โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน” ผู้พลิกเมืองยามราตรีให้เป็นมิตรต่อทั้งคน พื้นที่ และนักท่องเที่ยว

นิตยสารคิด

อัพเดต 19 เม.ย. เวลา 00.43 น. • เผยแพร่ 19 เม.ย. เวลา 00.43 น.
night-mayor-cover
night-mayor-cover

192,000 ล้านบาท คือมูลค่าที่หลั่งไหลจากกิจกรรมของเศรษฐกิจในยามค่ำคืน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1% ของจีดีพีรวมของประเทศไทย อ้างอิงตัวเลขจาก Money Lab เมื่อปีล่าสุด

1% บ่งบอกว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจกลางคืนยังไปได้ไกลอีกมาก และยิ่งพิจารณาร่วมกับสภาพเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร ที่มีสิ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการเติบโตในยามราตรีอย่างมากมาย ดังนั้นการพัฒนาเมืองในยามค่ำคืนจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้เมืองเติบโตทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ มูลค่าของเงินที่ไหลเข้าประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงในแง่ของสังคมที่จะสมานคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวให้ดำเนินไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น

กระแสการตื่นตัวของการศึกษาเศรษฐกิจกลางคืน
แนวโน้มใหม่ของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ดูเหมือนว่าดวงจันทร์จะค้างฟ้านานกว่าดวงอาทิตย์ ในช่วงประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นของการศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของเศรษฐกิจกลางคืนมากขึ้น จนทำให้การมองพื้นที่ในยามค่ำคืนเป็นเสมือนโลกความจริงอีกใบที่ควรได้รับการกำกับดูแล

เจสส์ เรีย (Jess Reia) อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการข้อมูล มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ได้วาดภาพคร่าว ๆ ให้กับเศรษฐกิจกลางคืนว่า เวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาที่มีสองสิ่งที่ดูจะขัดแย้งกันแต่เกิดขึ้นพร้อมกันนั่นคือ ปาร์ตี้ เสียงรบกวน และกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย Vs. การนอนหลับและความเงียบสงบ เป็นต้น

Frida Aguilar Estrada / Unsplash

เมืองอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองแรกของโลกที่เล็งเห็นว่า เวลากลางคืนเป็นพื้นที่และช่วงเวลาที่ต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนและข้าราชการ แนวคิดนี้เริ่มมาตั้งแต่ราวปี 2002 และได้เกิดเป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า Nachtburgemeester หรือ Night Mayor หรือ ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน โดยผ่านการก่อตั้งจาก Stichting N8BM A’DAM ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไร ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่นายกเทศมนตรีและสภาเมืองเกี่ยวกับวิธีการออกแบบนโยบายเพื่อส่งเสริมชีวิตยามค่ำคืนให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคม และชาติพันธุ์ในเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์

ต่อมาในปี 2017 เมืองนิวยอร์กก็ได้นำแบบแผนความสำเร็จจากเมืองอัมสเตอร์ดัมมาใช้ ไล่เลี่ยกันกับอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกอย่างเช่น เบอร์ลิน ปารีส วอชิงตัน ดี.ซี. และไม่เพียงแต่หัวเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น ยังมีเมืองอย่างโบโกต้า เมืองหลวงของโคลัมเบีย และซาน ลุยส์ โปโตซี ของเม็กซิโกอีกด้วย

แนวโน้มความสนใจใน “เมืองกลางคืน” ยังถูกพูดถึงในแวดวงวิชาการเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีการผสมผสานศาสตร์จากหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยสังเคราะห์ความซับซ้อนของระบบนิเวศทางเศรษฐกิจกลางคืนในชื่อว่า Night Studies ตัวอย่างผลงานการศึกษา ได้แก่ ผลกระทบจากมลภาวะทางแสงในยามค่ำคืนต่อผู้คนในชุมชน การทยอยปิดกิจการไนต์คลับของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำลายความเข้มแข็งต่อชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง ไปจนถึงผลกระทบจากย่านธุรกิจกลางคืนส่งผลให้เกิดการรุกที่และขึ้นค่าเช่าที่อย่างไร

แน่นอนว่า ทรัพยากรแรงงานกลางคืนเป็นเฟืองชิ้นหลักของวงจรเศรษฐกิจนี้ จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้รวมตัวกันเรียกร้องโลกกลางคืนแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะภายหลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ถาโถม ชุมชนผู้ใช้ชีวิตในยามค่ำคืนจากทั่วโลกได้ออกแถลงการณ์ในปี 2022 ในชื่อว่า Rise Up for a better future-The Nighttime Manifesto โดยแถลงการณ์ชิ้นนี้มีใจความหลักอยู่ที่การมุ่งสร้างวิถียามค่ำคืนที่ปลอดภัย ยืดหยุ่น และยั่งยืน ทั้งต่อตัวเราเองและต่อชุมชน พร้อมหลัก 5 ข้อเพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญในการยืนหยัดในครั้งนี้ อันได้แก่

