โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มารู้จัก ‘โรคคิดว่าตัวเองไร้ค่า’ พร้อมเช็กตัวเองว่ากำลังตกอยู่ในอาการนี้หรือเปล่า?

Dek-D.com

เผยแพร่ 14 มิ.ย. 2561 เวลา 09.41 น. • DEK-D.com
มารู้จัก ‘โรคคิดว่าตัวเองไร้ค่า’ พร้อมเช็กตัวเองว่ากำลังตกอยู่ในอาการนี้หรือเปล่า?
เช็กตัวเองพร้อมรู้จักวิธีรับมือกับอาการ ‘Imposter Syndrome’ โรคคิดว่าตัวเองไร้ค่า

น้องๆ ชาว Dek-Dเคยมีความรู้สึกว่าบางครั้งเราเองนั้นไม่คู่ควรกับการได้รับคำชม เวลาที่เราทำอะไรสักอย่างแล้วประสบความสำเร็จ เวลามีคนชมว่าเราทำงานดี เราเองกลับรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องฟลุกมากกว่า หรือบางครั้งเวลาที่น้องๆ ทำคะแนนสอบออกมาได้ดี เรากลับไม่ได้รู้สึกดีใจ แต่กลับรู้สึกไม่มั่นใจเลยว่าที่ทำไปนั้นคือมาจากความสามารถของเราเอง แต่น้องกลับรู้สึกว่า ที่ได้คะแนนเยอะ คงเป็นเพราะโชคช่วยมากกว่า คงเป็นเรื่องบังเอิญ และคงจะไม่มีโอกาสที่จะได้ทำขนาดนี้อีกแล้ว
อาการเหล่านี้ที่พี่ยกตัวอย่างไป ทางจิตวิทยาเราเรียกว่า“Imposter Syndrome” หรือ ความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองด้อยค่า คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ถ้าน้องๆ กำลังสงสัยว่าตัวเองกำลังตกอยู่อาการเหล่านี้หรือเปล่า? ว่าแล้วก็ตาม พี่วุฒิมาเลยครับ ไปเช็กตัวเองพร้อมๆ กันเถอะ…

จริงๆ แล้ว ถ้าจะบอกว่า ‘Imposter Syndrome’ เป็นโรคที่เกี่ยวกับจิตเวชก็อาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น และถึงแม้ว่าทางการแพทย์จะไม่ได้ออกมาระบุว่าอาการนี้เป็นโรคทางจิตเวชอย่างเป็นทางการ แต่การที่เรามีความคิดแง่ลบ มีความคิดว่าตัวเองไร้ค่า และดูถูกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับสิ่งที่ได้รับ มันก็อาจจะเป็นจุดที่สัมพันธ์กับสภาพจิตใจของเรา และนำไปสู้โรคทางจิตเวชอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘โรคเครียด และ โรคซึมเศร้า’และแน่นอนว่าถ้าพาตัวเองไปถึงจุดนั้นก็คงจะไม่ดีแน่
ถ้าถามถึงที่มาที่ไปของอาการนี้มันมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็อาจจะบอกไม่ได้ เพราะว่ามันเรื่องที่มาจากสภาพจิตใจของแต่ละคน ซึ่งอาจจะมีปัจจัยที่ทำให้ตัวเอง‘รู้สึกว่าไม่เก่งจริง’แต่ละคนอาจมีเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่เมื่อปี 1978 ได้มีนักจิตวิทยา 2 ท่าน คือ ‘ซูซาน ไอเมส์ และ พอลีน โรส ลนซ์’ที่ได้เริ่มตั้งข้อสงสัยและเริ่มทำการศึกษาและอธิบายปรากฏการณ์ของอาการ Imposter Syndrome แบบจริงจัง ซึ่งพวกเขาก็ได้อธิบายว่า ส่วนใหญ่แล้วอาการเหล่านี้จะพบในกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็คิดว่าความสำเร็จเหล่านี้มันคือภาพมายาที่เค้าสร้างขึ้นมา จริงๆ แล้วเค้าไม่ได้เก่งจริง ไม่สมควรได้รับคำชม สิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็คือ ‘ของปลอม’

