โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘อนาคตไทย พ.ศ. 2585’ มองฉากทัศน์ไทยในอีกสองทศวรรษกับ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

The101.world

เผยแพร่ 26 ม.ค. 2565 เวลา 08.38 น. • The 101 World
‘อนาคตไทย พ.ศ. 2585’ มองฉากทัศน์ไทยในอีกสองทศวรรษกับ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

ภายใต้บรรยากาศของความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยซึ่งทบทวีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไม่กี่ปีที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญของการผลัดใบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่กำลังกลายไปเป็นมิติใหม่ๆ ที่เราต่างไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก

เมื่อเราไม่อาจห้ามกระแสธารของการเปลี่ยนแปลง ในช่วงต้นปีเช่นนี้จึงชวนมองไปสู่อนาคตอีกสองทศวรรษภายหน้า ว่าถึงเวลานั้น 'ฉากทัศน์' ที่จะปรากฏขึ้นในประเทศไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างจากปัจจุบันนี้มากน้อยแค่ไหน และอนาคตแบบใดที่เราถวิลหา

101 ชวนสำรวจฉากทัศน์ไทยกับ รศ.ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยในโครงการ ‘อนาคตไทย พ.ศ. 2585’ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเดินทางไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ให้ดีที่สุด

โครงการศึกษาวิจัย ‘อนาคตไทย พ.ศ. 2585’ คืออะไร เหตุใดจึงต้องเป็นระยะเวลา 20 ปี

ตัวเลข 20 ปีนั้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ จนแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่อาจแน่ใจได้และต้องถกเถียงกันว่าอนาคตของประเทศจะไปทางไหน ทั้งนี้ การคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์นี้ก็ไม่ได้ทำนายว่าใน 20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะภาพอนาคตในระยะยาวนั้นมีความไม่แน่นอนสูงเสียจนผู้เชี่ยวชาญเองก็ให้ภาพที่ชัดเจนไม่ได้ ดังนั้น เราจึงตั้งเลข 20 ซึ่งเป็นตัวเลขกลมๆ และเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอ

และอีกมุมหนึ่งคือมันยังเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนรุ่นของประชากรด้วย หมายความว่าจะมีคนรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งจะทำให้ภาพที่มองต่างไปจากปัจจุบันค่อนข้างมาก 

หากอยากศึกษาอนาคตไทยอีก 20 ปีข้างหน้า เราควรตั้งคำถามในไทยอย่างไร อาจารย์เห็นข้อค้นพบใดๆ จากงานวิจัยชิ้นนี้บ้าง

จริงๆ แล้วงานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยจากการประมวลผลงานวิจัยอื่นๆ ที่สำนักงานวิจัยแห่งชาติได้ให้ทีมงาน 9 ทีมในหน่วยงานต่างๆ ทำขึ้นมา โดยทีมผมมีอาจารย์มิ่งสรรพ์ ขาวสอาดเป็นหัวหน้าโครงการ ก็ประมวลประเด็นประชากร, เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรมต่างๆ จากวิจัยของทั้ง 9 ทีมเพื่อดูว่ามีประเด็นใดบ้างที่ควรตั้งขึ้นมาเป็นหลักของการมองอนาคต

ทั้งนี้ เราคิดว่ากรอบคิดที่สำคัญที่ใช้ในการประเมินเรื่องนี้คือความเสี่ยง เราคิดว่าประเทศไทยในปัจจุบันมีความเสี่ยงในทุกแบบ ไม่ว่าจะการใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงความเสี่ยงเชิงระบบ แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่คาดฝันอย่างการเข้ามาของโควิด-19 ก็ทำให้เราต้องเผชิญความเสี่ยงที่ไม่เคยพบมาก่อน

การมองความเสี่ยงจึงต้องตั้งหลักที่ว่า หากเราเจอความเสี่ยงไปเรื่อยๆ เราจะจัดการความเสี่ยงนั้นอย่างไร มีวิธีลดหรือเลี่ยงความเสี่ยงนั้นไหม หรือหากจะต้องล้ม เราจะตั้งหลักและฟื้นฟูขึ้นมาอย่างไรให้เร็วที่สุด

ภาพประกอบจาก Dan Freeman
ภาพประกอบจาก Dan Freeman

อาจารย์คิดว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่เราอาจจะได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