  • รู้เท่าทัน (Aware): เรามุ่งหมายให้ชุมชนของเรามีความรู้ความเข้าใจ โดยการให้การศึกษาและมีส่วนร่วมกับประเด็นด้านวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในยุคปัจจุบัน
  • ชุมชน (Communal): ชุมชนของเราเป็นชุมชนที่ยอมรับผู้อื่น ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบร่วมกัน โดยการดำเนินงานของเรามุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ร่วมกัน
  • สร้างสรรค์ (Creative): เราสนับสนุนความพยายามด้านศิลปะและนวัตกรรม โดยการกระทำของเรามีแรงผลักดันจากจินตนาการอันสร้างสรรค์
  • ปลอดภัย (Safe): พื้นที่ กิจกรรม และการทำงานของเรามุ่งเน้นไปที่สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน
  • ยั่งยืน (Sustainable): การกระทำของเราให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางสังคม วัฒนธรรม การเงิน และสิ่งแวดล้อมของฉากทัศน์ (Scene) ยามค่ำคืนของเรา

Can Pac Swire / Flickr

ถอดบทเรียนจากอัมสเตอร์ดัม ปราการแรกของผู้ว่าฯ เที่ยงคืนโลก
โจทย์ใหญ่ที่ผู้ว่าฯ เที่ยงคืนต้องรับผิดชอบคืออะไรบ้าง ที่จะช่วยให้เมืองในยามค่ำคืนเจริญรุ่งเรืองได้ไม่แตกต่างไปจากตอนกลางวัน

“ที่อัมสเตอร์ดัม ผู้คนรู้สึกว่าเมืองอัมสเตอร์ดัมกลายเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ดึงดูดแต่นักท่องเที่ยว ไม่ใช่เป็นสถานที่สำหรับชาวอัมสเตอร์ดัมเองที่จะออกไปเที่ยว ออกไปพบปะผู้คน และมีชีวิตยามค่ำคืนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และแน่นอนว่า ชีวิตยามค่ำคืนยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมากอีกด้วย” มิริก มิลาน (Mirik Milan) ผู้ว่าฯ เที่ยงคืนของเมืองอัมสเตอร์ดัมให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Public Radio, NPR) ถึงปัญหาที่ทำให้เขาหันมาขับเคลื่อนประเด็นนี้”

ยามค่ำคืนมาพร้อมกับความมืดและสิ่งผิดกฎหมาย นี่คือภาพจำทั่วไปของคนจำนวนมาก หลายครั้งเมื่อมีปัญหาในยามค่ำคืน ปฏิกิริยาแรกจากเมืองต่าง ๆ จึงมักเป็นการสั่งให้หยุดทุกอย่าง แทนที่จะรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมาหาทางแก้ไขร่วมกันเหมือนอย่างที่เราทำกันในเวลากลางวัน ด้วยเหตุนี้ มิลาน ผู้ซึ่งเข้ามาสู่โลกยามราตรีจากการเป็นโปรโมเตอร์ของงานปาร์ตี้ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ชื่อว่า Electro Night Rauw จึงอยากมาเพิ่มศักยภาพให้กับโลกหลังพระอาทิตย์ตก และเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางในการประสานขอความช่วยเหลือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตอนกลางคืน

Mirik Milan
Philippe Vogelenzang / Wikimedia Commons

“เราอยากเป็นเหมือนสะพานที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเมือง เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนในเมือง” ทั้งนี้ไม่ได้หมายว่า เราต้องการปาร์ตี้เพิ่มมากขึ้นหรือเราต้องการเทศกาลเพิ่มมากขึ้น มิลานขยายความ “งานของเราคือการมุ่งเน้นไปที่การสร้างสมดุลที่ดีระหว่างคนในพื้นที่และหน่วยงานผู้ดูแล”

ปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมมองของเขาก็คือ คนในพื้นที่ ซึ่งคือคนที่รู้เห็นปัญหา แต่กลับไม่มีสิทธิ์ได้พูดคุยโดยตรงกับผู้ดูแลหรือผู้ออกกฎหมาย นั่นก็คือหน่วยงานรัฐ มิลานจึงเรียกตัวเองว่าเป็นเหมือน “กบฏผู้สวมสูท” (Rebel in a suit)

“คนที่พูดได้แค่ภาษายามค่ำคืนจะลำบากในการนำเสนอความคิดเห็นให้สภาเมืองรับฟัง ดังนั้นถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง คุณต้องพูดภาษาเดียวกัน” มิลานอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งกบฏผู้สวมสูทที่เขานิยาม

