โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

'Stand up to CANCER Together' ลดวิกฤติ ปิดช่องว่าง สู้โรคมะเร็ง

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 02 ก.พ. เวลา 06.11 น. • เผยแพร่ 02 ก.พ. เวลา 12.19 น.

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าในปี 2567 เป็นต้นไป โลกจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 20 ล้านราย ขณะที่ประเทศไทย กรมการแพทย์ได้เผยสถิติว่าในปี 2566 มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 140,000 คน/ปี หรือ 400 คน/วัน ที่สำคัญยังพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น โดยเกิดจากพฤติกรรมการกินมากถึง 30-40% ทำให้คนส่วนใหญ่มีความกังวลจากโรคมะเร็งที่เริ่มใกล้ตัวมากขึ้น

โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ อันดับ 1 มะเร็งตับและท่อน้ำดี อันดับ 2 มะเร็งปอด อันดับ 3 มะเร็งเต้านม อันดับ 4 มะเร็งลำไส้และทวารหนัก อันดับ 5 มะเร็งปากมดลูก

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องค์การอนามัยโลก(WHO) และองค์การสหภาพต่อต้านมะเร็งระหว่างประเทศ(UICC) ได้กำหนดให้เป็น ‘วันมะเร็งโลก’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วโลก มีความรู้ มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้แก่ ‘มะเร็งสามารถป้องกันได้’

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'รพ.จุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' อันดับ 5 สุดยอดองค์กรแห่งปี กลุ่มรพ.รัฐ

ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน ! เช็ก 5 สัญญาณเตือน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

รพ.จุฬาภรณ์ ลดวิกฤติ ปิดช่องว่าง ลุกขึ้นสู้มะเร็งไปด้วยกัน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางถึงร้อยละ 70 ของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า ใน ปี 2573 ทั่วโลก จะมีคนตายจากโรคมะเร็ง ถึง 13 ล้านคนต่อ หากทุกประเทศยังไม่มีมาตรการการป้องกันโรค และควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง

วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2566)ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บูรณาการความร่วมมือเดินหน้ารณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคมะเร็งแก่ประชาชนจัดบริการวิชาการโครงการรณรงค์เนื่องในวันมะเร็งโลก ประจำปี 2567 Stand up to CANCER Together ภายใต้ธีม Close the Care Gap ลดวิกฤติปิดช่องว่าง ลุกขึ้นสู้มะเร็งไปด้วยกัน ร่วมรณรงค์ลดวิกฤติโรคมะเร็งในประเทศไทย สร้างการตระหนักแก่ประชาชน เพราะทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอุบัติการณ์โรคมะเร็งได้

พร้อมทั้งผลักดัน และร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายป้องกัน และควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติของประเทศไทย เพื่อร่วมกันลดวิกฤติ ปิดช่องว่างให้คนไทยสามารถเข้าถึงการป้องกันดูแล และรักษาโรคมะเร็งที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม

ลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็ง เพิ่มบริการทางการแพทย์

โดยมี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายร่วมรณรงค์จากทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ทุ่งสองห้อง สโมสรนักศึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน)

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมเนื่องในวันมะเร็งโลกปีนี้ว่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยและสถาบันการแพทย์ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมส่งเสริมบริการความรู้ และการดูแลเชิงป้องกันเพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ มุ่งเน้นการให้บริการทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งที่เป็นเลิศเพื่อให้ประชาชน

โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ขาดแคลนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการตรวจรักษาโรคมะเร็งที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน เพื่อสนองพระปณิธานอันแน่วแน่ของ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์แห่งนี้ เพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมทั้งช่วยประเทศชาติในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การค้นคว้าวิจัยทางด้านวิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลทัดเทียมนานาประเทศ

“การจัดโครงการรณรงค์ Stand up to CANCER Together ภายใต้ธีม Close the Care Gap ลดวิกฤติปิดช่องว่าง ลุกขึ้นสู้มะเร็งไปด้วยกัน เพื่อร่วมตอกย้ำให้ทุกคนได้ตระหนัก และเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพ ลดภาวะเสี่ยงจากโรคมะเร็ง ด้วยมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาได้หากตรวจพบในระยะแรกเริ่ม โดยให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการเข้าถึงสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคของประเทศไทย เพราะทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดอุบัติการณ์โรคมะเร็งในประเทศได้”

