โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

น่านบูมกาแฟ 2 หมื่นไร่ สร้างแบรนด์-เจาะนิชมาร์เก็ต

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 05 ก.พ. 2562 เวลา 02.28 น.
1547807855543

ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกเมล็ดกาแฟ 250,000 ไร่ ส่งออกกาแฟเป็นอันดับ 8 ของโลก ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปภายในประเทศปี 2560 สูงกว่า 90,000 ตัน/ปี ขณะที่ไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้เฉลี่ย 25,000 ตัน/ปี มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟ 60,000 ตัน/ปี และยังมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี

หนุนเกษตรกรปลูก 2 หมื่นไร่

“น่าน” ถือเป็นอีกจังหวัดที่มีการปลูกกาแฟ และพัฒนาสายพันธุ์กันอย่างจริงจัง โดยประเสริฐ ดอยลอม เกษตรจังหวัดน่าน กล่าวว่า กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ จ.น่าน มีพื้นที่ปลูกเป็น 3 อันดับ แหล่งปลูกขนาดใหญ่ของประเทศ มีอัตราการเติบโตปีละ 10% ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ป่าและพื้นที่สูง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และทำให้มีชื่อเสียง โดยปี 2561 สร้างรายได้ให้จังหวัดประมาณ 382.5 ล้านบาท ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมด 22,500 ไร่ เกษตรกร 2,400 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 15 อำเภอ ปลูกมากสุดที่ อ.ท่าวังผา 5,500 ไร่ รองลงมา อ.สองแคว 3,400 ไร่ อ.บ่อเกลือ 2,700 ไร่ ตามลำดับ แบ่งเป็นพันธุ์อราบิก้า 16,700 ไร่ เกษตรกร 1,700 ราย และพันธุ์โรบัสต้า 5,800 ไร่ เกษตรกร 700 ราย

กระบวนการผลิตเริ่มจากเกษตรกรปลูกและจำหน่ายกาแฟเชอรี่ให้กับจุดรับซื้อ ส่วนมากเป็นกลุ่มวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน ปัจจุบันราคากาแฟเชอรี่อยู่ที่ 15-20 บาท/กก. โดยผลผลิตจะออกช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งผู้รวบรวมจะนำไปแปรรูปเป็นกาแฟกะลา ่ปัจจุบัน จ.น่าน มีผลผลิตกาแฟกะลาปีละกว่า 3,825 ตัน เฉลี่ย 170 กก./ไร่ มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 80-120 บาท/กก. หรือเฉลี่ย 100 บาท/กก. ซึ่งถือว่าราคาดีกว่าพืชไร่ชนิดอื่น และรวบรวมจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการนำไปแปรรูปต่อ เช่น กาแฟสาร กาแฟคั่วพร้อมบด กาแฟบดบรรจุซอง เป็นต้น

ปลูกในป่าไร้เอกสารสิทธิอิง

ที่ผ่านมา ภาครัฐหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดน่านส่งเสริมด้านเกษตรแปลงใหญ่ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น เช่น อ.ปัว บ่อเกลือ และแม่จริม อีกทั้งสนับสนุนการแปรรูปและการส่งเสริมให้เป็นเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน เนื่องจากพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในป่า

ด้านกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาช่วยสนับสนุนการศึกษานอกระบบและส่งเสริมปลูกกาแฟร่วมกับป่า เช่น กรมป่าไม้ มุ่งเน้นปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้าใต้ร่มไม้ในเขตป่าที่อนุญาต โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสูง 800-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล รวมถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เข้ามาทำซีเอสอาร์ในอ.ท่าวังผา ให้เกษตรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หันมาปลูกพืชยืนต้นถาวร และรับผลผลิตไปแปรรูปและจำหน่าย