เรายึดหลักแนวคิดและวิธีที่เรียกว่าการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ (strategic foresight) เป็นกรอบที่บอกว่าไม่มีใครหยั่งรู้อนาคต โดยโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์แต่ละอย่างนั้นมีระดับแตกต่างกัน ทั้งยังมีผลกระทบที่ตามมาในระดับที่แตกต่างกันออกไปด้วย เราดำเนินกระบวนการที่เรียกกันว่า 'การกวาดสัญญาณ' ดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่างๆ นับตั้งแต่ด้านสังคม, ประชากร, เทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม, การเมืองไปจนถึงคุณค่าของคนในสังคม แล้วจากนั้นจึงดูอนาคตฐาน ว่าหากปัจจัยเหล่านี้ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป ในระยะสั้นหรือประมาณ 3-5 ปีนั้นจะส่งผลให้ประเทศไทยจะมีหน้าตาอย่างไร

แต่หลังจากนั้นเราจะเริ่มคาดการณ์ได้ยากขึ้น เพียงแต่มันทำให้เราเห็นทางแพร่งบางอย่างสำหรับระยะยาว เป็น scenario หรือ 'ฉากทัศน์' ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าเราจะไปทางซ้ายหรือขวาของทางแพร่งนี้ แต่เรารู้ว่าถ้าเกิดเงื่อนไขแบบนี้ ประเทศไทยก็จะไปทางแพร่งหนึ่ง หรือหากมีเงื่อนไขอีกแบบ ประเทศไทยก็จะไปอีกทางแพร่งหนึ่ง 

เห็นฉากทัศน์อะไรในอนาคตประเทศไทยบ้าง

ภาพใหญ่ที่โครงการนี้เสนอคือ จะมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า นั่นคือปัจจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า 'การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีน้ำตาล' ซึ่งไม่ค่อยยั่งยืน หมายถึงการใช้ทรัพยากรอย่างปู้ยี่ปู้ยำและกอบโกย ซึ่งอีกขั้วหนึ่งของเศรษฐกิจสีน้ำตาลหรือเศรษฐกิจสีเขียวหรือคือการค่อยๆ ใช้ทรัพยากรที่มี ปัจจัยอีกด้านคืออำนาจเหนือทรัพยากร ซึ่งในอนาคต เราจะวัดกันว่าอำนาจเหนือทรัพยากรนั้นจะกระจายตัวหรือยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม 

ทั้งนี้ เมื่อเอาปัจจัยทั้งสองหรือแกนทั้งสองมาไขว้กัน นั่นคือแกนการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งมีด้านสีน้ำตาลกับด้านสีเขียว และแกนอำนาจเหนือทรัพยากรที่มีด้านกระจุกกับกระจายตัว เราก็จะได้ scenario หรือฉากทัศน์ออกมาสี่แบบ

ฉากแรกคือฉากที่เรายังเป็น 'กิ้งกือในเขาวงกต' หมายถึงเมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจยังเป็นสีน้ำตาล มีการใช้ทรัพยากรอย่างหนักหน่วงและขูดรีดแรงงาน พร้อมกันกับที่อำนาจเหนือทรัพยากรก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และชนชั้นนำ

แต่ถ้าเกิดการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรโดยที่การพัฒนาเศรษฐกิจยังคงเป็นสีน้ำตาล เราก็จะเป็น 'ปลาไหลพ้นโคลนตม' ในทางกลับกัน ถ้าไม่เกิดการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรแต่การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสีเขียว มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยมีนายทุนเป็นเจ้าของทรัพยากร เราก็จะเป็น 'ไก่ออร์แกนิกในเล้าไฮเทค'

แต่ถ้าเราข้ามพ้นสิ่งเหล่านี้ได้ โดยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นสีเขียว สร้างสังคมที่เป็นธรรมและทำให้เกิดการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรให้ได้ เราจะเข้าสู่ฉากทัศน์ที่เรียกว่า 'พิราบไร้พรมแดน'

ถ้าอย่างนั้น มองประเทศไทยวันนี้แล้วอาจารย์เห็นว่าเป็นอย่างไร มีโจทย์ใหญ่อะไรรออยู่

ประการแรก เรื่องประชากร ไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่มากในอนาคต ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจนั้นเชื่อว่าหลายคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าเรามีแนวโน้มด้านเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะอัตราการเจริญเติบโตต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้แต่เพื่อนบ้าน เชื่อว่าอีกไม่นานที่เวียดนามจะแซงไทยไปเช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์ ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยลดต่ำลง ขณะที่ด้านการเกษตรนั้นก็พบว่าเราสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ เช่นเดียวกับด้านอุตสาหกรรม

