โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ชุมนุมในสถานศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เปลวเพลิงลามทุ่ง

Khaosod

อัพเดต 28 ก.พ. 2563 เวลา 09.17 น. • เผยแพร่ 28 ก.พ. 2563 เวลา 09.16 น.
_111042210_1_cu_feb24.jpg

ชุมนุมในสถานศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เปลวเพลิงลามทุ่ง - BBCไทย

ดูเหมือนว่า มติศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี เมื่อ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้จุดไฟความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเกือบครบ 6 ปี

กระแสความไม่พอใจของกลุ่มผู้สนับสนุน อนค. โหมรุนแรงบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะทางทวิตเตอร์ #Saveอนาคตใหม่ กลายเป็นเทรนด์อันดับหนึ่งและมียอดทวิตมากกว่า 1 ล้านครั้ง ของวันที่ 21 ก.พ. หลังมติศาลรัฐธรรมนูญ

สองวันต่อมา น.ส. พรรณิการ์ วานิช อดีต กก.บห. ของ อนค. เปิด "อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา" กรณีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารไทยและกรณีทุจริต 1MDB ได้ส่งผลให้กระแสความไม่พอใจและความโกรธเคืองรัฐบาลยิ่งโหมรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นฐานเสียงที่สำคัญของ อนค.

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรค กล่าวว่า การยุบ อนค. และการตัดสิทธิทางการเมือง กก.บห. ในครั้งนี้ ไม่ใช่ "จุดจบ" แต่เป็น "จุดเริ่มต้น" ของการต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

THAI NEWS PIX

"แฟลชม็อบ" ติดเร็ว

ตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศทยอยจัด "แฟลชม็อบ" หรือ การชุมนุมแบบไม่ยืดเยื้อ และออกแถลงการณ์เพื่อคัดค้านมติยุบ อนค. ต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยการร่วมกันจัดกิจกรรมชูป้าย ร้องเพลง จุดเทียนและเปิดไฟจากโทรศัพท์มือถือ แล้วตามมาด้วยการชุมนุมเมื่อกลางสัปดาห์ ของนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมชั้นนำของประเทศ เช่น สตรีวิทยาและเตรียมอุดมศึกษา ท่ามกลางความพยายามสกัดกั้นของผู้บริหาร

ความไม่พอใจของนักเรียน-นักศึกษาเหล่านี้ดูเหมือนกำลังคุกรุ่น ท่ามกลางความกังวลของรัฐบาล ตั้งแต่การออกมาเตือนผู้ชุมนุมเรื่องการ "ทำผิดกฎหมาย" ผ่านการอภิปรายในสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ใช้กำลังทหาร "ฉีก" รัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 22 พ.ค. 2557 ไปจนถึง การออกประกาศของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อ 25 ก.พ. เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 2) โดย 1 ใน 7 มาตรการคือ "ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการชุมนุมนักศึกษาหรือบุคลากรในสังกัดกระทรวงฯ เป็นจำนวนมาก"

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียน-นักศึกษาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี เป็นการระดมพลย่างรวดเร็ว ชาญฉลาด โดยอาศัยเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทว่ายังจำกัดวงอยู่ในรั้วสถานศึกษา และยังไม่ออกไปตามท้องถนน คำถามใหญ่ก็คือ การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็นเพียงประกายไฟในกระทะที่ติดเพียงไม่นาน หรือจะกลายเป็นเปลวเพลิงที่ลามทุ่งจนสร้างการเปลี่ยนแปลง

THAI NEWS PIX

"แฟนคลับทางการเมือง"

แม้การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อขับไล่รัฐบาล และผู้ชุมนุมหลายคนปฎิเสธว่าไม่ใช่เพื่อ อนค. แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยุบ อนค. คือ "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่ทำให้เยาวชนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหว

แม้ว่า อนค. มีอายุพรรคเพียงหนึ่งปีเศษก่อนต้องจบชีวิตลง แต่ "พรรคส้มหวาน" ได้สร้างหลายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย โดยเฉพาะการดึงดูดการสนับสนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ใช้สื่อออนไลน์ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวพรรค สมาชิกพรรค และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 อนค. ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 3 มีคะแนนกว่า 6.3 ล้านเสียง

THAI NEWS PIX / นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าพรรอนาคตใหม่ มีผู้สนับสนุนเป็นคนหนุ่มสาวจำนวนมาก

ความนิยมของ อนค. เติบโตขึ้นพร้อมกับการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ และการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ฉีกตัวเองออกจากพรรคการเมืองรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ดี ความนิยมของ อนค. เป็นผลสืบเนื่องมาจากความนิยมของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