โดยมีการประสานงานกับพาณิชย์จังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน เพื่อเชื่อมตลาดให้มากขึ้น ตลอดจนร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนในการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า และมีการจัดโต๊ะเจรจาซื้อขายกับบริษัทเอกชน โดยให้จังหวัดพะเยาและเชียงราย เป็นเจ้าภาพ นำสินค้าไปจัดงานแสดงและจำหน่ายในภาคต่าง ๆ

หนุนสร้างแบรนด์รุกนิชมาร์เก็ต

นายสันติ หาญสงคราม ประธานชมรมกาแฟน่าน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในจังหวัดน่านโดยภาพรวมแล้วยังมีผลผลิตกาแฟไม่มากนัก ทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านปริมาณกับจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ได้ กลุ่มนักธุรกิจและเกษตรกรกาแฟในจังหวัดน่านจึงตั้งเป้าหมายทำเป็น “กาแฟทางเลือกสู่ตลาดเฉพาะ” สำหรับคอกาแฟ

โดยชมรมกาแฟน่านมีแนวทางสนับสนุนเกษตรกรต้นน้ำปลูกกาแฟอราบิก้า สายพันธุ์คาติมอร์ใต้ร่มไม้ใหญ่ตามธรรมชาติ ปลูกในที่สูงเป็นหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นโมเดลการเกษตรที่ช่วยอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การถ่ายทอดความรู้ในการแปรรูปกาแฟเพื่อเพิ่มมูลค่า และต่อรองราคา ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ของชุมชน ทั้งนี้ ไร่กาแฟในจังหวัดน่านส่วนใหญ่เป็นการทำในลักษณะครัวเรือน ไม่มีการจ้างแรงงานเก็บ ทำให้สามารถชูความพิถีพิถันในแบรนด์ได้

ปัจจุบันแบรนด์กาแฟน่านที่โดดเด่นแบ่งเป็นกาแฟอราบิก้า ได้แก่ ลาเปียน ของบ้านสันเจริญ, ภูสันคอฟฟี่, เอราบิก้า ซึ่งมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับเกษตรกรที่สันเจริญ, วิสาหกิจชุมชนดอยมณีพฤกษ์, เดอม้ง ดอยมณีพฤกษ์, Gem Forest ดอยมณีพฤกษ์, ดอยสกาด, ภูพัน ๙ อ.บ่อเกลือ, บ้านห้วยโทน อ.บ่อเกลือ และบ้านห้วยขวาก อ.บ่อเกลือ ส่วนโรบัสต้าจะมีเพียงภูมิใจ๋คอฟฟี่ฟาร์ม ทั้งนี้ ทิศทางในอนาคตของชมรมกาแฟจะมุ่งเน้นจัดอบรมความรู้เรื่องกาแฟโดยให้ชุมชนที่มีการผลิตกาแฟและแปรรูปเข้มแข็งเป็นพี่เลี้ยงเกษตรกรรายอื่น ๆ เพื่อพัฒนาอย่างทั่วถึง

“กาแฟที่ทำให้น่านเป็นที่รู้จักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ กาแฟจากบ้านมณีพฤกษ์ที่มีจุดเด่นด้านภูมิอากาศ คือ มีแต่ฤดูฝนกับฤดูหนาว สลับไปมาตลอดทั้งปี เป็นสภาพอากาศที่มีความซับซ้อนสูง ส่งผลให้กาแฟสุกช้ากว่าบริเวณอื่น ทำให้เกิดการเก็บสะสมรสชาติและแร่ธาตุในเมล็ดกาแฟที่นานกว่าและมีรสชาติโดดเด่น แม้แต่พันธุ์คาติมอร์ปกติ ยังสามารถทำให้มีรสที่หอมหวานได้ หากมีกรรมวิธีการแปรรูปแบบฮันนี่ และดรายโปรเซส”

 

“เกอิชา” สุดยอดสายพันธุ์อราบิก้า เกรดพรีเมี่ยม 8 พันบาท/กก.

