รัฐ-เอกชนดันไทยฮับ “โปรตีนจิ้งหรีด” โลก เป็นโปรตีนสำรองในอนาคตที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน
วันที่ 29 กันยายน 2565 จิ้งหรีดกลายเป็นประเด็นระดับโลก นับตั้งแต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ส่งเสริมให้แมลงเป็นอาหารสำหรับคนทั่วโลก และยกให้จิ้งหรีดเป็นอาหารชนิดใหม่ของโลก เป็นโปรตีนสำรองในอนาคตที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน (sustainable) และให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่า หมู เนื้อ ไก่ และปลา หรือที่เรียกว่า Novel Food
อีกทั้งจิ้งหรีดมีช่วงอายุการเพาะเลี้ยงไปจนถึงช่วงการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าสัตว์ชนิดอื่น และใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงน้อย จิ้งหรีดจึงกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่กำลังจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ในอนาคต เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปได้จัดแมลงเป็นอาหารใหม่ (Novel Food)
รายงาน The World Population Prospects ปี 2019 โดยฝ่ายเศรษฐกิจและกิจการสังคมของสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี 2050 และอาจเพิ่มสูงเกือบ 1.1 หมื่นล้านคนในช่วงปี 2100 นั่นหมายความว่าภาวการณ์ขาดแคลนอาหารโลกย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรระดับโลกหลายแห่งคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ในอนาคตโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร
จากจำนวนประชากรที่กำลังทะยานขึ้น FAO จึงแนะนำให้แมลงเป็นอาหารโปรตีนสำรองในอนาคต เนื่องจากมีราคาถูก เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่กำลังจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ ข้อมูลวิจัยของกองโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า คุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้ในขนาดน้ำหนัก 100 กรัม มีปริมาณโปรตีนเทียบเท่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทูนึ่ง และไข่ไก่ในขนาดน้ำหนักเท่ากัน
ดังนั้นแมลงจึงสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารได้ในพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหารจำพวกโปรตีน ทั้งใช้อาหารและพื้นที่เลี้ยงน้อยกว่าปศุสัตว์ทั่วไป และยังปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยกว่าการเลี้ยงวัวถึง 80 เท่า
ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดัน “จิ้งหรีดไทย” สู่ตลาดโปรตีนแห่งใหม่ในอนาคต หวังขยายฐานส่งออกสู่ตลาดโลก เร่งส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ หลังพบว่าทั่วโลกนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ทำให้ตลาดส่งออกไทยขยายตัวรวดเร็วมีการเติบโตถึง 23% ต่อปี โดยเฉพาะในสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน จากการที่ FAO ส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคจิ้งหรีด กระทรวงเกษตรฯจึงได้ตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่การผลิตไปในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในชื่อ “โครงการเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”
มีตลาดอียูเป็นตลาดส่งออกหลักสำคัญ ซึ่งการส่งออกจิ้งหรีดจากไทยไปอียูนั้นยังคงเป็นไปตามระเบียบอาหารใหม่ ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.8202-2560 มีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบตรวจรับรองตาม มกษ. เพื่อรองรับการยกระดับฟาร์มจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐานระดับสากล โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ปักธงนำร่องเริ่มต้นไว้ที่จังหวัดกาฬสินธุ์และมหาสารคาม จนจิ้งหรีดไทยสามารถตีตลาดดังกล่าวได้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดทั้งแช่แข็ง แปรรูปต้มบรรจุกระป๋องหรืออบบดเป็นโปรตีนผงผสมอาหาร
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ปัจจุบันตลาดแมลงทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าในปี 2570 มูลค่าการตลาดของอาหารโปรตีนจากแมลงจะสูงถึง 2,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตันต่อปี และมีฟาร์มเลี้ยงจำนวนมาก โดยเฉพาะจิ้งหรีดซึ่งเป็นแมลงที่มีการเพาะเลี้ยงมากกว่า 23,000 ฟาร์ม
ปัจจัยทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นแรงส่งชั้นดีให้ บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด บริษัทสัญชาติไทยที่ตั้งโรงงานแปรรูปผงโปรตีนและทำเป็น “ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด” ครบวงจร แจ้งเกิดบนเวทีแห่งกระแสโลกครั้งนี้ และถือเป็น “ฟู้ดเทค สตาร์ตอัพ” รายแรกของไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มาตั้งแต่ปี 2559
ทำธุรกิจเกี่ยวกับแมลงอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีฟาร์มที่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด มีโรงงานที่แปรรูปผลิตภัณฑ์และการสร้างผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด พร้อมกับมีการทำวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ร่วมกับนักวิจัยสถาบันวิจัยของประเทศไทยอย่างเข้มข้น โดยผงโปรตีนแบบเข้มข้นได้ทำตลาดภายใต้แบรนด์ “Sixtein” เน้นการทำการตลาดระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ (Business-to-Business : B2B) และนำสินค้าไปพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ตลาดโลกรองรับไม่อั้น
นายธีรณัฐ รุ่งสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ ไทย เอนโท ฟู้ด กล่าวว่า การสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นความมุ่งมั่นของเรา ในช่วงแรกจะสร้างและขยายตลาดโปรตีนจิ้งหรีดในต่างประเทศให้แข็งแกร่ง โดยใช้นวัตกรรมการผลิตของเรา และสนับสนุนเกษตรกรขยายการทำฟาร์มจิ้งหรีด ตอบสนองความต้องการของตลาดคือโตไปด้วยกัน
ปีนี้หลังจากการร่วมทุนกับบริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) หรือ TSTE เสริมศักยภาพก้าวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตโปรตีนจิ้งหรีดของประเทศไทย วางเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโปรตีนจิ้งหรีดของโลก และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ภาคเกษตรกร ชุมชน สังคม และประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาทในปี 2023 และก้าวสู่ระดับ 1,000 ล้านบาท ในปี 2025 แบ่งเป็นสัดส่วนการขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70%
“เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร ด้วยการนำจิ้งหรีดมาแปรรูปเป็นผงโปรตีน ราคาดีกว่าการจำหน่ายแบบเป็นตัวสด จากรายงานการสำรวจอุตสาหกรรมตลาดวัตถุดิบเพื่อการผลิตโปรตีนโลกในปี 2019 มีมูลค่า 53.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะขยายตัวสู่ระดับ 91.89 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2027 ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และไทยมีโอกาสแทรกตัวสู่อุตสาหกรรมนี้ได้ไม่ยาก
ดังนั้นเราควรเป็นส่วนหนึ่งของตลาด food protein ingredient ของโลกที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านเหรียญนี้ แทนที่จะเป็นแค่ตลาดแมลงกินได้ ซึ่งเป็น niche market มูลค่าหลักร้อยล้าน เราต้องผลักดันให้แมลงเป็นโปรตีนทางเลือกอีกตัวในตลาดกระแสหลัก ถ้าไทยส่งออกผงโปรตีนจิ้งหรีด 1,000 พันตันต่อปี ต้องการจิ้งหรีดสดเพื่อผลิตประมาณ 4,000 พันตันต่อปี ถ้าส่งออกผงโปรตีนจิ้งหรีด 10,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 9,000 ล้าน ต้องการจิ้งหรีดสดในการผลิต 40,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งไทยมีศักยภาพในการเป็นฮับโปรตีนจิ้งหรีดของโลก”
ไทย เอนโทฯ นำ Isec Technology มาใช้เป็นเทคโนโลยีการแปรรูปผงโปรตีนจิ้งหรีดในระดับอุตสาหกรรมรายแรกของเอเชีย เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะโดย ไทย เอนโทฯ เป็นกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่อง (Continuous process) ใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของแมลง zero-waste process มีความละเอียดสูง มีสีอ่อน ไม่มีกลิ่นจิ้งหรีดคั่ว ประการสำคัญ Isec Technology ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลงกว่า 30% มีกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดสูงสุดกว่า 1,200 ตันต่อปี ผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีด 4 ตันต่อวัน
ปัจจุบันมีประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคนที่บริโภคแมลง ซึ่งชาวตะวันตกให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการและเกษตรกรที่จะเดินหน้าปักธงไทยในตลาดโลก
ความเห็น 0