คุณวินัย จั่นทับทิม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เล่าให้ฟังว่า ที่ศูนย์แห่งนี้เริ่มมีการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน เมื่อ ปี 2541 ปลาบึกที่เลี้ยงมีความยาวต่อตัว เฉลี่ย 1.40 เมตร น้ำหนักตัวเฉลี่ย 20 กิโลกรัม ต่อมาจึงนำมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
“ปลาบึก ที่เราได้มาคือ ได้มาจากภาคเหนือ ผสมพันธุ์ใกล้แม่น้ำโขง ก็แจกกันมาทั่วทั้งหมด ก็มีส่วนหนึ่งที่มาศูนย์แห่งนี้ และก็มาทำการเลี้ยง ซึ่งปลาที่ส่งมาที่นี่ ก็ได้มาจากชาวบ้านที่ได้จากการพระราชทานนำไปเลี้ยง พอตัวใหญ่เขาก็ไม่อยากเลี้ยง ก็ส่งคืนมา ทางกรมประมงก็เก็บคืนมา เราก็มาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ดู” คุณวินัย เล่าถึงความเป็นมา
การนำมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ คุณวินัย บอกว่า มีความสะดวกในการจัดการ เมื่อปลาบึกถึงระยะผสมพันธุ์ และที่สำคัญประหยัดพื้นที่ในการเลี้ยง เมื่อเทียบกับการเลี้ยงในบ่อดิน
“เราก็ทำการศึกษานำมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ แทนที่จะเลี้ยงในบ่อดินใหญ่ๆ เราก็มาปรับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะการให้อาหาร คุณสมบัติน้ำให้เหมาะสมเราดูหมด เพื่อให้การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์เป็นธรรมชาติมากที่สุด เหมือนเขาได้อยู่ที่บ้านเขา คือแม่น้ำ มันก็จะทำให้เขาสามารถเจริญเติบโต และพร้อมมีไข่ได้” คุณวินัย กล่าว
อาหารที่ให้พ่อแม่พันธุ์ จะเป็นอาหารที่ทางศูนย์ผสมเอง ประกอบไปด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป โปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ บดละเอียด 875 กรัม วิตามินซี 5 กรัม วิตามินรวม 5 กรัม น้ำมันปลา 5 กรัม สไปรูไลน่า 10 กรัม แป้งสาลี 100 กรัม สารเหนียว 50 กรัม นำมาผสมกับน้ำสะอาด ปั้นเป็นก้อนให้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร โยนให้กินวันละ 1 ครั้ง เวลาประมาณ 15.00 น.
คุณวินัย บอกว่า การเพาะพันธุ์ปลาบึกในบ่อซีเมนต์นั้น ทำด้วยวิธีเดียวกันกับปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน
“วิธีที่เพาะ ก็เป็นเหมือนวิธีทั่วๆ ไป ของการเพาะพันธุ์ปลา คือการฉีดฮอร์โมน ขั้นแรกเราต้องเลือกก่อน โดยเลือกแม่ปลาที่มีไข่แล้ว แต่ไข่ยังไม่ตกมา เราก็จะฉีดฮอร์โมนไปเร่งอีกหน่อยหนึ่ง พอเสร็จแล้วเราก็รอเวลา เพื่อให้ไข่มันแก่เต็มที่ ไข่ก็จะไหลออกมา จากนั้นเราก็บีบน้ำเชื้อผสม คนให้เข้ากัน เรียกแบบนี้ว่าการผสมเทียม” คุณวินัย อธิบายวิธีการเพาะพันธุ์
พอประมาณ 24 ชั่วโมง ไข่จะฟักออกเป็นตัว หลังจากไข่ฟักออกเป็นตัว ใช้เวลาอนุบาลในบ่อฟักไข่ ประมาณ 5 วัน โดยในวันแรกให้โรติเฟอร์เป็นอาหาร ต่อมาจึงให้ไรแดง
