือเศรษฐกิจโลกชะลอ ทำให้ท่องเที่ยวกลับมาน้อยกว่าคาดก็น่าจะเหนื่อย อย่างไรก็ดีตอนนี้ยังคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา และจะเป็นแรงส่งที่ค่อนข้างดี

สอง ห่วงเศรษฐกิจโลก ที่มีโอกาสชะลอพร้อม ๆ กันในช่วงไตรมาส 1-2 ปีหน้า ทั้งยุโรป อเมริกา รวมถึงจีน ที่ตอนนี้เป็นความหวังเดียว หากเศรษฐกิจโลกไม่ดีก็จะกระทบท่องเที่ยวไทย และอาจทำให้การส่งออกของไทยติดลบไปด้วย

“ตอนนี้เรามองว่า อาจจะเห็นการส่งออกติดลบในปีหน้า ฉะนั้นจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้าอยู่แล้ว เจอมรสุมใหญ่เลยในปีหน้า และ สาม เงินเฟ้อ ที่หากติดลมบน เพราะนโยบายการแก้ปัญหาเงินเฟ้อช้าเกินไป ก็จะยิ่งเหนื่อย” ดร.พิพัฒน์กล่าว

บาทเสี่ยงอ่อนค่าแตะ 38 บาท

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในระยะสั้นภายใน 1 เดือน จะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปทดสอบอยู่ที่ระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยหลักประมาณ 94% มาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า และค่าเงินยูโรเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้า-ไหลออก

ทั้งนี้ สกุลเงินที่อ่อนค่าสุดคือ “เงินเยน” เทียบดอลลาร์นับแต่ต้นปี-ปัจจุบันอ่อนค่าไปแล้ว 19% ส่วนไทยอ่อนค่าราว 10.6% ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ส่วนประเทศที่อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศอื่น เช่น ฮ่องกง อ่อนค่าเพียง 0.67% สะท้อนว่าดอลลาร์แข็งค่ากว่าทุกสกุลเงิน

ขณะเดียวกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุด 0.75% ซึ่งปัจจุบันเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วกว่า 3% และคาดว่าจะปรับขึ้นต่อเนื่อง เป็นการสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินและธนาคารกลางทุกประเทศที่จะต้องทยอยปรับดอกเบี้ยตาม ซึ่งทุกการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด 0.25% จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าราว 38 สตางค์

กนง.ปรับขึ้น ดบ.3 ครั้งติด

เช่นเดียวกับไทยที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าความพร้อมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวก็ตาม เพื่อสกัดเงินเฟ้อและต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยลดการอ่อนค่าของเงินบาทที่จะมีผลต่อภาคการนำเข้า โดยธนาคารกสิกรไทยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งติดภายในปีนี้ จากเดิมคาดว่าจะขึ้นเพียง 2 ครั้ง ซึ่งการประชุม 2 ครั้งที่เหลือในเดือน ก.ย.และ พ.ย. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ต่อปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีจะอยู่ที่ 1.25%

“ความเสี่ยงที่ค่าเงินผันผวนสูงขึ้นหลังรับรู้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยภายใน 1 เดือนข้างหน้าอาจเห็นเงินบาทเคลื่อนไหว 36.50 บาท และขึ้นไปทดสอบถึง 38 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่หลังจากสิ้นปีมีโอกาสลงมาซื้อขายในกรอบ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ภายใต้การท่องเที่ยวที่จะเข้ามาช่วยเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัด และลุ้นจุดยืนว่าเฟดจะเปลี่ยนมุมมองหรือไม่ และกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจถดถอยแทน เพราะตอนนี้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดดุเดือดจนสร้างปัญหาให้กับธนาคารกลางอื่น ๆ เหมือนให้ยาที่มีผลร้ายมากกว่าโรคที่เปรียบเหมือนเงินเฟ้อ”

แบงก์จ่อขึ้นดอกเบี้ย

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารอาจต้องรอดูสัญญาณจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 กันยายนนี้ อย่างไรก็ดี ธนาคารทีทีบีหรือทั้งระบบในท้ายที่สุดจะต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้การส่งผ่านนโยบายการเงินเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อล่าช้าออกไป

โดยการปรับดอกเบี้ยจะเป็นการปรับขึ้นทั้ง 2 ขา ทั้งเงินฝากและเงินกู้ แต่ทุกธนาคารจะพยายามทำให้การส่งผ่านดอกเบี้ยกระทบต่อลูกค้ากลุ่มเปราะบางให้มีผลน้อยที่สุด เช่น ลูกค้ากลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ต้องผ่อนชำระค่างวดเป็นเวลานาน ธนาคารทั้งอุตสาหกรรมก็พยายามจะไม่ให้ปัจจัยดอกเบี้ยซ้ำเติมลูกค้ามากนัก แต่ขณะเดียวกันต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้น จึงต้องหาทางบริหารให้สมดุล

