โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตรรกะวันกราบแม่ - ศุ บุญเลี้ยง

THINK TODAY

เผยแพร่ 14 ส.ค. 2562 เวลา 09.31 น.

ความเป็นเหตุเป็นผล นี่ เหมือนจะเข้าใจไม่ยาก แต่ที่แท้แล้ว กลับลำบากกว่าจะเข้าใจ

เหตุมาจากการโพสต์ต่อสาธารณะว่า อยากให้ยกเลิกการเชิญแม่มาที่โรงเรียน แล้วทำการกราบไหว้กันต่อหน้า บรรดาเหล่าบรรดานักเรียนและผู้ปกครอง

เพราะสร้างความสะเทือนใจของเด็กนักเรียนซึ่งพ่อแม่มาไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นเด็กกำพร้าและหย่าร้าง

แน่นอนผลสะท้อนที่โยนนโยบายนี้ต่อสาธารณะ ย่อมมีแรงกระเพื่อม

ก่อนเสนอผมได้พยายามตั้งสติ เพื่อพร้อมรับกับผลกระเทือนที่จะตามมา

ตั้งใจว่าจะรับฟังทุกความคิดเห็นซึ่งสะท้อนกลับมา 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่เห็นด้วย และมีความคิดต่าง

เริ่มจากทางรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษา คุณหญิงได้บอกผ่านสื่อว่า ประเพณีนี้ ทำกันมานาน ไม่ควรยกเลิก

ในเมื่อผมตั้งใจไว้แต่ต้นแล้วว่า จะไม่โกรธคนเห็นต่าง

ผมจึงนิยมว่า ท่านมีอะไรชัดเจนดี ไม่อ้ำอึ้งไม่คลุมเครือ ท่านเอ่ยความเชื่อของท่านออกมา ได้อย่างไม่อ้อมแอ้ม แม้ว่าทัศนะนั้นจะขัดกับแนวทางที่เสนอไปก็ตาม

แม้การให้เหตุผลว่าทำกันมานานนั้น คิดว่าคงยังไม่พอ

ประการแรก ไอ้ที่ว่านานนั้น นานแค่ไหน ตอนผมเด็ก ๆ โรงเรียนแถวบ้านผมไม่ทำอะไรแบบนี้

ดังนั้นคำว่านาน ของแต่ละคนจึงนานไม่เท่ากัน

และแม้จะทำกันมานาน ถ้าเราทำกันผิด ๆ มานาน ก็ไม่มีความจำเป็น จะต้องทำต่อไป

แต่เนื่องจากเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นนโยบายอันกำหนดตายตัวว่า ทุกโรงเรียนต้องทำ 

ดังนั้นโรงเรียนไหนเห็นว่าไม่ควรทำ ก็สามารถเลิกทำ หรือปรับเปลี่ยนได้ตามแต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียน

มีคนเข้ามาออกความเห็นกันมากมาย ผมจำต้องเลือกมาเล่าเท่าที่จำเป็น

หนึ่งในหลายร้อยพันนั้น เขียนไว้ : 

แสดงว่าบุคคลที่ตั้งกระทู้นั้นไม่ได้มองถึงความรู้สึกของคนส่วนใหญ่สิ่งไหนที่เค้าทำกันมานมนานแล้วก็ควรทำต่อไป. ใครไม่เห็นด้วยก็ต้องปล่อยวางบ้างนะคะ……

ช่วงที่มีกระแสนี้ ทางดร.วิริยะ ซึ่งเป็นนักการศึกษาได้ลองทำโพลล์ทางเฟสบุ๊ก มีคนออกเสียงเกือบ 8 พันคน 

7 พันคน อยากให้ยกเลิก 6 ร้อยคน อยากให้คงไว้

อีกสำนักข่าวก็ได้ทำเช่นกัน

เฟซบุ๊กเพจ "Thairath" ได้เปิดโหวต! ประเด็นร้อน คิดเห็นอย่างไร? “วันแม่” ควรยกเลิกจัดกิจกรรมชวนแม่มาให้ลูกกราบที่โรงเรียนหรือไม่?