จากนั้น นำลูกปลาที่ได้ทั้งหมดมาอนุบาลในบ่อดิน ขนาด 2 ไร่ อาหารในระยะนี้เป็นรำและปลาป่น ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 เมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณ 15 วัน จึงเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำที่มีโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ในระยะอนุบาลใช้เวลาประมาณ 30 วัน ปลาบึกจะมีไซซ์ขนาด 1-2 นิ้ว
ลูกปลาบึกที่เพาะพันธุ์มา เรื่องอาการของการเกิดโรคไม่มี ค่อนข้างจะเป็นปลาที่มีความแข็งแรง เมื่อเทียบกับปลาอื่นๆ
“พอลูกปลาบึกเรามีความแข็งแรง เราก็จะทำตามนโยบายของกรมประมง นำปลาบางส่วนปล่อยลงตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และอีกส่วนหนึ่งก็จำหน่ายให้กับเกษตรกร หรือผู้ที่สนใจ อยากจะเลี้ยงดูเล่นๆ ที่บ้าน” คุณวินัย เล่าถึงจุดประสงค์ของการเพาะพันธุ์
สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดแห่งนี้ จำหน่ายลูกปลาบึกไซซ์มาตรฐาน ราคาอยู่ที่ตัวละ 40-100 บาท โดยราคาขึ้นอยู่กับขนาดไซซ์ของลูกปลาบึก
คุณวินัย ยังบอกอีกด้วยว่า ปลาบึกที่ศูนย์แห่งนี้ เป็นปลาพันธุ์แท้แน่นอน ผู้ที่ซื้อไปเลี้ยงไม่ต้องกลัวเรื่องของปลอม ซึ่งหากไปซื้อจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจได้ปลาที่ได้รับการผสมมากมายหลายสายพันธุ์ เพราะลูกปลาขนาดเล็กบางครั้งผู้ที่ไม่มีความชำนาญมากพอ อาจดูลักษณะไม่ออก ว่าเป็นลูกปลาบึกหรือปลาสวาย
คุณวินัย บอกว่า ปลาบึกที่เลี้ยงเองที่บ้าน ผู้ที่เลี้ยงต้องทำใจยอมรับเรื่องขนาดของปลาบึก ว่าไม่สามารถเติบโตได้ดีเหมือนในแม่น้ำ
“คนที่สนใจเลี้ยงปลาบึกนี่มีหลายแบบ บางคนอยากมีไว้ประดับบารมี บางคนก็เลี้ยงไว้เยอะๆ เพื่อจะเอาไว้กิน แต่ปลาบึกที่คนนิยมกินจะเป็นปลาบึกใหญ่ ตัวละ 100 กิโลกรัมขึ้น มันที่ติดกับเนื้อจะหนา อย่างที่เรามาเลี้ยงกันเองนี่ บางทีมันจะไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ตัวจะคล้ายๆ ปลาสวาย เพราะอาหารเราเป็นคนกำหนดให้ ปลาบึกเขาจะชอบหรือเปล่าไม่รู้ ซึ่งถ้าคนที่เลี้ยงเอามาขาย บางทีราคาอาจจะสู้ปลาที่จับมาจากธรรมชาติไม่ได้” คุณวินัย อธิบาย
คุณวินัย ได้กล่าวแนะนำ สำหรับคนที่สนใจ พร้อมทั้งแนะนำเพื่อสร้างรายได้ว่า
“ปลาบึก ถ้าเลี้ยงก็ควรเป็นอาชีพเสริม หรือว่าปล่อยไว้ในบ่อเพื่อเพิ่มผลผลิต เพราะปลาบึกอาจต้องใช้เวลาเลี้ยงที่นาน กว่าจะได้ตัวใหญ่ตามที่ตลาดต้องการ หากเลี้ยงเป็นการค้า มันจะไม่ค่อยได้อะไร เพราะเรารอนาน ทุนอาจเสียได้ อีกอย่างผลผลิตของมันอาจจะโตไม่เท่าปลาจากแหล่งธรรมชาติ”
“วิธีการเลี้ยงปลาบึกนี่ เลี้ยงได้ง่ายมาก จะเห็นได้ว่าไม่มีข่าวด้านลบเกี่ยวกับปลาบึก เช่น เลี้ยงแล้วไม่โต เลี้ยงแล้วเป็นโรค ข่าวในทำนองนี้จะไม่ค่อยมี อีกอย่างปลาบึกเป็นปลาที่ปรับตัวง่าย กินอาหารผสม กินอาหารเม็ด ได้เหมือนแบบปลาอื่นเลย ก็เอาไปปล่อยเล่นๆ ดูครับ”
สำหรับท่านใดที่สนใจ อยากมีปลาบึกไว้ดูเล่นๆ ที่บ่อหรือสระน้ำภายในบ้าน ก็สามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด หมายเลขโทรศัพท์ (035) 704-171
ความเห็น 0