คนรุ่นผมเติบโตมากับยุคที่มีคำเรียกว่าความโชติช่วงชัชวาลย์ของประเทศไทย นั่นคือเป็นยุคอุตสาหกรรมที่เศรษฐกิจโตปีละ 10-20 เปอร์เซ็นต์ แต่ในเวลานี้เราไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้อีกแล้ว เพราะเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ที่ผ่านมานั้นเรารอดตัวมาได้เพราะการท่องเที่ยวเป็นหลัก ปีก่อนที่โควิด-19 จะเข้ามาถือเป็นปีทองของการท่องเที่ยวไทยขณะที่ภาคที่การเกษตรและอุตสาหกรรมถดถอย และนี่เองที่ทำให้เรามีความเสี่ยงเชิงระบบมากขึ้นเพราะเราพึ่งการท่องเที่ยวอย่างหนัก ทั้งที่อันที่จริงเราควรพยายามกระจายความเสี่ยงไปในเศรษฐกิจด้านต่างๆ ด้วย แต่เมื่อเราไม่ได้กระจายความเสี่ยง เมื่อโรคระบาดเข้ามาก็กระทบการท่องเที่ยวโดยตรงจนส่งผลดังที่ทราบกัน

พร้อมกันนี้ โลกก็เปลี่ยนไปเยอะ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือด้านเทคโนโลยี ที่ผ่านมาประเทศไทยปรับตัวทางดิจิตัลค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราปรับตัวไม่ทันคือการบรรจบกันของอุตสาหกรรม (industry convergence) แต่เดิมใครจะไปคิดว่าธุรกิจส่งอาหาร ส่งของ ขนส่ง และทำแอพลิเคชั่นจะไปด้วยกันได้

ขณะเดียวกัน เรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกรวน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องของน้ำท่วม แต่ยังเป็นเรื่องภูมิอากาศและอุณหภูมิ ก็ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงเชิงระบบมากขึ้น

สุดท้ายคือเรื่องของการเมือง คิดว่าคงทราบกันแล้วว่าอย่างน้อยในระยะสั้นและระยะกลาง เราเห็นความเสี่ยงของไทยด้านการเมืองอยู่ในระดับสูงมาก ดังนั้น เมื่อประมวลผลทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วก็จะพบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงเชิงระบบใหญ่ๆ ในสองแนวคิดซึ่งเราเรียกว่า decoupling

อยากให้อาจารย์ขยายความว่าความเสี่ยงเชิงระบบดังกล่าวคืออะไร

ที่ผ่านมา ผมยังไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยระดับโลกนั่นคือภูมิรัฐศาสตร์ หมายถึงการแข่งขันกันเรื่องการทหาร เทคโนโลยีและเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเองก็ต้องมียุทธศาสตร์ต้องรับมือกับการแข่งขันเหล่านี้เช่นกัน ส่วนในประเทศเราเอง ความเสี่ยงสำคัญของเราอยู่ที่ภาครัฐ ทั้งในความหมายของรัฐไทยที่เป็นต้นตอของความเสี่ยงเชิงระบบที่ใหญ่ที่สุด สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของการพัฒนาหรือไม่พัฒนาไปในอนาคต นับเป็นความเสี่ยงภายใน

ขอจำแนกว่าในอนาคต ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราเรียกว่า 'ตรีศูลของความท้าทาย' ประการแรกคือเรื่องโลกรวน เป็นปัจจัยที่ใหญ่มากๆ ซึ่งประเทศใดๆ ในโลกไม่มีทางหนีพ้น

ประการต่อมาคือความเครียดสะสม (chronic stress) กับ shock ยกตัวอย่างว่า โลกรวนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมอันจะสร้างความเครียดสะสม นอกจากนี้ โลกรวนก็จะทำให้เกิดภาวะ shock ได้ด้วยเช่นกันจากกรณีน้ำท่วมใหญ่ฉับพลันหรือระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นต้น

ประการที่สามคือ เทคโนโลยีพลิกผัน (artificial intelligence reality) คือการใช้เทคโนโลยีในระดับฐานรากซึ่งจะส่งผลอย่างมากโดยเฉพาะในอนาคตที่อุตสาหกรรมจะบรรจบกันเร็วขึ้นจนเราตั้งตัวไม่ทัน ดังนั้น ความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ทั้งหมดนี้นับเป็นสามความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ก่อนครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน และน่าจะเป็นโจทย์สำคัญของอนาคตประเทศไทย