ซึ่งก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้วว่า 3.9 หมื่นคน

ส่วนใหญ่กว่า 81% เห็นว่าควรยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว และอีก 19% เห็นว่า ไม่ควรยกเลิก

วันแม่จริง ๆ ทางราชการ สั่งให้เป็นวันหยุดไปแล้ว

แม้ส่วนใหญ่จะเห็นไปในทางที่ควรจะเลิก 

แต่ก็อย่างที่บอก ควรต้องฟังเสียงส่วนน้อยด้วย

ผมจึงพยายามอ่านและดูคนซึ่งคิดค้านว่า เขาคิดอะไร เขาเชื่ออะไร และพยายามอย่างยิ่งจะไม่โกรธที่จะแสดงทัศนะ

และทัศนะอันน่าสนใจ อย่างเช่น 

คนตาไม่บอด ควรควักลูกตาออก เพื่อคนตาบอดจะได้ไม่น้อยใจ ตรรกะแบบเดียวกันไง

  • ในเมื่อฉันซึ่งเป็นคนส่วนน้อย เป็นเด็กกำพร้า ไร้พ่อไร้แม่ เด็กส่วนใหญ่ในโรงเรียนนี้ที่มีพ่อมีแม่ ก็ไม่ควรมาแสดงความรักความกตัญญูให้ฉันเห็น เพราะมันแสลงใจฉัน ทรมานใจฉัน อย่างงั้นหรือ? ถามหน่อย ถ้าเราจะต้องยอมสละประโยชน์ ของคนส่วนใหญ่ เพื่อคนส่วนน้อยจะได้สบายใจ แต่ไม่พัฒนาตน ไม่เรียนรู้ที่จะยอมรับความเป็นจริง นี่เรากำลังช่วยเขา หรือทำลายเขากันแน่
  • ชีวิตคือการเรียนรู้ และก้าวผ่านด้วยความกล้าหาญและสติปัญญา หาใช่การเรียกร้องหรือถ่วงรั้ง ให้ใครต้องยากจนหรือขาดแคลน เสมอด้วยเรา*

นี่เป็นความคิดเห็นที่มีคนสนใจเข้ามาแลกเปลี่ยน เรื่องตรรกะกันมากมาย

และอาจจะด้วยความน่าสนใจเรื่องตรรกะเป็นทุนเดิม

ยิ่งท่านเป็นพระซึ่งอุตส่าห์แสดงธรรมผ่าน การเปรียบเปรยว่า คนตาดี ไม่ต้องควักลูกตา เพื่อให้คนตาบอดสบายใจ หรืออันนี้เป็นตรรกะ หรือเหตุผลอันชวนคิด แต่คิดแล้วก็มีคนค้านกันอุตลุด

………

แล้วก็มีบางคนกลัวว่า  

ถ้ายกเลิกการกราบพ่อกราบแม่ อีกหน่อยต้องยกเลิกการกราบไหว้ครูด้วย

……………………..

อีกรายบอกว่า เราต้องไม่กินอาหารหรือ หากเด็กคนอื่นไม่มีอาหารกิน

…………………………

อนุสนธิจากการ ถกเถียง วิวาทะนั้น ทำให้เห็นประเด็นอันน่าสนใจ

คือหากเราหักล้างกันด้วยเหตุผล หรือความเชื่อ ไม่ได้เกลียดชังกันตรงว่า เพียงเพราะคุณเป็นใคร

แต่คุณคิดอะไร เราจะมีศัตรูหรือคู่ขัดแย้ง เป็นความคิด 

ไม่ใช่ว่า เกลียดชังคนนั้นคนนี้ เพราะเขาเป็นคนแบบไหน แต่เพราะเขาคิดอะไร

เราหักล้างต่อต้านความคิดของเขา ไม่ใช่ขัดขวางตัวเขา

การเอาความคิดมาปะทะ สังสรรค์ หรือผสมผสานกัน เป็นบ่อเกิดของปัญญา

เพราะหลักคิดย่อมจะนำพาให้เราเข้าใกล้ ปัญญามากขึ้น

จากเรื่องหนึ่งนำไปสู่เรื่องหนึ่ง หากเราถกเถียงในเชิงตรรกะและปรัชญา 

อุปมาอุปมัย ก็อาจจะนำเราไปยังเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญยิ่งกว่า 

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ แต่ละคนก็ใช้ตรรกะกับเรื่องนี้ ไปคนละแบบ 

เช่น เราไม่อยากให้พาแม่ไปกราบไม่ใช่เราไม่อยากให้ลูกกราบแม่

แต่เราอยากปกป้องเด็กออกจาก ความสะเทือนในที่ไม่จำเป็น

และนั่นหากเราเข้าใจ เราจะนำไปสู่การปกป้อง สิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยากขึ้นไปอีกระดับ

ในเฟสบุ๊กที่เขียนไป ผมเฝ้ามองการถกเถียงอย่างสงบและเพลิดเพลิน

ไม่มีความคิดเห็นใดที่ผมเข้าไปเสริมต่อว่าเห็นดีด้วย แม้ว่าจะเห็นด้วย

และไม่มีความคิดเห็นอันใดที่ผม เข้าไปถกเถียงเลย แม้จะเห็นต่าง

มีเพียงส่งข้อความไปถึงพระที่แสดงทัศนะว่า ผมขอบคุณและไม่เห็นดีเห็นงามไปกับการใช้ถ้อยคำหยาบคายที่แสดงออกในการต่อต้านความคิดของท่าน

และขอให้นักข่าวช่วยแก้ประเด็นที่เขาสรุปผิดจากการเปรียบเปรยว่า แม้แต่คนที่ใจดีจะแจกไอติม เราก็ควรคิดว่าจะพอกับเด็กทุกคนไหม

แต่ข่าวไปเขียนว่า ผมเสนอให้แจกไอติมแทน….

