โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รถไฟจีน-ลาว : 5 เรื่องน่ารู้ของโครงการมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาทเชื่อมคุนหมิง-เวียงจันทน์

Khaosod

อัพเดต 02 ธ.ค. 2564 เวลา 23.07 น. • เผยแพร่ 02 ธ.ค. 2564 เวลา 23.07 น.
_121916528_china-laosrailway2.jpg

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กำลังจะเปิดใช้งานขบวนรถไฟสายลาว-จีน ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกรุงเวียงจันทน์ของลาวกับนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ หลังวันชาติลาว 1 วัน หลังใช้เวลาก่อสร้างนานเกือบ 5 ปี

ทางรถไฟสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน และเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative -- BRI) ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนริเริ่มขึ้นในปี 2013 เพื่อขยายเส้นทางการเดินทางขนส่งเชื่อมต่อผู้คนใน 70 ประเทศทั่วโลกทั้งทางบกและทางทะเล

นี่คือ 5 เรื่องน่ารู้ของรถไฟสายนี้

1.โครงการมูลค่า 1.99 แสนล้านบาท

โครงการรถไฟสายจีน-ลาว มีมูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.99 แสนล้านบาท) จีนรับผิดชอบภาระทางการเงิน 70% ของมูลค่าโครงการ ส่วนที่เหลือลาวรับผิดชอบ โดยลาวเริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2016 ท่ามกลางความวิตกว่า โครงการที่มีมูลค่าการลงทุน ราว 1/3 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ จะทำให้ลาวติดกับดักหนี้สิน เพราะ 60% ของเงินลงทุนหรือประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.18 แสนล้านบาท) นั้น เป็นเงินกู้จากธนาคารส่งออกนำเข้า (เอ็กซิมแบงก์) ของจีน ซึ่งลาวก็ต้องรับภาระหนี้สินตามสัดส่วนเป็นเงินถึง 1,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.57 หมื่นล้านบาท) ส่วนจีนรับภาระที่ 2,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.36 หมื่นล้านบาท)

ส่วนที่เหลือ 40 % เป็นหุ้น โดยฝ่ายลาวมีภาระจะต้องใส่เงินเข้าไปตามสัดส่วนหุ้นของตัวเอง มูลค่า 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.46 หมื่นล้านบาท) ในจำนวนนั้น 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8,430 ล้านบาท) เป็นเงินงบประมาณของรัฐบาลลาวและที่เหลือ 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.62 หมื่นล้านบาท) ก็ต้องกู้จากธนาคารของจีนอีกเช่นกัน ส่วนจีนต้องใส่เงินเข้าไป 1,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท) ( ดูแผนผังโครงสร้างการเงิน)

กราฟิก
กราฟิก

รวมแล้วประเทศลาวมีภาระหนี้สิน 1,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.19 หมื่นล้านบาท) ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเปรียบกับผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ของลาว 19,136 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.45 แสนล้านบาท) ตามการรายงานของธนาคารโลกปี 2020

2.เส้นทางยาวกว่า1,035กิโลเมตร

ทางรถไฟนี้มีขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร โกลบอลไทมส์ สื่อของทางการจีนรายงานว่ามีระยะทางรวม 1,035 กม. ในจำนวนนี้เป็นระยะทางในลาว 414 กิโลเมตร

เว็บไซต์ซินหัวเน็ต ระบุว่า มีอุโมงค์ตามทางรถไฟสายนี้ทั้งสิ้น 167 แห่งรวมระยะทางกว่า 590 กม. คิดเป็น 63% ของระยะทางทั้งหมด

ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า ในส่วนเส้นทางที่อยู่ในประเทศลาวนั้นต้องผ่านอุโมงค์ 75 แห่ง คิดเป็นระยะทาง 198 กม. และสะพาน 167 แห่ง คิดเป็นระยะทาง 61 กม.

เส้นทางสายนี้ผ่านเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวหลายแห่ง ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า สถานีรถไฟของฝั่ง สปป.ลาว ช่วงแรกมี 11 สถานี เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร 10 สถานี ได้แก่ กรุงเวียงจันทน์ โพนโฮง วังเวียง กาสี หลวงพระบาง เมืองงา เมืองไซ นาหม้อ นาเตย และบ่อเต็น และเป็นสถานีขนส่งสินค้า 1 สถานี คือ สถานีเวียงจันทน์ใต้ ส่วนสถานีรถไฟฝั่งจีน มี 14 สถานี ได้แก่ โม่ฮาน เหมิ่งล่า ก๋านหล่านป้า สิบสองปันนา เหมืองหย่าง ผูเอ่อร์ หนิงเอ่อร์ โม่เจียง หยวนเจียง หลัวหลี่เอ๋อซาน เหยียนเหอ อวี้ซีตะวันตก และนครคุนหมิง

ด้านซีเอ็นเอ็น ระบุว่า เครือข่ายรถไฟสายนี้จะเชื่อมต่อสถานีทั้งหมด 45 สถานีในทั้ง 2 ประเทศ โดยในจำนวนนี้จะเป็นสถานีที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสารประมาณ 20 สถานี