เรามีความท้าทายในเชิงยุทธศาสตร์อยู่สองประเด็น นั่นคือการแยกออกจากกันของสองอย่าง (decoupling) หรือก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการใช้ทรัพยากร เพราะที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจล้วนแล้วแต่มาจากการใช้ทรัพยากรอย่างปู้ยี่ปู้ยำ โจทย์สำคัญของโลกต่อจากนี้คือจะ decoupling อย่างไรระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการใช้ทรัพยากร หรือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจยังโตได้โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง 

การ decoupling ประการต่อมาคือ ในอนาคต ผลิตภาพจะสูงขึ้นเพราะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เราจึงต้องตั้งคำถามต่อผลิตภาพกับค่าจ้างแรงงานด้วย คิดว่าถ้าเรายังใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศไทยไปเรื่อยๆ เราน่าจะสร้างผลิตภาพได้มากขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานจะไม่เพิ่มตาม แปลว่าความท้าทายเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจะยังเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือ เราจึงต้องทำให้เศรษฐกิจโตได้โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่หากเราจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยก็อาจทำให้ค่าจ้างไม่เพิ่มขึ้น ถือเป็นภาวะ dilemma เลยก็ว่าได้ 

นัยหนึ่ง การจะเปลี่ยนแปลงการเติบโตทางเศรษฐกิจสีน้ำตาลแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงต้องเป็นการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ เป็นการเปลี่ยนด้านการผลิต การบริโภคและการขนส่งด้วย ทั้งนี้ อนาคต ไทยต้องรับมือกับภาวะโลกรวน เราต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้แล้วเพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องเปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน

ปัญหาคือการเปลี่ยนนั้นต้องพึ่งกำลังภายในของภาครัฐพอสมควร เพราะการเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อยอาจไม่ทัน และการเปลี่ยนครั้งใหญ่มักมีลักษณะเป็น top down และพึ่งทุน แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องการความเป็นธรรมด้วย กล่าวได้ว่าเราต้องทำใหญ่ ทำเร็วแต่ก็ต้องเน้นความเป็นธรรม ต้องให้คนมีส่วนร่วม ถือเป็น dilemma  และเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก 

หมายความว่า เราต้องผสมผสาน decoupling ทั้งสองประเด็นกับภาวะ dilemma เหล่านี้ให้ได้  

มองว่าความเสี่ยงไหนที่สำคัญและเป็นอันตรายต่อประเทศไทยในปัจจุบันที่สุด

ถ้าเทียบภาพในปัจจุบันหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง เพราะการเมืองเป็นสิ่งที่กำหนดความสามารถของรัฐที่จะนำทางประเทศไทยให้ไปสู่ทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแต่ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมด้วย รัฐคือตัวกลางของการขับเคลื่อนไทยให้ไปสู่ภาพอุดมคติในฉากทัศน์ที่เราตั้งไว้ 

แต่ตอนนี้การเมืองกับรัฐเป็นเสมือนหัวใจที่ไม่รู้จะลงตัวอย่างไร เมื่อรัฐกับการเมืองไม่แน่นอนในด้านใดด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดความเสี่ยงในเชิงระบบ หากมองในระยะสั้น ผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่สำคัญในประเทศไทยคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ตอนนี้เราเป็นเหมือนกบที่ทะเลาะกันอยู่โดยที่สภาพอากาศของโลกก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเราทะเลาะกันใกล้จะเสร็จก็ปรากฏโลกแย่เกินกว่าที่เราจะจัดการได้ แต่ถึงอย่างไร เราก็ต้องลดและเลี่ยงความเสี่ยง หรือหากว่าเกิดผลกระทบ เราจะฟื้นฟูอย่างไร ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงระยะยาวและน่ากลัวอย่างยิ่งในภายภาคหน้า

ก่อนหน้าการเข้ามาของโควิด-19 ประเทศไทยก็เผชิญกับความเสี่ยงอยู่แล้ว อาจารย์คิดว่าโรคระบาดซ้ำเติมหรือเปิดแผลความเสี่ยงใหม่ๆ ในไทยมากแค่ไหน

ในเชิงการวิเคราะห์ เราเรียกโควิด-19 ว่าเป็น shock ส่วนปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมอยู่ในประเทศมานานนั้นเป็น chronic stress เมื่อมาประสบกันก็ทำให้ทุกอย่างที่ถูกซุกไว้ใต้พรมนั้นเผยตัวออกมา