"ฟ้ารักพ่อ"

ในช่วงรณรงค์หาเสียง นายธนาธร ถูกพูดถึงในฐานะ "ดาวรุ่งแห่งการเมืองไทย" ด้วยบุคลิกลักษณะของความเป็นผู้นำ และการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ที่เขายึดถือ เขาใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้สนับสนุน ซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำ

จนกระทั่งการมาถึงของปรากฏการณ์ "ฟ้ารักพ่อ" ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา ในปี 2562 การเกิดขึ้นของ "ฟ้า" ซึ่งเป็นชื่อของตัวละครในละครโทรทัศน์เรื่องหนึ่งที่หลงรักผู้ชายที่เป็นนักธุรกิจ ฐานะมั่นคง ดูภูมิฐาน ได้ทำให้ความนิยมในตัวนายธนาธรเพิ่มขึ้นจนถึงขีดสุด เนื่องจากปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ทำให้นายธนาธร มีภาพลักษณ์ที่ "จับต้องได้" กลายเป็น "พ่อ" ของบรรดาเหล่า "ฟ้า" และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่นักการเมืองมี "แฟนคลับ" เป็นของตัวเอง

"นักการเมืองคนดัง"

โจนาธาน ดีน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยลีดส์ แห่งสหราชอาณาจักร ผู้ริเริ่มศึกษาปรากฏการณ์ "แฟนคลับทางการเมือง" (Politicized Fandom) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า การเกิดขึ้นของแฟนคลับทางการเมือง เป็นผลมาจากการแย่งชิงพื้นที่สื่อและการแข่งขันความนิยมในเชิงภาพลักษณ์ของ "นักการเมืองคนดัง" (Celebrity Politician) เพื่อดึงดูดฐานเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวโน้มเบื่อหน่ายกับการเมืองและนักการเมืองรูปแบบเดิม โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนเหล่านี้

PARIS JITPENTOM/BBC THAI

ดีนชี้ว่าปรากฏการณ์แฟนคลับทางการเมืองนี้ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการอธิบายรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่สื่อเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันค่อนข้างสูง

"แฟนคลับเกาหลี"

พลอยกมล สุวรรณทวิทย์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการสื่อสารและการเมือง มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ระบุในวิทยานิพนธ์ ของเธอว่า การเกิดขึ้นของ "ฟ้า" เป็นผลสืบเนื่องมาภาพลักษณ์และการแสดงออกของนายธนาธรที่มีลักษณะ "จับต้องได้" และ "แตกต่าง" จากนักการเมืองทั่วไป และการใช้โซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พฤติกรรมการชื่นชอบบุคคลของชาว "ฟ้า" ยังได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรม "แฟนคลับเกาหลี" อีกด้วย เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มคนที่เติบโตขึ้นท่ามกลางสื่อบันเทิงเกาหลี ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

"ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อกลุ่มของตนเอง การจัดกิจกรรมร่วมกันในนามของศิลปิน การคิดค้นแฮชแท็กเฉพาะเรื่อง เพื่อเป็นสื่อกลางในการและเปลี่ยนและถกเถียงแต่ละประเด็นอย่างชัดเจน กลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้กลุ่มผู้สนับสนุน อนค. มีความเหนียวแน่นและกระตือรือร้นในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมากกว่ากลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอื่น ๆ" พลอยกมล กล่าวกับบีบีซีไทย

THAI NEWS PIX
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 25 ก.พ.

ดีน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยลีดส์ เสริมว่า อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างนักการเมืองและแฟนคลับทางการเมืองนั้น ตั้งอยู่บน "ความผูกพันทางอารมณ์" ของแฟนคลับเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและยากที่จะวัดได้

อย่างไรก็ตาม พลอยกมลมองว่าการออกมาชุมนุมหลังมติยุบ อนค. แสดงให้เห็นว่า ความผูกพันทางอารมณ์ในกลุ่มผู้สนับสนุน อนค. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความเข้มข้นมากพอ และแสดงให้เห็นว่า "ฟ้า" ไม่ได้มั่นคงในตัว "พ่อ" เท่านั้น แต่ยังคงมั่นคงในอุดมการณ์อีกด้วย จนสามารถแปรเปลี่ยนความผูกพันทางอารมณ์เป็น "พลังทางการเมือง" ในเบื้องต้นได้สำเร็จ แต่คำถามคือ จะมีพลังมากเพียงไรที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