…….

ตั้งแต่ตอนตั้งต้นแล้ว ผมได้เขียนและพูดชัดเจนแล้วว่าอยากต่อต้านสิ่งใด 

ส่วนคนที่ออกนอกประเด็นว่า กราบนั้นดี ผมก็ไม่ได้เถียงเพราะผมก็บอกแต่แรกว่า ไม่ได้ห้ามกราบแต่อย่างใด

แม้กระทั่ง บางคนที่เขียนเหน็บว่า ผมคงไม่ได้กราบพ่อกราบแม่ ผมก็ไม่ได้ตอบโต้อันใด

เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า เท้าของพ่อและแม่นั้นมีคุณค่ากับกบาลผมเพียงใดเวลาที่เอามาลูบหัว

แม้กระทั่งคนเขียนตำหนิ ด่า ผมก็ไม่คิดว่า จะต้องโต้ตอบอันใด 

ใคร ๆ ก็มีสิทธิจะไม่เห็นด้วย และด่าว่าผมได้ บ้างบอกว่า อย่าไปเปิดเพลงอิ่มอุ่นอีก ก็ไม่เป็นไร 

ทบทวนแค่ว่าตัวเองชัดเจนแล้วแต่ต้น ขอยอมรับผลที่เกิดตามมาอย่างมีสติ

ยืนยันอีกทีว่า ที่เราพูดกันมาทั้งหมดคือ วันกราบแม่ ซึ่งทางโรงเรียนจัดขึ้น ยังไม่ถึงวันแม่จริง ๆ

เพราะวันแม่นั้น เป็นวันหยุดราชการ ไม่มีงานอะไรที่โรงเรียน 

ประเด็นนี้ถูกขยับขยายและส่งผลต่อการ วิพากษ์วิจารณ์สู่สังคม โดยมีผมติดตามอ่านเป็นระยะ

จนกระทั่งถึงวันแม่…….

ในขณะที่เหลือบตามองเฟสบุ๊กของคนมากมายซึ่งพูดถึงแม่ด้วยความอิ่มเอมใจ

แม้ว่าบางคราต้องหยุดพักสายตา ด้วยความอิจฉา 

เนื่องจากสองปีมาแล้ว ผู้หญิงที่ผมอยากกอดตลอดชีวิต ได้จากไปไม่ได้กอดและไม่ได้กราบ.

พลันที่ผมได้พบข้อความสั้นๆ อัน เขียนว่า

ถ้าจะเรียกร้องให้โรงเรียนเลิกจัดงานกราบแม่ 

วันนี้ก็ต้องไม่ให้เด็กขาดแม่เข้าเฟซบุ๊ก/ดูทีวี/ฟังวิทยุด้วยล่ะ

#กตัญญูกันเบาๆหน่อยคนอื่นสะเทือนใจ

#กำพร้าแล้วพาล

ผมอ่านถึงตรงนี้ อารมณ์โกรธก็วิ่งพล่านในใจ

ไม่ใช่เพราะว่า ผมเพิ่งเสียแม่ไป และกลายเป็นกำพร้ามาสองปี

แต่ผมคิดว่า คนที่ล้อเล่น เสียดสี เย้ยหยันด้วยนำ้เสียง และเรื่องแบบนี้ ย่อมมีทัศนะคติ หรือตรรกะบางอย่างบิดเบี้ยวอยู่บ้าง

ยังมีความเห็นตามมาจากคนในกลุ่มนั้นต่อ : ว่าจะบอกอยู่เชียว ว่าห้ามแม่ไปรับลูกที่โรงเรียน เดี๋ยวเด็กกำพร้าตะเตือนไต

ในความโทสะนั้น สร้างความสงสัยในใจผมยิ่งนักว่า พวกเขาแยกแยะไม่ออกจริง ๆ หรือว่า การเปิดเฟสบุ๊กเปิดทีวี กับการจัดทำพิธีกราบไหว้ที่โรงเรียนมันแตกต่างกันตรงไหน

พวกเขาแยกไม่ออกจริง ๆ หรือว่าการที่พ่อแม่ไปรับลูกที่โรงเรียน กับคนที่ไม่มีพ่อแม่ไปรับแล้วขึ้นรถหรือเดินกลับบ้านเอง กับการจัดพิธีพาพ่อแม่มากราบไหว้นั้นแตกต่างกันอย่างไร

