โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เข้าโรงหนัง มีร้อยเดียวไม่พอ! ตั๋วแพง ป๊อปคอร์นแพง โฆษณานาน ไปทีหมดเวลาค่อนวัน!

Another View

อัพเดต 03 ธ.ค. 2561 เวลา 11.08 น. • เผยแพร่ 28 พ.ย. 2561 เวลา 01.00 น.

เข้าโรงหนังมีร้อยเดียวไม่พอ! ตั๋วแพงป๊อปคอร์นแพงโฆษณานานไปทีหมดเวลาค่อนวัน!

ปัจจุบันคุณต้องเตรียมเงินไปเท่าไหร่หากจะไปดูภาพยนตร์สักเรื่องในโรง? หากไม่พึ่งราคาโปรโมชั่นวันพุธหรือบัตรเครดิตต่างๆ “ตั๋วหนัง” หนึ่งใบโดยทั่วๆ ไป อาจจะอยู่ที่หนึ่งร้อยบาทปลายๆ หรือราคาเริ่มต้นอาจจะไปอยู่ที่สองร้อยบาทหากเป็นโรงหนังใจกลางกรุง

เพราะมีอยู่ไม่กี่เจ้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะค่ายโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่มีอยู่ไม่กี่เจ้า การแข่งขันกันจึงแทบไม่มี เมื่อค่ายหลักๆ ถือครองทำเลที่ตั้งโรงภาพยนตร์ไว้เกือบทุกที่ การกำหนดราคาตั๋วภายนตร์จึงแทบขึ้นอยู่กับตัวพวกเขาเอง นี่คือเหตุผลแรกของราคาตั๋วหนึ่งใบที่เราต้องจ่ายเพื่อเข้าไปชมหนังสักเรื่อง และมีทีท่าว่าจะสูงขึ้นไปอีกในอนาคต

ค่าบริหารจัดการ ค่าพนักงาน ค่าเครื่องมือ ค่าการลงทุนต่างๆ ของเจ้าของธุรกิจภาพยนตร์ คือเหตุผล (บางคนอาจเรียกว่าข้ออ้าง) ของโรงภาพยนตร์ที่ทำให้ราคาตั๋วนั้นปรับตัวสูงขึ้นรวมไปถึงส่วนแบ่งการตลาดที่ทางโรงฉายต้องแบ่งให้กับค่ายหนังอีก (ซึ่งบางคนมองว่าส่วนแบ่งนั้นไม่ได้มากเลยเมื่อต้องหักกับค่าจิปาถะที่ทางโรงเก็บเพิ่มเติมกับค่ายหนังอีก) ภาระต่างๆ จึงถูกผลักมาให้ผู้ชมอย่างเราๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้

ราคาตั๋วหนังที่ไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ

ราคาตั๋วหนังบ้านเราดูราคาถูกไปทีเดียวเมื่อเทียบกับเมืองนอก อย่างสิงคโปร์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 450 บาท และเกาหลีใต้อยู่ราวๆ 550 บาท  แต่สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ “ค่าครองชีพ” โดยดูว่าชนชั้นกลางที่มีมากมายในสังคมนั้นต้องทำงานกี่ชั่วโมงเพื่อให้ได้ดูหนังหนึ่งเรื่อง 

จากข้อมูลคือ “อินเดีย” ใช้เวลาทำงาน 16.1 นาทีก็ได้ดูหนัง 1 รอบแล้ว ซึ่งแม้อินเดียจะมีรายได้เฉลี่ยที่ต่ำมาก (ประมาณ 0.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชั่วโมง) แต่ตั๋วหนังในประเทศก็ถูกมาก ๆ เช่นเดียวกัน (ประมาณ 0.19 เหรียญฯ) 

ในขณะที่อเมริกา การทำงานเพียง 23.9 นาทีก็สามารถชมภาพยนตร์ได้หนึ่งเรื่องแล้ว เช่นเดียวกับประเทศที่ติดลิสต์ค่าครองชีพสูงพรวดอย่างนอร์เวย์ หรือ สวิตเซอร์แลนด์ ที่ราคาตั๋วหนังสูงมาก แต่รายได้ต่อหัวก็สูงตามด้วยเช่นกัน

ในขณะที่เมืองไทย ต้องทำงานถึง “108.7 นาที” เพื่อให้ได้ชมหนังหนึ่งเรื่อง (ข้อมูลปี พ.ศ. 2556)

ทำไมป๊อปคอร์นถึงแพงหูฉี่

“เพราะป๊อปคอร์นคือรายได้หลักของโรงภาพยนตร์” รายได้ของโรงหนังมาจากไหน 1. จากค่าตั๋ว 2. จากป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม 3. จากโฆษณาต่างๆ

จากข้อมูลของโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งพบว่า โฆษณาต่างๆ ทำอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ให้กับโรงภาพยนตร์สูงถึง 85% ป๊อปคอร์น 68% ในขณะที่ตั๋วหนังทำอัตรากำไรเพียง 12% เท่านั้นแม้ว่าจะเป็นรายได้หลักของโรงภาพยนตร์

ที่สำคัญป๊อปคอร์นหน้าโรงหนังคือตัวอย่างที่ชัดเจนของการค้าขายแบบผูกขาด เมื่อโรงหนังแต่ละที่ออกกฎขาดว่าห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มจากที่อื่นเข้าไปบริโภคในโรง ทางออกของผู้ชมคือต้องซื้อที่หน้าโรงหนัง ฉะนั้นการชาร์จราคาที่สูงลิ่วจึงเป็นอย่างที่เห็น ป็อปคอร์นหนึ่งชุดพร้อมน้ำอัดลมอาจทะยานสูงเกือบสองร้อยบาท ในขณะที่น้ำเปล่าขวดหนึ่งราคา 20-40 บาท ตามแต่ทำเลที่ตั้งของโรงนั้นๆ

ลักษณะการผูกขาดของป๊อปคอร์นหน้าโรงหนังก็ไม่ต่างอะไรกับตัวธุรกิจของมันเองที่แทบจะผูกขาดการฉายหนังรวมถึงกำหนดรอบฉายตามใจฉันไปแล้ว

ถึงเวลาที่ผู้มีอำนาจควรเข้ามาดูแลกลไกราคาตรงนี้หรือไม่? ผู้บริโภคที่อยากหาความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต ต้องทำงานเป็นร้อยนาทีเพื่อได้ดูหนังหนึ่งเรื่องเชียวหรือ?

ที่มา:

http://www.investerest.co/business/how-major-grows/

https://www.quora.com/Why-is-popcorn-so-expensive-in-a-movie-theatre

https://mgronline.com/live/detail/9560000052428

https://news.mthai.com/webmaster-talk/236133.html

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0