โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ถอดบทเรียน วิกฤต "ละตินอเมริกา" ติดกับดัก "ประชานิยม"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 03 ม.ค. 2563 เวลา 02.02 น. • เผยแพร่ 02 ม.ค. 2563 เวลา 13.02 น.
A woman stands near a wall covered in election posters one day after of the inauguration of Argentina's President Alberto Fernandez and his Vice President Cristina Fernandez de Kirchner in Buenos Aires, Argentina
REUTERS/Ueslei Marcelino

ปี 2019 “ละตินอเมริกา” เผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก “ไฟแนนเชียลไทมส์” รายงานว่า ปัญหาของละตินอเมริกาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุด“วัฏจักรการเติบโตของสินค้าโภคภัณฑ์” ทั้งน้ำมัน ทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าเกษตร ซึ่งแม้จะได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่หลายประเทศกลับขาดการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเสพติดนโยบาย “ประชานิยม” ซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และอีกหลายประเทศ

บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ “แมคคินซีย์” ระบุว่า ช่วงปี 2000-2016 ละตินอเมริกามีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 2.8% ต่อปี ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของละตินอเมริกามาจาก “วัฏจักรการเติบโตของราคาสินค้าโภคภัณฑ์” ซึ่งมีความเปราะบางมาก

อย่างไรก็ตาม ในการลดความยากจนนับว่าประสบความสำเร็จในแง่ของตัวเลข โดยนับตั้งแต่ปี 2000 ชาวละตินอเมริกากว่า 56 ล้านคน หลุดพ้นความยากจน โดยมีรายได้มากกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ทำให้สัดส่วนของคนยากจนลดลงจาก 27% เป็น 13% อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของรายได้มีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงนโยบายประชานิยม เช่น การอุดหนุนราคาสินค้าในชีวิตประจำวัน รวมถึงการแจกเงินประชาชน

นอกจากนี้พบว่าประชากรประมาณ 152 ล้านคน หรือราว 30% ยังมีรายได้เพียง 5-11 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งรายงานระบุว่า เป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะกลับเข้าสู่ความยากจน เมื่อรัฐบาลลดการอุดหนุนราคาสินค้า จึงกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก

การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ทั้งการยึดสินทรัพย์ของเอกชนมาเป็นของรัฐบาล ขณะที่บางประเทศมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจแต่ผลประโยชน์ตกอยู่ในมือของนายทุนเพียงแค่ไม่กี่คน สร้างระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดขึ้นมา โดยพบว่าบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในละตินอเมริกาผูกขาดอยู่กับธุรกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณูปโภค ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อสร้างความนิยมจากประชาชน และรักษาฐานอำนาจ กลับยิ่งสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันตลาดเสรี

รายงานยังระบุอีกว่า บรรยากาศทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีจำนวนบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งกับความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้จากการผูกขาดตลาด ทำให้แรงงานจำนวนมากทำงานอยู่ในบริษัทขนาดเล็กที่ประสิทธิภาพต่ำ และส่วนใหญ่จัดตั้งอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเพิ่มรายได้ของประชาชนอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงพบว่าประชากรจากฐานล่างของพีระมิด 90% มีสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศเพียง 64% ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก

ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีปัญหาส่งผลให้หลายประเทศเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ, ปัญหาเงินเฟ้อ, การขาดดุลชำระเงิน ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดดุลการค้าและเงินทุนไหลออก, การขาดดุลงบประมาณซึ่งทำให้เกิดหนี้สาธารณะมหาศาลในรูปสกุลเงินต่างประเทศ และในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยิ่งส่งผลให้ปัญหาเหล่านี้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ทำให้หลายประเทศต้องขอความช่วยเหลือจาก “ไอเอ็มเอฟ” ซึ่งตั้งเงื่อนไขว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทำนโยบายรัดเข็มขัด

ทั้งนี้ การลดรายจ่ายรัฐบาลย่อมกระทบกับนโยบายประชานิยมในหลายประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชน โดย อัลจาซีรา รายงานว่า ประชาชนใน “เอกวาดอร์” ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล จากสาเหตุการยุติการอุดหนุนราคาน้ำมัน รวมถึงในอีกหลายประเทศที่เผชิญกับปัญหาลักษณะเดียวกัน ขณะที่มาตรการรัดเข็มขัดใน “อาร์เจนตินา” ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง นำไปสู่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาล “เฟอร์นานเดซ” ซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย โดยภายหลังเข้าสู่อำนาจ รัฐบาลดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับภาคธุรกิจ

รอยเตอร์ส รายงานเมื่อ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า“มาร์ติน กุซแมน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจอาร์เจนตินา ประกาศเสนอกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดเวอร์ชั่น”เอียงซ้าย” เข้าสู่สภา โดยการเก็บภาษีภาคธุรกิจเพิ่ม เช่น ภาษีแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพิ่ม 30% ภาษีสินค้าส่งออกซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรเพิ่ม 3% โดยกฎหมายฉบับนี้ได้รับอนุมัติจากวุฒิสภาอาร์เจนตินา เมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา เปรียบเสมือน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ” ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

กฎหมายดังกล่าวเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อในการทำธุรกิจและการแข่งขัน ซึ่งเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของวิกฤตที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าติดตามว่า ปี 2020 รัฐบาลอาร์เจนตินาอาจออกมาตรการที่กระทบกับภาคธุรกิจอีก ขณะที่มาตรการรัดเข็มขัดในอีกหลายประเทศด้วยการลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ละตินอเมริกาติดกับดักทางเศรษฐกิจที่ยากจะหาทางออกได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0