ดำเนินมาจนใกล้จบโครงการฯ แล้ว สำหรับรายการ “รอลูกเลิกเรียน” (After school) รายการทีวีออนไลน์ จัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท Toolmorrow ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติสังคม
รายการได้นำปัญหาจริงของครอบครัวไทยมานำเสนอแบบกึ่งเรียลลิตี้ ตั้งกล้องเก็บภาพครอบครัวจริงในการแก้ปัญหาระหว่างแม่และลูก โดยการดูแลใกล้ชิดจากคุณหมอจิตวิทยา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ผ่าน Facebook : Toolmorrow และ www.afterschoolonline.tv
ถ้าถามว่าสังคมไทยในปัจจุบันพ่อแม่ต้องเจอกับปัญหาอะไรที่หนักอกบ้าง คำตอบคงไม่พ้นเรื่องเรื่องลูกติดมือถือ ด้านวัยรุ่นกลับพบว่ามีปัญหาเรื่องความก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้น
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากผลการศึกษาโครงการวิจัยครอบครัวไทยในเขตเมือง ปี 2557 พบ1 ใน 3 ของครอบครัวในเมืองมีสัมพันธภาพน่าเป็นห่วง เพราะขาดการปฏิสัมพันธ์ 60% ของครอบครัว มีการใช้อำนาจบังคับ ข่มขู่ 40% ไม่ค่อยเล่าหรือไม่เล่าอะไรให้คนในครอบครัวฟัง 34% มีการทำร้ายร่างกาย 33% ไม่ใช้เหตุผลแก้ปัญหาและด่าทอ หยาบคาย ทำร้ายจิตใจ 11% ไม่อยากวางเป้าหมายครอบครัวและไม่อยากทำกิจกรรมร่วมกัน และ 5% ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันเลย
จากที่รับหน้าที่เป็นวิทยากรให้รายการรอลูกเลิกเรียน, เป็นที่ปรึกษาให้โรงเรียนต่างๆ รวมทั้งจากสายด่วนสุขภาพจิต (โทร 1323) จัดทำโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่าเรื่องที่พ่อแม่จะกังวลเกี่ยว กับลูกมากที่สุดคือ ติดมือถือ ติดเกม ขณะในส่วนของลูกนั้น ปัญหาที่พบมากคือ ความเครียด เรื่องเรียน การปรับตัว ความรัก ซึ่งในแต่ละครอบครัวจะมองไม่เหมือนกัน
ถ้ามองว่าเป็นปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไข หรือมองว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วค่อยๆ แก้กันไป ก็จะแก้กันได้ เป็นเรื่องของการปรับตัว พ่อแม่ลูกต้องเข้าใจกัน นี่คือคำแนะนำแบบง่ายๆ ที่อยากให้ทุกครอบครัวปฎิบัติ แต่พ่อแม่ควรจะปรับตัวเองก่อน เพราะลูกมักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ยังสามารถได้ใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ไม่จำเป็นต้องพาลูกไปพบจิตแพทย์เสมอไป เพราะบางเรื่องสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับตัวเข้าหากันภายในครอบครัว
นอกจากนี้ในสังคมปัจจุบันมักจะพบกับปัญหาวัยรุ่นก้าวร้าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีสาเหตุที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยคือ 1.นิสัยส่วนตัวของเด็ก 2.ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา และการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหา ครอบครัวต้องสอนให้ควบคุมความโกรธ แก้ไขปัญหาชีวิตด้วยวิธีที่เหมาะสม และรับฟังเวลามีปัญหา ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะสอนให้ลูกได้เข้าใจบุคคลอื่น ครอบครัวควรชื่นชมหากลูกทำความดี แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ไม่ใช่มีแต่คำดุด่าว่ารวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ ควรนำเสนอข่าวในด้านบวกด้วย เนื่องจากปัจจุบันสื่อต่างๆก็มีผลต่อวัยรุ่นด้วยเช่นกัน
“อาจกล่าวได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดในวันนี้ เพราะวัยรุ่นไทยขาดโอกาสฝึกฝนตนเองตั้งแต่เด็กว่าจะเอื้ออาทรกับคนอื่นหรือสังคมได้อย่างไร ในเมื่อเขาก็ไม่เคยได้รับ ดังนั้น การแก้ไขเรื่องความก้าวร้าวของวัยรุ่น ต้องแก้ไขในหลายจุด อาทิ การมีลูกเมื่อพร้อม, ให้ความรู้พ่อแม่ในเรื่องการเลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพ, โรงเรียนมีระบบดูแลเด็กที่ดี, พ่อแม่ต้องปรับตัวไปกับยุคดิจิตอล แต่สุดท้ายไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม พื้นฐานของความไว้ใจกันในครอบครัว ความรัก ความผูกพัน การที่รู้ว่าเมื่อไรที่เรามีปัญหา ครอบครัวยังคงเป็นเบื้องหลังที่สำคัญ
การแก้ปัญหาในหนึ่งจุด จุดอื่นมันก็จะเปลี่ยน ในวงจรชีวิตคนเราถ้าไม่มีใครแก้ไขอะไรเลย สังคมมันก็เป็นแบบเดิมๆ ดังนั้น ถ้าเราปรับในครอบครัวที่เป็นส่วนที่เราจัดการได้ ต่างคนต่างจัดการของตัวเอง ทุกอย่างมันก็สามารถจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้”
สำหรับรายการ “รอลูกเลิกเรียน” (After school) รายการทีวีออนไลน์ ปัจจุบันออกอากาศถึงตอนที่ 9 : ลูกใช้เงินฟุ่มเฟือย เมื่อลูกเห็นเพื่อนโพสต์ของที่ซื้อมาใหม่ ก็อยากได้ ขอให้พ่อแม่พาไปห้างฯ ทุกอาทิตย์ พ่อแม่รู้สึกว่าลูกอยากได้ของต่างๆ มากขึ้น ทำให้กังวลว่าถ้าไม่มีเงินให้ลูกในอนาคต ลูกอาจจะคิดหาเงินในทางที่ผิด ซึ่งจิตแพทย์ จะให้คำแนะนำอย่างไร ซึ่งเมื่อชมรายการจบแล้วผู้ปกครองสามารถเข้าร่วมโครงการฯ กับ สสส. โดยเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่ quiz.afterschoolonline.tv หรือสอบถามรายละเอียดที่ Inbox ของ Facebook : Toolmorrow ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ความเห็น 2
Teerawat
คิดว่านี่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายนะ
.... ลองคิดดู ... เด็กๆติดโทรศัพท์ ตามที่ผู้ใหญ่ชอบพูดชอบบ่น ... เด็กเค้าก็อ่าน ได้เล่น ได้ฝึกภาษา ฝึกทักษะ นิ้วมือ ประสาท ความคิด การวางแผน ซึ่งมีทั้งหมดในขณะที่เล่นโทรศัพท์ มันก็ไม่แตกต่างอะไรกับคนชอบอ่านหนังสือ พกหนังสือตลอดเวลาว่างก็ยกมาอ่านเป็นหนอนหนังสือ ....มันอยู่ที่มุมมองมากกว่า คนที่จิตใจคับแคบก็คิดแต่ว่า ถ้าเป็นเด็กแล้วเล่นโทรศัพท์ จะตีตราว่าไม่ดี และหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดแคบๆตนเอง
29 ก.ค. 2562 เวลา 01.18 น.
ดูทั้งหมด