3.ใช้ความเร็วในการขนส่งผู้โดยสาร 160-200 กม.ต่อชั่วโมง คาดว่าใช้เวลาเดินทางราว 10 ชั่วโมง

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ขบวนรถไฟนี้มีน้ำหนัก 3,000 ตันและขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ระบบรางของรถไฟสายนี้ถูกออกแบบให้สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ความเร็วได้มากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในส่วนของลาวจะวิ่งด้วยอัตราเร็ว 160-200 กม.ต่อชั่วโมง ในขบวนที่ใช้ขนส่งผู้โดยสาร แต่หากเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจะจำกัดความเร็วที่ไม่เกิน 120 กม.ต่อชั่วโมง

กราฟิก
กราฟิก

เว็บไซต์แทรเวิลไชน่าไกด์ ซึ่งปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ มิ.ย. 2021 ระบุว่า คาดว่าใช้เวลาเดินทางระหว่างนครคุนหมิงและกรุงเวียงจันทน์ราว 10 ชั่วโมง โดยในส่วนของทางรถไฟที่อยู่ในจีนซึ่งให้บริการระหว่างนครคุนหมิงและเมืองโม่หาน ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ทางรถไฟคุนหมิง-อวี้ซี ระยะทาง 88 กม. วิ่งด้วยอัตราเร็ว 200 กม.ต่อชั่วโมง และทางรถไฟอวี้ซี-โม่หาน ระยะทาง 507 กม. มีแผนจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 160 กม.ต่อชั่วโมง

4.ค่าโดยสารเวียงจันทน์-บ่อเต็น 238,000-529,000 กีบ (ราว 680-1,510 บาท)

ผู้จัดการออนไลน์อ้างสื่อของทางการลาวที่เผยแพร่อัตราค่าโดยสารรถไฟลาว-จีน ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการในวันศุกร์ที่ 3 ธ.ค. นี้ โดยอ้างอิงจากหนังสือแจ้งการของกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เลขที่ 24016/ยทข.หก. ลงวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกรมทางรถไฟ และประกาศใช้ค่าโดยสารนี้เป็นการชั่วคราวในระยะแรกที่เริ่มให้บริการ

หากเดินทางจากกรุงเวียงจันทน์ไปยังเมืองบ่อเต็นซึ่งติดกับชายแดนจีน ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ค่าตั๋วรถไฟสำหรับตู้โดยสารชั้น 1 มีราคา คนละ 294 หยวน หรือ 529,000 กีบ หรือ 1,510 บาท ตู้โดยสารชั้น 2 คนละ 185 หยวน หรือ 333,000 กีบ หรือ 950 บาท และค่าโดยสารรถไฟความเร็วธรรมดา คนละ 132 หยวน หรือ 238,000 กีบ หรือ 680 บาท (อัตราค่าโดยสารที่ยกตัวอย่างมาอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนตามราคาตลาดในลาวที่ 1,800 กีบต่อ 1 หยวน และ 350 กีบต่อ 1 บาท)

ส่วนค่าขนส่งสินค้าของขบวนรถไฟลาว-จีน คิดในอัตรา 0.6 หยวนต่อสินค้า 1 ตันต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร

ขณะที่ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับค่าโดยสารในส่วนของประเทศจีน

ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ในการเปิดให้บริการวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ขบวนรถขนส่งสินค้าจะให้บริการวันละ 2 เที่ยว จากสถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ ข้ามชายแดนไปจนถึงสถานีคุนหมิง ส่วนขบวนรถโดยสารจะให้บริการเบื้องต้นเฉพาะภายเส้นทางในประเทศ ระหว่างสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ถึงสถานีบ่อเต็นก่อนเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงระบาดของโควิด-19 โดยมีขบวนรถให้บริการวันละ 2 เที่ยว

เว็บไซต์ลาวเชียนไทมส์รายงานว่า จากประกาศของทางกระทรวง ผู้โดยสารจะต้องพกบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายและมีใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ออกภายในเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเวลาขึ้นรถไฟ และควรจะเดินทางไปถึงสถานีก่อนออกเดินทาง 1 ชั่วโมง หลังจากเช็กอินแล้ว ผู้โดยสารต้องนั่งรอที่บริเวณรอขึ้นรถไฟ และจะมีการตรวจตั๋วโดยสารก่อนเวลารถไฟออก 20 นาที สามารถซื้อตั๋วรถไฟได้ 3 วันก่อนวันออกเดินทาง

5.ผลประโยชน์ของ จีน ลาว และไทย

ตฤณ ไอยะรา ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง รถไฟจีน กล่าวในการเสวนาหัวข้อ เศรษฐกิจการเมืองเรื่องรถไฟจีนในภูมิภาคเมื่อ 3 ก.ค.ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้นถือว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทั้งของจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ จีนต้องการขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคนี้ พร้อม ๆ กับการขยายตลาดรองรับสินค้าอุตสาหกรรมของจีน กระจายความเจริญให้เข้าสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเองและเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือสร้างให้จีนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก

อาจารย์สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้นี้ กล่าวที่เวทีเสวนาที่จัดออนไลน์โดย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกันคือ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมต่อกับโลกภายนอก พัฒนาเมืองสองข้างทางและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองชายแดนและได้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

ส่วน เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า จีนใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 2 ลักษณะ คือ

  • ใช้โครงข่ายคมนาคมอย่างรถไฟเพื่อการเชื่อมโยงและเข้าถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปรียบเสมือนหลังบ้านของจีน

  • ใช้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ในประเทศในภูมิภาคเป็นเสมือนปุ่ม (node) ควบคุมการผลิต ห่วงโซ่อุปทานและการบริโภค

รายงานการศึกษาของธนาคารโลกนี้ชี้ว่ารถไฟจีน-ลาวโดยตัวของมันเองอาจจะไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนาทั้งหมด เพราะคาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการรถไฟในช่วงบ่อเต็น-เวียงจันทน์จะมีเพียง 480,000 คนในปี 2025 และเพิ่มเป็น 1.1 ล้านในปี 2030 ซึ่งนับว่าไม่มากนัก ดังนั้นรถไฟจึงมีหน้าที่หลักในเรื่องการขนส่งสินค้า เพราะการขนส่งทางรางจะทำให้ ต้นทุนค่าขนส่งลดต่ำลง ถ้าหากเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกันได้ทั่วภูมิภาคจากจีนถึงสิงคโปร์ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการขนส่งสินค้าทั้งสินค้าข้ามแดน ผ่านแดน และ ภายในประเทศ จะเพิ่มขึ้นถึง 2.4 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 เฉพาะแต่ในส่วนของลาว-จีนนั้น คาดว่ารถไฟสายนี้จะขนส่งสินค้าได้ 1.7 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากการขนส่งเต็มที่ ลาว จึงสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการผลิตและบริการ

รายงานของธนาคารโลกแนะนำว่า รัฐบาลลาวควรออกแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะตั้งอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟให้เหมาะสม เช่น ควรตั้งอยู่ใกล้กับจุดขนส่งหรือกระจายสินค้า มีแรงงานเพียงพอ กฎระเบียบต่าง ๆ ควรทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อนและโปร่งใส

ทางรถไฟนี้มีขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร มีระยะทางรวม 1,035 กม. ในจำนวนนี้เป็นระยะทางในลาว 414 กิโลเมตร
ทางรถไฟนี้มีขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร มีระยะทางรวม 1,035 กม. ในจำนวนนี้เป็นระยะทางในลาว 414 กิโลเมตร

ด้านนางสิรีธร จารุธัญลักษณ์ และนางสาวอภิชญา จึงตระกูล ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เขียนบทความเรื่อง "รถไฟจีน-ลาว โอกาสและความท้าทาย ที่ไทยต้องเตรียมพร้อม" ระบุว่า "รถไฟจีน-ลาวจะสามารถลำเลียงทั้งสินค้าและคนจากจีนตอนใต้ผ่านลาวมาถึงไทยได้อีกเส้นทางหนึ่ง โดยทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาที่เมืองบ่อเต็น สปป. ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดหนองคายเพียงแค่ 24 กิโลเมตร ทั้งนี้ หากไทยเตรียมพร้อมรับมือให้ดีรถไฟจีน-ลาวนี้จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน"

โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. ระบุด้วยว่า รถไฟจีน-ลาวจะช่วยส่งเสริมทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ทั้งค่าโดยสารและระยะเวลา จากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาถึงจังหวัดหนองคายใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง เร็วกว่าทางถนนจากนครคุนหมิง ถึงจังหวัดเชียงรายที่ใช้เวลาถึง 2 วัน และจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คำนวณโดย ธปท. พบว่าจะมีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนมากขึ้น คนจีนจะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยและลาวเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าจีนจะมาแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดลาวมากขึ้นด้วย

หากไทยมีการเตรียมพร้อมในการรับมือ เราจะเห็นโอกาสสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่

(1) การค้า ไทยจะส่งออกสินค้าไปลาวและจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงผลไม้สดและแปรรูป เพราะสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง และจีนมีกำลังซื้อมหาศาล เฉพาะมณฑลยูนนานมีจำนวนประชากรราว 50 ล้านคน เกือบเท่ากับคนไทยทั้งประเทศ

(2) การบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาวจะมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ 3 กลุ่มใหญ่ของไทย คือกลุ่มบริการสุขภาพ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารและโรงแรม และกลุ่มสถานศึกษาและโรงเรียนสอนภาษา

(3) การลงทุนในต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องทำธุรกิจแข่งกับจีนจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นจุดขายที่การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรองรับการให้บริการสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ตามรายงานของประชาชาติธุรกิจว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพร้อมและสามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการในการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรได้ทันที หากรัฐบาลจีนและ สปป.ลาวเปิดให้ใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีนอย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าสินค้าเกษตรที่จะขนส่งด้วยเส้นทางรถไฟลาว-จีนมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสินค้าผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา สินค้าปศุสัตว์ และข้าว

………………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0