ปฏิทินกิจกรรมชุมนุมของนักศึกษา

วัน-เวลา สถานที่ 22 ก.พ. 17:30 น. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 17:30 น. มหาวิทยาลัยนเรศวร 17:30 น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) 23 ก.พ. 19:00 น. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อ.หาดใหญ่) 19:30 น. มหาวิทยาลัยบูรพา 24 ก.พ. 16:30 - 18:30 น. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17:30 น. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) 25 ก.พ. 15:00 น. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 17:00 น. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 17:00 น. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (รังสิต) 18:00 น. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 18:15 - 18:45 น. มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) 26 ก.พ. 16:10 น. โรงเรียนเดชอุดม (จ.อุบลราชธานี) 16:30 น. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี) 16:30 - 17:00 น. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 16:30 - 18:00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 17:00 น. มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) 17:00 น. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 17:30 น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) 18:00 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี 18:00 - 19:30 น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 27 ก.พ. 8:30 น. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 16:30 น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์ลำปาง) 17:00 น. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ 17:00 - 17:30 น. มหาวิทยาลัยรามคำแหง 17:00 - 18:00 น. มหาวิทยาลัยรังสิต

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

แค่ประกาย หรือ ไฟที่ดับไม่ลง

สัปดาห์แรกของการชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษายังคงจำกัดอยู่ในพื้นที่สถานศึกษาในรูปแบบ "แฟลชม็อบ" แม้มีป้ายข้อความโจมตีรัฐบาล และบางข้อความที่รัฐบาลมองว่า "หมิ่นสถาบันฯ" ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เลือกการปิดหน้าด้วยหน้ากากอนามัย หลายคนจำความได้ถึงความโหดร้ายของเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ค. 2553 นอกจากนี้การโดนกล่อมเกลาจากรัฐว่าการชุมนุมจะนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจ และ "ความหวาดกลัว" ว่าการลงถนนจะเป็นช่องทางให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง จึงทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตัดสินใจยังไม่ลงถนน

จนถึงขณะนี้ เรายังไม่เห็นผู้นำการชุมนุม "มืออาชีพ" ที่เข้ามาช่วยจัดตั้งการชุมนุมอย่างเป็นระบบ และทุนสนับสนุนการชุมนุมหากต้องยืดเยื้อ เราได้เห็นเพียงแฟลชม็อบในมหาวิยาลัยและโรงเรียนที่ใช้ แฮชแท็ก คำคล้องจอง ขยายเครือข่ายผู้ร่วมอุดมการณ์ โดยมีเว็บไซต์กลางประสานงานเผยแพร่ปฏิทินการชุมนุมของแต่ละวัน แต่ละแห่ง

THAI NEWS PIX

โกรัน สตานิค นักวิชาการอิสระด้านภาพยนตร์ศึกษาและวาทกรรมทางสื่อ ให้ความเห็นว่า การชุมนุมของเยาวชนไทยครั้งนี้พิสูจน์ว่า การเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์สามารถนำไปสู่การชุมนุมในที่สาธารณะได้จริง แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกันมากกว่านี้ หากต้องการเคลื่อนไหวอย่างเต็มรูปแบบ

"การชุมนุมเกิดขึ้นแล้ว กระแสจุดติดแล้ว แต่ประเด็นสำคัญที่เราควรพิจารณาต่อจากนี้ คือ ใครหรือกลุ่มใดจะเป็นผู้นำการชุมนุมต่างหาก เพราะการมีผู้นำที่ชัดเจน จะช่วยกำหนดทิศทางของผู้ชุมนุมได้ และจะทำให้การชุมนุมมีประสิทธิภาพสูงสุด" อาจารย์สตานิค กล่าวกับบีบีซีไทย

THAI NEWS PIX

"วาทกรรมที่เป็นเอกภาพ"

ดร. เพตรา เดซาโตวา นักวิจัยด้านการเมืองไทย จากสถาบันนอร์ดิกด้านเอเชียศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน มองการชุมนุมของเยาวชนครั้งนี้ว่าเป็นการประท้วงทางการเมืองของนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดนับแต่ปี 2519 แต่การชุมนุมยังจำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และนับว่ายังเล็กกว่าการชุมนุมของฝ่ายต้านและสนับสนุน นายทักษิณ ชินวัตร ที่ออกไปบนท้องถนนในช่วง 2548-2557

อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาครั้งนี้กำลังสร้างความไม่สบายใจให้รัฐบาล