ในเมื่อคนเหล่านั้น ผมก็พอจะทราบว่า เขามีการศึกษา มีสติปัญญา มีคุณวุฒิและวัยวุฒิพอสมควร

ตอนแรกจึงตั้งใจว่า จะลองหาตรรกะมาอธิบายให้คนเหล่านี้ได้เข้าใจ ความเหมือนและความต่าง

เพราะเชื่อว่า พวกเขาน่าจะเข้าใจเหตุผลที่ อันผมจะสามารถนำมาอธิบายได้ แทนที่จะโกรธให้เสียอารมณ์อย่างเดียว

ถ้าบัวจะมีสี่เหล่าอย่างที่พระพุทธองค์ว่า 

เราจะใช้ตรรกะแบบไหนให้เขาเข้าใจได้อีกว่า 

ถ้าแอปเปิ้ลเป็นผลไม้ แอปเปิ้ลมีสีแดง สตรอว์เบอร์รี่เป็นผลไม้ สตรอว์เบอร์รี่เป็นสีแดง 

ดังนั้นบางคนจึงคิดไปว่า ดังนั้นผลไม้ต้องเป็นสีแดง

อย่างนี้ที่เขาเรียกว่า ผิดตรรกะ

เพราะผลไม้อาจเป็นหรือย่อมเป็นสีอื่นบ้างก็ได้ 

แต่เมื่อผมพิจารณาต่อไปอีกหน่อย จึงเกิดความสงสัยว่า

พวกเขาไม่เข้าใจจริง หรือแกล้งไม่เข้าใจ

ถ้าเขาโง่จริง เราก็สามารถจะอธิบายให้เข้าใจได้ แม้จะต้องใช้เวลา

แต่ถ้าพวกเขาฉลาดแล้วแกล้งโง่ นั่นคงยากจะอธิบาย 

ได้แต่นึกถึงภาษิตโบราณขึ้นมา..ที่กล่าวว่า

คนที่ปลุกยากไม่ใช่คนที่กำลังหลับ แต่คือคนแกล้งหลับ…นั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 31

  • thitima
    เห็นไปในทางเดียวกับคุณศุค่ะ คนตาดีไม่จำเป็นต้องควักลูกตาออก แค่ไม่ต้องโอ้อวดความสุขจากการมองเห็นให้คนตาบอดฟังก็คงเพียงพอ ความรักของแม่-ลูก แค่กอดอุ่นกันอยู่ในบ้านก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องอวดอุ่นทำร้ายหัวใจของเด็กที่ไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะเรียกใครสักคนว่าแม่
    14 ส.ค. 2562 เวลา 11.34 น.
  • absorn
    ขอบคุณที่กล้าหาญช่วยออกมาจุดประเด็นให้สังคมช่วยกันคิด แม้ว่าจะยังไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้มีอำนาจได้ แต่เชื่อว่าผู้คนที่ยังมีหัวใจจะช่วยกันเปลี่ยนพิธีกรรมนี้ให้สร้างสรรค์และไม่ทำร้ายจิตใจเด็กในวันพ่อและวันแม่ในปีต่อๆไปได้ จาก อดีตเด็กที่ขาดพ่อแม่และปัจจุบันไม่เคยไปงานวันพ่อวันแม่ที่โรงเรียนลูกเลย
    14 ส.ค. 2562 เวลา 11.28 น.
  • Manat Rattana
    ถ้าเราเอาเวลาบอกรักแม่แล้วไปโพสต์ลงในสื่อโซเชี่ยลต่างๆ ไปดูแลแม่ตัวเป็นๆหรือหากเป็นลูกที่อยู่ไกลแม่แค่โทรหาท่านมีโอกาสไปเยี่ยมท่านบ่อยๆน่าจะดีกว่านะ
    14 ส.ค. 2562 เวลา 11.33 น.
  • traveller
    สมัยก่อนไม่มีการกราบแม่ในโรงเรียนจริงๆครับ...รุ่นหลังพี่จุ้ยด้วย...เพิ่งมาฮิตกันยุคหลังนี่เอง..เพราะภาพกราบแม่จากทีวีทำข่าววันแม่ได้ออกอากาศ..รร.ทั้งหลายเลยเอาอย่างบ้างเลยกลายเป็นธรรมเนียมของกิจกรรมวันแม่ในโรงเรียนไปเลย
    14 ส.ค. 2562 เวลา 17.22 น.
  • Warawarn
    อย่าไปใสใจกับคนพวกนั้นเลยค่ะ
    14 ส.ค. 2562 เวลา 11.30 น.
ดูทั้งหมด