อันเดรียนา เซฮาส (Andreina Seijas) นักวิจัยปริญญาเอกจาก Harvard Graduate School of Design ได้ตีพิมพ์บทวิจัย (ซึ่งมีมิลานเป็นผู้เขียนร่วม) ลงในวารสาร Urban Studies ของทางมหาวิทยาลัยในชื่อ “Governing the night-time city: The rise of night mayors as a new form of urban governance after dark” ทั้งสองสังเกตว่า แนวโน้มของการมีผู้ปกครองเมืองในยามค่ำคืนสูงขึ้นในรอบทศวรรษล่าสุด โดยเฉพาะการมีตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการซึ่งนำร่องมาจากกรุงอัมสเตอร์ดัม “ช่วยให้ผู้ดำรงตำแหน่งสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพและกฎหมายของเมือง เพื่อให้ชีวิตยามค่ำคืนมีความปลอดภัย น่าอยู่ และมีความยั่งยืนมากขึ้น”

สองการคิดค้นของมิลานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้แก่ หนึ่ง โครงการนำร่องที่ชื่อว่า “24-hour license” โดยแรกเริ่มวางระยะเวลาไว้ 5 ปี เปิดตัวในปี 2013 โดยอนุญาตให้สถานบันเทิงย่านชานเมืองขยายเวลาเปิดทำการได้ (หมายความว่าจะเปิดและปิดเวลาใดก็ได้) ผลตอบรับจากนโยบายนี้ประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วโลก จึงทำให้โครงการนี้กลายเป็นนโยบายถาวรในปี 2017

“เดอ สคูล” (De School) หนึ่งใน 10 สถานที่ทดลองในโครงการนำร่องนี้ ได้เปลี่ยนจากอดีตวิทยาลัยเทคนิคขนาดใหญ่ ผันกลายมาเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ครอบคลุมทั้งร้านกาแฟช่วงกลางวัน บรรยากาศโปร่งสบาย ร้านอาหารชั้นเลิศ ห้องออกกำลังกาย พื้นที่จัดคอนเสิร์ต และหอศิลป์ ส่วนชั้นใต้ดินเป็นไนต์คลับขนาดใหญ่

มิลานกล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่า "แนวคิดก็คือการย้ายความแออัดของยามค่ำคืนออกจากใจกลางเมือง และนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ มาสู่ชานเมืองใกล้เคียง" ซึ่งแผนนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะเดอ สคูล มีลูกค้าเต็มทุกสุดสัปดาห์ตั้งแต่เปิดทำการ ขณะเดียวกันกิจกรรมวันธรรมดาและช่วงกลางคืนก็ได้รับความนิยมเช่นกัน

Pxhere

ใบอนุญาต 24 ชั่วโมง ยังเป็นการทดลองเพื่อดูว่า เวลาปิดสถานบันเทิงแบบเดิมซึ่งบีบให้ผู้คนหลายพันคนต้องออกจากปาร์ตี้ไปเดินบนถนนแคบ ๆ ใจกลางเมืองในเวลา 4 หรือ 6 นาฬิกา ขณะที่ "เพียงไม่กี่นาทีก่อนหน้านั้น พวกเขากำลังเต้นรำอยู่ในอีกโลกหนึ่ง" อาจไม่ใช่แนวคิดที่ดีเสมอไป

มิลานกล่าวต่อว่า "ถ้าคุณไม่เปิดไฟไล่คนออกจากไนต์คลับตอนตี 5 บางคนก็จะออกตอนตี 3 บางคนก็ออกตอน 8 โมงเช้า ค่ำคืนสามารถจบลงได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น มันดีกว่าสำหรับย่านนี้ในแง่ของเสียงรบกวน การทะเลาะวิวาท และดีกว่าสำหรับธุรกิจไนต์คลับด้วย"

อีกหนึ่งการริเริ่มของมิลานที่ประสบความสำเร็จก็คือโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า Rembrandtplein Gastvrij หรือ Hospitable Rembrandt Square project ที่เขาได้ทดลองเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2015 โดยได้รับการสนับสนุนจากนายกเทศมนตรีกรุงอัมสเตอร์ดัมผู้ล่วงลับ เอเบอร์ฮาร์ด ฟาน เดอร์ ลาน (Eberhard van der Laan)