"เป็นที่ชัดเจนว่า อดีตพรรคอนาคตใหม่ได้ปลุกพลังคนหนุ่มสาวชาวไทยให้กลับมาสนใจในการเมืองอีกครั้ง การยุบพรรคยิ่งเป็นการเติมฟืนเข้าไปในไฟแห่งความรู้สึกแปลกแยกและขมขื่นที่มีต่อบรรดาชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมของประเทศ" นักวิชาการสาวชาวสโลวักกล่าวกับบีบีซีไทย

THAI NEWS PIX

ดร. เดซาโตวา เสริมว่า เป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของพวกนักเรียน-นักศึกษาในการดึงการสนับสนุนจากสาธารณชนในวงกว้างในภาวะที่สังคมไทยยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านบรรดาชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมของประเทศ

"ถ้าเทียบกับการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี 2516 และ 2535 กลุ่มผู้สนับสนุนของอนาคตใหม่หรือกลุ่มอื่น ๆ ที่มีแนวคิดคล้ายกัน ยังไม่สามารถหาวาทกรรมใดที่เป็นเอกภาพที่จะสามารถดึงประชาชนส่วนใหญ่มาสนับสนุนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ … ประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นประเด็นที่เต็มไปด้วยข้อขัดแย้ง ในขณะที่ประชาชนมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง หลายความเห็นเป็นเรื่องยากที่จะสมานฉันท์กันได้"

ชนชั้นสูง ทุน และ ปืน

ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การเคลื่อนไหวของเยาวชนในครั้งนี้ยังไม่มีอิทธิพลหรือเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ในเร็ววัน เนื่องจากยังไม่ได้รับการสนับสนุนจาก 3 พลังหลักของการเมืองไทย คือ "ชนชั้นสูง-ทุน-ปืน"

"การเคลื่อนไหวทางถนนถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง" ดร.บุญเกียรติ กล่าวพร้อมยกตัวอย่างการเคลื่อนไหว เมื่อปี 2556-2557 ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อ ขจัด "ระบอบทักษิณ"

ดร.บุญเกียรติ เสริมด้วยว่าการเดินขบวนของนักศึกษา-ประชาชน ที่นำไปสู่การโค่นล้มจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานเกือบ 10 ปี เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จะสำเร็จไม่ได้หาก พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก สมัยนั้น "ไม่แตกหักทางอำนาจ" กับจอมพลถนอม

"การต่อสู้ไม่เคยจบในวันเดียว"

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ อดีตคนยุค 14 ต.ค. 2516 และ สื่อมวลชนอิสระ แสดงความเห็นทางบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อ 25 ก.พ. ว่า บรรยากาศของความ "ไม่ทน" สังคมแบบเดิม ใกล้เคียงกับช่วงก่อน 14 ตุลา แต่แนวคิดหรือความพยายามปราบปรามของฝ่ายที่ไม่พอใจคณะราษฎรหรือไม่พอใจฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยอาจมีแนวโน้มใกล้เคียง 6 ตุลา 2519 เพราะมีบางอย่างคล้ายกันซึ่งมีต้นตอจาก "สนิมเนื้อใน" ที่ทำให้พวกเขากลัวและอาจคิดว่า "ต้องกำจัดให้สิ้นซาก"

"14 ตุลาและ 6 ตุลา เมื่อทศวรรษ 1970 เป็นเหตุการณ์ในโลกเก่า เหตุการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสหัสวรรษใหม่ นี่คือยุคเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ นี่คือโลกของคนที่จะมีชีวิตในยุคใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งพวกอ้างรักชาติที่ถืออาวุธและอ้างอำนาจขู่คนไปทั่วเหมือนหมาบ้าน้ำลายฟูมปาก ยังไม่เข้าใจ ยังตามไม่ทัน เพราะถ้าเข้าใจ ถ้าตามทัน พวกเขาจะไม่ทำอะไรโง่ ๆ บ้า ๆ และบัดซบเพื่อหายนะของพวกเขาเองอย่างที่ทำกันอยู่"

นิธินันท์ให้กำลังใจคนหนุ่มสาวที่กำลังเคลื่อนไหวในขณะนี้ และเชื่อว่าวิธีสู้ของคนสมัยใหม่อาจไม่ง่ายที่จะล้อมปราบเหมือนสมัยก่อน

"การยืนหยัดสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนส่วนใหญ่ ด้วยความเชื่อว่าเราทุกคนควรมีโอกาสก้าวไปข้างหน้า มีสิทธิเสรีภาพ และมีศักด์ศรีของคนเท่ากัน ทำให้เรารู้ว่า เรายังมีชีวิตที่เป็นของเรา ไม่ใช่ชีวิตในบังคับของใคร การต่อสู้ไม่เคยจบในวันเดียว"

youtube
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0