แน่นอน ผมคิดว่าโควิด-19 เป็นสิ่งที่แย่มากๆ มันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก แต่ในอีกมุมมันก็ทำให้เราตระหนักรู้ว่าประเทศไทยจะเป็นแบบเดิมต่อไปไม่ได้แล้ว เราต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง เราจะเอาทุกอย่างซุกไว้ใต้พรมแล้วค่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ ทีละจุดไม่ได้แล้ว อย่างน้อยในเชิงกระบวนทัศน์ ความคิดคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็เห็นแล้วว่าประเทศไทยไปต่อไม่ได้ถ้ายังปล่อยให้ปัญหาหมักหมม คือถ้าจะใช้อะไรสักอย่างจากสถานการณ์โควิด-19 ก็คือการยอมรับว่าประเทศนี้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในที่สุด

หากเราอยากแก้ไขปัญหาเชิงระบบทั้งหมดโดยเป็นธรรม จะแก้ปัญหาความเสี่ยงเชิงระบบอย่างไรได้บ้าง

ประเด็นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการคิดภาพอนาคต เราพยายามมองอนาคตให้ไกลๆ และพยายามดูว่าอะไรเป็นปัจจัยโครงสร้างเชิงพื้นฐานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบหรือโครงสร้างที่ช่วยลดความเสี่ยงไปด้วยในตัว

เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว เราคิดว่า เราต้องก้าวข้ามรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำตาลที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียวให้ได้ แน่นอนว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียวนั้นมีได้หลายแบบ แต่อย่างน้อยในเชิงทรัพยากรก็ต้องมีการใช้เศรษฐกิจเชิงหมุนเวียนและเป็นธรรมมากขึ้น ดังนั้น การลดความเสี่ยงเชิงระบบของไทยมีเพียงแค่การเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสีเขียว ในความหมายกว้างๆ คือการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

แต่ลำพังด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะเราเชื่อว่าการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสีเขียวก็อาจไม่เป็นธรรมก็ได้ เพราะอำนาจยังเป็นของชนชั้นนำและนายทุนอยู่ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอันจะนำไปสู่ความเสี่ยงในเชิงระบบได้อีก เราจึงเชื่อว่าต้องมีการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากร ไม่ให้กระจุกอยู่แค่กลุ่มคนไม่กี่กลุ่มคนหรือไม่กี่กลุ่มทุนหรือเฉพาะในมหานครอย่างกรุงเทพฯ ด้วย

ความท้าทายคือ เราจะพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างไรโดยที่มีการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรให้เป็นธรรม เพราะทรัพยากรในที่นี้ไม่ใช่แค่ดิน น้ำหรือปลา แต่ยังเป็นเรื่องของความรู้ ข้อมูลด้วย เพราะอนาคต ข้อมูลจะเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะเป็นแหล่งของความมั่งคั่งในอนาคตด้วย และเวลานี้ข้อมูลก็อยู่บนแพล็ตฟอร์มไม่กี่เจ้า แปลว่าพื้นฐานความมั่งคั่งในอนาคตตกอยู่ในมือกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม

อาจารย์มองว่าเราใกล้เคียงกับการเข้าใกล้ฉากทัศน์แบบไหนมากที่สุด หากประเทศไทยยังเป็นเช่นนี้ต่อไป 

แน่นอนว่าอนาคตเป็นอนันต์ มีความเป็นไปได้มากมาย แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ เราต้องลดให้อยู่ในจำนวนที่พอจะคิดได้ ซึ่งก็คือฉากทัศน์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

ฉากทัศน์ที่น่าจะใกล้กับปัจจุบันมากที่สุดคือการพัฒนาของไทยที่ยังมีลักษณะของการบริโภคและผลิตอย่างสิ้นเปลือง ขณะเดียวกันเราก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องอำนาจเหนือทรัพยากร มีไม่กี่คนในสังคมที่เปลี่ยนมือการถือครองอำนาจนั้นโดยที่อำนาจก็ยังกระจุกตัวแค่ในกรุงเทพฯ ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ฉากทัศน์ของเราออกมาเป็น 'กิ้งกือในเขาวงกต' คือเราไปไม่พ้นเสียที

หากเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งเศรษฐกิจกระจุกตัว ยังใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ขณะที่ก็มีสภาวะโลกรวน เราคงหนีไม่พ้นสถานการณ์ที่เรียกว่า 'โศกนาฏกรรมไทย' นั่นคือประเทศไม่อาจพัฒนาไปต่อได้จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งจากสภาพปัจจุบัน แต่ยังมีความขัดแย้งจากปัญหาโลกรวนที่จะยิ่งทำให้ปัญหาด้านการเมืองที่หมักหมมมานานยิ่งแย่เข้าไปอีก ถือว่าเป็นฉากทัศน์ที่แย่ยิ่งกว่ากิ้งกือในเขาวงกต ดังนั้น ชนชั้นนำไทยจึงต้องเจรจาต่อรองเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปต่อได้

สมมติว่าระยะสั้นเราสามารถต่อรอง ตกลงกันได้ในระดับหนึ่ง เราจะไปถึงฉากทัศน์ 'ปลาไหลพ้นโคลนตม' คือเรายังเป็นปลาไหลที่อยู่ในตมแต่ก็เริ่มพ้นมากแล้ว แม้จะยังอยู่ในโคลนตมซึ่งก็คือเศรษฐกิจที่ยังเป็นสีน้ำตาล ขณะที่ในเชิงอำนาจเหนือทรัพยากรมันเริ่มกระจายตัว มีการกระจายอำนาจจากกลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มทุนในกรุงเทพฯ ทำให้ภูมิภาคเริ่มโตขึ้น เรียกว่าเป็นเส้นทางกระจายอำนาจก่อนไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ การกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเดียวไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เราไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ มันเพียงแต่ทำให้เราพ้นโคลนตมขึ้นมาเท่านั้น

อีกฉากทัศน์หนึ่งคือ 'ไก่ออร์แกนิกในเล้าไฮเทค' ความออร์แกนิกก็เป็นสีเขียวอยู่บ้าง ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ว่ายังอยู่ในเล้า ไม่ได้เป็นไก่อิสระและยังต้องถูกเชือดอยู่ดี แปลว่าประเทศไทยมีโอกาสเข้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นด้วยเพราะกลุ่มทุนเริ่มเห็นแล้วว่าความมั่งคั่งอยู่ที่ธุรกิจสีเขียวในอนาคต

อย่างเวลานี้เราจะเริ่มเห็นแล้วว่าชนชั้นนำ ชนชั้นกลางบริโภคของออร์แกนิกเพราะทุกคนเชื่อว่าเป็นสิ่งดี การบริโภคที่ยั่งยืน สะอาด จะนำไปสู่การผลิตสิ่งเหล่านี้ ยังไม่นับว่ามีแรงกดดันจากการค้าระดับโลกทั้งสหภาพยุโรป (European Union-EU) อเมริกา ญี่ปุ่นหรือจีนเองก็ตาม ทำให้กลุ่มทุนไทยจำเป็นต้องเคลื่อนตัวเองไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้ได้ แต่ในฉากทัศน์นี้ คนไทยก็ยังเป็นไก่ในเล้าที่กลุ่มทุนใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกอบโกยจากเศรษฐกิจอยู่ดี 

ทั้งสองฉากทัศน์นับเป็นทางสองแพร่งที่มีความเสี่ยงและความเหลื่อมล้ำสูง ฝั่ง 'ปลาไหลพ้นโคลนตม' มีความเสี่ยงเชิงระบบจากการเมืองน้อยลงเพราะมีการกระจายอำนาจ คนเริ่มเข้าถึงอำนาจเชิงเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกรวนและเศรษฐกิจจะยังไม่เติบโตมากนักเพราะเป็นเศรษฐกิจแบบเดิมๆ

ในทางกลับกัน ฉากทัศน์ 'ไก่ออร์แกนิกในเล้าไฮเทค' ก็จะทำให้เรารวยขึ้น GDP ของประเทศก็คงโตเพราะบริษัทใหญ่ๆ ใช้เทคโนโลยีทันสมัยพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ แต่ก็จะมีแต่มีความเสี่ยงในเชิงระบบ เพราะมันจะไปสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นน้ำและชนชั้นอื่นๆ ที่ไม่ได้ผลประโยชน์จากระบบเหล่านี้ ผมเรียกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนเศรษฐกิจสีเขียวกับกลุ่มคนเศรษฐกิจสีน้ำตาล นำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบอีกแบบคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น จะเห็นว่าทั้งสองฉากทัศน์นี้ยังมีความเสี่ยงเชิงระบบอยู่แม้จะมีแหล่งของความเสี่ยงต่างกันก็ตาม

