เอาล่ะค่ะ ภาษาอังกฤษวันละคำกันสักหน่อย
นี่คือพฤติกรรมที่มีบทบาทมากกับนักจิตบำบัด
เอาคำว่า Transference ก่อน แปลเป็นภาษาไทยก็คือ ‘การถ่ายโอน’
คำนี้ คุณลุงซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิทยา เคยให้ความหมายไว้ว่า เป็นอาการที่คนไข้นำเอาความรู้สึกต่อคนที่สำคัญในสมัยเด็กๆ มาลงที่นักจิตบำบัด ทำให้คนไข้ตั้งแง่เอาไว้อยู่แล้ว จากประสบการณ์ตอนเด็กๆ ของเขา มาตัดสินว่า อ๋อ นักจิตบำบัดคนนี้ต้องเชื่อแบบนี้แน่ๆ ต้องมีความคิดต่อเขาแบบนี้แน่ๆ เป็นต้น
ซึ่งในสมัยก่อน เราก็สนับสนุนอารมณ์นี้ เพราะมันเป็นอีกหนึ่งทาง ที่จะทำให้เราเข้าใจตัวตนและที่มาของคนไข้มากขึ้น ผ่านการถ่ายทอดอารมณ์ของคนไข้นี่แหละ
.
.
ทีนี้ พอมาถึงคำว่า Countertransference มันก็กลับกัน
นั่นคือ เป็นความรู้สึกของนักบำบัด ที่รู้สึกต่อการกระทำ/ตัวตน/หรือมวลอารมณ์บางอย่างที่ได้จากคนไข้ และทำให้เกิดความรู้สึกเข้มข้นบางอย่างขึ้นในใจเรา จนเราเผลอโฟกัสที่ตัวเองมากกว่าคนไข้
.
.
งานนี้ ข้อดีของมันก็มี
ตัวอย่างเช่น เมื่อเรารู้สึกว่า คนไข้ผู้ชายคนนี้พูดกับเราด้วยการเอาหน้าเข้ามาใกล้เกินไป เหมือนไม่รู้จักความพอดีในระยะห่าง และคนไข้คนนี้มาบ่นกับเราว่า ทำไงดี หาแฟนไม่ได้เลย เหงามาก แน่นอนความรู้สึกที่มันเข้มข้นของเรา ถึงความรู้สึกอัดอัดที่คนไข้คนนี้เอาหน้าเข้ามาใกล้ๆ ก็คงทำให้เราพอจะจินตนาการได้ว่า นี่คงเป็นวิธีการที่คนไข้เข้าหาคนที่กำลังจะจีบ และแน่นอนว่า พวกเธอเหล่านั้นก็คงรู้สึกอึดอัดด้วยเหมือนกัน งานนี้ เราก็สามารถลองเตือนหรือแนะนำคนไข้คนนี้ได้ ถึงมารยาททางสังคมที่คนทั่วไปเขาโอเค
พูดง่ายๆ ก็คือ Countertransference ช่วยให้เราจับความรู้สึกเข้มข้นของเรานี้ และทำให้เราพอเดาออกได้ว่า หากเรารู้สึกกับคนไข้ได้ขนาดนี้ นี้คงเป็นความรู้สึกของผู้คนที่รายล้อมคนไข้คนนั้นรู้สึกถึงเขาด้วยแหละมั้ง
.
.
ส่วนข้อเสีย.. ไม่สิ จะเรียกว่าข้อเสียก็ไม่เชิงนัก
เอาเป็นว่า เราขอเรียกมันว่า ความยากในการรับมือกับเจ้า Countertransference นี้ในฐานะนักจิตบำบัดดีกว่า เพราะหลายครั้ง มันก็มารบกวนและท้าทายการทำงานระหว่างเรากับคนไข้ด้วยเหมือนกัน
.
.
ยกตัวอย่างระดับอ่อนๆ ให้ก่อน
คุณครูผู้หญิงของเราคนนี้เคยเล่าให้ฟังว่า มีครั้งหนึ่ง เธอมีคนไข้ที่อายุเท่าๆ แม่ของเธอ คาแรคเตอร์ก็เหมือนแม่ แถมยังใช้น้ำหอมเหมือนแม่ของเธออีก! ทำให้มันยากมากสำหรับเธอ ที่จะแยกตัวตนของคนไข้คนนี้ออกจากแม่ของเธอได้ ในที่สุดเมื่อจบ session เธอจึงขอร้องอย่างสุภาพให้คนไข้คนนี้เปลี่ยนน้ำหอม แล้วคนไข้คนนี้ก็หันมาหาเธอ ยิ้มอย่างอ่อนโยน แล้วพูดว่า ‘of course, my dear.’ โอ้ยยยย ความเป็นแม่ยิ่งพรั่งพรูเข้ามาอีก 5555
.
.
หรือลองคิดดูว่า ถ้าคุณเป็นนักบำบัดที่เพิ่งโดนสามีฟ้องหย่าไปเมื่อเดือนที่แล้ว มาวันนี้ เจอคนไข้ที่เดินเข้ามาบ่นให้ฟังว่า โอ้ยยยย แฟนเพิ่งบอกเลิกไป แฟนนอกใจ!! คุณจะควบคุมความรู้สึกตัวเองได้แค่ไหน ที่จะไม่ใส่อารมณ์ด่าทอผู้ชายทั่วโลกไปด้วยว่า เออ! ผู้ชายทั้งหลายช่างใจร้าย!! แล้วมวลอารมณ์และสติของคุณก็จะกลายเป็นจดจ่อกับความแค้นผู้ชาย แทนที่จะไปที่ปัญหาความหนักใจของคนไข้คนนั้น
.
