โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผุดแผนเมืองใหม่มอเตอร์เวย์ คร่อมทางหลวง นำร่อง 3 สาย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 มี.ค. 2565 เวลา 08.56 น. • เผยแพร่ 17 มี.ค. 2565 เวลา 01.02 น.
มอเตอร์เวย์

“ศักดิ์สยาม” ปิ๊งไอเดียปั้นเมืองใหม่มอเตอร์เวย์ รูปแบบอาคาร 3 ชั้นคร่อมทางหลวง นำร่องเส้นทาง “บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี” สั่งกรมทางหลวงเนรมิตพื้นที่ 50 ไร่ ดึงเอกชนร่วมลงทุนทำปั๊มน้ำมัน อีวีชาร์จ ร้านซ่อมรถยนต์ โรงแรมขนาดเล็ก สวนสนุก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนได้ให้กรอบนโยบายกรมทางหลวงเกี่ยวกับการพัฒนาและก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์สายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้เตรียมพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มรายได้จากการดำเนินการได้หลากหลายช่องทาง โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งจะนำมาใช้แบ่งเบาภาระของประชาชนผู้ใช้ทางในอนาคต

ผุดเมืองใหม่มอเตอร์เวย์

ทั้งนี้ แนวคิดในการพัฒนาโครงการจะต่อยอดและยกระดับจากการเป็น rest area (ที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์) มาสู่การเป็นเมืองใหม่ขนาดย่อม โดยมีตัวแบบจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีการก่อสร้างเมืองใหม่ยกระดับบนทางหลวงพิเศษ โดยชั้นล่างทำเป็นที่จอดรถ ทำให้ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกสบาย และสามารถใช้บริการได้ทั้งการเดินทางขาเข้าและขาออกเมือง

“ผมไปดูงาน rest area มอเตอร์เวย์สาย 7 ไปชลบุรี ทำแล้วไม่คุ้มค่า รถก็ติดด้วยเพราะเอาพื้นที่ที่ควรเป็นที่จอดรถมาสร้างอาคารทั้ง 2 ฝั่งถนน โมเดลต้นแบบที่เกาหลีใต้เขาทำอาคารคร่อม 3 ชั้น พื้นที่ด้านข้างทำเป็นที่จอดรถ เซฟคอสต์ผู้ประกอบการร้านค้าที่มาเปิดด้วย เช่น ขายไก่ แทนที่จะต้องลงทุนเปิด 2 ร้านทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ก็สามารถเปิดเพียง 1 ร้านเพราะอยู่บนอาคารคร่อมทางหลวง ประชาชนผู้ใช้ทางก็สะดวกเพราะจอดรถง่ายขึ้น”

สำหรับจุดเหมาะสมพัฒนาเมืองใหม่บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เบื้องต้นมีมอเตอร์เวย์สายใหม่ 2 เส้นทางที่มีความเป็นไปได้ในขณะนี้ ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์รหัส M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา 2.มอเตอร์เวย์รหัส M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง และเป็นเส้นทางต่อเชื่อมไปยังเส้นทางอื่น ๆ

รวมทั้งมอบนโยบายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รับแนวคิดไปดำเนินการ 2 จุดบนทางด่วนที่รับผิดชอบอยู่

เวนคืนต้อง “คิดเผื่ออนาคต”

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดการพัฒนาถนนเส้นใหม่ในอนาคตจะต้องมีการพัฒนาที่ดินที่ได้รับจากการเวนคืนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบ TOD (transit-oriented development) ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพื่อให้มีรายได้จากช่องทางอื่นนอกเหนือจากรายได้การจัดเก็บค่าผ่านทางบนมอเตอร์เวย์

ในส่วนของ ทล.มีแผนปฏิบัติการ (action plan) ในการพัฒนาที่พักริมทางบนเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 7 เส้นทางกรุงเทพฯ-บ้านฉาง (ช่วงกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด) ปี 2563-2567 ซึ่งได้จัดทำข้อกำหนดกรมทางหลวงเรื่อง “มาตรฐานและลักษณะที่พักริมทางในเขตทางหลวงพิเศษและทางหลวงสัมปทาน พ.ศ. 2560”

โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.ศูนย์บริการทางหลวง (service center) ที่พักริมทางหลวงขนาดใหญ่ 50 ไร่ขึ้นไป มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการครบทุกประเภท 2.สถานที่บริการทางหลวง (service area) ที่พักริมทางขนาดกลาง 20 ไร่ขึ้นไป มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการอย่างเพียงพอต่อการใช้งาน

เป็นจุดแวะพักสำหรับผู้ใช้ทาง 3.จุดพักรถ (rest stop) ที่พักริมทางขนาดเล็ก 5 ไร่ขึ้นไป เป็นจุดแวะพักเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้ทางทั่วไป หรือผู้ใช้ทางบางประเภทเป็นการเฉพาะ เช่น จุดพักสำหรับผู้ขับขี่รถบรรทุก (truck rest stop)

ล่าสุด ทล.รับมอบนโยบายในการพัฒนาเมืองใหม่มอเตอร์เวย์ โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้โครงการ (feasibility) คาดว่ารูปแบบเมืองใหม่มอเตอร์เวย์ประกอบไปด้วยการให้บริการพื้นฐาน

เช่น สถานีบริการน้ำมัน สถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ (EV charger) ร้านค้า ร้านอาหาร และอาจเพิ่มเติมตามความต้องการของผู้ใช้ทางในอนาคต เช่น สวนสนุก สถานที่ช็อปปิ้ง และโรงแรมขนาดเล็ก โดยขนาดพื้นที่ต้องมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป

“จากแนวคิดดังกล่าวกรมทางหลวงมองว่าต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการเวนคืนที่ดินซึ่งจะต้องคิดเผื่ออนาคต เนื่องจากทางหลวงพิเศษในปัจจุบันไม่สามารถขยายพื้นที่สำหรับทำจุดที่พักรถได้ เช่น ดอนเมืองโทลล์เวย์ ฉะนั้นโครงการในอนาคตจะต้องศึกษาการพัฒนา TOD อยู่ในแผนปฏิบัติการหรือแผนแม่บทการพัฒนาด้วย”

ดึงเอกชนร่วมลงทุน PPP

นายสราวุธกล่าวว่า ความคืบหน้าในขณะนี้กำลังคัดเลือกเส้นทางที่มีความเหมาะสมเป็นโครงการนำร่อง เงื่อนไข คือ 1.เป็นพื้นที่ไม่ไกลจากตัวเมือง 2.พื้นที่ใกล้เคียงทางออกมอเตอร์เวย์

และ 3.มีปริมาณการเดินทางของผู้ใช้รถจำนวนมาก เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน โดยโครงการที่มีความเป็นไปได้ในขณะนี้ คือ การก่อสร้างทางยกระดับแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP (public private partnership)

“ไอเดียเมืองใหม่มอเตอร์เวย์ถือเป็นการมองนอกกรอบของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมมาทำ action plan เพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรม

เป้าหมายสำคัญให้ประชาชนผู้ใช้ทางเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เช่น จากเดิมประชาชนจ่ายค่าผ่านทาง 100 บาท เมื่อมีรายได้จาก TOD เข้ามาเพิ่มอาจจัดเก็บ 90 บาท หรือในอนาคตถ้าต้องปรับค่าผ่านทางเป็น 110 บาท ก็อาจไม่มีความจำเป็นที่จะปรับขึ้นค่าผ่านทาง”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 1

  • ไอตัวเล็ก...😊😊
    ทำเพื่อให้คนรวยได้ใช้กัน ส่วนคนจนก็วิ่งข้างล่างเอาจะได้ไม่แออัด เคยมีคนกล่าวไว้
    17 มี.ค. 2565 เวลา 01.14 น.
ดูทั้งหมด