*แล้วจะรู้ได้ไงว่าเรากำลังเป็น Imposter Syndrome หรือเปล่า? *

เมื่อไม่นานมานี้ ดร. วาเลรี ยังนักเขียนและนักจิตวิทยาชื่อดัง ได้เขียนสรุปเกี่ยวกับอาการ Imposter Syndrome ลงในหนังสือ“The Secret Thoughts of Successful Women: Why Capable People Suffer from the Imposter Syndrome and How to Thrive in Spite of It”เพื่ออธิบายเกี่ยวกับอาการเหล่านี้ว่าเกิดขึ้นกับใครบ้าง ซึ่งเธอได้สรุปหลักๆ ไว้ 5 ประการดังต่อไปนี้

*1. The Perfectionist *

สำหรับคนประเภทแรกที่เข้าข่ายอาการ Imposter Syndrome ก็คือ คนที่ค่อนข้างทำตัวเจ้าระเบียบ หรือที่หลายคนเรียกว่า “Perfectionist”ดร. วาเลรี ได้วิจัยว่า คนที่เสพติดความเพอร์เฟกต์ในทุกๆ เรื่อง ก็อาจจะสามารถรวมอยู่ในกลุ่มอาการนี้ เพราะคนที่เป็นเพอร์เฟกต์ชันนิสต์มักจะตั้งเป้าหมายไว้สูงในทุกๆ เรื่องที่ทำ และถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถทำได้ตามสิ่งที่หวังไว้ ก็จะเกิดความวิตกกังวลที่สูงมากกว่าคนปกติทั่วไป และอาจทำให้ครุ่นคิดและกล่าวว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากพอที่จะทำให้สำเร็จได้

ลองเช็กตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่?

  • เคยโดนคนอื่นบอกว่าตัวเองเป็นคนประเภท micromanager หรือ คนประเภทที่ชอบตั้งบรรทัดฐานในทุกๆ เรื่องจนเกินไป ชอบเอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเวลาทำงานหรือไม่?

  • คุณเคยได้รับมอบหมายให้ทำงานใหญ่ๆ ที่มีอุปสรรคมากมายหรือไม่? ซึ่งความจริงแล้วคุณเองก็สามารถทำได้ แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ หรือกลัวผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีตามที่คนอื่นคาดหวัง เลยปฏิเสธที่จะไม่ทำ

  • คุณเคยทำงานใหญ่พลาดแล้วเอาแต่โทษตัวเอง และจมอยู่กับความคิดและเอาแต่กร่นด่าตัวเองเป็นเวลาหลายวันหรือไม่?

  • คุณรู้สึกว่าทุกๆ งานที่คุณทำ จะต้องสมบูรณ์แบบ 100% ทุกงานหรือไม่?

*2. The Superwoman / Superman *

สำหรับคนที่มักคิดว่าตัวเองด้อยค่าในสายตาคนอื่น ถ้าพูดถึงในเรื่องของการทำงาน หลายคนมักพยายามที่จะทำให้งานออกมาให้ดีขึ้น และดียิ่งขึ้นในทุกๆ งานเพิ่มไปอีก เหมือนเป็นการสร้างมาตรฐานให้ตัวเองทุกครั้ง ซึ่งเค้าอาจจะไม่ทันคิดว่ายิ่งคาดหวังเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการสร้างความกดดันให้ตัวเอง นักวิจัยเลยบอกว่าการกระทำแบบนี้ เข้าข่ายของคนประเภท “Superwoman และ Superman”ที่มักคิดว่าตัวเองจะต้องทำได้ดีในทุกๆ ครั้ง เพราะคิดว่าทุกคนจะต้องคาดหวังว่าเค้าจะได้ดีเพิ่มขึ้นไปอีกเหมือนกับเหล่าฮีโร่ที่ทำได้ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งการทำงานหนักหักโหมตัวเอง ก็ไม่ใช่แค่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของตัวเอง แต่ก็อาจทำให้กระทบความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยเช่นกัน

ลองเช็กตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่?