ท้ายที่สุด เราอยากไปให้ถึงฉากทัศน์ 'พิราบไร้พรมแดน' เราหวังว่าถ้าเราพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียวพร้อมกับที่มีการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรทุกรูปแบบ ก็จะเป็นภาพอุดมคติของไทยที่ทำให้ความเสี่ยงเชิงระบบน้อยลงทั้งเชิงเศรษฐกิจและเชิงการเมือง

กล่าวโดยสรุป การจะไปถึงฉากทัศน์ที่ผมกล่าวไปเบื้องต้นได้นั้นมีเส้นทางของกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรก่อนที่จะให้เศรษฐกิจเป็นสีเขียว หรือก็คือการกระจายอำนาจไปยังเทศบาล ค่อยๆ พยายามเปลี่ยนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น จังหวัด ชุมชนให้เข้าไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวให้ได้ โดยมีเงื่อนไขคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 

อีกด้านหนึ่งคือ ให้เศรษฐกิจเป็นสีเขียวก่อนแล้วค่อยกระจายอำนาจเหนือทรัพยากร คือให้กลุ่มทุนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ก่อน เพราะเราจำเป็นต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานก่อน เรียกว่าเป็น The Green New Deal ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ จะเกิดได้ก็ต้องผ่านการลงทุนระดับล้านล้านบาทขึ้นไป 

ไม่ว่าเราจะไปทางไหน ย่อมหนีไม่พ้นการลดการผูกขาดกลุ่มทุนด้วยพลังผู้บริโภคและกฎหมาย ไม่เช่นนั้นเราคงติดกับดักเศรษฐกิจสีเขียวที่ผูกขาดแบบเดิม

จากฉากทัศน์ต่างๆ อาจารย์มองว่าฉากทัศน์แบบใดจะเกิดในไทยเป็นอันดับแรก

ผมเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจนะ แต่ไม่ได้เชื่อในความหมายของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเดียว ตอนนี้อำนาจเหนือทรัพยากรมันกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และในมือกลุ่มทุน กลุ่มคนไม่กี่คนเท่านั้น ขั้นแรก เราจึงต้องกระจายอำนาจ (decentralized) แต่สิ่งที่เราคาดหวังคือ เราหวังว่าเราจะไปมากกว่าระบบอำนาจแบบแยกศูนย์ คือไม่ใช่กระจายอำนาจไปที่ อปท. แล้วต้องพึ่ง อปท. อย่างเดียว เพราะควรจะให้เกิดการเกื้อหนุนกันระหว่างระบบชุมชนกับระบบรัฐด้วย

แล้วเราไม่ควรกระจายแค่อำนาจในเชิงการปกครองอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรด้วย เพราะฉากทัศน์ไก่ออร์แกนิกในเล้าไฮเทคก็น่าห่วง มันแปลว่าถึงที่สุดกลุ่มทุนไม่น่ายอมให้เราไปสู่ภาพในอุดมคติได้ คงมีการล็อบบี้ มีวิธีการต่างๆ ที่ทำให้เราเข้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวภายใต้การครอบงำของกลุ่มทุนเดิม ดังนั้น หากให้เลือก ก็อยากให้ไปในเส้นทางของการกระจายอำนาจมากกว่า

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของอำนาจในประเทศไทย หากมองในเชิงเศรษฐกิจจะพบว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากระจุกตัวที่กรุงเทพฯ เกือบหมด ดังนั้น เราจึงควรไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ต่างจังหวัดให้ได้ด้วย ไม่เพียงแค่เรื่องน้ำประปา ไฟฟ้า ถนนหาทาง แต่รวมถึงเรื่องความรู้ ดิจิตัลต่างๆ ซึ่งเป็นการลงทุนจากเอกชนส่วนใหญ่ ดังนั้น ในด้านการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความมั่งคงในประเทศไทยในอนาคตก็ยังถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนในกรุงเทพฯ อยู่ดี

ดังนั้น ผมคิดว่าเป็นไปได้มากว่า เราจะไปสู่ฉากทัศน์ที่เป็นเศรษฐกิจสีเขียวก่อนการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากร จะเห็นได้จากการที่เวลานี้คนรวยจำนวนมากลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทน 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มีประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการบ้าง และเราจะร่วมผลักดันประเทศไทยไปสู่อนาคตในอุดมคติอย่างไร