ดูแลกลุ่มรายได้น้อย

นายปิติกล่าวว่า ในส่วนของการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับไปอยู่ในระดับเดิม 0.46% เป็นเรื่องที่สมาคมธนาคารไทยและสมาชิกพูดคุยกันอยู่ เพราะอีกด้านจะเป็นการชะลอจ่ายชำระหนี้ให้ล่าช้าออกไป แต่อีกฝั่งจะเป็นต้นทุน จึงต้องพิจารณาให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

“ท้ายที่สุดแบงก์ต้องปรับขึ้น และคงพิจารณาไม่นานหลัง กนง.ส่งสัญญาณครั้งนี้ เนื่องจากภาพใหญ่ดอกเบี้ยยิ่งห่างน้ำก็จะไหลออกจากระบบ แต่ทั้งอุตสาหกรรมธนาคารพยายามให้กระทบกลุ่มรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางน้อยที่สุด ส่วนรายใหญ่ไม่ได้อ้างอิงดอกเบี้ย M Rate อยู่แล้ว เป็นการกู้เงินระยะสั้น ซึ่งต้นทุนเขาปรับขึ้นไปแล้ว”

ขณะที่นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในส่วนอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกสิกรไทยนั้น อาจจะต้องขอดูผลการประชุมของ กนง.วันที่ 28 ก.ย.นี้ ว่าจะออกมาเท่าไรก่อน ธนาคารจะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ขึ้นดอกเบี้ยฝากประจำ

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยของธนาคาร จะพิจารณาจากสัญญาณของ กนง.และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เชื่อว่าทุกธนาคารไม่อยากปรับขึ้น แต่การส่งสัญญาณนโยบายการเงินจำเป็นต้องส่งผ่านเข้าระบบเพื่อจะปราบอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตามหลักการจะปรับขึ้น 2 ขา แต่การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะเป็นการขึ้นในส่วนของเงินฝากประจำ (Fixed) และจะยังไม่ได้ปรับขึ้นในส่วนของเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) ที่มีสัดส่วนถึง 60% และการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ไม่จำเป็นต้องเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) จะเป็นการทยอยปรับเพื่อช่วยเหลือและประคองลูกค้า

อย่างไรก็ดี ในประเด็นเงินบาทอ่อนค่า มองว่าไม่ใช่ปัจจัยส่วนต่างดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่หลังจากเปิดเมือง การท่องเที่ยวกลับมาขยายตัว ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยพลิกกลับมาเป็นบวกได้ แม้ว่าดอกเบี้ยไทยและสหรัฐจะกว้างมากขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจแข็งแรง นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เชื่อว่าเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) จะไม่ได้ไหลออกมาจากส่วนต่างดอกเบี้ย และ ธปท.พยายามติดตามอย่างใกล้ชิด

“ทิสโก้เป็นธนาคารเล็ก จะดูตามการส่งสัญญาณของตลาด ดูการเคลื่อนไหวของแบงก์ใหญ่ เชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากขึ้น แต่ไม่ส่งผ่านดอกเบี้ยเลยก็จะไม่มีการปราบเงินเฟ้อ แต่สิ่งที่ห่วงและมีผลกระทบมากกว่าดอกเบี้ย คือ FIDF ที่ปัจจุบันลดเหลือ 0.23% และจะปรับขึ้นในต้นปีหน้า จะมีการส่งผ่านต้นทุนไปยังสินเชื่อทันที ซึ่งต้นทุนจะปรับขึ้น 0.40-0.60% ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดู”

ธอส.ยอมสูญพัน ล.ตรึง ดบ.ถึงสิ้นปี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ยืนยันจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับลูกค้าจนถึงปลายปี 2565 นี้ แม้ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากธนาคารต้องการแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล แม้จะทำให้ธนาคารรายได้หายไปกว่า 1,900 ล้านบาทก็ตาม

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 ธนาคารจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับตลาด โดยจะทยอยปรับตารางผ่อนในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ลูกค้าจะได้รับผลกระทบหลักพันบัญชี แต่หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.50% จะมีลูกค้าได้รับผลกระทบหลักหมื่นบัญชี แต่ธนาคารยังบริหารจัดการได้ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเป็นลูกค้าเงินกู้ต่ำกว่า 2 ล้านบาท การปรับอัตราชำระหนี้ก็จะไม่ได้เพิ่มสูงมาก

โดยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะมี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ลูกค้าใหม่ที่จะกู้ได้วงเงินน้อยลง เนื่องจากต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้น 2.ลูกหนี้ที่เป็น NPL และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ อาจจะมีภาระผ่อนมากขึ้น และ 3.ลูกหนี้ปัจจุบันที่อาจมีภาระการผ่อนชำระต่องวดมากขึ้น

“ขอให้ลูกค้าเข้าใจ อย่าแพนิกเกินไปเมื่อดอกเบี้ยขึ้น และแนะนำให้ไปดูสัญญาเงินกู้ของตัวเองว่าเป็นอย่างไร หากเป็นสัญญาเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยคงที่ เช่น บ้านล้านหลัง ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะอัตราดอกเบี้ยยังคงที่นานถึง 4 ปี แต่หากเป็นเงินกู้ผูกกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง อาจจะได้รับผลกระทบบ้างสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสูง อย่างไรก็ดี ธอส.มีนโยบายที่จะดูแลลูกหนี้ให้มากที่สุด เพราะมีการคำนวณเงินงวดที่มีความยืดหยุ่นรองรับไว้แล้วมากกว่าธนาคารทั่วไป”

คลังถก ธปท.รับมือค่าบาท

ขณะที่เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มีการหารือร่วมกับ ธปท.เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีก 0.75% เฟดตั้งเป้าว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นไปอีก 4-4.5% ดังนั้นหลายประเทศรวมถึงไทยต้องติดตามว่าการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง จะส่งผลอย่างไร ในส่วนของประเทศไทยก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ส่วนการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ธปท.จะเป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดีในการหารือกันได้ให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลักในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ได้แก่ 1.อัตราเงินเฟ้อ โดยจะต้องดูว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลต่อเงินเฟ้อ และมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน 2.การขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.จะต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้แบบปกติ และ 3.เงินทุนเคลื่อนย้าย โดยช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่ยังไม่ถือว่าผิดปกติ ซึ่ง ธปท.ก็มีการติดตามอย่างใกล้ชิด

“3 ปัจจัย เงินเฟ้อ-การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเคลื่อนย้ายของเงินทุน จะให้น้ำหนักในเรื่องใดมากกว่ากัน เป็นหน้าที่ของ กนง. และ ธปท.ที่จะเป็นผู้พิจารณา แต่ยืนยันว่ากระทรวงการคลังและ ธปท.ก็มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์มีความผันผวนมาก ธปท.ก็จะเข้าไปดูแล”

ธุรกิจรับมือต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี โดยแตะทะลุ 37 บาทกว่าต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น สะท้อนว่ามีเงินทุนไหลออก เนื่องจากสหรัฐมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และความต่างของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นยังดึงดูดเม็ดเงินจากประเทศต่าง ๆ ให้ไหลเข้าสหรัฐ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนี้ก็ยังถือว่าไม่อ่อนเกินไปหากเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ และไทยก็ไม่ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันเท่าไรนัก เพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ก็มีการอ่อนค่าลงเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของเฟดอย่างใกล้ชิด ที่มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ คาดว่าจะทำให้ดอกเบี้ยจะขึ้นไปถึง 4.5% ซึ่งจะกดดันให้ค่าเงินของประเทศต่าง ๆ อ่อนค่าลงอีก รวมถึงประเทศไทย ขณะที่ของไทยก็จะมีการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้งเช่นกันซึ่งคาดว่าจะขยับดอกเบี้ยขึ้นประมาณ 0.5% แน่นอนว่าภาคเอกชนและประชาชนจะต้องมีการปรับตัว เพราะเมื่อเศรษฐกิจในประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว ก็จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามมา ซึ่ง ธปท.เองก็สามารถใช้อัตราดอกเบี้ยนี้เป็นเครื่องมือควบคุมไม่ให้บาทอ่อนจนเกินไป เชื่อว่าปลายไตรมาสที่ 4 ค่าเงินบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในกรอบ 36.5-37.0 บาท

ภาคธุรกิจเผชิญกับต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้นหลาย ๆ เรื่อง อาทิ ราคาพลังงาน วัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมไปถึงปัญหาเงินเฟ้อ ช่วงเวลาต่อจากนี้อาจจะต้องเตรียมใจรับกับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นเพิ่มเติม แต่ก็เชื่อว่าช่วงเวลาการขึ้นดอกเบี้ยนั้น เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศพร้อมแล้ว อย่างไรก็ตามต้นทุนทางธุรกิจต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ในเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งหอการค้าไทยจะร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้กลุ่ม SMEs นี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าถึงสินเชื่อด้วยดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนมากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0