  • เวลาทำงาน คุณมักจะกลับบ้านช้ากว่าเพื่อนร่วมงานหรือไม่ ถึงแม้ว่างานของคุณอาจจะเสร็จแล้ว แต่คุณก็ยังนั่งเคร่งเครียดอยู่กับงาน จนไม่สามารถกลับบ้านได้?

  • คุณเคยรู้สึกเครียดเวลาที่ว่างอยู่เฉยๆ ไม่มีงาน และคิดว่าเวลาว่างที่ได้รับนั้นไร้ประโยชน์?

  • คุณละทิ้งความฝันและงานอดิเรกของคุณไว้ และเอาเวลาทั้งหมดไปทุ่มเทกับงานอยู่อย่างเดียวหรือไม่?

  • คุณรู้สึกว่าตำแหน่งหน้าที่การงานที่คุณได้รับมา มันไม่เหมาะสมกับตัวคุณเอง และรู้สึกกดดันมากขึ้นกว่าเดิม และพยายามที่จะทำงานให้หนักมากขึ้นเพื่อให้คนอื่นรู้สึกว่าตัวคุณเองควรค่ากับตำแหน่งนี้

3. The Natural Genius

มาถึงคนประเภทที่ ‘ฉลาดโดยธรรมชาติหรือมีพรสวรรค์มาแต่เกิด’ บางคนก็สามารถที่จะตกอยู่ในอาการ Imposter Disorder ได้เช่นกัน เพราะว่าคนประเภทนี้มักจะตัดสินความสำเร็จจากความสามารถและความพยายามของตัวเอง พูดง่ายๆ คือ ถ้าต้องทำงานบางอย่างให้หนักขึ้นไปอีก คนเหล่านี้ก็อาจจะคิดว่าตัวเองต้องแย่แน่ๆ และไม่สามารถทำได้ และถึงแม้ว่าในการทำงานแต่ละครั้ง อาจจะไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้สูงเหมือนกับคนประเภท Perfectionist แต่มักจะตัดสินจากความคุ้นชินของตัวเอง ประมาณว่า เคยทำได้แค่ไหนก็จะทำได้เท่านั้น แต่ถ้าต้องให้ทำมากกว่านั้นก็จะรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า คงทำไม่ได้แน่ๆ

ลองเช็กตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่?

  • คุณเคยรู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบให้ใครมาคอยแสดงความเห็น หรือคอยชี้แนะอยู่ตลอดเวลา เพราะคุณคิดว่าคุณสามารถรับมือทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง

  • เวลาที่คุณเผชิญกับความล้มเหลว คุณจะรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ เพราะว่าคุณทำได้ไม่ดี และรู้สึกอับอายมาก

  • คุณมักรู้สึกกลัวความท้าทายใหม่ๆ เพราะว่าคุณจะคิดว่าคุณจะไม่สามารถทำในสิ่งนั้นได้ดี

4. The Rugged Individualist

“The Rugged Individualist” หรือ คนประเภทปัจเจกนิยม ไม่ชอบพึ่งพาใคร รักที่จะทำงานแบบอิสระมากกว่า คิดว่าตัวเองไม่สามารถทำงานกับใครได้ เลยเลือกที่จะพึ่งพาตัวเองมากกว่า จนบางครั้งก็อาจจะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจตัวเองแบบไม่รู้ตัว ซึ่งการกระทำเหล่านี้อาจจะนำพาให้เราตกอยู่ในอาการ Imposter Syndrome ได้

ลองเช็กตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่?