.
ตัวอย่างสุดท้าย
เรื่องราวหรือเหตุการณ์หนักๆ บางอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับนักบำบัดคนนั้น มันทำให้เขาบอบช้ำแต่มันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาอยากทำงานกับคนกลุ่มนี้เพื่อช่วยเหลือต่ออีกเหมือนกัน
ยกตัวอย่างเช่น นักบำบัดที่เคยผ่านช่วงเวลาติดยาอย่างหนัก กลายเป็นคนไร้บ้าน ซูบผอมตกงาน ไม่มีเงินใช้ จนมาวันนี้เขากลับตัวได้กลายเป็นคนใหม่และมาเป็นนักบำบัดที่ตั้งใจอยากทำงานกับคนไข้ที่กำลังทรมานกับปัญหายาเสพย์ติดอยู่
ด้วยหัวใจที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งของเขา
มันเยี่ยมตรงที่ เขาจะเข้าใจคนไข้กลุ่มนี้ได้อย่างถ่องแท้
แต่มันอาจแย่ หากเขาไม่ดูแลตัวเองให้ดีพอ และจมหายไปกับคลื่นความเศร้า
กระตุ้นให้นึกถึงภาพเหตุการณ์เมื่อตอนตัวเองกำลังสาหัส และกลายเป็นจิตใจห่อเหี่ยวซะเอง
.
.
อย่างเรา ที่เคยผ่านเหตุการณ์โดนลวนลามทางเพศมาก่อน
ถึงจะไม่หนักหนามาก แต่เราก็จิตใจบอบช้ำและเข้าใจดีแหละ ว่ามันรู้สึกอย่างไร
เราเลยตั้งใจว่า จะใช้ความรู้สึกเข้มข้นที่เคยผ่านมานี้ ช่วยคนอื่นที่กำลังทรมานกับปมในใจนี้อยู่อย่างมากที่สุด
คนไข้หลายคนของเรา มักเจอเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศมา
เราจำได้ว่า คนแรกที่ระบายความรู้สึกให้ฟัง
เธอร้องไห้
แล้วกลายเป็นเราร้องไห้ตามไปด้วย แล้วร้องมากกว่าเธออีก!
หรือบางครั้ง ที่คนไข้เล่าเรื่องให้เราฟังเป็นฉากๆ
ด้วยการบรรยายที่ละเอียดมาก
มารู้ตัวอีกที ใน session นั้น เราก็เผลอ zone out ตัวเอง จนต้องกลับมาถามคนไข้ใหม่ ว่าเมื่อกี้พูดถึงใครอยู่นะ? นั่นอาจเป็นเพราะ เรื่องราวที่เธอเล่า มันกระตุ้นต่อมจิตอ่อนในใจเรา จิตใต้สำนึกเลยตัดหรือถ้าเป็นภาษาภาพยนต์ก็ คัท! ให้ประสาทสัมผัสเราเหม่อลอยออกไปก่อน เพราะจิตใต้สำนึกคงคิดว่ามันอาจรุนแรงเกินเราจะรับได้…
ทั้งนี้ เพราะว่า สมองของเรา หน้าที่หลักและสำคัญที่สุด ก็คือการทำให้ ‘ชีวิตของเราอยู่รอด’ นั่นเอง
.
.
.
สำหรับนักบำบัดทุกคน สิ่งที่วิเศษไปกว่าการได้ ‘เยียวยาคนอื่น’
นั่นคือการใส่ใจ ‘เยียวยาตัวเอง’
ไม่ว่าจะด้วยการไปหานักบำบัดของตัวเอง คุยกับคนที่สบายใจ และปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่เสมอ ต้องมั่นใจว่า งานที่ได้รับมามันไม่ถาโถมเกินไป มีเวลาผ่อนคลายให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการไปดูหนัง ฟังดนตรีสด ไปสปา ทำเล็บ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เรารู้สึกดีจิตใจแจ่มใส
และสำหรับผู้อ่าน ที่อยากให้คำปรึกษาเพื่อน หรือใครที่รักสักคน
คอยตระหนักถึงเจ้า countertransference นี้เอาไว้ อาจจะช่วยได้
จับความรู้สึกเท่าทันของเราว่าในใจคิดยังไง
จดจ่อความตั้งใจรับฟังไปที่คนที่เรารัก
และลองดูว่า จะสามารถฟังเขา โดยไม่ใช้ความลำเอียง หรืออารมณ์คุกรุ่นข้างในของเราไปผสมได้ไหม
.
.
.
ทุกอย่างต้องการความสมดุล
และกว่าจะไปถึงจุดที่สมดุลในใจได้
มันก็ต้องใช้เวลา
ติดตามบทความจากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร
ความเห็น 2
คิดว่าบางครั้งในการที่เป็นผู้รับฟังที่ดี ก็อาจสามารถที่จะช่วยแนะนำหรือว่าช่วยแก้ไขกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นมาได้วิธีหนึ่ง และที่สำคัญประโยชน์จากในการที่ได้รับฟังก็สามารถทำให้ได้แง่คิดของมุมมองต่างๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นต่อตัวเองได้เหมือนกัน.
24 ก.ย 2562 เวลา 08.57 น.
Kattereya
ต้องทำยังงัย
24 ก.ย 2562 เวลา 09.37 น.
ดูทั้งหมด