28 กุมภาพันธ์ 2568 ครม. เห็นชอบ ‘ร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี’ จัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภัยไซเบอร์ พนันออนไลน์ เพิ่มความรับผิดชอบ แบงก์-ค่ายมือถือ-แอป ร่วมจ่ายค่าเสียหาย กันลอยตัวพ้นผิด โทษสูงสุด ปรับ 5 ล้านบาท – จำคุก 5 ปี คาดบังคับใช้ ก.พ.68 เผย ร่าง พ.ร.ก. ฉบับใหม่ ครอบคลุมถึงอำนาจ กสทช. – แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล
เพิ่มความรับผิดชอบ แบงก์-ค่ายมือถือ เร่งรัดคืนเงินผู้เสียหาย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานภายหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีสาระสำคัญที่ได้รับการแก้ไข 5 ประเด็น ดังนี้
- การกำหนดความรับผิดชอบร่วมของสถาบันการเงิน เครือข่ายมือถือและสื่อสังคมออนไลน์ กำหนดให้ผู้ให้บริการเหล่านี้ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหากไม่ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด
- กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ต้องมีหน้าที่ระงับการใช้งานซิมการ์ดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทันที
- การเร่งรัดขบวนการคืนเงินให้ผู้เสียหาย เป็นการเพิ่มหน้าที่ให้ธนาคารต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าที่เชื่อมโยงกับการกระทำความผิดไปยังสำนักงาน ปปง. เพื่อให้สามารถตรวจสอบและคืนเงินให้ผู้เสียหายได้โดยเร็ว ซึ่งเดิมการคืนเงินให้ผู้เสียหายต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าปีหรือสองปี ต้องผ่านกระบวนการทางศาล แต่การแก้ไข ร่างพ.ร.ก. ครั้งนี้ ทำให้คืนเงินได้รวดเร็วขึ้น
- การเพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์มโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มต้องร่วมรับผิดชอบในการป้องกันและตรวจสอบการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระบบของตน
- เพิ่มบทลงโทษสำหรับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กรณีเปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสม
คาดโทษข้อมูลหลุด ปรับสูงสุด 5 ล้านบาท จำคุก 5 ปี-ร่าง พ.ร.ก. คืนเงินผู้เสียหายเร็วสุด
นายประเสริฐ ขยายความว่า ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้กำหนดโทษเพิ่มเติม 2 ลักษณะ คือ (1) ลักษณะเปิดเผยแบบส่งต่อ และ (2) ลักษณะเปิดเผยแบบขายข้อมูล ซึ่งโทษสูงสุดปรับ 5 ล้านต่อต่อหนึ่งกระทง และจำคุก 5 ปี
เมื่อถามว่า การคืนเงินที่เร็วขึ้นตามข้อ (3) จะเร็วขึ้นจากเดิมแค่ไหน นายประเสริฐ ตอบว่า ประมาณ 6 เดือน หรืออย่างช้าสุด 1 ปี หรือบางกรณีสามารถคืนได้ทันทีหากผู้เสียหายพิสูจน์และยืนยันตัวตนและบัญชีได้ตรงกัน
“ในอดีตต้องผ่านกระบวนการฟ้องร้องของศาล แต่อันนี้เราให้อำนาจกำหนดให้ธนาคารส่งข้อมูลให้ ปปง. ได้รับทราบ บัญชีม้าที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพื่อตรวจสอบได้ทันที”
เมื่อถามถึงรายละเอียดของความรับผิดชอบร่วมกัน นายประเสริฐ อธิบายว่า นำมาใช้้ในกรณีที่คณะกรรมการได้กำหนดมาตรการไปแล้วไม่ปฏิบัติตามหรือเกิดความเสียหาย ส่วนความเสียหายจะเกิดขึ้นเท่าไรต้องมีการฟ้องศาล และศาลจะเป็นคนกำหนดว่าส่วนรับผิดชอบแต่ละส่วนเป็นอย่างไร
“เป็นมาตรการที่ทุกคนต้องระมัดระวังมากขึ้นในการดูแลและปกป้องทรัพย์สินของประชาชน” นายประเสริฐ กล่าว
ถามต่อว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ สามารถพูดคุยกับเจ้าของได้หรือไม่ นายประเสริฐ ตอบว่า “พูดได้ เป็นกฎหมายในประเทศเราเอง ถ้ามีความผิดเกิดขึ้นในประเทศ เราก็สามารถใช้ข้อกฎหมายในประเทศบังคับได้”
ถามต่อว่า ร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อไร นายประเสริฐ ตอบว่า “กฤษฎีกาฯ จะขอดูรายละเอียดอีกเล็กน้อย วันนี้ ครม. ผ่านความเห็นชอบแล้ว กฤษฎีกาฯ ดูอีก ผมว่าใช้เวลาไม่นาน”
โฆษกฯ ชี้ กม. เดิม ขาดอำนาจจัดการบัญชีม้า-ความรับผิดชอบร่วมกัน
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลในช่วงแถลงข่าวของคณะโฆษกว่า พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (ฉบับปัจจุบัน) ยังขาดอำนาจหน้าที่และการกำหนดโทษหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะอำนาจการดำเนินการกับบัญชีม้าบนแพลตฟอร์ม P2P, อำนาจการคืนเงินให้กับประชาชน, และการรับผิดร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
ทั้งนี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีสาระสำคัญ ในการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. ฉบับเดิม พ.ศ. 2566 ดังนี้
- เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
- เพิ่มหน้าที่ให้ telco provider ต้องระงับซิมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
- เพิ่มหน้าที่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าของธนาคารต่าง ๆ ไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบและคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้รวดเร็วมากขึ้น
- เพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์ม P2P รวมถึงธนาคารที่ไม่ปฏิเสธการเปิดบัญชีของคนร้าย
- เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
- เพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ยกเป็นวาระเร่งด่วน เพิ่มอำนาจ กสทช. – ระงับกลุ่มเสี่ยงฟอกเงินผ่านคริปโต
จากกฎหมายฉบับปัจจุบันและมาตรการบังคับทางกฎหมายที่ยังไม่เพียงพอกับรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทำให้อาชญากรรมออนไลน์ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลพบว่า ประชาชนยังได้รับความเสียหายเฉลี่ยต่อวัน 60 – 70 ล้านบาท (ก่อนการดำเนินการมาตรการต่างๆ ของ ดศ. อยู่ที่ 100 – 120 ล้านบาทต่อวัน) และตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 – พ.ย. 67 มีจำนวนคดีออนไลน์รวม 402,542 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 42,662 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการดำเนินการแก้ปัญหานี้
**[
- ดีอี เปิดรายงาน-ข้อเสนอ พบปิดเว็บ ‘พนันออนไลน์’ 62,215 โดเมน พบเงินตกค้างบัญชีม้ากว่า 1.5 พันล้าน ](https://thaipublica.org/2025/01/de-reports-shutdown-of-online-gambling-websites/)**
ดังนั้น ร่าง พ.ร.ก. ฉบับใหม่ จึงเพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ เช่น
- ห้ามการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Lending (P2P) โดยห้ามให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโทเคอร์เรนซีโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์ และให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีหน้าที่ปฏิเสธการเปิดบัญชีและระงับการให้บริการหรือการทำธุรกรรมกับ ลูกค้าที่มีรายชื่อหรือใช้กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ลดปัญหาการฟอกเงินโดยนำมาเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดิจิทัล)
- ให้ สนง.กสทช. หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีหน้าที่สั่งระงับการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือเป็นการชั่วคราวเมื่อพบเหตุอันควรสงสัย
- ให้สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย ที่ถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หากหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้ใช้ความระมัดระวังที่พึงปฏิบัติในวิชาชีพ
- ให้อำนาจแก่ คกก. ธุรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นผู้พิจารณาคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย โดยไม่ต้องรอให้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งถึงที่สุดก่อน
คาดบังคับใช้ ก.พ. 68
นายจิรายุ รายงานว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงการประกาศใช้เป็น พ.ร.ก. ว่า จะสามารถจัดการกระบวนการหลอกลวงที่เป็นปัญหาสังคมอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้มีความเห็นอย่างไร โดยมีหน่วยงานที่ให้คำตอบ ได้แก่
- เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าหาก ครม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมสามารถพิจารณาอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวได้
- นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. ดีอี รายงานในที่ประชุมว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และจะสามารถป้องกันและปราบปรามได้มากยิ่งขึ้น
จากนั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติในหลักการตามที่ ก.ดิจิทัลฯ เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับร่าง พ.ร.ก. ไปพิจารณาปรับรูปแบบ โดยให้รับความเห็นหน่วยงานไปประกอบการพิจารณาสำหรับร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้หลัง ครม. เห็นชอบ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งเลขาธิการกฤษฎีกา ระบุจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน คาดว่าประกาศบังคับใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนหน้านี้
รมว. ประเทศในอาเซียน เห็นพ้องในหลักการ
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรืออาชญากรรมไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ประกอบกัน เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินการอีกทั้งยังมีมาตรการอื่น เช่น การทำงานร่วมกับต่างประเทศในการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีฐานที่ตั้งบริเวณชายแดน ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน
“ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้งล่าสุด ได้นำเสนอเรื่องนี้เป็นรายงานในที่ประชุม ซึ่งทุกประเทศก็เห็นพ้องในการยกระดับร่วมกันและถือว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงในโซเชียล เป็นภัยที่ทุกประเทศต้องตระหนัก จึงต้องทำงานร่วมกัน” นายจิรายุ กล่าว