อาจต้องเริ่มจากการด่าก่อนมั้ง (หัวเราะ) แต่คงไม่จบแค่นั้นหรอก 

ประเทศไทยจำเป็นต้องรื้อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก่อน ผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองนะ แต่คิดว่าการไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้นจำเป็นต้องเกิดการรื้อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในไทยอยู่มาก ที่ผ่านมาเราเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่โดยไม่รื้อสร้างระบบเก่า เราไปข้างหน้าโดยไม่จัดการปัญหาข้างหลังและทำให้ทุกอย่างมันหมักหมมไปหมด

ผมคิดว่ามันต้องมีเวทีที่เราสามารถต่อรองกันได้ โดยเป็นการต่อรองทั้งในเชิงสาระและเชิงกติกาด้วย ผมคิดว่าสิ่งที่ยังขาดไปคือการเมืองในชีวิตประจำวัน การต่อรองกับเพื่อนบ้าน กับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กับคนขายของข้างทาง การต่อรองต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องพื้นฐานมาก และเป็นการต่อรองที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนพรรคการเมืองในสภาด้วย มันคือเวทีการต่อรองในชีวิตประจำวันต่างๆ เราต้องรู้และปกป้องสิทธิของตัวเองในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ให้ปัญหาหมักหมมไปแล้วปล่อยไป และเมื่อเราส่งเสียงพิทักษ์สิทธิตัวเองแล้ว รัฐก็ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยโดยจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ

มองในภาพกว้าง เราควรวางยุทธศาสตร์นโยบายสาธารณะอย่างไร

เราแบ่งออกเป็นสี่เรื่อง ได้แก่เรื่องของการต่อรองของคนในสังคมหรือกระบวนการสานเสวนา เป็นกติกาประชาคมที่ไม่ใช่แค่เรื่องประชาพิจารณ์ สองคือเรื่องดิจิตัล ที่ผ่านมาไทยก็ทำนโยบายดิจิตัล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันมีการ digitalization ที่ไม่นำไปสู่การฟื้นฟูและตั้งหลักใหม่ของคนด้อยโอกาสในสังคม ผมว่านโยบายรัฐในปัจจุบันยังเน้นสิ่งสำคัญที่สุดก่อนแล้วค่อยๆ ให้มันไหลไปสู่คนด้อยโอกาส ซึ่งต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ตรงนี้เพราะเรามี digitalization ที่ทำให้กลุ่มทุนสร้างรายได้ได้เยอะ แต่เราละเลยแรงงาน ละเลยคนชนบท 

ลำดับสามคือการกระจายอำนาจ หมายถึงการกระจายอำนาจไปสู่เครือข่าย ผมอยากเห็นการอภิบาลด้วยเครือข่ายไม่ใช่การอภิบาลด้วย อปท. และลำดับสุดท้ายคือการรื้อสร้างและประกอบใหม่ของประเทศไทย ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันไปจนถึงเรือรบ นั่นคือเราต้องคิดกันได้แล้วว่าเราควรจะซื้อเรือรบเมื่อไหร่

อาจารย์มองแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลอย่างไร เพราะน่าจะเป็นเวลาไล่เลี่ยกับระยะเวลาในโครงการพอดี

หากอ่านจริงๆ ยุทธศาสตร์ชาติในเชิงสาระไม่ใช่ไม่ดี มันมีไอเดียที่ดูใช้ได้ แต่ปัญหาของยุทธศาสตร์ชาติคือกระบวนการที่ได้มาของยุทธศาสตร์มากกว่า สิ่งที่อยู่ในยุทธศาสตร์อาจเป็นสาระที่ไทยควรจะทำ แต่ไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์ในเชิง strategic เพราะเซนส์ของยุทธศาสตร์คือเราต้องมุ่งบางเรื่องและลืมบางเรื่อง แต่ยุทธศาสตร์ชาตินั้นคือการให้เราทำสิ่งที่คิดว่าดีบนโลกในทุกเรื่อง เราจึงไม่รู้ว่าเราจะไปทางไหนกันแน่ มันจึงไม่ได้แสดงถึงทิศทางในลักษณะของฉากทัศน์ และอาจไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องความไม่แน่นอน 

คือเราไม่ได้เสนอทางออกให้ประเทศไทย เราเพียงแต่เสนอทางเลือกและทิศทางที่มาจากการพูดคุยและต่อรองของคนในประเทศนี้ แต่ยุทธศาสตร์ชาติเขาเลือกมาให้เราแล้ว มันจึงมีลักษณะของการที่ไม่ได้คิดถึงความไม่แน่นอนในอนาคตเลย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0