  • เป็นคนที่ชอบทำอะไรให้สำเร็จด้วยตัวเองอยู่เสมอ

  • ไม่ชอบขอความช่วยเหลือจากใคร

  • รู้สึกว่าการขอความช่วยเหลือ คือ การรบกวนคนอื่นให้มาช่วยงานของตัวเองทั้งหมด

5. The Expert

มาถึงประเภทสุดท้ายก็คืิอ “The Expert”หรือ คนที่เก่งและเชี่ยวชาญมากๆ ซึ่งหลายคนอาจจะมีความรู้สึกลึกๆ ว่า ตัวเองไม่ได้เก่งจริง ไม่ใช่ของจริงอย่างที่ใครคิด สิ่งที่เค้าทำอยู่มันไม่ได้ดีขนาดที่ทุกคนจะกล่าวชื่นชมและควรได้รับการยอมรับ และบางคนก็อาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังหลอกคนอื่นว่าตัวเองเก่ง กลัวคนอื่นจะมาเปิดโปงว่าที่แท้จริงแล้วเราไม่ได้เก่งจริง และที่แย่ไปกว่านั้นบางคนเก็บความรู้สึกเหล่านี้มาเป็นความเครียด และสะสมมากจนนำไปสู่โรคซึมเศร้า

ลองเช็กตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่?

  • คุณมักรู้สึกเขินอายที่จะบอกดีกรีของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ และรู้สึกกลัวคนอื่นไม่เชื่อ

  • คุณมักรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ และอยากที่จะเรียนทุกๆ อย่างเพื่อเพิ่มเติมความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ

  • คุณมักกลัวที่จะถูกถาม และกลัวตอบไม่ได้ เพราะคุณมักคิดว่าคุณยังรู้ไม่พอ

  • คุณรู้สึกประหม่าและเกิดอาการตัวสั่น เวลามีคนมาบอกว่าคุณเชี่ยวชาญในเรื่องนี้

แล้วถ้าเราเป็นแบบนี้ ควรจะแก้อย่างไร? จริงๆ แล้วเชื่อว่าหลายคนเองก็อาจจะไม่ได้รู้สึกอยากเป็นแบบนี้ แต่เมื่อมันเป็นไปแล้ว จะให้แก้แบบหายขาดมันก็ยาก เพราะกว่าเราจะมาถึงจุดนี้ มันก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรามีความคิดและความรู้สึกแบบนี้ หรือถ้าให้ใครมาบอกว่า ก็ลองเลิกคิดมากสิ อย่าไปคาดหวังอะไรมากเกินไป ซึ่งมันก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดอย่างที่เค้าบอกนั่นแหละ แต่มันก็อาจจะไม่ได้เลิกเป็นกันง่ายๆ
ดังนั้น ลองค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองทีละนิด พยายามอย่ากดดันตัวเองมากเกินไป ลองมีความสุขกับความสำเร็จเล็กๆ และค่อยๆ สร้างความมั่นใจในตัวเอง คิดเอาไว้เสมอว่าใครๆ ก็สามารถทำผิดพลาดได้ และเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้นและเปลี่ยนมาเป็นแรงผลักดันให้กับตัวเอง ย้ำเตือนใจตัวเองไว้เสมอว่า“ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบได้ตลอดเวลา และก็ไม่มีใครที่จะสามารถทำอะไรแล้วไร้ที่ติ 100% หรอก”เพราะว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นธรรมดาที่บางครั้งอาจจะผิดหวัง หรือบางครั้งงานที่ทำอาจจะหนัก มีอุปสรรคเข้ามาให้แก้ไข ถึงแม้ว่าเราอาจจะทำได้ไม่ดี แต่อย่างน้อย มันก็คือสิ่งที่จะทำให้เราเติบโต บางครั้งรู้สึกเบื่อๆ ก็ลองก้าวออกจาก comfort zone ออกไปทำอะไรใหม่ๆ ส่วนสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ก็แค่ทำให้มันดีเท่าที่เราจะทำได้ก็พอ “เราจะใช้ชีวิตเอง หรือจะให้ชีวิตมาใช้เรา มันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองนั่นแหละ”
Source:
https://www.themuse.com/advice/5-different-types-of-imposter-syndrome-and-5-ways-to-battle-each-one
https://qz.com/1288679/a-new-survey-of-puerto-rico-death-toll-from-hurricane-maria/
https://qz.com/1296783/it-turns-out-men-not-women-suffer-more-from-imposter-syndrome/
https://www.cnet.com/news/impostor-syndrome-tips-for-feeling-less-like-a-fake/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0