นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) โดยระบุว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้เสนอขออนุมัติปรับกรอบวงเงินโครงการดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อเตรียมเสนอขออนุมัติจากทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผลักดันให้มีการเปิดประกวดราคาภายในปีนี้
เบื้องต้น ร.ฟ.ท.ได้เสนอปรับกรอบวงเงิน 3 โครงการ ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 10,670 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,694 ล้านบาท และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468 ล้านบาท รวมโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่จะมีการเปิดประมูลส่งท้ายปีนี้มีมูลค่าราว 2.18 หมื่นล้านบาท
สำหรับ 3 โครงการดังกล่าว ก่อนหน้านี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีหลายปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น อาทิ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และค่าวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ ร.ฟ.ท.ต้องทบทวนราคาค่าก่อสร้าง
ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ –หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถีใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี นอกจากนี้ยังต้องประเมินราคาค่าก่อสร้างใหม่ ทำให้ Missing Link ต้องปรับกรอบวงเงินเพิ่มประมาณ 2,843 ล้านบาท เป็น 47,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอขออนุมัติจาก ครม.และเปิดประมูลในปี 2566
อย่างไรก็ดี ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้งระบบ 6 เส้นทาง แบ่งเป็น ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง และเส้นทางที่เปิดบริการแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงินประมาณ 3.6 แสนล้านบาท สัมปทาน 50 ปี โดยหากกระทรวงคมนาคมอนุมัติ จะเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ครม.ตามลำดับ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2567 ประเมินตลอดอายุสัมปทานจะสร้างรายได้ 5.8 แสนล้านบาท