ถึงวันนี้น่านมีกาแฟหลายแบรนด์มากมาย แต่เหนืออื่นใดน่านมีสุดยอดกาแฟสายพันธุ์พิเศษที่มีราคาขายหน้าร้านพุ่งสูงลิ่วถึง 8,000 บาท/กก. ชื่อ “เกอิชา” ซึ่งเป็นกาแฟจากปานามา และถูกนำเข้ามาปลูกที่ดอยมณีพฤกษ์เมื่อปี 2547 โดยเคเลบ จอร์แดน มิชชันนารีชาวอเมริกันในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ และเจ้าของแบรนด์กาแฟชุมชนGem Forest ทำให้ดอยมณีพฤกษ์ จังหวัดน่านกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

โดยสันติ หาญสงคราม ประธานชมรมกาแฟน่าน บอกว่า ในอดีตเชื่อกันว่าสายพันธุ์กาแฟเกอิชาไม่สามารถปลูกในประเทศไทยได้ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เซนซิทีฟ มีอายุเพียง 2-3 ปี ให้ผลผลิตต่อต้นน้อย และต้องมีพื้นที่ปลูกสูงจากระดับน้ำทะเลพอสมควร โดยกาแฟเกอิชาที่ปลูกในจังหวัดน่านจะมีรสชาติหวาน มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้ กาแฟเกอิชาของน่านนั้นจะมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์สเปเชียลพรีเมี่ยม ที่มีผลผลิตต่อปีไม่มากนัก โดยในปีที่ผ่านมาให้ผลผลิตได้เพียง 80 กก. ส่วนในปี 2562 เมล็ดกาแฟจะสุกราวเดือนมีนาคม ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีปริมาณผลผลิตเท่าใด

อีกทั้งหลังจากกาแฟเกอิชาเป็นที่รู้จักได้มีการติดต่อขอกล้าพันธุ์และเมล็ดเข้ามาเป็นจำนวนมากจนไม่พอแจกจ่าย ทว่ากลับไม่สามารถขยายพื้นที่การปลูกได้ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีขั้นตอนในการปลูกมาก ทำให้ทิศทางของชมรมกาแฟน่านและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มุ่งเน้นผลักดันการปลูกกาแฟเกอิชา แต่เป็นเน้นการอบรมให้เกษตรกร

นายวิชัย กำเนิดมงคล เจ้าของกาแฟแบรนด์เดอม้ง หนึ่งในแบรนด์กาแฟชุมชนบนดอยมณีพฤกษ์เล่าว่า สำหรับกาแฟเกอิชานั้น กลุ่มเดอม้งจะขายสารกาแฟในราคา 3,000 บาท/กก. ถ้าเป็นคั่วจะอยู่ที่ราคาส่ง 600 บาท/ขีด หน้าร้าน 800 บาท/ขีด หากเป็นกิโลกรัมส่งอยู่ที่ 6,000 บาท/กก. หน้าร้าน 8,000 บาท/กก. ทั้งนี้ กาแฟเกอิชาจะผลิตได้ไม่เกินปีละ 100 กก. ด้วยเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกยาก เนื่องจากพื้นที่ปลูกต้องมีความสูงเกินกว่า 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล และมีสภาพอากาศชื้นและหนาวเย็นตลอดปี ส่วนเกอิชาถ้านำเข้าจากปานามาจะมีอยู่หลายเกรด หากเป็นเกรดธรรมดาจะอยู่ที่ 7,000-8,000 บาท/กก. ส่วนเกรดพรีเมี่ยมจะอยู่ที่ 150,000 บาท/กก. ซึ่งมีผู้นำเข้าน้อยคน และจะนิยมใช้ในการแข่งขันกาแฟมากกว่า

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 1

  • 📎noka_fr
    ขอป่าแทรกบ้างได้บ่เจ้า...มันโล่งหน่ะเจ๊า กาแฟก็ชอบอยู่ 😅
    05 ก.พ. 2562 เวลา 03.24 น.
ดูทั้งหมด