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ยกระดับคุณภาพชีวิตยามราตรี และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยใน Rembrandt Square ซึ่งเป็นย่านบันเทิงยามค่ำคืนสำคัญของอัมสเตอร์ดัมที่มีรายงานเหตุการณ์ความรุนแรง อุบัติเหตุ และการก่อความรำคาญมากกว่า 200 ครั้งต่อปี โครงการนี้เป็นผลลัพธ์จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีการปิดการจราจรทั้งหมด (รวมถึงจักรยาน) หลังเวลา 23.00 น. และว่าจ้างเจ้าหน้าที่หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย 20 คน ให้สวมเสื้อแจ็คเก็ตสีแดงสดใสเดินตรวจตราพื้นที่ในคืนวันศุกร์และเสาร์ตั้งแต่เวลา 21.00 น. – 05.00 น. เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น คล้ายกับบรรยากาศในเทศกาลหรืองานสาธารณะ ผลลัพธ์หลังสิ้นสุดโครงการนำร่อง 3 ปีพบว่า รายงานการก่อความรำคาญลดลง 40% และรายงานความรุนแรงลดลง 20%

เอเบอร์ฮาร์ด ฟาน เดอร์ ลาน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงอัมสเตอร์ดัมกล่าวว่า “เมืองต่าง ๆ ต้องการเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหลมากขึ้น ในหลายแง่มุม หลายเมืองก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีเพียงไม่กี่แห่งที่รองรับได้อย่างแท้จริง” ในขณะเดียวกัน “เมืองต่าง ๆ ก็ยังคงต้องเป็นสถานที่ที่น่าอยู่สำหรับผู้คนที่ทำงาน พักอาศัย และนอนหลับภายในเมือง การรักษาสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หน้าที่ของผู้ว่าฯ เที่ยงคืนช่วยให้เราเข้าใจปัญหาได้ดียิ่งขึ้นจากทุกด้าน และคิดค้นวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ เช่น ใบอนุญาต 24 ชั่วโมงที่ทุกคนได้รับประโยชน์ มันสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงในอัมสเตอร์ดัม"

ปัญหาที่สุมตัวอยู่ในเมืองยามราตรียังมีอีกมากมาย ผันแปรไปตามแต่ละหัวเมืองทั่วมุมโลก และไม่ได้มีแค่เรื่องของผับบาร์ การดูแลยามค่ำคืนแท้จริงแล้วจึงไม่ได้อยู่แค่ช่วงเวลาที่ฟ้ามืดลง แต่คือการให้ทางเลือกใหม่สำหรับคนทุกกลุ่มวัยเพื่อเข้าถึงโครงข่ายซึ่งประกอบสร้างเป็นสังคมที่มีคุณภาพ เช่น ระบบการขนส่งสาธารณะ ความสะอาด ความเท่าเทียมทางเพศ เชื่อชาติ สีผิว ได้ในทุกช่วงเวลาตามความเหมาะสมของแต่ละคน

Ananthu / Pexels

แคว้นคาตาลันเป็นตัวอย่างล่าสุดที่ประกาศว่าจะมีการตั้งผู้ว่าฯ เที่ยงคืนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากสำนักข่าว Catalan News โจทย์ที่ต้องมาขบคิดกันต่อก็คือว่า เราจะนำตัวอย่างจากประเทศอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้อย่างไร และได้มากน้อยแค่ไหน เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธศักยภาพของกรุงเทพฯ ที่รอวันเติบโตด้วยความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของเศรษฐกิจยามค่ำคืนนี้

ที่มา : บทความ “Amsterdam's 'Night Mayor' On The Nightlife Balancing Act” จาก NPR
บทความ “Can we manage the urban night? A conversation with Amsterdam’s Night Mayor” โดย Andreina Seijas
บทความ “Q&A: Mirik Milan, Night Mayor of Amsterdam” โดย Juha vant Zelfde
บทความ “What a ‘night czar’ can do to help nightlife survive” โดย Marion Roberts
บทความ “So You Want to Be a ‘Night Mayor’” โดย Linda Poon
บทความ “Why more cities are hiring ‘night mayors’ and establishing forms of nighttime governance” โดย Jess Reia
บทความ “The stuff of night mayors: Amsterdam pioneers new way to run cities after dark” โดย Jon Henley
บทความ “Andreina Seijas charts the emergence of the “night mayor”—an advocate, mediator, and policy-maker for a city’s nocturnal life” โดย Travis Dagenais
บทความ “Barcelona to appoint night mayor in charge of nocturnal cultural activities” จาก CATALAN NEWS
บทความ “Governing the night-time city: The rise of night mayors as a new form of urban governance after dark” โดย Andreina Seijas และ Mirik Gelders
เว็บไซต์ “nachtburgemeester.amsterdam” จาก nachtburgemeester.amsterdam/English
แถลงการณ์ “Rise Up for a better future-The Nighttime Manifesto” จาก nighttime.org

เรื่อง : คณิศร สันติไชยกุล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0