นอกจากนั้น เป็นการผลักดัน และขับเคลื่อนการยกระดับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อขยายโอกาสทางการรักษาแก่ประชาชน และเติมเต็มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายป้องกัน และควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ เพื่อร่วมกันลุกขึ้นสู้มะเร็ง ลดวิกฤติ ปิดช่องว่าง เพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงการป้องกันดูแล และรักษาโรคมะเร็งที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ สำหรับโครงการรณรงค์ Stand up to CANCER Together ลดวิกฤติ ปิดช่องว่าง ลุกขึ้นสู้มะเร็งไปด้วยกัน ได้จัดบริการวิชาการเสวนาให้ความรู้ครอบคลุมทุกมิติของโรคมะเร็งจากคณะแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และภาคีเครือข่าย

นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่าโรคมะเร็งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ซึ่งสถิติในขณะนี้ บางโรคมะเร็งมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่บางโรคมะเร็งแนวโน้มลดลง โดยมะเร็งที่พบได้บ่อยในคนไทย 5 อันดับแรก ยังคงเป็นมะเร็งกลุ่มเดิม ได้แก่

มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเวลาพูดถึงเรื่องการวิเคราะห์โรคมะเร็งจะต้องแยกระหว่างมะเร็งที่เกิดขึ้นในเพศหญิง และเพศชน เพื่อทำให้เกิดการรักษาที่ตรงจุด

“ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการรักษาโรคมะเร็ง โดยมีนโยบายมะเร็งครบวงจร ที่จะดูแลตั้งแต่การคัดกรอง การเข้าสู่กระบวนการรักษา ตั้งแต่การผ่าตัด เคมีรังสี หรือการประคับประคองอาการ ซึ่งมะเร็ง เป็นโรคที่หากตรวจพบได้เร็วจะรักษาได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การคัดกรองมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรักษาหายขาดจากโรค หรือรักษาได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันภาครัฐได้มีการให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็ง ทั้ง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งสำไส้ โดยีการตรวจให้ฟรี ยิ่งในกลุ่มของมะเร็งปากมดลูกมีชุดอุปกรณ์ตรวจเช็กได้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลรักษา และหายจากโรคได้” นพ.ศุกกร กล่าว

ชวนรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็ง ป้องกันโรค

พร้อมทั้งรณรงค์เชิญชวนสตรีไทยอายุระหว่าง 30-59 ปี เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง HPV DNA Self-sampling ฟรี ‘เลิกเขิน เลิกอาย ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง’ ซึ่งเป็นชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้โครงการกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ทุ่งสองห้อง เข้าร่วมให้บริการประชาชน และถึงแม้ว่าสถิติจำนวนผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จำนวนผู้รอดชีวิตก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน เพราะความก้าวหน้าของการวินิจฉัยที่รวดเร็ว และแม่นยำกว่าสมัยก่อน

นอกจากนั้น ยังมีเสวนาในช่วง ‘มะเร็งรุกมา เราลุกขึ้นสู้ด้วยกัน’ กับทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นำโดย พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา ผศ.พญ.เจษฎาพร พร้อมเที่ยงตรง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ พญ.เอมวิภา ลือประสิทธิ์สกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโลหิตวิทยา ร่วมเสวนาสร้างความรู้ความเข้าใจถึงนวัตกรรมความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งในด้านของการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่รวดเร็วและแม่นยำ

การรักษามะเร็งทางโรคเลือดด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยการใช้เซลล์ตัวเองบำบัด (Autologous Stem Cell Transplant) โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิด Multiple Myeloma โดยผู้ป่วยที่ใช้สิทธิข้าราชการสามารถเบิกจ่ายตรงเพื่อเข้าถึงการรักษาด้วยนวัตกรรมดังกล่าวได้อีกด้วย

การรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพคือ การรักษาที่เข้าถึงผู้ป่วยมะเร็งทุกคนได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างยืนยาว โรงพยาบาลจุฬาภรณ์จึงมุ่งเน้นการรักษาโรคมะเร็งด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐานสากลภายใต้การดูแลรักษาร่วมกันโดยแพทย์เฉพาะทางสหสาขาเพื่อร่วมกันวินิจฉัยข้อมูล และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมเพื่อทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยมะเร็งแต่ละราย ตลอดจนการดูแลชีวิต และจิตใจ และการดูแลแบบประคับประคองด้วยแนวทางการดูแลทางการแพทย์แบบองค์รวมที่มุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว

ศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป หรือ ESMO (European Society for Medical Oncology) ให้เป็น ‘ESMO Designated Centres of Integrated Oncology and Palliative Care’ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองนี้อีกด้วย

ปิดท้ายการเสวนาด้วยการ ‘เติมเต็มการดูแลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็ง’ ทั้งในด้านการวางแผนมีบุตรสำหรับผู้เป็นมะเร็ง ร่วมเสวนากับ พญ.กตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ พญ.จิดาภา สำราญ แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งนรีเวชวิทยา และด้วยการประสบกับปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ พยาบาลวิชาชีพ จุฑามาศ มูลภิชัย หน่วยพยาบาลเคมีบำบัด และสิน วิวัฒน์ธนพร ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ขึ้นมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถึงการปิดช่องว่างของข้อจำกัดดังกล่าวของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ด้วยการเปิดบริการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ หรือ Home Chemotherapy เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดวิกฤติปัญหาเรื่องเตียงเต็ม และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมะเร็ง และญาติที่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ในขณะให้ยาเคมีบำบัด

ภายในงานยังมีบูธกิจกรรมต่างๆ เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง อาทิ การให้คำปรึกษา และแจกอุปกรณ์เสริมบุคลิกภาพ เช่น เต้านมเทียม วิกผม หมวก การแนะนำโภชนาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง วิธีการดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน และกิจกรรม ‘เย็บเต้านมเทียม’ กับโครงการ Sabina Sewing Cup Sewing Heart ‘เย็บเต้ารวมใจ สู้ภัยมะเร็งเต้านม’ โดยมี รัก-สุลักษมิ์ ศิริภัทรพงศ์ มิสแกรนด์สุราษฏร์ธานี 2022 และสโมสรนักศึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำคณะนักศึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จิตอาสามาร่วมทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิตและปลูกฝังการช่วยเหลือประชาชนด้วยความเพียร และจิตเมตตา ร่วมทำกิจกรรมเย็บเต้านมเทียมเพื่อส่งมอบให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

การต่อสู้กับโรคมะเร็งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อลดวิกฤติ ปิดช่องว่าง และพร้อมลุกขึ้นสู้มะเร็งไปด้วยกัน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ที่ต้องการเข้ารับการปรึกษาเพื่อวางแผนการรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา การปลูกถ่ายไขกระดูก และเซลล์บำบัด เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ตรวจเพทสแกน สามารถเข้าถึงช่องทางบริการทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งผ่านทาง LINE Official Account โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ @chulabhornhospital (กดเพิ่มเพื่อน: http://nav.cx/8DqLuQm)

กดเมนู 'บริการโรคมะเร็ง' และเลือกหัวข้อบริการและชนิดมะเร็งที่ต้องการปรึกษาเพื่อเข้าถึงการติดต่อเจ้าหน้าที่ในการให้บริการ พร้อมเตรียมเอกสารเพื่อส่งปรึกษา อาทิ ประวัติการรักษา รายงานการผ่าตัด ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รายงานผลทางรังสีวินิจฉัยพร้อมซีดี รายงานผลทางพยาธิวิทยา ผลชิ้นเนื้อพร้อมสไลด์บล็อก (ถ้ามี) ผลชิ้นเนื้อไขกระดูก (ถ้ามี) เพื่อคัดกรองประวัติและอาการกับแพทย์ก่อนนัดหมายเข้ารับบริการต่อไปเพื่อประหยัดเวลา และลดการเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0